กรณีศึกษาสร้างเมืองแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง จาก “เวียงกุมกาม” ถึง “นครพิงค์เชียงใหม่”

ประตูเมืองเชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2442)

เมืองโบราณที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ตั้งบนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำที่ไม่คงตัวและไม่สูงพอจนเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจนต้องละทิ้งเมืองไป ก็คือ “เวียงกุมกาม” เมืองนี้เป็นเมืองโบราณที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1837 [10]

โดยโปรดสร้างเมืองในผังรูปสี่เหลี่ยมคางหมูมีความยาวประมาณ 850 เมตร ไป ตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง และให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้านโดยให้ระบายน้ำจากแม่น้ำปิงให้เข้าขังในคูเมือง [11] คล้ายคลึงกับแบบแผนของนครหริภุญชัย (ลำพูน) ดังนั้นในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำดังเช่นปัจจุบัน

เวียงกุมกามถือเป็นราชธานีของพญามังรายในระยะก่อนที่จะมีการสร้างเมืองเชียงใหม่ [12] เวียงกุมกามตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียงประมาณ 5 กิโลเมตร

เวียงกุมกามนี้ สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในช่วงไม่กี่ปี ภายหลังจากที่พญามังรายแห่งหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน) ได้ทำสงครามพิชิตกองทัพของพญายีบา พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญชัย และได้ทรงพำนักอยู่ในนครหริภุญชัย (ลำพูน) ในฐานะเป็นนครหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักร แต่มีพระราชดำริที่จะทรงสร้างนครหลวงแห่งใหม่ขึ้นทดแทนนครหริภุญชัย ซึ่งเมืองนั้นก็คือ “เวียงกุมกาม” ทั้งนี้เพื่อให้นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักรของพระองค์ที่อยู่ในฐานอำนาจของพระองค์อย่างแท้จริง โดยมีการจำลองเอารูปแบบการตั้งเมืองที่บนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำปิงของนครหริภุญชัย และจำลองเอาพระบรมธาตุสำคัญ คือ กู่กุด ของนครหริภุญชัย ซึ่งมีสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางในภูมิภาคแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนนี้มาก่อน มาไว้ยังเวียงกุมกามด้วย ซึ่งก็คือ กู่คำหลวง วัดเจดีย์เหลี่ยม

แต่ถึงกระนั้นการณ์ก็หาได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องด้วยเวียงแห่งใหม่ที่ทรงสร้างขึ้นนั้น ตั้งอยู่บนริมสันดินธรรมชาติ ริมลำน้ำที่ยังไม่คงตัวและไม่สูงพอ เวียงกุมกามจึงเกิดน้ำท่วมเมืองอยู่เสมอ ดังความในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 ที่กล่าวถึงสภาวะอุทกภัยที่เวียงกุมกามไว้ว่า “…ถึงยามกลางวรรษา (ฤดูฝน) น้ำท่วมฉิบหายมากนัก…” [13]

ซึ่งหลังจากนั้น เราได้ทราบความจากจารึกวัดเชียงมั่น ในเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้ พญามังรายจึงทรงต้องไปปรึกษาพระสหาย นั่นก็คือ พญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา หลังจากทรงปรึกษากันกับพระสหายแล้ว จึงทรงตัดสินพระทัยละทิ้งเวียงกุมกาม ไปหาพื้นที่สร้างนครหลวงแห่งใหม่ ในที่สุดจึงได้พื้นที่ที่บริเวณเชิงเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) [14] เป็นที่ตั้งของนครหลวงแห่งใหม่นามว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ในปี พ.ศ. 1834 และเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนายาวนานสืบต่อมา จวบจนราชอาณาจักรล้านนาถูกรวมเข้ากับสยาม ในสมัยรัตนโกสินทร์

อนึ่ง มีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า พญามังรายแห่งหิรัญนครเงินยาง (เชียงราย) พญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัย (ซึ่งน่าจะเป็นบุคคลที่ทางฝ่ายสุโขทัยเรียกว่า “พญารามราช” หรือ “พ่อขุนรามคำแหง”) และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ได้เป็นสหายกันมาตั้งแต่ครั้งเดินทางจากหัวเมืองเหนือ มาศึกษาวิชาสำหรับกษัตริย์ ที่สำนักสุกทันตมหาฤาษี [15] ที่เขาสมอคอน แถบเมืองละโว้ (อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) อันเป็นเมืองศูนย์กลางของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนเป็นเวลานานนั่นเอง

