ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
“The Chivers Papers” แผนการหนีที่บอลเชวิกรับว่ามีจริง…ก่อนหรือหลังเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1918 เล็กน้อย สภาโซเวียตแห่งแคว้นอูรัล (Ural) กล่าวว่า ทางการสามารถยึดจดหมายหลายฉบับที่เขียนโต้ตอบกันระหว่างทหารกับนักโทษผู้สูงศักดิ์ (จดหมายจากฝ่ายหนึ่งมักลงท้ายว่า “An Officer” กับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายมือของพระราชธิดาองค์โตชื่อออลกา (Grand Duchess Olga) เขียนขึ้นแทนพระราชบิดา คือ ซาร์ – ผู้เขียน) โดยเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อกลบเกลื่อนเนื้อหาต่าง ๆ ลงวันที่ 16-27 มิถุนายน 1918 สาระสำคัญเขียนถึงแผนการหลบหนีเป็นส่วนใหญ่ [3]
จดหมายจากทหาร ลงวันที่ 20 มิถุนายน 1918
“ให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ ทั้งกลางวันและกลางคืน และให้เขียนแปลนของห้องนอนที่ท่านใช้ ตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง ฯลฯ คนหนึ่งในคณะของท่านต้องไม่หลับช่วงตี 2-ตี 3 ทุกคืนและช่วยให้รายละเอียดกับทุกคนภายนอกที่เข้าไปเยี่ยมท่าน [หมายถึงแม่ชีและบาทหลวง – ผู้เขียน] จดหมายตอบของท่านให้ฝากมากับทหารคนเดียวกันที่ส่งจดหมายนี้ แต่ห้ามไม่ให้พูดจากัน”
จดหมายตอบ ลงวันที่ 21 มิถุนายน 1918
“หน้าต่างทุกบานปิดตายด้วยกาวและทาสีขาวทึบพรางตาไว้ ตัวเล็ก [หมายถึงเจ้าชายอเล็กเซ่ย์ – ผู้เขียน] ป่วยและนอนซมอยู่บนเตียง เขาเดินไม่ได้เพราะเจ็บขา ได้โปรดอย่าเสี่ยงกับแผนการนี้ ถ้าพวกท่านไม่แน่ใจในความสำเร็จ เราถูกจับตาดูตลอดเวลา”
จดหมายจากทหาร ลงวันที่ 25 มิถุนายน 1918
“การป่วยของซาเรวิตซ์ทำให้งานของเรายากขึ้น แต่คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่เสียทีเดียว โปรดแจ้งถ้าท่านต้องใช้คนอุ้มเขาหรือคนของท่านสามารถพยุงเขาออกมาได้?”
จดหมายตอบ ลงวันที่ 25 มิถุนายน 1918
“ถ้าบางคนในคณะเราจำต้องตกค้างอยู่ที่นี่ จะแน่ใจไหมว่าเขาจะปลอดภัย? หมอบอตกินอาสาว่าไม่ต้องเป็นห่วงเขากับคนรับใช้ เพื่อให้งานของพวกท่านง่ายขึ้น ให้ช่วยเฉพาะ 7 คนเท่านั้น ขอพระเจ้าคุ้มครองท่าน”
จดหมายจากทหาร ลงวันที่ 26 มิถุนายน 1918
“หวังว่าก่อนวันอาทิตย์นี้แผนน่าจะลงตัว ตอนนี้สรุปว่า : เมื่อพวกท่านได้รับสัญญาณให้ใช้โต๊ะและเก้าอี้ดันประตูไว้ ใช้ผ้าที่ท่านเตรียมผูกไว้เป็นเชือกหย่อนลงทางหน้าต่าง เราจะรออยู่ด้านล่าง ให้ลงมาตามลำดับคือ ท่าน ราชินี โอรส และพระธิดา ให้ตอบว่าท่านเตรียมเชือกได้ไหม?”
