ชราแบบมีคุณภาพ นักดนตรีคิวบาหลังยุคปฏิวัติเลิกเกษียณมาอัดเพลง สู่อัลบั้มอมตะของโลก

ภาพถ่ายสมาชิกคณะ Buena Vista Social Club คนที่นั่งจากซ้ายไปขวา Compay Segundo และ Omara Portuondo ส่วนที่ยืน จากซ้ายไปขวา ได้แก่ Guajiro Miraval, Orlando 'Cachaito' Lopez, Barbarito Torrez, Juan de Marcos และ Ibrahim Ferrer ถ่ายด้านหน้าโรงแรมในเม็กซิโก เมื่อ 26 ก.พ. 2003 ภาพจาก JORGE UZON / AFP

เปิดเส้นทาง Buena Vista Social Club โปรเจกต์ประวัติศาสตร์ของโลกดนตรี อัลบั้มเพลงพื้นถิ่นคิวบาที่เต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งลาติน จากฝีมืออันล้ำลึกของกลุ่มคนดนตรีสูงวัยในสังคมหลังปฏิวัติคิวบา ท่ามกลางสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-คิวบา พวกเขาเลิกเกษียณมาอัดเพลงจนกลายเป็นอัลบั้มอมตะอีกชิ้นในประวัติศาสตร์ดนตรีร่วมสมัย 

ความเชื่อว่า “อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข” เป็นทั้งวลีปลุกใจ ในขณะเดียวกันก็เป็นทั้งวลีที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่ในบางสถานการณ์ เรื่องสังขารเป็นข้อยกเว้นตามกรณีแรกได้จริง ตัวอย่างหนึ่งของกรณีนี้คือกิจกรรมประเภทดนตรี ซึ่งอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการโลดแล่นท่ามกลางพายุแห่งโน้ต หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ดนตรีของโลก มีผลงานอมตะเหนือกาลเวลาจากฝีมือนักดนตรีสูงวัยมากมาย ผลงานชิ้นที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดคือกลุ่ม Buena Vista Social Club คนดนตรีรุ่นใหญ่ในคิวบาหลังยุคปฏิวัติที่เลิกเกษียณ กลับมาอัดเพลงจนกลายเป็นอัลบั้มในตำนานของโลกดนตรีจนถึงวันนี้

ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักคิวบาจากภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างซิการ์ ไปจนถึงภาพลักษณ์และบทบาทของบุคคลชื่อดังในประวัติศาสตร์อย่าง เช เกวารา (Che Guevara) หรือภาพของฟีเดล คาสโตร (Fidel Castro) หากมองภาพลงลึกไปในสังคมของคิวบาแล้ว พวกเขามีวัฒนธรรมหลายอย่างที่โดดเด่น และมีดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ด้วยสถานการณ์หลายอย่างทำให้ดนตรีในคิวบาไม่ค่อยถูกเผยแพร่ไปนอกประเทศมากนัก

เป็นที่กล่าวขานกันว่า “ยุคทอง” ทางวัฒนธรรมคิวบาอยู่ในช่วงยุค 40-50s เมื่อมาถึงทศวรรษ 1950 คิวบาตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การปฏิวัติ การปฏิวัติสิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ. 1959 ในยุคหลังปฏิวัติมาถึงยุค 70s ช่วงเวลาหนึ่งระหว่างนั้น คิวบายังได้รับทุนและมีสหภาพโซเวียตหนุนหลังอยู่ ฟิเดล คาสโตร นำแนวคิดสวัสดิการสังคมต่างๆ มาดำเนินการอย่างเบ่งบาน ผู้คนรับการรักษาฟรี ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ เห็นอนาคตสดใส มีแต่คนตะโกนเรียกชื่อ ฟิเดล คาสโตร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เส้นทางของ “เช เกวารา” นักปฏิวัติและการปฏิวัติคิวบา, ฆาตกร, คอมมิวนิสต์ และตราสินค้ายอดนิยม

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในต้นยุค 90s คิวบาไม่มีคู่ค้าที่เป็นสังคมนิยมก็เข้าสู่ยุคที่โดนมาตรการทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจจนเริ่มเกิดภาวะอาหารขาดแคลน ของกินของใช้ราคาแพง น้ำไม่ไหล สวัสดิการการแพทย์ที่เคยเป็นตัวชูโรงก็ตกต่ำลง

