เผยแพร่ |
---|
ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หรือ “หมอเหล็ง” ที่คนส่วนใหญ่รู้จักในฐานะ “หัวหน้าคณะก่อการ ร.ศ. 130” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาชาธิปไตย แต่นอกจากบทบาททางการเมือง หมอเหล็งยังเป็นแพทย์ที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย และมีผลงานวิชาทางการแพทย์ โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับสุขภาพที่หมอเหล็งเขียนไว้หลายเล่มด้วยกัน เช่น ตำราวิลัยรักษ์, ตำราวัฒนายุ, ตำราฝึกหัดเด็ก ฯลฯ
ตำราเล่มหนึ่งของหมอเหล็ง คือ “ตำราวัฒนายุ” พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม วันที่ 13 เดือน 5 ปี 2469 ถ้าพิมพ์จำหน่ายในปัจจุบันคงจะขายดี เป็นหนังสือที่แนะนำว่าทำอย่างไรให้อายุยืนถึง 100 ปี แบบหนังสือประเภทชีวจิตในปัจจุบัน ภาพปกหนังสือดังกล่าว มีรูปโยคีนั่งบนดอกบัว พร้อมข้อความว่า “ตำราวัฒนายุ โดยหมอเหล็ง ศรีจันทร์ แนะนำให้ท่านมีความวัฒนาผาสุข เปนหนุ่มเปนสาวร้อยปีไม่มีแก่ จะมีแต่ความสุขความเจริญทั้งกายและใจ”
เนื้อหาของ “ตำราวัฒนายุ” แบ่งออกเป็น 2 ตอน ว่าด่วยสุขภาพกาย และสุขภาพใจ สาระหลักๆ ไม่ต่างจาการปฏิบัติตนในแนว “ชีวจิต” ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ของเล่ม โดยหมอเหล็งได้ชี้ประเด็นจากการค้นคว้าว่า กินพืชผักผลไม้ เป็นหัวใจของการมีอายุยืน การกินเนื้อสัตว์เป็นให้มีอายุสั้น
ทั้งมีการเปรียบเทียบและยกตัวอย่าง เช่น เรื่องการกินผักได้ยกตัวอย่างการทดลองที่ยุโรป ที่ให้พวกหนึ่งกินเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งกินผัก และอีกพวกหนึ่งกินแต่ผลไม้ ในการแข่งขันเดินทางไกล ผลออกมาว่า
“พวกที่กินผลไม้ไปถึงก่อน 3 คน พวกที่กินแป้งกับผักไปถึงก่อน 2 คน เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่อิดโรยยังมีกำลังวังชาดีอยู่ ฝ่ายพวกที่กินเนื้อสัตว์นั้นเดินกะปลกกะเปลี้ยล้าหลังอยู่ตามทางไม่มีใครถึงก่อนเลยสักคนเดียว…”
หมอเหล็งยังยกตัวอย่างใกล้มาเสนอให้เห็นภาพเกี่ยวกับการกินเนื้อว่า
“…การกินเนื้อสัตว์นั้นแข็งแรงก็แต่ในปัจจุบันทันใดชั่วแล่นเดียว ถ้าจะทำการออกแรงขับเคี่ยวกันตรากตรำแล้วสู้การกินอาหารผักหญ้า และผลไม้ไม่ได้ ดูแต่เสือที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารนั้น เสือมีกำลังแข็งแรงชั่วแล่นเดียวเมื่อขณะจับเนื้อกิน แต่ถ้าจะเอาเสือมาใช้งานขับเคี่ยวกับวัว เช่นใช้ลากเกวียน หรือบรรทุกของหนักบนหลังเดินทางไกลแล้ว เสือจะต้องแพ้วัวหลุดลุ่ยทีเดียว…”
จากตอนแรกของตำราวัฒนายุที่ว่าด้วยเรื่องอาหารการกิน พอถึงตอนที่ 2 ก็จะเป็นเรื่องว่าด้วย “จิตตวิทยา” หมอเหล็งเชื่อว่าเมื่อบำรุงร่างกายแล้ว ก็ต้องบำรุงจิตใจให้สมบูรณ์ เพราะโรคที่เกิดกับใจนั้นร้ายแรงกว่าโรคที่เกิดกับร่างกาย
“โรคใจนั้นผิดกับโรคที่เกิดกับอวัยวะทั้งหลาย โรคใจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเหมือนฟ้าแลบในชั่วพริบตาเดียวหรือวินาทีเดียว สามารถจะเกิดขึ้นได้เท่าภูเขา และในวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตั้งร้อยโรค หรือร้อยครั้งก็ได้…”
อาการโรคใจของหมอเหล็งคือ โทสะ โมหะ อันเป็นผลร้ายต่อกำลังจิตทำให้อายุสั้นได้ ความโลภก็เช่นกันหากมีความโลภ ไม่ว่าจะเป็นความโลภต่ออำนาจวาสนา ความโลภต่อทรัพย์สมบัติ ล้วนเป็นเหตุให้อายุสั้นทั้งสิ้น ความกลัวก็เช่นกัน เป็นผลร้ายต่อกำลังจิต และทำให้คนตายได้ วิธีแก้ความกลัวคือรู้จักใช้สมาธิ สำรวมจิต ทำสติให้มั่นคง และฝึกใช้พลังจิต ซึ่งเป็นพลังมหัศจรรย์ที่จะช่วยรักษากายใจให้เป็นสุขปราศจากความทุกข์ มีอายุยืนยาวสมปรารถนา
สำหรับหมอเหล็งผู้เขียนตำราวัฒนายุ แม้จะอยู่ไม่ถึง 100 ปี ตามประวัติหมอเหล็งเสียชีวิตเมื่ออายุ 77 ปี (22 ธันวาคม 2425-16 มีนาคม 2502) โดยก่อนหน้านี้หมอเหล็งต้องทนทุกข์อยู่ในคุกถึง 12 ปีกว่า อาจเป็นผลต่อ “กำลังจิตต” ของหมอเหล็งก็เป็นได้
คลิกอ่านเพิ่มเติม : เผยบันทึกผู้วางแผน “กบฏ ร.ศ.130” เมื่อทหารหนุ่มประชุมลับถามหาอนาคตของประเทศ!
ข้อมูลจาก
หลง ใส่ลายสือ. “ตำราชีวจิต ของนักปฏิวัติ เหล็ง ศรีจันทร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2545
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2564