ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | วสิษฐ เดชกุญชร |
เผยแพร่ |
ตลอดระยะเวลาประมาณ 15 ปีที่ผมได้รับใช้พระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมได้มีโอกาสเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในประดิษฐกรรมต่างๆ เช่น เครื่องรับส่งวิทยุสื่อสาร และอาวุธที่ใช้ในการสงคราม เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่ทรงสนพระทัยเฉยๆ แต่ยังทรงศึกษาส่วนประกอบและกลไกของสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นจนทรงมีความรู้อย่างเชี่ยวชาญไม่แพ้นายช่างในแขนงวิชานั้นๆ ทรงสามารถถอดประกอบและซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดด้วยพระองค์เอง พระตำหนักจิตรลดารโหฐานอันเป็นที่ประทับนั้น ส่วนหนึ่งมีลักษณะเหมือนโรงงานย่อมๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับและทรงใช้เวลาอยู่บ่อยๆ และนานกาล
สมัยนั้น (ประมาณ พ.ศ. 2509-24) ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามทั้งในและนอกประเทศ รัฐบาลต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศ ส่วนในต่างประเทศนั้นรัฐบาลก็ส่งทหารไปร่วมรบกับพันธมิตรเช่นสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม อาวุธยุทโธปกรณ์ของเรายังค่อนข้างเก่า และที่สหรัฐอเมริกาส่งมาให้ใช้ก็มีจำนวนจำกัด
เมื่อมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายอาวุธปืนเอ็ม 16 เป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัย ทรงใช้เครื่องมือผ่าปืนกระบอกที่เขาถวายออกทั้งกระบอกเพื่อทรงศึกษากลไกของปืนชนิดนั้นด้วยพระองค์เอง ในที่สุดก็ทรงสามารถซ่อมปืนที่ชำรุดได้โดยไม่ต้องส่งไปให้ช่างสรรพาวุธทหารหรือตำรวจซ่อม
ผมจำได้ว่ามีพระราชกระแสรับสั่งให้ผมรับอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่ชำรุด จากหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนเอากลับมาถวาย แล้วก็ทรงพระกรุณาซ่อมปืนที่ชำรุดโดยใช้ส่วนที่ยังดีจากปืนกระบอกอื่นไปซ่อมกระบอกที่ชำรุดจนได้ปืนที่มีสภาพดี ครั้นแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ผมเชิญกลับไปคืนให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยนั้น สมัยนั้นทุกหน่วยต้องการปืนที่ทรงซ่อมเอง เพราะถือว่าเป็นปืนพระราชทานและเป็นสิริมงคลแก่หน่วยที่ได้รับพระราชทาน
ยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่งที่ใหม่และมีน้อยไม่พอแก่ความต้องการคือเฮลิคอปเตอร์ ผมจำได้ว่าเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่กรมตำรวจใช้ในสมัยนั้นไม่ติดอาวุธ เวลาไปราชการเจ้าหน้าที่ต้องใช้ปืนเล็กกลประจำตัวต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่ยิงขึ้นมาจากพื้นดิน ซึ่งนอกจากจะเกะกะเพราะต้องประทับยิงจากในเฮลิคอปเตอร์ที่คับแคบแล้ว ยังเป็นปืนที่ใช้กระสุนขนาดเล็กและเบา จึงยิงได้ไม่แม่นและพลาดที่หมายเสมอ เมื่อความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาพระราชทานปืนกลที่ใช้กระสุนขนาดใหญ่และหนักกว่า จำได้ว่าเป็นปืนกลหนักยี่ห้อบราวนิง แบบ 1917 ใช้กระสุนขนาด .30-06 ซึ่งใช้ซองกระสุนที่บรรจุได้ถึง 250 นัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงควบคุมการติดตั้งปืนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์ด้วยพระองค์เอง และเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการซ้อมยิงจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย และตั้งแต่นั้นมาเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจก็มีเขี้ยวเล็บ สามารถต่อสู้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยแม้กระทั่งกับรองเท้าที่ทหารและตำรวจใช้ในราชการสนาม ทรงทราบว่ารองเท้าที่กองทัพสหรัฐใช้และมอบให้แก่กองทัพไทยนั้นเป็นรองเท้าที่มีขนาดและทรงไม่เหมาะกับเท้าของคนไทย จึงทรงพระกรุณาพระราชทานความคิดให้กองทัพบกนำไปทำรองเท้าที่มีขนาดและทรงเหมาะกับเท้าของคนไทย แบบของรองเท้าสนามที่ทหารและตำรวจใช้อยู่ทุกวันนี้มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทั้งสิ้น
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ.2560