ยุคต้น 90s ผู้คนในคิวบาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ฟิเดล คาสโตร ใช้ “การท่องเที่ยว” เข้ามาช่วยโดยหวังว่าการเปิดประตูให้โลกภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจได้ ธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มตั้งไข่ขึ้นในต้นยุค 90s พร้อมๆ กับธุรกิจด้านดนตรี ค่ายเพลงจากต่างประเทศเข้ามาค้นหาวัตถุดิบเพื่อนำไปทำการค้า

“บูเอนา วิสตา โซเชียล คลับ” (Buena Vista Social Club) เป็นโปรเจกต์ดนตรีพื้นถิ่นคิวบาที่เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1997 ชื่อ “บูเอนา วิสตา โซเชียล คลับ” ก็เป็นชื่อคลับในฮาวานา (Havana) ที่มีอยู่จริง เป็นคลับที่รับเฉพาะสมาชิกเท่านั้น แต่ปิดตัวลงตั้งแต่ยุค 40s แล้ว

จุดกำเนิดของการรวมตัวนักดนตรีวัยเกษียณเริ่มขึ้นจาก ราย คูเดอร์ (Ry Cooder) มือกีตาร์ที่โด่งดังเรื่องการเล่นด้วยอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่าสไลด์ (Slide) ได้รับเชิญจากนิค โกลด์ (Nick Gold) โปรดิวเซอร์ชาวบริติชที่ทำงานค่ายเพลงแนวเวิลด์มิวสิกให้ไปทำเพลงที่นักดนตรีมาลีจะมาเล่นร่วมกับนักดนตรีท้องถิ่นของคิวบาเพื่อสะท้อนเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีคิวบากับดนตรีแอฟริกันตะวันตก

แต่ปรากฏว่าชาวแอฟริกันพบปัญหาติดขัดจนไม่ได้รับวีซ่าทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าฮาวาน่าได้ เลยต้องเปลี่ยนแผนไปทำอัลบั้มดนตรีท้องถิ่นคิวบาแทนเพราะจองสตูดิโอไว้แล้ว (โกลด์ สามารถทำโปรเจกต์ดั้งเดิมที่คิดไว้สำเร็จจนได้ในปี 2010)

ทั้งนี้ การเดินทางของราย คูเดอร์ ก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน เล่ากันว่า การเดินทางไปคิวบาก็ต้องเดินทางผ่านเม็กซิโกก่อนเพื่อเลี่ยงระเบียบจากมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อคิวบา

จริง ๆ แล้ว ราย คูเดอร์ มีพื้นเพเล่นร็อก บลูส์ มาสายดนตรีพื้นเมืองแบบกีตาร์ฮาวาย และกีตาร์คิวบาด้วย อีกทั้งยังสนใจสไตล์ท้องถิ่นของคิวบาที่มีกีตาร์นำ โดยมีศัพท์เรียกกันว่า ดนตรี Cuban Son

เมื่อพบว่าเป้าหมายเดิมของงานไปไม่ได้ พวกเขาเลยเปลี่ยนแผนมาทำงานท้องถิ่นคิวบา และมาลงเลยที่ไอเดียตั้ง “ออเคสตรา” ร่วมกับคนดนตรีมีชื่อในคิวบา คูเดอร์ ไปหานักดนตรีหนุ่มคิวบาให้มาช่วยแนะนำรายชื่อนักดนตรีมือชั้นยอดในท้องถิ่นให้หน่อย

ลิสต์ที่ออกมาเดิมทีแล้วมีแค่นักดนตรีรุ่นใหญ่ 2 ราย คือ นักเปียโนวัย 79 ปี (อายุเมื่อ 1997) ชื่อรูเบ็น กอนซาเลซ (Rubén González) กับนักกีตาร์วัย 89 ปีชื่อกัมเปย์ เซกุนโด (Compay Segundo) แล้วก็ได้ทั้งสองคนนี้ไปหาคนอื่นมาต่อกันไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ที่หามาก็เป็นเพื่อนของทั้งคู่ อายุก็เลยเลข 6 ไปหมดแล้ว แม้จะทรงเหมือน “คนเกษียณ” แต่ทักษะเล่นเครื่องดนตรีหรือเสียงร้องยังเฉียบด้วยกันทั้งนั้น

