ฝรั่งบันทึกคนไทยในอดีตเชื่อโชคลาง ภูตผีปีศาจ และของขลังแค่ไหน

อ็องรี มูโอต์ (ค.ศ. 1826-1861)

อ็องรี มูโอต์ (ค.ศ. 1826-1861) นักโบราณคดี นักสำรวจ นักธรรมชาติชาวฝรั่งเศส ที่ออกเดินทางสำรวจราชอาณาจักรสยาม, กัมพูชา และลาว ถึง 4 ครั้ง ระหว่างตุลาคม ค.ศ. 1858-ตุลาคม ค.ศ.1861 (ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 3-4) มูโอต์ รวบรวมข้อมูลที่พบเห็นเขียนบันทึกสิ่งที่พบเจอ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มูโอต์กล่าวถึงก็คือ “คติความเชื่อของคนไทย” ที่ว่า

“ชนชาติสยามก่อกําเนิดขึ้นจากการผสมผสานของประชากร 2 กระแส จากทางเหนือและทางตะวันตก จึงรับเอาความเชื่อเรื่องโชคลาง ตามวัฒนธรรมจีนและฮินดูไว้ครบถ้วนไม่ตกหล่น แม้ว่าพุทธศาสนาที่ดํารงอยู่ตลอดมาจะเพียรสอนหนทางให้พวกเขาหลุดพ้น แต่ก็ไร้ผล

ชาวสยามเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจสารพัดรูปทรงจากตํานานโลกสวรรค์ ทั้งที่มีรูปทรงโค้งยาว มีเขา ผมเผ้ายาวรุงรัง พวกเขาปักใจเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นนางเงือก ยักษียักษา นางไม้ เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าแห่งไฟ น้ำ และลม ตลอดจนสัตว์ประหลาดพิสดารจากชุมนุมเทวดาโบราณ หรือแม้กระทั้งจากชุมนุมเทพพรหมทางฮินดู อาทิ พญานาค หรือเทพเจ้างู ผู้มีอิทธิฤทธิ์พ่นไฟ อีกทั้งพญาครุฑ นกยักษ์ที่ชอบลักพาตัวมนุษย์

ชาวสยามเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังว่าช่วยป้องกันอันตรายที่จะมาแผ้วพาน ทําให้ปราศจากโรคภัย อยู่ดีมีสุข หรือขจัดปัดเป่าเคราะห์ร้าย และเชื่อเรื่องการทําคุณไสยใส่คนที่รักหรือคนที่ชัง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชาวบ้านหรือพระราชา ต่างร่วมเกื้อหนุนนักโหราศาสตร์หรือหมอดูให้อยู่ดีกินดี

คนเหล่านี้จะทํานายเรื่องน้ำท่า ฝนฟ้า ความแห้งแล้ง สันติภาพ หรือสงคราม โชคลาภหรือเคราะห์ร้ายในการพนันหรือการค้าขาย เป็นคนหาฤกษ์งามยามดีเวลาเกิด แต่งงาน การเดิน ทางทั้งไปและกลับ การปลูกเรือนสร้างบ้าน สรุปว่าสําหรับทุกเหตุการณ์ ทุกการกระทํา และกิจกรรมที่สําคัญในชีวิตทั้งระดับครอบครัวและสังคม (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

คลิกอ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก :

อ็องรี มูโอต์-เขียน, กรรณิการ จรรย์แสง-แปล. บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2564