ย้อนรอย “วัฒนานคร” ชุมชนโบราณสู่เมืองใหม่สมัยร.3 ทำไมจึงมีตำแหน่งขุนนางแบบลาว?

เจ้าพ่อหลักเมืองวัฒนานคร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558)

วัฒนานคร เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในเส้นทางการเดินทัพไทย-กัมพูชา ในช่วงเวลาเดียวกับการยกด่านกบแจะเป็นเมืองประจันตคาม และยกด่านหนุมานเป็นเมืองกบินทร์บุรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักฐานเกี่ยวกับเมืองวัฒนานครจะปรากฏในหลักฐานที่เป็นเอกสารแค่เพียงสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา

แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า บริเวณอำเภอวัฒนานครนั้นปรากฏร่องรอยว่าเคยมีชุมชนโบราณมาก่อน เช่น ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย ซึ่งเป็นอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้น 

ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย มีลักษณะเป็นอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลักษณะโดยรวมของอโรคยาศาลคือ เป็นปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปราสาทประธาน 1 องค์ เพื่ออุทิศถวายให้กับพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า มีบรรณาลัยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีโคปุระเฉพาะทิศตะวันออก และมีช่องประตูขนาดเล็กอยู่ทางทิศใต้ของโคปุระด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกกำแพงมีสระน้ำ เช่น ปราสาทตาเมียนโตจ ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใยก็มีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน

บริเวณปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย ยังพบทับหลังหินทรายศิลปะแบบไพรกเมง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 และพบร่องรอยชิ้นส่วนราชยานสำริด ศิลปะขอมสมัยบายน พุทธศตวรรษที่ 18 อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบร่องรอยโบราณสถาน “อ่างศิลา” บ้านนางาม หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว 

แสดงให้เห็นว่าในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีชุมชนโบราณอยู่ในเขตเมืองวัฒนานครมาก่อน แต่ต่อมาน่าจะได้ร้างไปเนื่องจากภัยสงคราม เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางเดินทัพที่พระยาละแวกได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา และจากหลักฐานแสดงว่ามีการกวาดต้อนผู้คนจากบริเวณชายแดนเหล่านี้กลับไปเมืองละแวกด้วย

เช่น ใน พ.ศ. 2125 พระยาละแวก (สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 นักพระสัฏฐา) จัดทัพให้ยกมาจับคนบริเวณชายแดนตะวันออกอีกด้วย ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า “…ศักราช 944 มะเมียศก (พ.ศ. 2125) พรญาละแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลายด่านตะวันออก…” [1]

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่บริเวณนี้ตั้งอยู่ในเส้นทางเดินทัพ จึงปรากฏเรื่องเล่าขานในท้องถิ่นเกี่ยวกับการที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จฯ ยกทัพไปตีเมืองละแวกแล้วได้ผ่านมาบริเวณซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมืองวัฒนานครว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพมาถึงบริเวณซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดนครธรรม (วัดสระลพ) โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระน้ำขึ้นสำหรับเลี้ยงกองทัพ ซึ่งก็คือสระลพซึ่งเป็นสระน้ำโบราณ ปัจจุบันอยู่ภายในวัดนครธรรมนั่นเอง…

สระลพ ในวัดนครธรรม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558)

การตั้งเมืองวัฒนานคร

หลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงบริเวณเมืองวัฒนานครอีก จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังสงครามคราวปราบเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้กวาดต้อนครัวเมืองเวียงจันท์และเมืองขึ้น พร้อมทั้งเมืองอื่น ๆ ลงมากรุงเทพฯ แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อยู่ตามเมืองต่าง ๆ หลายเมือง ในจำนวนนั้นมีผู้คนชาวเมืองเวียงจันท์ได้มาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านน้อยใหญ่หลายแห่งในบริเวณนี้ เช่น บ้านพร้าว บ้านพระลพ บ้านเมือง บ้านจิก 

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองวัฒนานคร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558)

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองวัฒนานครขึ้น ดังที่ปรากฏหลักฐานใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า

“…ได้ยกบ้านเป็นเมืองขึ้นก็หลายตำบล เมืองขึ้นมหาดไทย บ้านกบแจะยกขึ้นเป็นเมืองประจันตคาม 1 ยกด่านหนุมานขึ้นเป็นเมืองกระบิลบุรี 1 บ้านหินแร่ยกขึ้นเป็นเมืองอรัญประเทศ 1 บ้านทุ่งแขยกขึ้นเป็นเมืองวัฒนานคร …” [2]

สันนิษฐานว่า เดิมเจ้าเมือง ยกกระบัตร และกรมการเมืองวัฒนานคร ยังคงมีตำแหน่งขุนนางเป็นแบบเวียงจันท์ เนื่องจากปรากฏชื่อผู้ที่ควบคุมไพร่เมืองวัฒนานคร ใน พ.ศ. 2382 ยังมีตำแหน่งเป็น “แสนโยธา เพี้ยวงศาคำภา” [3] รวมทั้งมีตำแหน่งขุนนางไทยด้วย ดังปรากฏชื่อ “ขุนรักษ์โยธาลาวเมืองวัฒนานคร” ในย่อความใบบอกวันเดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ ปีเดียวกัน [4]

ต่อมาจึงมีการตั้งตำแหน่งขุนนางแบบไทยทั้งหมด เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า “พระบริบูรณ์เสบียง” ดังปรากฏหลักฐานว่า เจ้าเมืองวัฒนานครในสมัยรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งเป็น “พระบริบูรณ์เสบียง เจ้าเมืองวัฒนานคร ขึ้นเมืองปราจีนบุรี ถือศักดินา 800” ส่วนปลัดมีตำแหน่งเป็น “ขุนลำเลียงนิกร”

 


เชิงอรรถ :

[1] อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย-เขมร. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการสมาคมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 2552), น. 136.

[2] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. (กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2538), น. 148-149.

[3] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549), น. 695.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 697.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมืองวัฒนานคร และหลวงพ่อขาว วัดนครธรรม” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2564