“ขงเบ้ง” ดีดพิณสยบ “สุมาอี้” เฟคนิวส์กลเมืองร้างในสามก๊ก

ขงเบ้ง กุนซือสำคัญของฝ่ายเล่าปี่

ในนิยายสามก๊กมีเรื่องขงเบ้งใช้ “กลเมืองร้าง” ดีดพิณวุยก๊กถอยทัพ กลเมืองร้างนี้มีที่มาจริง เรื่องปรากฏในพงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติขงเบ้ง ซึ่งเผยซงจืออธิบายเสริมโดยยกข้อความจากเรื่อง “กัวซงซานซื่อ (สามเรื่องของกัวซง)” มาว่า

“ขงเบ้งตั้งทัพที่ด่านยังเบงก๋วน (หยางผิงกวน)…ขงเบ้งให้ทหารหนึ่งหมื่นอยู่รักษาเมือง สุมาอี้ยกพลยี่สิบหมื่นมารบขงเบ้ง…ขงเบ้งก็ทราบว่าสุมาอี้ยกมาถึงและถูกกดดัน จะยกทัพไปบรรจบทัพอุยเอี้ยนก็อยู่ไกลกัน จะถอยหนีก็จะถูกไล่ล่า กำลังตนด้อยกว่ามาก ทหารต่างเสียขวัญ ไม่รู้จะทำอย่างไร ขงเบ้งจิตใจเป็นปกติ สั่งให้ทหารหยุดกลองล้มธง…ทั้งสั่งให้เปิดประตูเมืองทั้งสี่ ปัดกวาดทำความสะอาด

Advertisement

สุมาอี้เห็นว่าขงเบ้งเป็นคนรอบคอบ เกรงกำลังที่อ่อนแอกว่านั้น ที่แท้มีทัพซุ่มอยู่ จึงถอยทัพกลับไปทางเขาชูสานด้านเหนือ

แต่ว่าเผยซงจือวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด เห็นว่า “เรื่องที่กล่าวในหนังสือนี้ ล้วนไม่จริง”

เขากล่าวว่า เมื่อขงเบ้งตั้งทัพที่ด่านยังเบงก๋วน สุมาอี้ยังเป็นแม่ทัพรักษามณฑลเก็งจิว (ส่วนของวุยก๊ก) อยู่ที่เมืองอ้วนเซียไม่อาจมารบกับขงเบ้งได้ ต่อมายกมาตีจ๊กก๊กทางด่านยังเบงก๋วนก็เจอฝนตลอด จึงตีไม่ได้ ก่อนและหลังนี้วุยก๊กกับจ๊กก๊กก็ไม่มีทางที่จะได้รับเบงก๋วนอีก “อุบายเมืองร้าง” ในนิยายสามก๊กเป็นเพียงตํานานที่เติมเข้ามา

แต่มีแม่ทัพบางคนในยุคสามก๊กเคยใช้ “กลเมืองร้าง”

ครั้งหนึ่งเป็น “อุบายค่ายร้าง” ของจูล่ง พงศาวดารสามก๊กจี่ บทประวัติจูล่ง ยกข้อความจากหนังสือ “อวิ๋นเปี๋ยจ้วน (ประวัติจูล่งฉบับความแปลก)” มาเสริมว่า รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 24 (ค.ศ. 219) จ๊กก๊กกับวุยก๊กรบชิงเมืองฮันต๋งกัน ทหารวุยก๊กขนเสบียงมาส่ง ฮองตงเสนอจูล่งให้ปล้นเสบียง

แต่ทัพฮองตงยกกลับมาสมทบไม่ทันเวลา ทัพจูล่งกําลังน้อย เมื่อเผชิญทัพโจโจก็รบพลาง ถอยพลางจนมาถึงค่าย แล้วเปิดประตูค่าย ล้มธงหยุดกลอง “โจโฉเกรงว่าจะมีทัพซุ่มจึงถอยกลับไป จูล่งกลับรัวกลอง สั่งให้ทหารใช้ธนูหน้าไม้ยิงไล่หลัง ทหารโจโฉตกใจแตกหนี เหยียบกันเองและตกลงแม่น้ำฮันสุ่ยตายเป็นมาก” ด้วยเหตุนี้เล่าปี่จึงชมว่า “จูล่งมีขวัญกล้าอยู่ทั่วกาย”

ครั้งหนึ่งเป็น “กลเมืองร้าง” ของจูหวนแม่ทัพง่อก๊ก พงศาวดารสามก๊กจี่ บทประวัติจูหวน บันทึกว่า รัชศกหวงอู่ ปีของง่อก๊กปีแรก (ค.ศ. 223) โจหยินแม่ทัพวุ่ยก๊กใช้กลทำที่ตีตะวันออกแต่บุกตีตะวันตก “ยกพลนับหมื่น ทำทีจะเข้าตีทางตำบลแม่น้ำเอียนเข แต่แล้วกลับเข้าตีทางปากน้ำยี่สู จูหวนให้เรียกทัพที่เอียนเขกลับ แต่ยังไม่ทันถึง ทัพโจหยินมาถึง ขณะนั้นจูหวนเหลือทหารเพียงห้าพัน นายทหารต่างตกใจกลัว…จูหวนจึงให้ล้มธงหยุดกลอง แสดงความอ่อนแอลวงโจหยิน” โจหยินงงงัน จูหวนฉวยโอกาสรัวกลองโจมตี ทัพวุยก๊กแตกพ่าย

อีกครั้งหนึ่งเป็นกลเมืองร้างของบุนเพ่งแม่ทัพวุยก๊ก พงศาวดารสามก๊กจี่ บทประวัติบุนเพ่ง ยกข้อความจาก “วุ่ยเลวี่ย (พงศาวดารสังเขปราชวงศ์วุ่ย)” มาอธิบายเสริมว่า รัชศกหวงชู ปีที่ 7 ของวุยก๊ก (ค.ศ. 226) “ซุนกวนยกพลนับหมื่นมาถึง ขณะนั้นกำแพงเมือง (ที่บุนเพ่งรักษาอยู่) พัง ราษฎรกระจายกันอยู่ตามทุ่งนา ยังมิได้ซ่อมแซม บุนเพ่งได้ข่าวว่าทัพซุนกวนมาถึงไม่รู้จะทำอย่างไร จึงคิดว่าไม่มีอะไรดีกว่าซุ่มสงบอยู่ให้ศัตรูระวัง ระแวง จึงสั่งคนในเมืองไม่ให้ปรากฏตัว ตนแกล้งนอนอยู่ที่บ้าน ซุนกวนระแวงระวัง…ดังนั้น ไม่กล้าโจมตี ถอยทัพกลับไปเอง”

จะเห็นได้ว่า “กลเมืองร้าง” สามครั้งในยุคสามก๊กล้วนไม่เกี่ยวกับขงเบ้งเลย นิยายสามก๊กได้ชื่อว่า “จริงเจ็ดเท็จสาม” ผู้แต่งใช้การ “ย้ายดอกต่อกิ่ง” เอาเรื่อง “กลเมืองร้าง” ที่คนอื่นใช้มายกให้เป็นเรื่องของขงเบ้ง เพื่อแสดงให้เห็นปัญญาอันล้ำเลิศของขงเบ้ง เป็นศิลปะการแต่งเติมเรื่องของนิยายสามก๊ก

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “101 คำถามสามก๊ก” เขียนโดย หลี่ฉวนจวินและคณะ, ถาวร สิกขโกศล-แปล (มติชน, 2556)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2564