กรณีของกัมเปย์ (Compay Segundo) เขาเลิกเล่นดนตรีตั้งแต่ปี 1970 และหันไปมวนซิการ์ตามวิถีชีวิตเดิมตั้งแต่ปลายทศวรรษ 30s ส่วนรูเบ็น กอนซาเลซ (Rubén González) นักเปียโนที่ราย คูเดอร์ อธิบายว่าเป็นนักโซโลเปียโนที่ยอดเยี่ยมสุดเท่าที่เขาเคยได้ยินมาในชีวิต (จนถึงปี 1997) และเปรียบเทียบว่า “เหมือนส่วนผสมระหว่าง Thelonius Monk (นักดนตรีและนักประพันธ์ชื่อดัง) กับ Felix the Cat (ชื่อตัวการ์ตูน)”

แต่จริง ๆ แล้ว รูเบ็น เลิกเล่นเปียโนมาหลายปีเพราะโรคปวดข้อ และอีกเหตุผลคือไม่มีเปียโนเล่น เปียโนของเขาโดนปลวกกินไปแล้วประกอบกับสภาพอากาศร้อนชื้นเล่นงานเข้าขณะที่ตัวเขาอาศัยในลาตินอเมริกา

ตอนแรกเริ่ม คณะทำงานมีเพลงอยู่ไม่กี่เพลง พอรวมนักดนตรีได้มากขึ้นเรื่อย ๆ  มีนักดนตรีมากขึ้นเป็นรายวัน เพลงก็มากขึ้นตามมา ไล่ไปตั้งแต่เพลงยุค 50s ยุคแรกเริ่มของซัลซ่า ส่วนเพลงที่นักดนตรีเล่นกันก็หลากหลาย เพราะนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่มาแจมผ่านยุคสมัยของดนตรีสำหรับเต้นมาหลายยุค ตั้งแต่รุมบ้า (Rumba), มัมโบ (Mambo), ชะชะช่า (Cha-cha-cha) และซัลซ่า (Salsa)

นักดนตรีบางคนก็เล่นร่วมกับบุคคลที่ริเริ่มบุกเบิกแนวพวกนี้ด้วย อย่าง Rubén González ก็เล่นกับนักกีตาร์ที่พิการทางสายตาชื่อ Arsenio Rodriguez ซึ่งเชื่อกันว่าบุกเบิกสไตล์มัมโบ และเล่นกับ Enrique Jorrín ผู้คิดค้นสไตล์ “ชะชะช่า” เรียกได้ว่า ช่ำชองเป็นคำพื้นฐานเกินไปสำหรับนักดนตรีรุ่นใหญ่เหล่านี้

นอกเหนือจากคนในลิสต์แรกเริ่ม พวกนักดนตรีที่ทยอยเข้าร่วม บางคนก็ไปทำอย่างอื่นแล้ว นักร้องชื่อ Ibrahim Ferrer เคยเป็นนักเต้นในคลับ ไปหาเลี้ยงชีพด้วยการขัดรองเท้าและขายลอตเตอรี่ก็ได้อัลบั้มนี้พลิกโชคชะตา กลับมาร้องเพลงแบบสุดชีวิต ปี 2003 ยังคลอดอัลบั้ม Buenos Hermanos และได้รางวัลแกรมมี่ด้วย แต่เข้าสหรัฐฯ ไปรับรางวัลไม่ได้

อัลบั้ม Buena Vista Social Club อัดกันที่ EGREM สตูดิโอประวัติศาสตร์ในฮาวานา ก่อนยุคปฏิวัติคิวบา ศิลปินชื่อดังทั้งในคิวบาและศิลปินอย่าง แนท คิง โคล (Nat King Cole) ต่างต้องใช้สตูดิโอแห่งนี้อัดเสียงซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือยังตกทอดมาจากยุคก่อนปฏิวัติคิวบาในยุค 40-50s พวกเขาอัดกัน 6 วัน