จดหมายตอบ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 1918
“เราคิดว่าไม่สามารถทำตามแผนของท่านได้ ท่านคงจะต้องเข้ามานำเราออกไป เหมือนกับที่นำเราออกไปจากเมืองโทบอลส์ (Tobolsk) เราไม่สามารถช่วยท่านได้มากกว่านี้”
(หมายเหตุ : หลังจากจดหมายฉบับนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดติดต่อกัน)
ค.ศ. 1964 ตำรวจนอกราชการจากหน่วยข่าวกรองของโปแลนด์ชื่อ โกเลนนิวสกี (Michael Goleniewski) ออกมาเปิดโปงเบื้องหลังการหายตัวไปจากที่คุมขังของราชวงศ์โรมานอฟ ใน ค.ศ. 1918 เขาอธิบายว่าซาร์และครอบครัวอาจรอดชีวิตไปได้ ข้อมูลที่มีประโยชน์นี้ดลใจให้นักเขียนอิสระชาวอเมริกันชื่อริชาร์ดส์ (Guy Richards) ทุ่มเทเวลาทั้งหมดค้นคว้าเรื่องราวการหลบหนีของซาร์ จนเป็นรูปธรรมขึ้นมาพร้อมกับหนังสือเล่มใหม่ของเขาภายใต้ชื่อ The Hunt for the Czar (แปลตรงตัวว่า ตามล่าซาร์ – ผู้เขียน) ใน ค.ศ. 1969
หลังจากออกหนังสือเล่มนั้นไม่ถึงปี ริชาร์ดส์ก็ได้รับการติดต่อจากบุรุษลึกลับอีกคนหนึ่งชื่อเบสเซล (Peter Bessel) เบสเซลเปิดเผยตัวเองว่าเขาเป็นนักการเมืองอังกฤษ ตำแหน่งทางราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากเมืองคอร์นวอล (Member of the House of Commons from Cornwall) เขาเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษและอเมริกันเก็บงำเอกสารลับชุดหนึ่ง ที่กล่าวถึงการช่วยเหลือชีวิตซาร์ไว้ในครอบครอง และจากการที่ริชาร์ดส์เป็นผู้สันทัดกรณีนี้ และมี “สื่อ” อยู่ในมือ เบสเซลเสนอที่จะใช้ความสนิทสนมของเขากับบุคคลในระดับรัฐบาลอเมริกันให้นำเอกสารออกมาเผยแพร่ต่อสังคม
เอกสารชุดนี้อยู่ในแฟ้มชื่อ The Chivers Papers ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่ State Department ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทว่าภายหลังความพยายามกว่า 2 ปี รัฐบาลอเมริกันกลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกสารดังกล่าวโดยไม่ให้เหตุผล [3]
ปลายยุคซาร์ หนังสือพิมพ์ Pravda ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลบอลเชวิก รายงานเรื่องราวการปลงพระชนม์นิโคลาส โรมานอฟ พาดหัวข่าวในวันที่ 19 กรกฎาคม 1918 ทั้งยังอ้างถึงแผนชิงตัวซาร์ว่า “สหายสเวอลอฟ” (Comrade Sverdlov) กล่าวถึงความพยายามในการช่วยเหลือครอบครัวโรมานอฟ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ต้องเคลื่อนย้ายนักโทษออกจากเมืองโทบอลส์ (Tobolsk) ไปยังเมืองเอกาเตรินเบิร์ก (Ekaterinburg) เพื่อขัดขวางแผนกู้ภัยดังกล่าว และเพื่อหยุดยั้งความพยายามในการหลบหนี สภาสูงจึงมีมติให้สังหารอดีตซาร์เสีย “ด้วยการยิงเป้า”
ข่าวสารต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกไป เป็นความเห็นชอบของรัฐบาลปฏิวัติทั้งสิ้น ซ้ำยังเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เพียงแห่งเดียวในขณะนั้น จึงมีผลต่อความเชื่อถือของประชาชนทั่วไป ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญคือ 1. ซาร์เป็นผู้เดียวที่ถูกปลงพระชนม์ 2. สมาชิกของราชวงศ์ที่เหลือยังปลอดภัยดี 3. แผนชิงตัวซาร์มีจริง และ 4. การสังหารซาร์เกิดขึ้นเพื่อยับยั้งแผนการหลบหนี แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ยังเป็นความลับที่ไม่มีใครกล้ารับรองในสมัยนั้น [3]
แผนชิงตัวซาร์จากที่คุมขังเงียบหายไปอย่างมีปริศนา ภายในรัสเซียเรื่องนี้เป็นสิ่งต้องห้ามและรัฐบาลคณะปฏิวัติไม่ให้ความสำคัญมากเท่ากับคนภายนอกประเทศ เอกสารลับในแฟ้ม The Chivers Papers ภายหลังสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1918 ก็พลันสาบสูญหายไปด้วยโดยไม่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก
หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 1918 เป็นเบาะแสแรก ๆ ในทวีปยุโรป ที่เปิดเผยชะตากรรมอันน่าเวทนาของซาร์ออกสู่สาธารณะ รายงานว่า ซาร์และพระราชวงศ์ทั้ง 7 พระองค์ถูกสังหารแล้วโดยคำสั่งของสภาโซเวียตแห่งอูรัล
ข่าวทำนองเดียวกันก็เริ่มพรั่งพรูออกมาจากหนังสือพิมพ์ทั่วยุโรปตลอด ค.ศ. 1918 และ ค.ศ. 1919 โดยเฉพาะภายหลังรายงานของโซโคลอฟ (The Sokolov Report) กับหลักฐานใหม่ ๆ จากที่เกิดเหตุหลังเดือนมกราคม ค.ศ. 1919 เป็นที่ยอมรับของคนโดยมากภายนอกรัสเซียตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20
หากแต่ว่ายังมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงอีกหลายพระองค์ที่รอดพ้นจากเหตุโศกนาฏกรรมในวันนั้น ราชวงศ์โรมานอฟที่หนีรอดไปได้มีอาทิสมเด็จพระพันปีหลวง (ซารีนามารี) และพระประยูรญาติ รอดชีวิตจากความช่วยเหลือของชาติชาติหนึ่งที่เคยเป็นความหวังของซาร์ตั้งแต่แรก
เชิงอรรถ :
[3] ไกรฤกษ์ นานา. “พงศาวดารสะเทือน! ‘แผนชิงตัวพระเจ้าซาร์’ ช่วยให้พระองค์รอดไปได้หรือ?,” ใน สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน. สำนักพิมพ์มติชน, 2550.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “100 ปีที่ไร้ซาร์ ตอนจบ ราชวงศ์โรมานอฟได้รับความช่วยเหลือ ‘ลี้ภัยสู่อิสรภาพ'” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2564