ซึ่งเมื่อทั้ง 3 พระองค์สำเร็จการศึกษาจากเมืองละโว้แล้ว ก็ทรงแยกย้ายกลับไปปกครองบ้านเมืองของแต่ละพระองค์ และในภายหลังเมื่อพญามังรายได้ทรงสร้างนครหลวงใหม่ขึ้นที่เวียงกุมกาม ปรากฏว่าเมืองที่ทรงสร้างใหม่นั้นเกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองตลอด ปัญหานี้น่าจะหนักข้อมากจนต้องเชิญพระสหาย คือ พญาร่วงและพญางำเมืองมาเพื่อปรึกษาหารือในการสร้างนครหลวงใหม่แห่งที่ 2 [16]

ในการนี้ พญามังรายไม่โปรดที่จะสร้างเมืองบนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำปิงเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะสันดินธรรมชาติริมลำน้ำในบริเวณดังกล่าวยังไม่คงตัวและไม่สูงพอที่ทำให้ประสบปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง และน้ำหลากท่วมในฤดูฝนเฉกเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นที่เวียงกุมกาม ซึ่งภายหลังจากได้สำรวจหาทำเลในการสร้างเมืองใหม่

ทั้ง 3 พระองค์ก็ได้มีมติเห็นชอบให้สร้างนครหลวงแห่งใหม่ ซึ่งก็คือ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ที่ลานตะพักลำน้ำ เชิงเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเมืองเชียงใหม่ เมืองสุโขทัย เมืองพะเยาเก่า (ปัจจุบันจมน้ำอยู่ใต้กว่านพะเยา) นั้นมีแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม คล้ายเมืองพระนครของเขมร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะผู้อำนวยการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือพญามังรายและผู้ให้คำปรึกษาในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือพญาร่วงและพญางำเมืองนั้น ต่างล้วนแล้วแต่สำเร็จการศึกษาวิชาการสร้างเมืองมาจากเมืองละโว้ของเขมร

ฉะนั้น เมืองของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ จึงสร้างตามแบบแผนการวางผังเมืองและการจัดการระบบชลประทานของเขมร นอกจากนั้น ทำเลในการสร้างเมืองทั้งสามยังตั้งอยู่บน “ลานตะพักลำน้ำ” (Terrace Deposits) บนที่ลาดเชิงเขา แบบเดียวกับเมืองพระนครอีกด้วย

จากหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เวียงกุมกาม พบว่าเมืองนี้พบร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้คนมาเป็นเวลานานก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ และถึงแม้ว่าจะมีการสถาปนานพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นนครหลวงแล้ว เวียงกุมกามก็ยังคงมีผู้คน (อดทน) อาศัยอยู่ต่อมาอีกเป็นเวลานาน และเวียงกุมกามน่าจะยังคงสถานะความเป็นเมืองสำคัญอยู่ เพราะพบหลักฐานในเอกสาร “ชินกาลมาลีปกรณ์” ว่า ในปี พ.ศ. 2060 พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช พระเจ้าเชียงใหม่ ก็ได้เสด็จมาสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดในเวียงกุมกาม [17] และในปี พ.ศ. 2067 ก็ได้โปรดสร้างพระวิหารหลวงที่วัดกู่คำหลวงนี้เพิ่มเติมอีกด้วย [18]

นอกจากนั้น จากการกำหนดอายุโบราณสถานขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่งในเวียงกุมกามแห่งนี้ พบว่าล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นในช่วงเวลาหลังการสร้างเมืองไปแล้วแทบทั้งสิ้น [19] โดยสันนิษฐานว่ายังคงมีการสร้าง ต่อเติม บูรณะสิ่งก่อสร้างในเวียงกุมกามต่อมาอีกไม่ต่ำกว่า 200 ปีภายหลังจากที่เวียงกุมกามได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ซึ่งจากหลักฐานการวิเคราะห์ลำดับชั้นทับถมทางโบราณคดีภายในเวียงกุมกาม พบว่า มีชั้นดินทับถมที่เกิดจากน้ำท่วมหลายชั้น คาดว่าเวียงกุมกามคงจะล่มสลายลงเพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101-2317 ซึ่งตรงกับสมัยพม่าปกครองล้านนา [20]

ผลของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินหนาจนยากที่จะฟื้นฟูกลับมา จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด สภาพวัดต่าง ๆ และโบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงซากวิหาร และเจดีย์ร้างที่จมอยู่ในดิน ระดับความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 1.80-2.00 เมตร [21]