อัลบั้มมี 14 เพลง เพลงเปิดคือ Chan Chan เพลงลายเซ็นของโปรเจกต์ ซึ่งท่วงทำนองติดหู ฟังครั้งแรกก็จดจำกันได้เลย โกลด์ เล่าไว้ว่าพวกเขาอัดเพลงนี้เป็นเพลงแรกและอัดแค่เทคเดียวเท่านั้น เมื่อมาเปิดฟังแล้วพวกเขารู้สึกว่ากำลังทำงานที่สำคัญอยู่เนื่องจากสภาพบรรยากาศสังคมในเวลานั้น สหภาพโซเวียตเพิ่งล่มสลายไป และคิวบาอยู่ในสภาพยากลำบาก

อัลบั้มนี้ปิดด้วยเพลงช้าทำนองไพเราะสไตล์ลาตินเนื้อหาปลุกใจรักชาติ ชื่อ La Bayamesa (คนละเพลงกับทำนองเพลงชาติคิวบาที่ชื่อเดียวกัน) เป็นเพลงที่ไพเราะมากอีกเพลงในอัลบั้ม

ส่วนราย คูเดอร์ ให้สัมภาษณ์บอกว่าเขาทำแค่ “ซาวด์ เอฟเฟกต์” แค่นั้นเอง เพราะนักดนตรีกลุ่มนี้เจ๋งอยู่แล้ว แค่ต้องการอะไรเพิ่มเติมเล็กน้อยเท่านั้นเอง

อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จหลากหลายด้าน ในทางวัฒนธรรม ผลงานชุดนี้ทำให้ดนตรีคิวบาก่อนยุคปฏิวัติเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในยุคที่ไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ อัลบั้มแพร่กระจายไปจากนักวิจารณ์ และการบอกเล่าปากต่อปาก กระทั่งวัฒนธรรมคิวบาเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐฯ มีคลาสสอนเต้นซุมบ้า มีบาร์สไตล์คิวบา เพลงดังในอัลบั้มไปอยู่ในเพลย์ลิสต์ร้านกาแฟ เพลย์ลิสต์ของห้างร้านขายสินค้า ในด้านการค้า อัลบั้มทำยอดขายเกิน 8 ล้านแผ่น เป็นอัลบั้มเพลงคิวบาที่ทำยอดขายมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ในด้านกล่องรางวัล อัลบั้มนี้ได้รางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มลาตินท้องถิ่นยอดเยี่ยมปี 1998 และอัลบั้มซัลซ่ายอดเยี่ยมเวทีลาตินบิลบอร์ดปี 1998

โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จจนต่อยอดมาเป็นทัวร์แสดงดนตรี สมาชิกกลุ่มดั้งเดิมไปแสดง 3 โชว์คือที่ Carré Theatre ในอัมสเตอร์ดัม ที่เนเธอร์แลนด์ 2 คืน และโชว์สุดท้ายที่ Carnegie Hall ในนิวยอร์ก โชว์นี้มี Wim Wenders นักทำหนังสารคดีมาบันทึกภาพไว้มาผลิตเป็นสารคดีชื่อเดียวกับวงด้วย

โชว์ที่นิวยอร์กมีอัลบั้มบันทึกเสียงออกมาเช่นกัน เพลงเวอร์ชั่นแสดงสดทำให้เห็นถึงพลังของ “คนดนตรีวัยเกษียณ” อย่างแท้จริง บทเพลงอันอมตะอย่าง Quizas, Quizas ที่มีทำนองติดหูมาจนวันนี้ เชื่อว่าหลายคนคุ้นทำนองเพลงนี้ เมื่อวงนี้เล่นแล้วช่างเป็นเวอร์ชั่นที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังและเสน่ห์ของลาติน และหลายเพลงที่บรรเลงโดยคณะ Buena Vista Social Club ก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน

หลังจากโด่งดังจากอัลบั้มประวัติศาสตร์ของโลกดนตรี สมาชิกหลายคนทยอยลาจากโลกไป สมาชิกในคณะยุคหลังเปลี่ยนหน้าไปหลายราย ยังหลงเหลือ Omara Portuondo นักร้องหญิงที่เป็นกระบอกเสียงให้วงอยู่ในบางการแสดง Omara กำเนิดเมื่อค.ศ. 1930 ปัจจุบัน (2021) เธออายุร่วม 90 ปีแล้ว

