แนวป้องกันมาจิโนต์ ป้อมปราการของฝรั่งเศสที่รับมือเยอรมนี

เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสพาเจ้าหน้าที่อังกฤษชมแนวป้องกันมาจิโนต์ (ภาพจาก “100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2”)

เมื่ออยู่ในช่วงเวลาของความเป็นตายของสงคราม เพื่อให้อยู่รอด เราจึงได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ใช่ว่านวัตกรรมที่สร้างขึ้นจะ “ใช่” เสมอไป บางครั้งมันก็เป็นเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ดังเช่น “แนวป้องกันมาจิโนต์” หรือป้อมปราการสุดอลังการของฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2

แนวป้องกันมาจิโนต์ (Maginot Line) ของฝรั่งเศส ที่ตั้งชื่อตามสิบเอกมาจิโนต์ (ภายหลังเป็น รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของฝรั่งเศส ระหว่างปี 1929-1932) สิบเอกมาจิโนต์ได้รับบาดเจ็บที่เมืองแวร์เดิง ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งนั้นฝรั่งเศสสูญเสียป้อมปราการที่เป็นแนวป้องกันแวร์เดิงไปบางส่วน ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสเกือบแพ้สงคราม

Advertisement

จากประสบการณ์ของกองทัพฝรั่งเศสที่แวร์เดิงและสมรภูมิอื่น ความสูญเสียอย่างหนักทำให้พวกเขาเชื่อว่า ป้อมปราการและปืนใหญ่ คือคำตอบสำหรับการทำสงครามในอนาคต สุดท้ายก็ตกลงไปในกับดักการวางแผนแบบเก่าๆ สำหรับการสู้รบครั้งต่อไป โดยอิงอยู่กับแผนการทำสงครามครั้งก่อนหน้า

แท้จริงแล้วแนวป้องกันมาจิโนต์ คือ ป้อมปราการคอนกรีตที่นำมาเรียงกัน แต่ละแห่งอยู่ห่างกัน 5 กิโลเมตร และคั่นด้วยห้องเล็กๆ สำหรับป้องกันระเบิด ทั้งป้อมปราการและห้องหลบระเบิดถูกฝังไว้ใต้ดินอย่างดี มีเพียงหอสังเกตการณ์หลังคาโดมและแท่นยิงปืนเท่านั้นที่สามารถมองเห็นได้เหนือพื้นดิน ในหลายกรณีสิ่งเหล่านี้สามารถปรับให้ต่ำลงด้วยหลังคา มีกองทหารรักษาการณ์ที่อยู่ในห้องหลบระเบิดมีตั้งแต่ 12 ไปจนถึง 30 นาย ส่วนในป้อมปราการมีตั้งแต่ 200 ไปจนถึง 1,200 นาย

ป้อมปราการมีลักษณะคล้ายหมู่บ้านใต้ดินหลายหมู่บ้าน ในนั้นมีทั้งโรงทหาร ครัว เครื่องปั่นไฟ กล่องใส่กระสุนปืน รางรถไฟฟ้าเพื่อขนส่งทหารและอาวุธ ยุทธภัณฑ์จากโรงทหาร ภายในห้องป้องกันระเบิดมีปืนกลหลายกระบอก และปืนต่อสู้รถถัง ขนาด 47 มม. (1.85 นิ้ว) 1 กระบอกส่วนในป้อมปราการติดตั้งปืนใหญ่

ภาพวาดแนวป้องกันมาจิโนต์ ที่ใช้โฆษณาสร้างความมั่นใจต่อสาธารณะ (ภาพจาก “100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2”)

แนวป้องกันมาจิโนต์ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1930-1935 ขยายจากลักเซมเบิร์กไปถึงชายแดนสวิส เมื่อเริ่มสร้างแนวป้องกันมาจิโนต์นั้น เบลเยียมยังคงเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศส การขยายแนวมาจิโนต์ให้ครอบคลุมแนวชายแดนฝรั่งเศส-เบลเยียม ความยาว 400 กิโลเมตร จึงถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าฝรั่งเศสไม่ไว้วางใจความสามารถของเบลเยียมในการต่อต้านการรุกรานของเยอรมนี และจะโดดเดี่ยวเบลเยียมไว้ใน “ฝั่งศัตรู” ของแนวมาจิโนต์

