แผนเสด็จประพาสอเมริกาของรัชกาลที่ 5 ข่าวใหญ่ที่ไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่ง

รัชกาลที่ 5 ประพาสยุโรป รถยนต์ ต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประทับบนรถม้าพระที่นั่งที่กรุงเบอร์ลิน (ภาพจากหนังสือไกลบ้าน)

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสทวีปยุโรปถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 ด้วยเป็นพระราชวิเทโศบายเพื่อรักษาเอกราชของชาติท่ามกลางการรุกคืบของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเพื่อฟื้นฟูพระพลานามัยและรักษาพระอาการประชวร ใช่แต่ยุโรปเท่านั้น แม้แต่ประเทศอาณานิคมอย่าง สิงคโปร์, อินเดีย ก็ทรงเคยเสด็จประพาสทั้งสิ้น แล้วเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงเสด็จฯ อเมริกาบ้าง เพราะแม้เวลาจะเป็นประเทศเกิดใหม่ หากก็มีแววรุ่ง

ไกรฤกษ์ นานา มีคำตอบในเรื่องนี้ไว้ในบทความของเขาที่ชื่อ “หลักฐานใหม่ ตื่นตาตื่นใจ แผนรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอเมริกาข่าวใหญ่ที่ไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่ง” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2550) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

Advertisement

 

โครงการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา ในรัชกาลที่ 5 ค.ศ. 1901

ความสัมพันธ์ของสยามกับสหรัฐอเมริกาสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นจุดบอดในประวัติศาสตร์ไทย เคยมีผู้เขียนข้อความสั้นๆ ว่าใน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) รัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดตั้งสถานทูตสยามขึ้นในสหรัฐอเมริกา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาอัครราชวราการ (ภัสดา บุรณศิริ) เป็นราชทูตคนแรกที่ไปประจำ ณ ที่นั้น [1]

หลักฐานใหม่ชี้ชัดว่าในความเป็นจริง ปี ค.ศ. 1901 นั้นเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ แต่ข้อมูลบางอย่างก็ขาดหายไปเสียเฉยๆ ถึงกระนั้นก็ยังเป็นสมมุติฐานหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่าภายหลังความผิดหวังที่ไม่ทรงสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายให้พระเจ้าซาร์รัสเซียเข้าแทรกแซงกรณีพิพาทกับทางฝรั่งเศสแล้ว ต่อมาไม่นานภายหลังเหตุการณ์กบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ที่นโยบายเชิงบวกของสหรัฐอเมริกาถูกประชาสัมพันธ์ออกไป แผนงานต่างๆ จึงดูเข้ารูปเข้ารอยขึ้น

การเตรียมการเสด็จฯ ถูกตั้งเป็นโครงการขึ้นทันที ติดตามด้วยหมายกำหนดการเสด็จฯ ก็ถูกจัดส่งไปยังสหรัฐอเมริกาและสื่อมวลชนต่างๆ ตามแผน คือ รัชกาลที่ 5 จะเสด็จฯ พร้อมด้วยพระบรมราชินีไปยังนครซานฟรานซิสโกในสหรัฐอเมริกาโดยตรง โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี และประธานาธิบดีแม็คคินลีย์พร้อมด้วยคณะรัฐบาลจะรอรับเสด็จอยู่ที่ปลายทาง [2]

หนังสือพิมพ์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกาฉบับหนึ่งลงวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901 เผยแพร่หมายกำหนดการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาของรัชกาลที่ 5 พร้อมกับลงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และพระราชโอรสให้คนอเมริกันได้เห็น และเปิดเผยรายละเอียดต่อไปนี้

พระเจ้ากรุงสยามจะเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา

จุฬาลงกรณ์, พระมหากษัตริย์แห่งสยาม มีรับสั่งมายังท่านแฮมิลตัน คิง กงสุลอเมริกันประจำกรุงเทพฯ ว่า มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาในเร็วๆ นี้ และเพื่อให้พระเกียรติยศเป็นที่ปรากฏออกไป รัฐบาลสยามขอให้ ฯพณฯ ประธานาธิบดีแม็คคินลีย์ได้กราบบังคมทูลเชิญเข้ามาอย่างเป็นทางการในลักษณะจดหมายเชิญ เพื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าทรงเป็นพระราชอาคันตุกะระดับผู้นำประเทศที่ทรงเกียรติ