ในมุมมองของโรบิน ดี มัวร์ (Robin D Moore) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยดนตรีวิทยา (ethnomusicology) จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีคิวบา เขามองว่า เรื่องราวของคณะดนตรีชุดนี้ที่ถูกถ่ายถอดออกมาในเชิงวิชาการมีแง่มุมเกี่ยวกับการโหยหาอดีตและเรื่องของยุคก่อนหน้าคณะนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ชาวอเมริกันเข้าไปพัวพันในสังคมคิวบาค่อนข้างมาก มัวร์ เอ่ยถึงยุคก่อนหน้าในการให้สัมภาษณ์กับ “เดอะ การ์เดียน” (The Guardian) ว่า

“มีเรื่องเงินก้อนโตเข้ามาเกี่ยว มีมาเฟีย การพนันถูกกฎหมายก็มีในคิวบาแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับในสหรัฐฯ คนเขาว่ากันว่า มีคลับและมีแหล่งแสดงดนตรีสดหลายแห่งด้วย”

มัวร์ ยังเล่าว่า นักมานุษยดนตรีวิทยาบางรายยังบอกว่าในสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคณะนี้ฉายภาพกลุ่มนักดนตรีเสมือนเป็นคนบ้านนอกที่ไม่เคยเห็นตึกระฟ้า แต่อีกด้านคือ นักดนตรีหลายคนเคยมาสหรัฐฯ ก่อนการปฏิวัติแล้ว ในขณะเดียวกัน สารคดีเกี่ยวกับนักดนตรีกลับไปไม่ได้ถามถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในคิวบาแม้ว่าพวกนักดนตรีเหล่านี้จะมีชีวิตผ่านยุคปฏิวัติมาด้วยตัวเองก็ตาม

“และในยุค 60s เมื่อการท่องเที่ยวสิ้นสุดลง ศิลปินเหล่านี้ได้รัฐบาลเลี้ยงดู และรัฐบาลยังจัดทัวร์แบบวงกว้างไปเยอรมันตะวันออกและรัสเซีย ญี่ปุ่นและจีน แต่ผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นนักดนตรีเหล่านี้เป็นที่รับรู้เพราะพวกเขาผ่านเรื่องยากลำบากมามากมายแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ และคิวบา ทำให้อาชีพของพวกเขาเสียหาย”

อิทธิพลของคณะดนตรีแห่งคิวบากลุ่มนี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมและวัฒนธรรมดังที่กล่าวมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้ หากเดินทางไปที่ฮาวานา และเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ หากมีเสียงเพลงลอยมาให้ได้ยิน ต้องมีสักบทเพลงเป็นผลงานของคณะนี้ น่าเสียดายที่คณะนี้อัดเสียงในสตูดิโอไว้เพียงอัลบั้มเดียวเท่านั้น ต่อมา ในปี 2015 ค่ายเพลง World Circuit คัดเลือกแทร็กที่ยังไม่เคยได้เผยแพร่มารวมเป็นอัลบั้มชื่อ Lost and Found


อ้างอิง :

Barton, Laura. “Buena Vista Social Club: the legends look back”. The Guardian. Online. Published 22 MAR 2015. Access 25 OCT 2021. <https://www.theguardian.com/music/2015/mar/22/buena-vista-social-club-the-sweet-sound-of-cuba>

BUENA VISTA SOCIAL CLUB. Access 25 OCT 2021. <http://www.buenavistasocialclub.com/story/>

Cobo, Leila. ” ‘I Knew We Were Doing Something Important’: Buena Vista Social Club Remembered, 25 Years Later”. Billboard. Online. Published 18 OCT 2021. Access 25 OCT 2021. <https://www.billboard.com/articles/columns/latin/9646459/buena-vista-social-club-album-oral-history/>

TSIOULCAS, ANASTASIA . “20 Years On, That Buena Vista Social Club Magic Endures”. NPR. Online. Published 26 SEP 2017. Access 25 OCT 2021. <https://www.npr.org/sections/therecord/2017/09/26/552677631/20-years-on-that-buena-vista-social-club-magic-endures>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2564