เผยแพร่ |
---|
ใบปลิวนับเป็นเครื่องมือสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ซึ่งทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างก็ใช้ใบปลิวชวนเชื่อคนไทยให้มีความคิดเข้ากับฝ่ายตนเอง สำหรับใบปลิวของฝ่ายสัมพันธมิตรนี้ถูกโปรยลงมายังแผ่นดินประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2488 ปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้ที่เก็บสะสมใบปลิวเหล่านี้คือ อาจารย์ปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ บ้านอยู่ย่านสะพานกษัตริย์ศึก ใกล้หัวลำโพง กรุงเทพฯ

อาจารย์ปุ๋ยเกิดเมื่อ 4 มกราคม พ.ศ. 2456 ถึงแก่กรรมเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2522 บิดาคือ อำมาตย์เอก พระยาอรรถนิติขจร (ปลื้ม โรจนะบุรานนท์) มารดาคือ คุณหญิงจันทร์ โรจนะบุรานนท์ และมีภรรยาคือ ม.ร.ว. สอางค์โสม พระธิดาในกรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ (ราชสกุลสุขสวัสดิ์) มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน

หากจะให้เห็นภาพภาวะสงครามและการโปรยใบปลิวนี้ ต้องอาศัยหนังสือ หวอ ชีวิตไทยในไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานเขียนของ คุณสรศัลย์ แพ่งสภา ผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยกับสงครามโลกครั้งนี้ ได้เขียนบรรยายสภาพบรรยากาศบ้านเมืองในยุคสงครามไว้อย่างละเอียด
คุณสรศัลย์เกิดเมื่อ พ.ศ. 2463 เมื่ออายุ 21 ปี ญี่ปุ่นก็บุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากนั้นประเทศไทยก็อยู่ในภาวะยุ่งเหยิงเรื่อยมา ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น-เยอรมนี-อิตาลี และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485
ประเทศไทยได้กลายเป็นฐานที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งกำลังก้าวไปโจมตีมลายู และพม่า ดินแดนใต้การปกครองของอังกฤษ ดังนั้น ประเทศไทยจึงตกเป็นเป้าการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2485 สหรัฐอเมริกาเริ่มทิ้งระเบิดลงกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แม้จะทำให้เยาวราช หัวลำโพง เสียหายไม่มากนัก แต่ก็ทำให้คนกรุงเทพฯ ตื่นตกใจวิ่งพล่านกันทั้งเมือง ปลายปีนั้นก็เกิดน้ำ ท่วมใหญ่ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงไปทั่ว


เช้าวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2487 ฝูงบิน บี-29 จำนวนกว่า 30 เครื่อง บินเข้ามาถล่มกรุงเทพฯ ทำให้สะพานพระพุทธยอดฟ้าพังพินาศ บ่ายวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2488 ทิ้งต่อไปอีก โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงไฟฟ้าสามเสน แหลกลาญ น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง รถรางไม่วิ่ง กรุงเทพฯ มืดไปหมดทั้งเมือง กรุงเทพฯ โดนระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่ากลางคืน หรือกลางวัน จนคนหัวปั่น
คุณสรศัลย์กล่าวว่าการโปรยใบปลิวมีหลายครั้ง วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรโปรยใบปลิวชี้แจงเรื่องส่งยาลงมาช่วยโดยยืนยันด้านมนุษยธรรม ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นก็โฆษณาชวนเชื่อทันทีว่ายาที่สหรัฐอเมริกันส่งมาให้ล้วนเป็นยาพิษทั้งสิ้น
อีกไม่นานต่อมาวันที่ 6 กับ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกานำระเบิดปรมาณูไปทิ้งในเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิในประเทศญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกเป็นอันสิ้นสุดลง
คงเหลือใบปลิวเหล่านี้ไว้เป็นอนุสรณ์ของสงครามจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งนี้


อ้างอิง :
เอนก นาวิกมูล. (2549). ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2564