เผยแพร่ |
---|
ม่อจื่อ (ประมาณ 470-391 ก่อน ค.ศ.) ชาวแคว้นซ่ง หรือหลู่ เป็นหนึ่งในนักปรัชญาคนสำคัญของจีนในยุค “ร้อยสำนัก” หรือปลายยุคชุนชิวจ้านกว๋อ เขาเคยศึกษาอยู่ในสำนักปรัชญาขงจื๊อ ต่อมาแยกตัวออกมาจากสำนัก มายืนหยัดค้นคว้าหาแนวทางของตนเอง และก่อตั้งสำนักชื่อ “ม่อเจีย”
แนวคิดอุดมการณ์ของม่อจื่อ ได้แก่ การแก้ปัญหาด้วยความรักสากล สันติสุข, ต่อต้านคัดค้านและประณามการทำสงครามรุกราน, มนุษยชาติสมควรปฏิบัติต่อกันฉันญาติพี่น้อง, เรียกร้องความมัธยัสถ์อดออม ฯลฯ ที่สำคัญ ครั้งหนึ่งม่อจื่อยังช่วยให้แคว้นซ่ง รอดพ้นจากการทำสงครามรุกรานของแคว้นฉู่ ด้วยสันติวิธี โดยม่อจื่อสามารถโน้มน้าวผู้ครองแคว้นฉู่ได้สำเร็จ
ครั้งนั้นม่อจื่อได้พบกับฉู่หวัง ผู้ครองแคว้นฉู่ ม่อจื่อก็พูดว่า “ตอนนี้มีคนคนหนึ่งตนเองนั้นมีรถที่หรูหรา มีเสื้อผ้าที่งดงาม มีอาหารชั้นเลิศ แต่กลับไม่อยากได้มัน เมื่อไปเห็นรถเก่าๆ ของเพื่อนบ้าน เห็นเสื้อผ้าขาดๆ อาหารชั้นต่ำ กลับอยากที่จะไปขโมยมา ท่านว่าคนนี้เป็นคนเช่นไร”
ฉู่หวังตอบว่า “คนคนนี้ต้องเป็นโรคขี้ขโมยแน่”
ม่อจื่อได้เปลี่ยนหัวข้อมาพูดเรื่องที่แคว้นฉู่จะโจมตีแคว้นซ่งว่า “อาณาเขตแคว้นมีอยู่ถึง 5,000 ลี้ แต่แคว้นซ่งมีเพียง 500 ลี้ นี่ก็เปรียบได้กับรถหรูกับรถเก่าคร่ำครึ แคว้นฉู่มีทะเลสาบอวิ๋นเมิ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่ มีแม่น้ำฉางเจียง แม่น้ำฮั่นสุ่ย มีปลาเป็นจำนวนมากไม่มีแคว้นใดจะสู้ได้ แคว้นซ่งนั้นแม้แต่ ไก่ป่า กระต่าย ปลาก็ยังไม่มี นี่ก็เปรียบได้กับอาหารชั้นเลิศกับอาหารชั้นต่ำ
แคว้นฉู่มีไม้ที่มีค่าหลากหลายชนิด แต่แคว้นซ่งแม้แต่ต้นไม้ใหญ่สักต้นก็ยังไม่มี นี่ก็เปรียบได้กับเสื้อผ้าที่งดงามกับเสื้อผ้าที่เก่าจนขาด การที่ท่านใช้แคว้นฉู่ที่แข็งแกร่งและอุดมสมบูรณ์ไปโจมตีแคว้นซ่งที่ยากจนอ่อนแอนั้น ก็เหมือนกับคนที่เป็นโรคขี้ขโมยใช่หรือไม่ ท่านทำแบบนี้มีแต่จะทำลายศีลธรรม และจะไม่ได้แคว้นซ่งอีกด้วย”
ฉู่หวังรู้ดีว่าตนไม่มีเหตุผล แต่ก็ยังเถียงข้างๆ คูๆ ว่าตนได้กงซูปัน (หลู่ปัน) สร้างบันไดยาวไว้พิชิตแคว้นซ่ง ม่อจื่อจึงทำสมรภูมิจำลองแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถป้องกันการโจมตีของแคว้นฉู่ได้ถึง 9 ครั้ง สงครามครั้งนั้นจึงไม่ต้องเกิดขึ้น เพราะจำนนด้วยเหตุผลและปัญญา
ข้อมูลจาก
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547
หลี่เฉวี่ยน (เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556.
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรก 21 กันยายน 2564