รัชกาลที่ 4 “President” พระองค์แรกแห่งกรุงสยาม! กับเกร็ดการใช้คำว่า “ประธานาธิบดี”

รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411
รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411

ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ยังทรงพระผนวชได้มีโอกาสรับการศึกษา และองค์ความรู้แบบตะวันตกจากบรรดามิชชันนารีอเมริกัน จึงเป็นไปได้สูงว่าพระองค์น่าจะทรงรับรู้ถึงที่มาที่ไปและการดำรงตำแหน่ง “President” ของสหรัฐอเมริกาไม่มากก็น้อยว่ามาจากการเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่งที่จำกัด

รัชกาลที่ 4 จึงทรงใช้คำว่า “President” แทนพระองค์เอง ซึ่งหมายถึงประมุขของรัฐ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจน คือ พระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงพระสหายชาวต่างชาติผู้หนึ่ง คือ นายพันโท William J. Butterworth ผู้ว่าการเกาะ Prince of Wales ของอังกฤษ ฉบับวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2394 หรือราว 3 สัปดาห์หลังจากรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต หรือ 24 วันก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยพระองค์ยังลงพระปรมาภิไธยในท้ายพระราชหัตถเลขาดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ว่า “T.Y. Chau Fa Mongkut, newly elect President or Acting King of Siam” ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกใหม่ หรือพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองกรุงสยาม” คือ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็น “President” คนแรกของกรุงสยามนั่นเอง

ทั้งนี้ คำที่รัชกาลที่ 4 ใช้เรียกแทนพระองค์เองยังคงเป็นคำในภาษาอังกฤษ คือ “President” คือ ทรงเป็นประมุขของรัฐ ทรงเป็น “King of Siam” อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่ารัชกาลที่ 4 ทรงใช้คำว่า “ประธานาธิบดี” ในภาษาไทยเพื่อใช้แทนคำว่า “President” แต่อย่างใด

ส่วนคำว่า “ประธานาธิบดี” ปรากฏใช้ในฝ่ายศาสนจักรมาก่อน ในประกาศแต่งตั้งกรมหมื่นนุชิตชิโนรสขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสในวันศุกร์ เดือน 9 (เดือนมิถุนายน) ขึ้น 4 ค่ำ พ.ศ. 2394 ในคำอธิบายที่อยู่ในพระสุพรรณบัฏว่า

“ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่า ก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และได้ทรงผนวชรับธุระฝ่ายพระบวรพุทธศาสนามาช้านาน ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสตร์ ราชสาตร แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่าง ๆ แลในทางปฏิสัณฐานปราไส แล้วมีพระราชหฤทัยโอบอ้อมอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป แลได้เป็นครูอาจารย์ครุฐานิยบุคคล แห่งราชสกุลวงศ์มหาชนเป็นอันมาก ควรที่จะเป็นประธานาธิบดี  มีอิศริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณานิกรสงฆ์คามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง”

ตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ข้างต้นนี้ถูกใช้เรียกแทนตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในบริบทของการปกครองของฝ่ายศาสนจักร ไม่ใช่ฝ่ายอาณาจักร

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ปรากฏคำว่า “ประธานาธิบดี” ในทำนองเดียวกัน คือ ในการสถาปนากรมพระยาวชิรญาณวโรรสขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชใน พ.ศ. 2464 ประกาศของพระราชพิธีดังกล่าวระบุว่า “…พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศทราบทั่วกัน ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า พระมหาสังฆปรินายกปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร์…”

อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงพระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏของสมเด็จพระสังฆราชนับตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้นไป จะพบว่ามีสร้อยพระนามของสมเด็จพระสังฆราชถึง 6 พระองค์ ที่ปรากฏร่องรอยของการนำคำว่า “ประธานาธิบดี” มาใช้ ได้แก่

1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2394-2396) ปรากฏสร้อยพระนามว่า “มหาปาโมกษปทานวโรดมบรมนารถบพิตร”

2. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2434-2435)  ปรากฏสร้อยพระนามว่า “อุกฤษฐศักดิ์สกลสังฆปาโมกข์ ประธานาธิบดินทร มหาสมณคะณินทรวโรดม บรมบพิตร”

3. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2453-2464) ปรากฏสร้อยพระนามว่า “มหาปาโมกขประธานสถาวีรวโรดม บรมนาถบพิตร”

4. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2464-2480) ปรากฏสร้อยพระนามว่า “สยามาธิปัตยามหาสังฆปาโมกขประธานาธิบดี

5. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น) (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2488-2501) ปรากฏสร้อยพระนามว่า “สรรพคณิสสรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี”

6. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2532-2556) ปรากฏสร้อยพระนามว่า “สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี” 

ดังนั้น คำว่า “ปธานาธิบดี” หรือ “ประธานาธิบดี” ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในฝ่ายศาสนจักรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้วเป็นอย่างน้อย

แล้วคำว่า “ประธานาธิบดี” ที่ใช้ในความหมายของคำว่า “President” เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อใด?

เนื่องจากคำว่า “President” ในความหมายดั้งเดิมในภาษาอังกฤษหมายถึง “ประธาน” ของที่ประชุม ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้ง “สภาที่ปฦกษาราชการแผ่นดิน” จึงนำคำว่า “President” มาใช้ เรียกทับศัพท์ว่า “เปรสิเดนต์” ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 5 นั่นเอง โดยในประกาศพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด (Council of State) ระบุการทำหน้าที่ของรัชกาลที่ 5 ไว้อย่างชัดเจนว่า “สมเดจพระเจ้าอยู่หัวเปนเปรสิเดนต์ หัวน่าปธานาธิบดี”

อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า “หัวน่าปธานาธิบดี” แทนรัชกาลที่ 5 ในฐานะ “ประธาน” ของ “สภาที่ปฦกษาราชการแผ่นดิน” ไม่ได้มีนัยยะแบบเดียวกันกับประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของสหรัฐอเมริกา หรือเหมือนกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงใช้ในภาษาอังกฤษ เพราะการแปลความหมายของคำว่า “President” ดังกล่าวเป็นการใช้ตามความหมายดั้งเดิมในภาษาอังกฤษ คือ การเป็น “ประธาน” ของที่ประชุม

แต่อย่างน้อยที่สุด การแปลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการหยิบยืมคำว่า “ประธานาธิบดี” ในภาษาไทยที่แต่เดิมใช้ในบริบทของการปกครองของฝ่ายศาสนจักร มาใช้เรียกแทนประธานในที่ประชุมของฝ่ายอาณาจักร กระทั่งต่อมาคำว่า “ประธานาธิบดี” จึงกลายเป็นคำที่ใช้แทนหรือแปลจากคำว่า “President” อันเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดของรัฐที่ใช้ระบอบการเมืองที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์

 


อ้างอิง :

เอกลักษณ์ ไชยภูมี. (ตุลาคม, 2561). ประธานาธิบดีแห่งกรุงสยาม!. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 : ฉบับที่ 12


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564