รัชกาลที่ 4 ทรง “เอาใจใส่” ธรรมยุตนิกาย จนเกิดพระราชนิยมใหม่? ในหมู่เจ้านาย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างการผนวช 27 พรรษา รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนา “ธรรมยุตินิกาย” เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติธรรมยุตินิกายก็เฟื่องฟู และเป็นที่ศรัทธาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์

รัชกาลที่ 4 ทรงกําหนดให้เจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงผนวชเฉพาะธรรมยุติกนิกาย และทรงกําหนดความแตกต่างของ ตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” ที่มาจากสามัญชนและเจ้านาย ถ้าเป็นเจ้านายจะเรียกว่า “สมเด็จพระมหาสมณะ(เจ้า)” ทรงเศวตฉัตร 5 ชั้น ถ้าเป็นสามัญชนเรียกว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช” ทรงเศวตฉตร 3 ชั้น

พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่ทรงสถาการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระมหาสมณะ(เจ้า)” ก็คือ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส” โดยระหว่าง พ.ศ. 2394-2471 มีเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” ดังนี้

1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี) วัดพระเชตุพนฯ ดำรงพระยศ พ.ศ. 2394-2396 ในรัชกาลที่ 4

2. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ดำรงพระยศ พ.ศ. 2434-2435 ในรัชกาลที่ 4

3. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษย์นาคมานพ) วัดบวรนิเวศวรวิหาร ดำรงพระยศ พ.ศ. 2453-2464 ในรัชกาลที่ 6

4. สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์) วัดราชบพิธ ดำรงพระยศ พ.ศ. 2464-2480 ในรัชกาล 6-7

ใน “พุทธศาสนวงศ์” ของสมเด็จพระญาณสังวร ตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเตรียมมอบหมายตําแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตสืบทอดมาไม่ขาดสาย เมื่อพระองค์ ครองราชย์ก็ทรงมอบหมายตําแหน่งเจ้าคณะให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ [ทรงเป็น 1ใน 10 พระเถระผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุต]

เมื่อสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์สิ้นพระชนม์ ก็ทรงมอบหมายตําแหน่งนี้แก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสิ้นพระชนม์ ก็มอบหมายให้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวง ชินวรสิริวัฒน์ ๆ ก็มอบหมายให้ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เป็นทอดๆ มา นอกจากนี้เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายก็ได้ขึ้นดํารงตําแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” อีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ “พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงพระนิพนธ์ เกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 ที่เคยทรงชักชวนให้พระองค์ผนวชตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อช่วยราชการบ้านเมือง ความว่า “….ทรงเกลี้ยกล่อมให้เราสมัครบวช เรากราบทูลตามความ เห็นเกรงว่าจะเป็นการทิ้งราชการ พระราชทานกระแสพระดํารัสอธิบายว่า ถ้าเราบวชจักได้ราชการเพียงไรไม่เป็นอันทั้ง พระราชทานปฏิญญาว่าบวช ได้ 3 พรรษาแล้วจักทรงตั้งเป็นต่างกรม…” 

ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเองก็ตรัสชวน รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเป็นเจ้าฟ้ากรมประชาธิปกให้ผนวชตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยจากทรงเป็นพระอนุชาองค์เล็กสุด คงไม่มีโอกาสได้ขึ้นครองราชสมบัติ  ทั้งตรัสว่าจะทรงยกย่องให้เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า แต่เจ้าฟ้าประชาธิปกทรงลาผนวชเพื่อเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรําไพพรรณีเสียก่อน

การที่สมเด็จพระสังฆราชในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองล้วนเป็นเจ้านายในธรรมยุติกนิกาย จึงเกิดเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในกลุ่มเจ้านายที่มักนิยมให้พระอนุชาพระองค์เล็กผู้ยังไม่มีสิทธิ์ในราชสมบัติออกผนวช เพื่อ “เอาดีทางพระ” เนื่องจากการทรงผนวชอาจสามารถเลื่อนฐานะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายก

 


ข้อมูลจาก

คนึงนิตย์ จันทบุตร. การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ. 2477-2484, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ , พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564