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การขยายแนวมาจิโนต์ตามมาด้วนค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการก่อสร้าง แนวมาจิโนต์ความยาว 139 กิโลเมตร ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 1935 ใช้เงิน ไปทั้งสิ้น 4,000 ล้านฟรังก์ เกินกว่างบที่ตั้งไว้เดิมถึง 3,000 ล้านฟรังก์

ประการสุดท้าย การขยายแนวป้องกันดังกล่าวจะต้องผ่าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมหนักของลิลล์-วาลองเซียนส์ ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมฝรั่งเศสชะงักงันครั้งใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเขตอุตสาหกรรมอย่างที่เคยเสียไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสจึงตัดสินใจว่าจะต้องหยุดผู้รุกรานก่อนที่จะข้ามแนวพรมแดนของฝรั่งเศสเข้ามาได้

ดังนั้น เมื่อเบลเยียมตัดสินใจจะเลือกใช้นโยบายความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ฝรั่งเศสจึงวางแผนจะเข้าไปในดินแดนของเบลเยียมทางตะวันตกทันทีที่เยอรมนีบุกรุกจากทางด้านตะวันออก ไม่ว่าเบลเยียมจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดเมื่อความเป็นกลางของเบลเยียมล้มเหลวจากการรุกรานของเยอรมนีในปี 1940 ฝรั่งเศสจึงข้ามพรมแดนเข้ามา แต่แทนที่ฝรั่งเศสจะได้ต่อสู้อยู่เบื้องหลังป้อมคอนกรีตและเหล็กของแนวมาจิโนต์ซึ่งใช้เงินสร้างไปมาก พวกเขากลับถูกบังคับให้สู้รบแบบสงครามเคลื่อนที่ในพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่พวกเขาไม่ได้จัดเตรียมหรือเตรียมใจให้พร้อมมาก่อนเลย

สิ่งนี้สร้างความยุ่งเหยิงให้มากพอแล้ว แต่รถหุ้มเกราะของเยอรมนีได้รุกคืบผ่าน “อาร์เดนส์” ซึ่งคาดคะเนว่าเป็นพื้นที่ที่รถหุ้มเกราะผ่านเข้าไปไม่ได้ ส่งผลให้กองทัพของฝรั่งเศสถูกเฉือนครึ่ง นี่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กำลังฝ่ายฝรั่งเศสแตก ฝรั่งเศสจึงเคลื่อนกำลังพลที่ได้รับการจัดรูปแบบอย่างดีที่สุดเข้าไปในเบลเยียม ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้พวกเขาหมดหนทางที่จะจัดตั้งทหารกองหนุน

เมื่อ วินสตัน เชอร์ชิลล์บินไปยังปารีสเพื่อดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เขาถามพลเอกโมริซ กาเมอแล็ง ผู้บัญชาการของทหารราบฝรั่งเศสทั้งหมดว่า “ทหารกองหนุนทางยุทธศาสตร์ของท่านอยู่ที่ไหน”

กาเมอแล็งตอบว่า “ไม่มีแม้แต่คนเดียว” ทหารที่อาจจัดตั้งเป็นกองหนุนได้กำลังนั่งอย่างไร้ประโยชน์อยู่ที่แนวมาจิโนต์ ถึงแม้ว่าจะมีการดึงตัวทหารจากแนวมาจิโนต์มาในนาทีสุดท้าย แต่พวกเขาก็ไม่เคยได้รับการฝึกหรือใช้อุปกรณ์ยานเกราะหรือปืนใหญ่เคลื่อนที่ เพื่อต่อสู้ในฐานะทหารกองหนุนทางยุทธศาสตร์กับศัตรู

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พลตรี จูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์-เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ-แปล, “100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2”, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2564