ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อพูดถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของไทย เราส่วนใหญ่มักเรียกผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว ว่า “คนอีสาน” ตามภูมิศาสตร์ หรือไม่ก็เรียกว่า “คนลาว” ตามวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ เพราะคนสองฝั่งโขงระหว่างอีสานลาวสมัยโบราณเดินทางเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่ไม่ขาดสาย
นอกจากนี้หลายครั้งที่เกิดปัญหาการเมืองหรือความขัดแย้งภายในลาว เช่น หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยเชษฐา (พ.ศ. 2093-2115) บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน และการรุกรานของพม่า เป็นต้น ผู้คนในลาวก็จะอพยพไปตั้งหลักแหล่งในพื้นที่อื่น รวมถึงภาคอีสานของของประเทศไทย
แต่ประชาชนในอีสานก็ไม่ได้เป็นลาวทั้งหมด เพราะยังมีเผ่าพันธุ์และกลุ่มภาษาอื่นๆ ตั้งหลักแหล่งประสมประสานอยู่ด้วย
ร่องรอยของผู้คนหลายเผ่าพันธุ์มีอยู่ในบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จฯ ไปตรวจราชการทางอีสานเมื่อ พ.ศ. 2449 ทรงเล่าว่านอกจากชาวล้านช้างกับเวียงจันแล้ว ยังมีชนกลุ่มอื่นๆ อยู่ในอีสานอีกดังนี้
ผู้ไท อยู่ที่เรณูนครในจังหวัดนครพนม กับอยู่ที่จังหวัดสกลนคร
กะเลิง ส่วนมากอยู่ในจังหวัดสกลนคร เดิมอยู่เมืองกะตาก มีภาษาพูดของตนต่างหาก ผู้ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า มักสักเป็นรูปนกที่แขนและแก้ม
ย้อ อยู่แถวเมืองท่าอุเทนในจังหวัดนครพนม เดิมอยู่เมืองไชยบุรี ใกล้เมืองท่าอุเทน แล้วหนีกองทัพกรุงเทพฯ ไปอยู่ฝั่งลาวใกล้แดนญวนคราวหนึ่ง เพิ่งกลับมาอยู่ที่ท่าอุเทนในสมัยรัชกาลที่ 3
แสก อยู่เมืองอาจสามารถในจังหวัดร้อยเอ็ด เดิมอยู่เมืองแสกในลาวต่อแดนญวน มีการละเล่นเรียก “เต้นสาก”
โย้ย อยู่เมืองอากาศอำนวยในจังหวัดสกลนคร อยู่ในจังหวัดสกลนคร
กะโซ่ อยู่เมืองกุสุมาลย์ในจังหวัดสกลนคร เดิมอยู่เมืองมหาชัยก่องแก้วในลาว เป็นพวกข่ามีผิวคล้ำ พูดภาษาของตนเอง
เขมรป่าดง อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ ชอบเป่าใบไม้
ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไป ไม่ได้มีอยู่บริเวณเท่าที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงไปพบแล้วบันทึกไว้สมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณต้นแม่น้ำมูลคือ ไทโคราช หรือไทเทิ้ง อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา อาจมีถิ่นฐานเดิมอยู่ภาคกลาง
ข้อมูลจาก
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์, พ.ศ. 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564