ซึ่งจากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ถอยห่างจากสันดินธรรมชาติริมลำน้ำปิง ขึ้นไปอยู่บนลานตะพักลำน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองดังที่เคยเกิดขึ้นที่เวียงกุมกามนั้น ได้แสดงให้เห็นว่า นอกจากสันดินธรรมชาติริมลำน้ำแล้ว ก็ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่ผู้คนในสมัยโบราณนิยมไปตั้งเมืองก็คือ บริเวณ “ลานตะพักลำน้ำ” (Terrace Deposits) ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ดอนสูง ถัดออกไปไกลจากลำน้ำ และที่ราบน้ำท่วมถึง [22] (Floodplain Deposit) เมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำ ก็เช่น เมืองพระนครในกัมพูชา เมืองสุโขทัย เมืองเชียงใหม่ เมืองบางพาน เมืองทุ่งยั้ง เมืองเสมา เมืองศรีเทพ และเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีเกือบทั้งหมด

แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2466 ของมิชชันนารีอเมริกัน
เพรสไบทีเรียน

ที่ตั้งของเมืองโบราณนั้นแน่นอนว่าต้องตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของชาวเมือง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า แหล่งน้ำนั้นจะเป็น “แหล่งน้ำนิ่ง” เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ หรือกระทั่งสระน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น หรือ “แหล่งน้ำไหล” ประเภทลำน้ำ หรือแม่น้ำ แต่ละวัฒนธรรมนั้นก็จะมีความนิยมต่าง ๆ กันไป เช่น วัฒนธรรมเขมรนั้นไม่นิยมตั้งเมืองใกล้เคียงกับลำน้ำสายใหญ่ แต่จะนิยมขุดสระหรือสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (บาราย) ขึ้นเพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค แทนการพึ่งพิงน้ำจากลำน้ำ

ในขณะที่ผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดีนั้น จะตั้งเมืองอยู่ใกล้เคียงลำน้ำสายใหญ่ แต่ก็ไม่นิยมตั้งอยู่ริมลำน้ำสายใหญ่ แต่จะตั้งเมืองห่างจากลำน้ำพอประมาณ ตรงบริเวณที่ดอน และมีลำน้ำสาขาที่จะไหลลงแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน แล้วชักเอาน้ำที่ไหลจากลำน้ำสาขานั้นเข้ามาไหลวนในคูเมือง และภายในเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค โดยไม่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนวัฒนธรรมเขมร หรือหากจะมีการขุดก็เป็นเพียงสระขนาดเล็ก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคภายในตัวเมือง เป็นต้น

ซึ่งในสมัยโบราณ การที่จะเลือกพื้นที่ตั้งเมืองอยู่ ณ บริเวณใดนั้น จะต้องมีการเลือกเฟ้นหาทำเทที่ดี มีสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ การเป็นชัยภูมิที่ดีในทางทหาร และที่สำคัญก็คือ ให้เมืองนั้นมีความปลอดภัยจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ซึ่งการดำเนินการเลือกหาพื้นที่ตั้งเมืองเพื่อให้ต้องตามคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องกระทำกันอย่างละเอียดรอบคอบ และเฟ้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมจริง ๆ เพราะการสร้างเมืองนั้น ไม่ทำกันบ่อยนัก และเมื่อสร้างเมืองแล้ว โดยมากก็จะไม่นิยมย้ายไปไหน ยกเว้นหากกรณีเมืองเกิดภัยสงครามหรือภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงจนเมืองพังทลายเสียหายมาก ก็อาจจะมีการย้ายเมืองใหม่ได้…

