ที่มา | ขวาพิฆาต (?) ซ้าย |
---|---|
ผู้เขียน | ศิบดี นพประเสริฐ |
เผยแพร่ |
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นั้นใกล้ชิดกันอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังการถูกโค่นอำนาจของรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่จีนแผ่นดินใหญ่และสงครามเกาหลี สหรัฐฯ ไม่เพียงให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและการฝึกอบรมแก่กองทัพไทยด้วย และในช่วงนี้เองที่กองทัพไทยปรับรูปแบบองค์กรไปตามโครงสร้างของกองทัพสหรัฐฯ นอกจากนี้ โรงเรียนนายร้อยของกองทัพไทยยังรับรูปแบบหลักสูตรจากโรงเรียนนายร้อยเวสปอยต์ใน พ.ศ. 2492
สิ่งที่ตามมาก็คือการที่นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยรับเอาหลักการและนโยบายของสหรัฐฯ มาอย่างเต็มตัว นโยบายความมั่นคงของไทยได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการขยายตัวของจีนคอมมิวนิสต์ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยมีความเชื่อว่าจีนคอมมิวนิสต์ มีแผนที่จะบุกไทยด้วยกำลังทหาร ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ไทยจึงเตรียมตัวที่จะเข้าสู่สงครามตามแบบ (conventional warfare) เพื่อต่อต้านการรุกรานจากจีน
ความเชื่อและการเตรียมตัวดังกล่าวกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของนโยบายด้านความมั่นคงของไทย นอกจากนี้ นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยยังได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับฝ่ายสหรัฐฯ ว่าสงครามกองโจร (guerrilla warfare) จะเป็นรูปแบบการทำสงครามสำคัญของฝ่ายคอมมิวนิสต์จากภายนอกประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสัญญาณของการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท แต่ปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบก็ยังมิได้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงขณะนั้น
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาว ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามหลักของความมั่นคงของไทย กอปรกับบทเรียนจากสงครามเกาหลี ส่งผลให้ไทยกังวลเกี่ยวกับปฏิบัติการข้ามพรมแดนของกองกำลังฝ่ายศัตรู นั่นคือภัยคุกคามที่มาจากลาว ดังนั้น การหยุดยั้งสงครามกองโจรในพื้นที่ชนบทให้ได้นั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเช่นนี้มาจากความเชื่อเดิมของไทยที่ว่า “รบนอกบ้านดีกว่ารบในบ้าน” [1]
ช่วงต้นของการต่อต้านการก่อความไม่สงบในช่วงทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ มีบทบาทอย่างสำคัญต่อกรมตำรวจไทยผ่านบริษัทซีซัพพลาย (SEA Supply) อันเป็นหน่วยงานตัวแทนขององค์กรข่าวกรองกลาง (CIA) แต่หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 และเมื่อพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ สูญเสียอำนาจ สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนไปให้การสนับสนุนกองทัพไทยแทน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนการสนับสนุนของสหรัฐฯ จากตำรวจไปยังทหารนั้นยังเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องบทบาทกองทัพอีกด้วย โดยในช่วงทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ มองว่าตำรวจเป็นหน่วยปฏิบัติการที่ดีที่สุดสำหรับต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงทศวรรษ 2500 สหรัฐฯ กลับยอมรับว่ากองทัพคือหน่วยงานที่มีความพร้อมรับมือการก่อความไม่สงบของฝ่ายคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้สหรัฐฯ พยายามจำกัดบทบาทของตนในนโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบ
แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อหลักการและแนวนโยบายการต่อต้านการก่อความไม่สงบของไทย ซึ่งอิทธิพลเช่นนี้ ถูกส่งผ่านจากสหรัฐฯ มาสู่ไทยผ่านการศึกษาและการฝึกอบรมของกองทัพ โดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยจะได้รับการฝึกอบรมทั้งจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และจากเจ้าหน้าที่ของไทยเองที่จบการศึกษามาจากโรงเรียนนายร้อยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิทยาลัยการทหารฟอร์ต เลเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth) ในขณะเดียวกันคู่มือภาคสนามของกองทัพสหรัฐฯ ก็ได้รับการนำมาใช้เป็นตำราหลักของโรงเรียนนายร้อยไทย [2]
กองทัพไทยในขณะนั้นยังไม่เข้าใจมิติทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ภายใต้บริบทของสงครามก่อความไม่สงบภายใน นอกจากนี้ กองทัพไทยยังมองสงครามก่อความไม่สงบว่าเป็น “สินค้านำเข้า” ดังนั้นจึงต้องต่อสู้กับการก่อความไม่สงบด้วยกำลังทางทหาร อีกทั้งการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ส่งผลให้มาตรการทางทหารได้รับการยอมรับในกองทัพ ส่วนแนวคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนมาตรการที่ไม่ใช่การใช้กำลังทางทหารนั้น เป็นเพียงมาตรการเชิงตั้งรับที่เปิดโอกาสให้สงครามกองโจรขยายตัวออกไปมากขึ้น [3]
ตัวแสดงฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นกองทัพมีการเรียนการสอนทางการทหารซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีต่อนโยบายและหลักนิยมของไทย โดยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ในสถาบันการศึกษาของกองทัพเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องสงครามตามแบบที่มาจากภัยคุกคามภายนอก แต่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้นายทหารออกไปต่อสู้กับสงครามภายใน และแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของไทยยังรับอิทธิพลจากทฤษฎีโดมิโนอีกด้วย
โดยกองทัพไทยวางยุทธศาสตร์ไปถึงกรณีที่ร้ายแรงที่สุด นั่นคือ การที่กรุงเทพฯ ถูกโจมตีจากคอมมิวนิสต์ที่มาจากภายนอกประเทศ และจากการใช้มาตรการทางทหารเป็นแนวนโยบายหลักเช่นนี้เอง ส่งผลให้ผู้นำเหล่าทัพ (ซึ่งหนังสือเล่มนี้จัดประเภทว่าเป็นชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม) มองว่าประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ เพราะประชาธิปไตยไม่เอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพและอาจเปิดช่องให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายตัวออกไปได้
ดังนั้นการมีรัฐบาลอำนาจนิยมจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะเอื้อต่อการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แนวคิดเช่นนี้เองที่กลายมาเป็นพื้นฐานทางความคิดของกลุ่มผู้นำเหล่าทัพไทย อันส่งผลต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของไทยในเวลาต่อมา [4] ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่แม้ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย
แต่ก็เป็นระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน เขตชนบท และเขตเมือง ส่งผลให้ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไทยและอนุรักษนิยมที่เป็นฝ่ายขวาเกิดความหวาดกลัวภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ จนมีความพยายามในการทำรัฐประหารในช่วงต้น พ.ศ. 2519 และประสบความสำเร็จในที่สุดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
เชิงอรรถ :
[1] Surachart Bamrungsuk, “Doctrinal Debates: The Politics of Counter-Insurgency Warfare,” in From Dominance to Power Sharing: The Military and Politics in Thailand, 1973-1992 (Ithaca: Submitted in partial fulfillment of the requirements for the degree of Doctor of Philosophy in the Graduate School of Arts and Science, Columbia University), pp. 99-100.
[2] Ibid.
[3] Ibid., p. 101.
[4] Ibid., pp. 101-102.
หมายเหตุ
- บทความนี้คัดย่อจาก มริก. ขวาพิฆาต (?) ซ้าย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2554
- จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2564