ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องขบขันการจัดงาน ลอยกระทง ที่คลองคูเมืองเดิม สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเรื่องเล่าของ พลโท บุศรินทร์ ภักดีกุล หนึ่งในเรื่อง “ความไม่รอบคอบหรือความรู้เท่าไม่ถึงการของทางราชการในสมัยที่ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่” ในอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เล่าไว้ดังนี้
“เรื่องที่ 8 การลอยกระทงในคลองหลอด
เรื่องนี้เป็นเรื่องขบขันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือในสมัยหนึ่งมีการฟื้นฟูการลอยกระทงตามประเพณีไทย ๆ ให้เป็นที่ชื่นชมแก่ชาวต่างประเทศ และคนในนครหลวงนี้แหละ จึงมีการโฆษณาป่าวร้องในเรื่องนี้เป็นการใหญ่ว่าจะมีการลอยกระทงในคลองหลอด [คือคลองคูเมืองเดิมในปัจจุบัน – ผู้เขียน] ตั้งแต่ปากคลองท่าช้างไปถึงปากคลองตลาด และได้จัดที่ทางให้แขกผู้ใหญ่ และชาวต่างประเทศไปดูตามที่ ๆ กำหนด แถวหน้ากรมโฆษณาการหรือแถวหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์กัน
ในการนี้อยู่ในความอำนวยการของท่านอธิบดีกรมโยธาเทศบาล สมุนเอกของท่านจอมพล ป. นั่นเอง ท่านได้จัดการทดน้ำและกักน้ำไว้เต็มปรี่คลองเลยนับว่าน่าดูมาก ที่ได้เห็นคลองซึ่งมีน้ำเปี่ยมตลิ่ง เมื่อได้เวลาตามที่กำหนดก็ประกาศว่า เวลานี้ได้เปิดปากคลองตลาดแล้ว และจะได้เห็นกระทงเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ผ่านไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเป็นอย่างไรในวันนั้น
ข้าพเจ้าเองได้พาบุตร และภรรยา ไปจอดรถดูอยู่แถวหน้าวัดศิริอำมาตย์ ก็ไม่เห็นกระทงอะไรจะลอยมาเพียงแต่บางกระทงค่อย ๆ เลื่อนลอยไปทางปากคลองตลาดเท่านั้น เวลาได้ผ่านไปเกือบ 1 ช.ม. บรรดากระทงส่วนมากก็ค่อย ๆ เลื่อนไป และลดระดับลงไปจนถึงก้นคลอง เป็นอันยุติกัน
นั่นเป็นเพราะอะไร เพราะผู้ที่ออกความคิดนั้นเป็นนายช่างโยธาเทศบาลเกี่ยวกับการก่อสร้าง หาได้รู้ถึงเรื่องการไหลของน้ำไม่เลยแม้แต่น้อย เพราะการกักน้ำไว้เต็มคลองนั้นเป็นการดีแล้วแต่ในเวลาเปิดปากคลองตลาด ต้องให้ทางน้ำเข้าที่ท่าช้างวังหน้าเข้าเต็มที่น้ำจึงจะไหล และกระทงก็จะไปตามน้ำอย่างสวยงาม แต่เมื่อไม่เปิดให้น้ำเข้าที่ท่าช้างหรือสูบขึ้นมาให้พอเหมาะกันแล้ว ความเร็วสูงสุดของน้ำในคลองนั้นก็อยู่ที่ปากคลอง แต่ที่ต้นคลองคือที่ประตูน้ำนั้นอาการไหลจะมีความเร็วประมาณศูนย์เราดี ๆ นี่เอง
ฉะนั้นกระทงสวย ๆ งามมากมายในระยะระหว่างสะพานผ่านพิภพลีลาไปจนถึงหน้าโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน จึงมีการเคลื่อนไหวน้อยและทรุดลง ๆ ในที่สุดก็ลงไปอยู่ที่ก้นคลอง นี่แหละคือการอวดรู้โดยไม่รู้ว่าน้ำไหลอย่างไร แล้วไม่ปรึกษาใครเสียด้วย ข้าพเจ้ากลับบ้านด้วยความอ่อนใจ และความผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะเคยไปชมการลอยกระทง เมื่อน้ำยี่เป็งที่เชียงใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง จึงโฆษณาชวนบุตรภรรยาให้ไปดูแล้วก็เหลว เห็นแค่กระทงเคลื่อน ๆ ไปแล้วทรุดลงก้นคลองแห้งไปเลย”
อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ผู้จัดงานลอยกระทงในปีนั้นคงจะมีอาการ “หน้าแห้ง” อันวาดฝันจะเห็นความงดงามของกระทงที่ไหลเป็นสายไปตามลำคลอง แต่เมื่อถึงวันจริงกระทงกลับหยุดนิ่งดิ่งจม เพราะ “น้ำแห้ง” ขอดคลอง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2564