ดีดีที พระเอกที่ช่วยกันป้องกันการระบาดของมาลาเรีย

ถ้าการรักษาผู้ป่วยมาลาเรีย หรือไข้จับสั่น “ควินิน” คือพระเอกสำคัญที่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย “ดีดีที” ก็คือพระเอกที่ป้องกันประชาชนให้ปลอดภัยจากยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรค

เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอบรับมติองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้การควบคุมไข้มาลาเรียเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก ใน พ.ศ. 2492 WHO ก็ส่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือเพื่อสำรวจและควบคุมไข้มาลาเรียในไทย ด้วยการใช้ “ดีดีที” พ่นเพื่อกำจัดยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรค

Advertisement

พื้นที่นำร่องแห่งแรก คือ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ลงพื้นที่สำรวจและจับยุงก้นปล่องมาผ่าตรวจพบว่า มีเชื้อไข้มาลาเรียที่เป็นสาเหตุของการระบาด เดือนเมษายน พ.ศ. 2493 ก่อนฤดูฝนจะเริ่มต้น ก็เริ่มการฉีดพ่นดีดีทีตามจุดต่างๆ ของบ้านเรือนประชาชน เช่น บริเวณฝาบ้านด้านใน, หลังคาบ้าน, พื้นกระดานส่วนใต้ถุนบ้าน, เสาบ้าน ฯลฯ

ดีดีทีที่ใช้ขณะนั้นเป็นชนิดผง เมื่อฉีดพ่นจึงทำให้บ้านเรือนดูสกปรก แต่ก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เพราะการฉีดแค่ครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ก็ทำให้ยุงก้นปล่องและโรคมาลาเรียหายไปจากท้องที่อำเภอสารภี ขณะที่ทีมของรัฐบาลไทยก็เข้าไปปฏิบัติงานฉีดพ่นดีดีที ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ความสำเร็จที่อำเภอสารภี และอำเภอหางดง ทำให้ พ.ศ. 2494 มีการขยายการควบคุมไข้มาลาเรียด้วยดีดีทีออกไปยังอำเภออื่น เช่น อำเภอสันทราย, อำเภอดอยสะเก็ด, อำเภอสันกำแพง, อำเภอสันป่าตอง และอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของ WHO และทีมของรัฐบาลไทย ช่วยกันลงพื้นที่

ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยสนับสนุนจากการขยายพื้นที่พ่นดีดีทีเพิ่มขึ้น จนครอบคลุม 62 จังหวัดทั่วประเทศ (ในขณะนั้น) ลดจำนวนผู้ป่วยไข้มาลาเรียลงได้มาก

การลงพื้นของหน่วยแพทย์ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วย และกำจัดโรคมาลาเรีย (ภาพจาก “เส้นทางต่อสู้ของมาลาเรีย ในประวัติศาสตร์ไทย” )

พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงพื้นไปตรวจราชการด้วยตนเองและมีคำสั่งให้ใช้เครื่องบินบินขึ้นไปโปรยดีดีทีที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สระบุรี, นิคมสร้างตนเองลพบุรี และนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร เพราะเห็นว่าการใช้ดีดีทีปราบการระบาดของมาลาเรียได้ผลในช่วงที่ผ่านได้ผลน่าพอใจ แต่ก็ถูกทักท้วงจากกระทรวงสาธารณสุขว่าไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลหลายประการ

พ.ศ. 2504 สหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดี ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USAID (United States Agency for International Development) ขึ้นมา ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลไทย จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยมาลาเรียขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อกำจัดกวาดล้างมาลาเรียในประเทศไทย โดยการพ่นดีดีทีในท้องที่ที่มีการแพร่ระบาด ทั้งมีการสำรวจ ค้นหา และบำบัดรักษาผู้ป่วยเพื่อกำจัดแหล่งแพร่โรค

ช่วง พ.ศ. 2519-2520 มีการนำดีดีทีชนิดน้ำมันมาใช้แทนชนิดผง เพื่อลดปัญหาการปฏิเสธไม่ยอมให้พ่นดีดีที ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เขตติดต่อกับประเทศมาเลเซียและในท้องที่อื่นที่ไม่ยอมรับดีดีทีชนิดผง ว่าทำให้บ้านเรือนสกปรก

แม้ดีดีทีมีฤทธิ์คงทนหลายเดือนนั้นดีต่องานสาธารณสุขในการปราบมาลาเรีย หากอีกด้านดีดีทีที่ไม่สลายตัวในธรรมชาตินับสิบปีก็ตกค้างในสิ่งแวดล้อมนานมาก จนเข้าไปสะสมในพืชและสัตว์ต่างๆ และเกิดผลกระทบกับห่วงโซ่อาหาร ทุกประเทศทั่วโลกจึงเริ่มห้ามใช้ดีดีทีในการเกษตร

สำหรับประเทศไทยประกาศห้ามนำเข้าดีดีทีมาใช้ในทางการเกษตรตั้งแต่ พ.ศ. 2526 คงมีเหลือเพียงการใช้ด้านการสาธารณสุขโดยส่วนราชการเท่านั้น


ข้อมูลจาก

แสงทอง จันทร์เฉิด. เส้นทางต่อสู้ของมาลาเรีย ในประวัติศาสตร์ไทย, กองนวัตกรรม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กันยายน 2562

ฝ่ายสารอันตรายจากเกษตรกรรม กองจัดการสารอันตรายและกากเสีย กรมควบคุมมลพิษ. ดีดีที (DDT), กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ตุลาคม 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564