ซึ่งถึงแม้จะมิใช่ธรรมเนียมปกติของสหรัฐอเมริกา แต่ทางรัฐบาลก็พร้อมจะสนองตอบพระราชโองการนี้ด้วยความยินดี โดยที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดรัฐบาลสยามจะรับผิดชอบเอง จุดมุ่งหมายของการมาก็เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในระดับรัฐบาล เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและการเมือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ตรงมายังนครซานฟรานซิสโก พร้อมด้วยพระบรมราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ณ ที่นั้นผู้แทนของประธานาธิบดี คณะรัฐบาล และผู้นำกองทัพจะคอยรับเสด็จ และตามเสด็จไปในที่ต่างๆ ดังเช่นที่เคยกระทำ เมื่อท่านดุ๊คแห่งเวรากัวจากสเปนเดินทางมาร่วมงานมหกรรมโลกคราวที่แล้ว ทางรัฐบาลได้ประสัมพันธ์ให้ทางสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้วถึงจุดประสงค์ของการเสด็จฯ …ให้เกิดข่าวลือที่เสื่อมเสียเหมือนครั้งเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัยของพระองค์เลย และเพื่อเทิดพระ เกียรติของราชบัลลังก์อย่างดีที่สุด

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวะวงศ์ฯ เสนาบดีว่าการต่างประเทศของสยาม แจ้งมายังกงสุลคิงว่า มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ แบบกึ่งราชการ หมายกำหนดการทั้งหมดบัดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของทางการแล้ว

เมื่อปีที่แล้ว การค้าขายระหว่างสหรัฐอเมริกาและสยาม เพิ่มถึง 100% การเสด็จฯ ครั้งนี้ เปรียบเสมือนการส่งเสริมความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอีกด้วย สินค้าของสหรัฐอเมริกาเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความใกล้ชิดระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น และมีพระราชดำริที่จะดำเนินตามเป้าหมายเดียวกัน โดยการเสด็จฯ มาทอดพระเนตรและหาข้อมูลด้วยพระองค์เอง (แปลจากรายงานข่าวใน HARPER’s WEEKLY ฉบับวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901)

แต่ภายหลังที่ข่าวชิ้นนี้แพร่ออกไป ทุกอย่างก็พลันเงียบลงโดยกะทันหัน ขบวนเสด็จฯ มิได้ออกไปตามที่คาดหมายไว้ เหตุการณ์ที่ครึกโครมกว่าถูกพาดหัวหนังสือพิมพ์วันถัดมา

ประธานาธิบดีอเมริกันถูกลอบสังหาร

หนังสือพิมพ์ HARPER’s WEEKLY ฉบับวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1901 พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า ประธานาธิบดีแม็คคินลีย์ถูกลอบสังหารเสียแล้ว!

ประธานาธิบดีแม็คคินลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐโอไฮโอและหัวหน้าพรรครีพับลิกัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ท่านมีกิตติศัพท์เป็นนักบริหารที่เฉียบแหลม ใจกว้าง มีอัธยาศัยดี นโยบายต่างประเทศของแม็คคินลี่ย์ ใน ค.ศ. 1900 ที่ฉุดให้สหรัฐอเมริกาก้าวกระโดดขึ้นมาบนเวทีโลกคือการตั้งนโยบายเปิดประตูกับจีน สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก การใช้วิธีกำราบความฮึกเหิมของมหาอำนาจยุโรปด้วยการรณรงค์ให้ชาติมหาอำนาจเคารพอธิปไตยของจีน สร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้นำเอเชียคนอื่นๆ ที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับจีน

ภายหลังที่เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ได้ 6 เดือน ท่านก็ถูกยิงในระยะเผาขน ขณะเปิดงานมหกรรมสินค้าแห่งชาติ (Pan-American Expo) ที่เมืองบัฟฟาโล ในมลรัฐนิวยอร์ก วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1901 ท่านโดนยิงซ้ำถึง 2 ครั้ง โดยพวกหัวรุนแรงที่เรียกพวกอานาร์คิสต์ (Anarchist) ซึ่งแฝงตัวเป็นประชาชนเข้ามาสัมผัสมือแสดงความยินดีกับประธานาธิบดี โดยใช้วิธีแกล้งทำเป็นมือเจ็บและซ่อนปืนไว้ในผ้าพันแผลรอบมือ ฆาตกรอำมหิตคนนั้นชื่อนายคอลกอส (Leon Czolgosz) เขาถูกตำรวจคว้าตัวไว้ได้ในระหว่างชุลมุน

ท่านประธานาธิบดีทรุดฮวบลงเมื่อถูกยิง และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที แต่เสียชีวิตใน อีก 8 วันต่อมา เนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหวจากอาการแผลติดเชื้อ ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1901 [3]

การถึงแก่อสัญกรรมของแม็คคินลีย์ ทำให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีและคัดเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ กิจการต่างๆ ที่รัฐบาลเตรียมไว้มีอันต้องชะงักไปด้วยทั้งหมด รวมถึงโครงการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาของรัชกาลที่ 5 ที่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

 


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] สงวน อั้นคง. สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2504

[2] HARPER’S WEEKLY. New York, ฉบับวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901

[3] พูนศักดิ์ ศักดานุวัฒน์. เบื้องหลังสังหารโหด 20 รัฐบุรุษของโลก. กรุงเทพฯ: เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2518.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2564