ผู้มีอำนาจตั้งเมืองจะต้องพิจารณาดูสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้น ๆ โดยละเอียด โดยที่พื้นที่ในการตั้งเมืองที่เหมาะสมนั้นหลัก ๆ แล้วมีอยู่ 2 แบบแผน กล่าวคือ การตั้งเมืองบนพื้นที่ดอนสูงริมลำน้ำ หรือ “สันดินธรรมชาติริมลำน้ำ” หรือไม่ก็ถอยไปตั้งเมืองบน “ลานตะพักลำน้ำ” อันเป็นที่ดอน ที่อยู่ถัดจากที่ราบน้ำท่วมถึง…ซึ่งถ้าพื้นที่สันดินธรรมชาติริมลำน้ำมีความคงตัวและสูงมากพอก็สามารถตั้งเมืองได้โดยน้ำไม่ท่วม เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองกำแพงเพชร เมืองฝาง เป็นต้น เมืองที่กล่าวมานี้จะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำที่สูงมาก (หากมิใช่ฤดูน้ำหลากต้องเดินลงบันไดไปตามตลิ่งไกลมากกว่าจะถึงระดับน้ำ) เมืองจึงยังตั้งอยู่ได้โดยน้ำไม่ท่วม จุดเด่นของเมืองที่ตั้ง ณ บริเวณนี้คือ สามารถควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ติดต่อทำการค้าขายทางน้ำได้สะดวกกว่าเมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำ ทั้งยังไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง เพราะได้น้ำจากแม่น้ำมาหล่อเลี้ยงเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งสันดินธรรมชาติริมลำน้ำในบางบริเวณของลำน้ำบางสาย ก็ยังไม่คงตัวและไม่สูงพอที่จะตั้งเมืองได้โดยน้ำไม่ท่วม ผู้มีอำนาจตั้งเมืองในสมัยโบราณ หากสังเกตเห็นสภาพดังกล่าวก็มีความจำเป็นต้องขยับพื้นที่ตั้งเมืองขึ้นไปสู่ลานตะพักลำน้ำ ซึ่งเป็นที่ดอนที่ไกลลำน้ำออกไป โดยที่การตั้งเมืองในพื้นที่ลานตะพักลำน้ำดังกล่าวแม้ว่าจะมีความปลอดภัยจากการถูกน้ำจากลำน้ำสายใหญ่เอ่อท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามแต่ภูมิประเทศจะอำนวย เพราะในฤดูแล้งชาวเมืองจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้ในการเกษตรกรรม

คูน้ำคันดินและกำแพงเมืองเชียงใหม่ มองเห็นเทือกเขาดอยสุเทพ ภาพถ่ายของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อสำรวจครั้งราวต้นทศวรรษที่ ๒๕๑๐

ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำจะต้องหาทางจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอในฤดูแล้ง โดยที่หากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำ บนที่ราบห่างไกลจากภูเขา จะนิยมขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในตัวเมือง หรือชักน้ำจากลำธารสายรองที่จะไหลไปรวมกับลำน้ำสายใหญ่ให้ไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงเมือง…

ส่วนในเมืองเชียงใหม่นั้น น้ำที่ไหลจากดอยสุเทพลงสู่ห้วยแก้ว จะถูกกักเก็บไว้ที่ทำนบเวียงเจ็ดลิน (ปัจจุบันคือ “อ่างแก้ว” อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ก่อนที่จะชักน้ำผ่านคูน้ำจากทำนบเวียงเจ็ดลินจะถูกพักไว้ในคันดินอีกระดับหนึ่งเพื่อกรองตะกอน ก่อนจะไหลลงมายังเมืองเชียงใหม่ตรงมุมกำแพงเมืองที่แจ่งหัวริน ระบายเข้าไหลวนรอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งน้ำส่วนเกินจะไหลล้นระบายออก ณ คูเมืองทางทิศเหนือ ไปลงลำน้ำแม่ข่า ก่อนระบายออกไปสู่แม่น้ำปิงต่อไป [24] (ผังเมืองและระบบชลประทานของเมืองเชียงใหม่ที่คล้ายคลึงกันกับเมืองสุโขทัยเป็นอย่างมากเช่นนี้ น่าจะสามารถเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องของจารึกวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ ที่ระบุว่าพญาร่วงเมืองสุโขทัย ได้เข้ามาช่วยในการสร้างเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี)

ซึ่งนับเป็นความพยายามในการจัดการน้ำโดยไม่ฝืนกับธรรมชาติ เพื่อสร้างหลักประกันว่าชาวเมืองจะมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง นอกจากนั้น ในกรณีเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการรักษาปริมาณน้ำในห้วยแก้วให้มีมากอยู่เสมอเพื่อให้เพียงพอในการอุปโภคบริโภคของชาวเมืองเชียงใหม่ ถึงขนาดมีการตั้งกฏขึ้นโดยห้ามตัดต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนดอยสุเทพ ทั้งนี้เพื่อมุ่งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำที่จะไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงในตัวเมือง และยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากตอนดึกสงัด เมื่ออยู่ในกำแพงเมืองเชียงใหม่แล้ว ไม่ได้ยินเสียงน้ำตกที่เชิงดอยสุเทพ ถือว่าบ้านเมืองจะวินาศล่มจม ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพประการหนึ่ง… [25]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่



หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “น้ำท่วม ทำเลที่ตั้ง และการจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย” เขียนโดย สิทธารถ ศรีโคตร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2564