พระศรีสรรเพชญน่าจะมีพระพักตร์อย่างไร (ดี) ?

ปัจจุบันค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการว่าพระศรีสรรเพชญควรเป็นพระพุทธรูปยืน ประทานอภัยพระหัตถ์ขวาหรือที่เรียกว่าปางห้ามญาติ ทรงครองจีวรห่มคลุม เพราะมีตัวอย่างจากพระพุทธรูปยืนประทานอภัยพระหัตถ์ขวาที่สร้างขึ้นประจำพระอารามในสมัยอยุธยาหลายแห่ง เช่น พระอัฏฐารสในพระวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดวิหารทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งองค์หลังปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร

แต่ปัญหาที่ไม่ค่อยได้รับการหยิบยกกันก็คือ พระศรีสรรเพชญน่าจะมีพระพักตร์เช่นไร หากเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการบรรจุไว้ในฐานรากของพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร แล้ว ย่อมพ้นวิสัยที่จะไปส่องให้เห็นว่ามีพระพักตร์เช่นไร

หรือหากอนุมานตามข้อเสนออันร้อนแรง ของ อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ว่าเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญ ก็คงไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์ว่ามีพระพักตร์อย่างไรอีก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วกระนั้นหรือ ?

บทความนี้จึงขอนำเสนอการวิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อหาความเป็นไปได้ว่าพระพักตร์ของพระศรีสรรเพชญควรมีลักษณะเช่นไร โดยอาศัยพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่มีหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทั้งพระพุทธรูปที่มีอายุเวลากำหนดไว้ในตัวเองคือมีจารึกระบุปีที่สร้าง และพระพุทธรูป ที่กำหนดอายุเวลาจากหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ผ่านการตรวจสอบและวิพากษ์หลักฐาน ร่วมกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับให้ข้อมูลใกล้เคียงกันเกี่ยวกับการสร้างพระศรีสรรเพชญและพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในที่นี้จะขอยึดพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่ได้รับการกล่าวขวัญกันว่าให้ศักราชที่แม่นยำที่สุดเป็นจุดอ้างอิงไว้ก่อน พระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างพระศรีสรรเพชญไว้ว่า

ศักราช 862 วอกศก (พ.ศ. 2043) สมเด็จพระรามาทีบดีเจ้าแรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพระศรีษรรเพชญ (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ 2547, 27)

อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อกังขาจากนักวิชาการว่าเนื้อความของพระราชพงศาวดารไม่ตรงกับหลักฐานชั้นต้นอื่น ที่สามารถตรวจสอบได้ในหลายประเด็น แต่ในที่นี้เห็นว่าข้อมูลบางอย่างเช่นการสร้างพระพุทธรูปสำคัญก็ตรงกับหลักฐานอื่นที่เป็นอิสระจากกัน

เป็นต้นว่าการสร้างวัดพระชีเชียงและพระมงคลบพิตรในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มีข้อยืนยันจากบันทึกของชาวต่างชาติอย่างฟาน ฟลีตว่าตรงกัน ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

ในที่นี้จึงกำหนดให้ พ.ศ. 2043 ที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เป็นปีอ้างอิงของการสร้างพระศรีสรรเพชญ

พระพุทธรูปในแถบภาคกลางของประเทศไทยที่มีจารึกใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีการสร้างพระศรีสรรเพชญ พ.ศ. 2043 มีตัวอย่างจากพระพุทธรูปนายจอมเภรี มีจารึกว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2052 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034 – 2072) และจารึกสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุว่าเชิญมาจากสุโขทัย (ศานติ รุ่งโรจน์ และพอพล 2555, 263) ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญเพียง 9 ปี

อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อยประธานอภัยสองพระหัตถ์ หรือที่เรียกกันว่าปางห้ามญาติ ได้จากวัดราชธานีจังหวัดสุโขทัย จารึกระบุปีที่สร้างตรงกับ พ.ศ. 2084 (Subhadradis 1990, 105) ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 – 2089) ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญประมาณ 41 ปี พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์ค่อนไปทางรูปไข่ พระเนตรเล็กเรียวเหลือบลงต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กคมเป็นสัน และพระโอษฐ์เล็ก ปลายพระโอษฐ์งอนขึ้นเล็กน้อย ทำให้พระพักตร์โดยรวมดูราบเรียบวางเฉย

พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่มีอายุเวลาใกล้เคียงกันเป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า พระมงคลบพิตร คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ออกพระนามว่า “พระพุทธสยมภูวญาณโมฬี” นั่งสมาธิหน้าตัก 16 ศอก หล่อด้วยทองเหลือง อยู่ในพระมหาวิหารยอดมณฑปในวัดสุมงคลบพิตร” (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม 2555, 40)

อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีจารึกกำหนดอายุเวลาไว้อย่างแน่ชัดจึงต้องตรวจสอบจากหลักฐานหลายแหล่ง เริ่มจากพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (2558, 178) กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ให้ชักพระมงคลบพิตรอยู่ฝ่ายตวันออกมาไว้ฝ่ายตวันตก แล้วให้ก่อพระมรฎบใส่

หากแต่เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) ชาวฮอลันดาซึ่งเข้ามาทำการค้าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองร่วมสมัยกับเขา

ฟานฟลีต (2548, 201, 247) พรรณนาถึงวัดพระชีเชียง (Prae thij Tsieeugh) ว่าเป็นพระอารามที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างขึ้น “อย่างใหญ่โตและน่าอัศจรรย์” ที่สุดในพระราชอาณาจักร

ความข้อนี้รับกันกับพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ (2547, 31) ที่กล่าวว่า“ศักราช 900 จอศก (พ.ศ. 2081) แรกให้พูนดิน ณ วัดชีเชียงในเดือน 6 นั้นแรกสถาปนาพระพุทธเจ้าแลพระเจดีย์”

ฟาน ฟลีตเล่าต่อว่าภายหลังพระอารามแห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมเพราะไม่มีผู้ใดกล้าปฏิสังขรณ์มาเกือบร้อยปีด้วยกลัวภยันตรายจากสิ่งลี้ลับ จนกระทั่งประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2181 จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2182 ราว 2 – 3 เดือนก่อนขาจะเขียนบันทึกเสร็จในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2182 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็

ทรงให้รื้อวัด (พระชีเชียง) จนถึงฐานและทรงย้ายรูปหล่อทองแดงซึ่งประดิษฐาน อยู่ ณ ที่นั้นออกไปไกลหลายวา เพื่อว่าจะสร้างวัดใหม่ ณ ที่ประดิษฐานรูปหล่อทองแดง (ฟาน ฟลีต 2548, 247)

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ที่รูปหล่อทองแดงที่ฟาน ฟลีต กล่าวถึงก็คือ พระพระมงคลบพิตรจากวัดพระชีเชียงที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2081 และสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงย้ายมาประดิษฐาน ณ ตำแหน่งปัจจุบันนั่นเอง

พระพุทธรูปนายจอมเภรี พ.ศ. 2052 พระมงคลบพิตร พ.ศ. 2081 และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พ.ศ. 2084 ต่างก็มีพระพักตร์ใกล้เคียงกัน ทั้งพระเนตรเล็กเรียวเหลือบลงต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กคมเป็นสัน เว้นแต่พระมงคลบพิตรมีพระโอษฐ์ในสัดส่วนที่กว้างกว่า ความคล้ายคลึงกันนี้ช่วยสนับสนุนข้อความจากพระราชพงศาวดาร และบันทึกของฟาน ฟลีต ได้เป็นอย่างดีว่าพระมงคลบพิตร ควรสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทั้งนี้ พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ในลักษณะเดียวกันนี้ น่าจะเป็นที่นิยมในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ดังมีตัวอย่างพระพุทธรูปลีลาสัมฤทธิ์ สมบัติส่วนบุคคล (พิริยะ 2552, 473) พระพุทธสิหิงค์จำลองในพระวิหารคดพระฉาย วัดพระเชตุพนฯ (ศานติ รุ่งโรจน์ และพอพล 2555, 226) และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับสมาธิราบ ปางมารวิชัยในระเบียงคดวัดพระเชตุพนฯ ที่อาจเป็นรูปจำลองของพระมงคลบพิตร
ปีที่สร้างพระพุทธรูปนายจอมเภรี พ.ศ. 2052 พระมงคลบพิตร พ.ศ. 2081 และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พ.ศ. 2084 ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญ พ.ศ. 2043 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง 9 – 41 ปี แต่ก็จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกันมากนัก

ในลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีพระพักตร์เป็นแบบที่เรียกว่า “หน้าหุ่น” คล้ายคลึงกันจนตลอดทั้ง 3 รัชกาล จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่พระศรีสรรเพชญน่าจะมีพระพักตร์ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ดังกล่าวเช่นกัน

อนึ่ง ถึงแม้พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์คล้ายคลึงกันนี้บางองค์จะพบในเมืองเหนืออย่างสุโขทัย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในช่วงระยะเวลานั้นสุโขทัยได้กลายเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์แล้ว โอกาสที่จะมีการถ่ายเทพุทธศิลป์ระหว่างกันย่อมเกิดขึ้นได้

ที่ระเบียงคดของวัดพระเชตุพนฯ มีพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง ทรงครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ทั้งสองอยู่ในท่าประทานอภัยพระหัตถ์ขวาเช่นเดียวกับที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นปางของพระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์ใกล้เคียง กับพระมงคลบพิตร พ.ศ. 2081 และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พ.ศ. 2084 จึงน่าจะสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันหรือราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21

ดังนั้น ถ้าพระศรีสรรเพชญยังคงสภาพสมบูรณ์ก็อาจมีพระพักตร์และพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปยืนองค์นี้ หรือไม่พระพุทธรูปยืนองค์นี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นรูปจำลองของพระศรีสรรเพชญ

หากข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาทั้งหมดมีความเป็นไปได้ก็จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในแถบภาคกลางและภาคกลางตอนบนของประเทศไทยช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ที่กล่าวถึงข้างต้น มีความคล้ายคลึงกัน แต่กลับแตกต่างจากพระพักตร์ของเศียรพระพุทธรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นพระศรีสรรเพชญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ทั้งในแง่ของพระพักตร์เป็นทรงผลมะตูม ความคมชัดและชัดลึกของส่วนประกอบพระพักตร์ที่มีมากกว่า ไปจนกระทั่งการแย้มพระสรวลจนพระพักตร์ทำให้โดยรวม ดูมีพระอารมณ์แจ่มใสมากกว่านิ่งเฉย

ทั้งหมดเป็นไปตามการอนุมานจากหลักฐานทางด้านศิลปะและลายลักษณ์อักษรเท่าที่มีอยู่และสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ในขณะนี้

บรรณานุกรม             

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พนรัตน์, สมเด็จพระ. 2558. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. ศานติ ภักดีคำ ผู้ชำระต้นฉบับ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์. (มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ. 9 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558).

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. 2547. พิมพ์ครั้งที่ 19. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พิริยะ ไกรฤกษ์. 2552. ลักษณะไทย 1 พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย.
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2550). http://www.laksanathai.com/book1/p473.aspx

ฟาน ฟลีต. 2548. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

ศานติ ภักดีคำ รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และพอพล สุกใส. 2555. พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์.
บรรณาธิการโดย พระราชเวที (สุรพล ชิตาโณ). กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์. (ที่ระลึกฉลอง 96 ปี พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน 27 พฤษภาคม 2555).

Subhadradis Diskul, M.C. 1990. Hindu Gods at Sukhodaya. Bangkok: White Lotus.

บทความจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts