“คนอีสาน” ในอดีต ใช้ผ้าซิ่น ห่อคัมภีร์ใบลาน

ผ้าซิ่นหมี่ (ไหม) ห่อคัมภีร์ใบลาน ที่หอสมุดแห่งชาติ สาขาจังหวัดนครราชสีมา

พวกเราใช้คำว่า “คนอีสาน” หรือ “อีสาน” ในความหมายที่เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมสมัยใหม่ (modern geopolitical and cultural construct) ของดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยสมัยใหม่อย่างถาวรในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ในที่นี้ “คนอีสาน” มีความหมายเฉพาะคนที่พูดภาษาลาว มีรากเหง้าวัฒนธรรมและชุมชนทางวัฒนธรรมในจินตนาการดั้งเดิมคล้ายคลึงกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อพยพมาจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เช่น ภูไท โซ้/โส่ง ไทดำ ย้อ ฯลฯ คนอีสานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นบางจังหวัดในเขตอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ซึ่งมีประชากรในกลุ่มชาติพันธุ์ไท โคราช เขมร ส่วย และกูย/กุย อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

บทความนี้นำเสนอในการเสวนาทางวิชาการ “ผู้ค้ำจุนโลก-ผู้ค้ำจุนธรรม : กรณีผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ในวัฒนธรรมอีสาน” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ณ ห้อง ๔๐๗ ชั้น ๔ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. นอกจากนี้บทความชุดนี้ยังใช้ประกอบนิทรรศการผ้าซิ่นลาวและอีสาน ซึ่งจัดแสดงที่ห้องไทยศึกษานิทัศน์ อาคารสุรพัฒน์ ๕ และอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นิทรรศการดังกล่าวแสดงผ้าซิ่นจำนวน ๓๐ ผืน จัดแสดงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ๒๕๔๕ ขอขอบพระคุณทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรที่ให้โอกาสทางวิชาการกับพวกเราทั้งสองคนเรื่อยมา การติดต่อ ประสานงาน และอำนวยความสะดวกของทางศูนย์ โดยเฉพาะการทำงานของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และขวัญศิริ เจริญทรัพย์ ช่วยให้พวกเรามีโอกาสเผยแพร่ข้อคิดและงานเขียนทางมานุษยวิทยาต่อชุมชนวิชาการและสาธารณชนในวงกว้างอย่างสม่ำเสมอในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ขอขอบพระคุณอาจารย์สมชัย ฟักสุวรรณ์ และเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ที่อนุเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้ยืมคัมภีร์ใบลานจำนวนหนึ่ง และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่พวกเราด้วยความยินดีและเต็มไปด้วยน้ำใจไมตรีเป็นอย่างยิ่ง


ผ้าซิ่น ของผู้หญิงกับคัมภีร์ใบลานของคนอีสานในอดีตเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ทำไมคนอีสานสมัยหนึ่งจึงใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ใบลานอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุเอาองค์ความรู้ทางศาสนธรรม ตำรายาโบราณ และนิทานชาดกพื้นบ้านที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ วัสดุทางวัฒนธรรมสองชิ้นมาจากต่างบริบทกันอย่างสิ้นเชิงในโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมของคนอีสาน และคนกลุ่มอื่นที่มีวัฒนธรรมใกล้ชิดกัน เช่น คนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คนเมืองในล้านนา หรือคนสยามในดินแดนภาคกลาง ถูกนำมาอยู่รวมกันอย่างใกล้ชิดได้อย่างไร อะไรคือวิธีคิดหรือตรรกะทางวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อและประเพณีดังกล่าว

ในความเป็นจริงแล้วความเชื่อและประเพณีการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์น่าจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างมาก เพราะวัสดุชิ้นหนึ่งได้รับการจัดวางไว้ให้เป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการเก็บรักษาในปริมณฑลทางศาสนาและอำนาจของผู้ชายมาโดยตลอด ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นวัสดุและสิ่งของเครื่องใช้ทางโลกย์ เกิดจากฝีมือ และแรงงานของผู้หญิง และใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มร่างกายท่อนล่างของผู้หญิง

เมื่อพิจารณาจากแนวคิดวิเคราะห์เชิงโครงสร้างนิยม (structuralism) และสัญลักษณ์นิยม (symbolism) ของนักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงในวงวิชาการนานาชาติหลายท่าน เช่น Levi-Strauss (๑๙๖๓, ๑๙๖๙); Douglas (๑๙๖๖); และ Turner (๑๙๖๗) ผ้าซิ่นกับคัมภีร์ใบลานไม่น่าจะไปด้วยกันได้ในทางทฤษฎี

แต่ทำไมคนอีสานในอดีตจึงคิดและทำในสิ่งที่แย้งกับความเชื่อและโลกทัศน์ในวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งยังไปกันไม่ค่อยได้กับแนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาบางสายสกุล ความเชื่อและประเพณีดังกล่าวมีตรรกะหรือเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราพยายามจะอธิบายในบทความชิ้นนี้

สัญนิยมทางวัฒนธรรมของ “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์”

พวกเราพิจารณาความเชื่อและประเพณีเกี่ยวกับการใช้ “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” ของชาวอีสานในอดีตเป็นกรณีศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวของแนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาร่วมสมัย และพลวัตของวิธีคิด แนวปฏิบัติ และความเชื่อบางอย่างของคนอีสาน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง หรือเพศสภาวะ (gender)

แน่นอนว่าความเชื่อเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และบทบาทของคัมภีร์ใบลานในวัฒนธรรมศาสนา และการเรียนรู้หนังสือของคนอีสานได้ลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าใจหาย ธรรมเนียมการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอดีตไปเสียแล้ว ทุกวันนี้เรามักจะพบเห็นผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ได้ในสภาพที่ทรุดโทรม ขาดวิ่น เกรอะกรังไปด้วยฝุ่นและหยากไย่ ตามตู้คัมภีร์ไม้ในวัดเก่าแก่ทั้งในเขตเมืองและชนบทของภาคอีสานเท่านั้น

เราอาจกล่าวได้ว่าความเชื่อและแนวปฏิบัติในการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์กำลังจะเลือนหายไปจากความทรงจำและจินตนาการของคนอีสาน โดยเฉพาะคนอีสานรุ่นใหม่ไปเสียแล้ว การเข้ามาของการศึกษาแผนใหม่ วัฒนธรรมภาษาไทยภาคกลาง และความเจริญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ลดบทบาทและความสำคัญของวัด พระภิกษุสงฆ์ และองค์ความรู้ด้านภาษา ศาสนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมของอีสานในคัมภีร์ใบลานลงจนแทบจะหมดความสำคัญไปเลย อักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อย (ตัวภาษาเขียนของภาษาลาว-อีสาน) และความรู้ด้านศาสนธรรม วรรณคดี และอื่นๆ ที่มีวัดเป็นศูนย์กลางกำลังจะกลายเป็นอดีต ความวิตกกังวลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับ “คัมภีร์ใบลานอีสาน” ของบรรดานักวิชาการ พระภิกษุสงฆ์ ปราชญ์พื้นบ้าน และผู้นำจากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสาน ที่จังหวัดมหาสารคามเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา

ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ เป็นวัฒนธรรมที่กำลังจะตายเช่นเดียวกับความสำคัญของคัมภีร์ใบลาน และตัวอักษรขอม อักษรธรรม และอักษรไทยน้อย ในสังคมอีสานและสังคมไทยสมัยใหม่

พวกเราถามว่า อดีตที่กำลังจะตายหรือที่กำลังจะกลายเป็นความทรงจำดังกล่าวนั้น บอกอะไรกับเราได้บ้างในทางวิชาการ พวกเราตระหนักดีว่า การหยิบยกเอากรณีผ้าซิ่นห่อคัมภีร์มาพิจารณานั้น เป็นการหยิบยกเอาประเด็นที่อยู่ในตำแหน่งชายขอบ (marginal position) มากๆ ในการศึกษาความหมายทางสังคมวัฒนธรรมของคัมภีร์ใบลาน

ผ้าโรงงาน (ฝ้าย) ห่อคัมภีร์ใบลาน อักษรไทยสมัยปัจจุบัน ที่วัดบึง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

นักวิชาการที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับคัมภีร์ใบลานจำนวนมากให้ความสนใจกับการอ่านความหมาย ค้นหาองค์ความรู้ โลกทัศน์ วิถีชีวิตและคติความเชื่อต่างๆ จากตัวบทในคัมภีร์ใบลาน หลายท่านก็อ่านหรือปริวรรตคัมภีร์ใบลานเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่เป็นแหล่งข้อมูลต่อไป หลายท่านก็ให้ความสำคัญกับการจัดหมวดหมู่ รวบรวม และอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในฐานะที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (โปรดดูโครงการปริญญาเอกไทศึกษา ๒๕๔๔; จารุวรรณ ธรรมวัตร ๒๕๔๔; จารุวรรณ ธรรมวัตร และวิไลวรรณ ศรีโทหาญ ๒๕๔๔; นฤมล ปิยวิทย์ และคุณช่วย ปิยวิทย์ ๒๕๔๔; บุญเรือง คัชมาย์ ๒๕๔๓; บุญสม ยอดมาลี ๒๕๔๔; บำเพ็ญ ณ อุบล ๒๕๔๔; ภูมิจิต เรืองเดช ๒๕๔๔; สมหมาย เปรมจิตต์ ๒๕๔๔; สุภณ สมจิตรศรีปัญญา ๒๕๔๔; สุรจิตต์ จันทรสาขา ๒๕๔๔; อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และคณะ ๒๕๓๙; อุดม บัวศรี ๒๕๔๔)

แต่พวกเรากลับสนใจประเด็นเล็กๆ เกี่ยวกับความเชื่อและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ และพยายามอธิบายนัยทางวิชาการและความหมายของกรณีเฉพาะ หรือประเด็นปัญหาเล็กๆ ดังกล่าว

พวกเรามีเหตุผลสำคัญ ๒ ประการในการหยิบยกเอาประเด็นปัญหาเล็กๆ เรื่อง “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” มาพิจารณาในบทความนี้ กล่าวคือ

ประการแรก พวกเรามองเห็นว่าผ้าซิ่นห่อคัมภีร์จะช่วยให้พวกเรามองเห็นข้อจำกัดของแนวการวิเคราะห์ทางทฤษฎีมานุษยวิทยาบางสายสกุล และสามารถช่วยให้พวกเราหาหนทางที่จะหาทางออกให้กับข้อจำกัดดังกล่าวนั้น ถ้าเราพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์ ผ้าซิ่นเป็นตัวแทนเพศหญิง ส่วนคัมภีร์ทางศาสนาเป็นตัวแทนที่ผูกพันกับอำนาจและความเชี่ยวชาญของเพศชาย

ตามตรรกะข้างต้นทั้งสองอย่างไม่น่าจะมาอยู่ร่วมกันได้ในตู้คัมภีร์ในวัด เพราะในระดับสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างน่าจะเป็นข้อห้าม (taboo) แต่ในทางปฏิบัติทั้งสองอย่างมาอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว อย่างน้อยก็ในวัฒนธรรมอีสาน แล้วเราจะอธิบายตรงนี้ว่าอย่างไร

พวกเราเห็นว่า การอธิบายว่าความเชื่อและแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ว่านี้เป็นข้อยกเว้นพิเศษเฉพาะกรณีไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระดับทฤษฎีได้

ประการที่สอง พวกเราเชื่อว่ากรณีผ้าซิ่นห่อคัมภีร์จะเป็นกรณีตัวอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งสถานที่และกาลเวลา ที่ช่วยให้ทำความเข้าใจเพศสภาวะในวัฒนธรรมอีสานตามสภาพความเป็นจริงในช่วงเวลาหนึ่ง ผ้าซิ่นที่ถูกนำมาใช้ห่อคัมภีร์น่าจะเป็น “สัญญะทางวัฒนธรรม” (cultural signifier) อันหนึ่งที่ลื่นไหล ทับซ้อน และมีพลังในการอธิบายความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของหญิง-ชายในบริบทของวัฒนธรรมอีสานได้อย่างน่าสนใจ ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์บอกว่า ผู้หญิงกับผู้ชายในสังคมอีสานในอดีตไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระนาบดิ่ง หรือการแบ่งแยกบทบาททางเพศแบบเบ็ดเสร็จและตายตัว

แนวคิดทางทฤษฎีสัญลักษณ์นิยมและโครงสร้างนิยม โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากผลงานของ Douglas (๑๙๖๖); Levi-Strauss (๑๙๖๓; ๑๙๖๙); และ Turner (๑๙๖๗) ผ้าซิ่นแม้จะเป็นผ้าซิ่นที่ทอใหม่และยังไม่ได้ใช้นุ่งห่มก็ไม่ควรจะเข้ามาอยู่ในปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างใกล้ชิด และแนบแน่นในลักษณะของการนำมาใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์ เพราะเป็นวัสดุทางวัฒนธรรมที่ถูกผลิตขึ้นอยู่ในปริมณฑลที่ตรงข้ามกัน ไปด้วยกันไม่ได้ในเชิงโครงสร้างและวิธีคิด

แต่ในความเป็นจริงคนอีสานได้สร้างข้อยกเว้นหรือกฎเกณฑ์พิเศษขึ้น โดยการอนุญาตให้ทำได้ เพราะผู้หญิงบวชเรียนสืบทอดพระศาสนาไม่ได้ การทานงานฝีมือที่ดีที่สุดและงดงามที่สุดอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้หญิงได้บุญได้กุศลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบพื้นบ้าน

พวกเราคิดว่าการตีความแบบสัญลักษณ์นิยมและโครงสร้างนิยมนั้นหยุดนิ่ง ตายตัวและคงที่เกินไป กำหนดตัวสัญลักษณ์กับความหมายทางวัฒนธรรมค่อนข้างจะเป็นสากลนิยม มีขอบเขตกว้างขวาง และอธิบายความเฉพาะเจาะจงของพื้นที่ทางวัฒนธรรมได้จำกัด

สมมติว่าเราพิจารณา “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” แบบโครงสร้างหน้าที่นิยม เราจะได้ความหมายทางวัฒนธรรมของความเชื่อและแนวปฏิบัตินี้ว่าอย่างไร จะเกิดปัญหาทางทฤษฎีขึ้นหรือไม่

ในอดีตข้อเสนอหลักทางวิชาการเกี่ยวกับบทบาททางเพศในสังคมไทย รวมทั้งสังคมอีสานส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการนำเสนอความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของทั้งสองเพศในสังคม บทบาททางวัฒนธรรมมักจะได้รับการแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่ก็มีกลไกทางความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และสถาบันต่างๆ ในสังคมคอยช่วยสร้างความรอมชอมและสร้างความสมดุลระหว่างเพศ ถึงกระนั้นก็ตามนักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยมมักจะมีแนวโน้มพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิง-ชายในสังคมไทยแบบแยกขั้ว แยกบทบาททางเพศออกจากกัน และแยกบทบาททางสังคมดังกล่าวออกจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม ผลที่ได้มักจะออกมาในลักษณะที่ว่า ชายไทยมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมทางการเมืองและราชการ ส่วนหญิงไทยอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมการผลิต ทั้งในครัวเรือนและสังคม ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาของ Kirsch (๑๙๘๒, ๑๙๘๕) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะตรงข้าม หรือมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากกว่าการสรุปรวบยอดข้างต้น

ในสังคมไทยปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ทั้งลูกผู้ชายและลูกผู้หญิงจำนวนมาก เช่น นักมวย หนุ่มสาวโรงงาน โสเภณี ฯลฯ ต่างก็ดิ้นรนหางานและหาเงินเพื่อปากท้องของตนเองและครอบครัวด้วยกันทั้งสิ้น

โดยทั่วไปการพิจารณาความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและอะลุ้มอล่วยแบบลงตัวในความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างหญิง-ชายน่าจะเป็นคำตอบที่มีเหตุมีผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ ซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในการค้ำจุนโลก และค้ำจุนธรรมะหรือการปฏิบัติธรรมของผู้ชายมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาก็คือ สัญญะทางวัฒนธรรมชุดเดียวกันนี้ (ผ้าซิ่นกับคัมภีร์) ถ้ามองหาความหมายที่แตกต่างกันออกไปจะได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองว่าสัญลักษณ์ชุดนี้เป็นตัวแทนการครอบงำทางอุดมการณ์ที่เพศชายมีเหนือเพศหญิงในสังคมไทย โดยการใช้ความเชื่อและประเพณีทางศาสนาเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจที่สำคัญ นักวิชาการในสายสกุลเศรษฐศาสตร์การเมือง มาร์กซิสม์ และเฟมินิสม์ ส่วนใหญ่จะอธิบายเพศสภาวะในสังคมไทยโดยพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ พิจารณาบทบาทหญิงชายในลักษณะของการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด มองพุทธศาสนาและอุดมการณ์รัฐเป็นตัวแทนของเพศชายในการเอารัดเอาเปรียบเพศหญิง โดยการพิจารณาเชื่อมโยงให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศในยุคของการพัฒนาระยะ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีส่วนทำให้การเอารัดเอาเปรียบหรือกดขี่ทางเพศรุนแรงมากขึ้น ผู้หญิงอาจจะมีการศึกษาสูงขึ้น มีโอกาสทางเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น และมีบทบาทความรับผิดชอบทางสังคมมากขึ้น แต่ยังตกเป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะผู้หญิงชนบท ผู้หญิงชนกลุ่มน้อย ผู้หญิงชายขอบ แรงงานรับจ้างไร้ฝีมือ ฯลฯ (โปรดดูงานของ Khin Thitsa 1980; Pasuk Phongpaichit 1982; Suchada Thaweesit 2000)

ในกรณีนี้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สรุปไว้อย่างชัดเจนเลยว่า วัฒนธรรมไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิง ทั้งในทางอุดมการณ์ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม สอนให้คนสยบยอมต่ออำนาจและขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม

พวกเราจะแก้ปัญหามุมมองทางทฤษฎีที่หลากหลายเหล่านี้อย่างไร จะเลือกนำเสนอผ้าซิ่นห่อคัมภีร์จากกรอบแนวคิดทฤษฎีอะไร อย่างไร และทำไม ทางเลือกทางทฤษฎีมีหลายทาง แต่พวกเราจะทดลองเลือกนำเสนอผ้าห่อคัมภีร์ตามแนวสัญนิยมทางวัฒนธรรม (cultural semiotics) โดยเฉพาะการเน้นตรงที่ว่า สัญญะทางวัฒนธรรมใดๆ (cultural sign) มีพลวัตของความลื่นไหล ทับซ้อน และความหลากหลายของความหมายที่เป็นไปได้หลายทาง ดังที่ปรากฏในงานเขียนหลายชิ้นของ Bakhtin (๑๙๘๑; ๑๙๘๔) แนวการวิเคราะห์สัญญะทางวัฒนธรรมดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาจากงานของนักภาษาศาสตร์ Saussure (๑๙๖๖) ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดที่เป็นรากฐานสำคัญของการวิเคราะห์สัญญะทางภาษาดังกล่าวไว้ว่า สัญญะทางภาษาใดๆ จะต้องประกอบด้วย ๒ ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ความคิดหรือความหมาย (concept/signified) กับเสียงที่ใช้สื่อความคิดหรือตัวหมายถึง (sound-image/signifier) ทั้ง ๒ ส่วนนี้จะจับคู่กันโดยบังเอิญ ชุมชนของผู้ใช้ภาษาเท่านั้นที่จะกำหนดว่าเสียงใดหมายถึงอะไร แต่การกำหนดดังกล่าวก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

การใช้ความบังเอิญในการอธิบายความหมายของชุดสัญญะทางภาษาข้างต้นทำให้นักทฤษฎีรุ่นหลังได้ขยายความต่อว่า สัญญะทางภาษาหรือปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมใดย่อมมีความลื่นไหลของความหมายอยู่ในตัว คำหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งอาจมีความหมายได้หลายอย่างในต่างสถานที่และกาลเวลากัน ที่สำคัญความหมายมักจะขึ้นอยู่ที่ว่าผู้รับสาร ผู้ฟัง ผู้ชมหรือผู้อ่านสัญญะชุดนั้นจะตีความหมายออกมาว่าอย่างไร การวิเคราะห์สัญญะลักษณะนี้จะปฏิเสธการถือมั่นยึดมั่นแบบตายตัวของความหมายระหว่างตัวความหมาย (signified) กับตัวหมายถึง (signifier) มีความเป็นไปได้หลายทางและหลายแง่มุมที่ทั้งคู่จะลื่นไหลมาประสานสอดคล้องกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองการจับคู่ระหว่างตัวความหมายกับตัวหมายถึงนั้นอย่างไร จากแง่มุมไหน เวลาใด และด้วยจุดยืนอย่างไร นอกจากนั้นการวิเคราะห์เชิงสัญญะจะเน้นความสำคัญที่ความลื่นไหล ทับซ้อน และเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณีและช่วงเวลามากเป็นพิเศษ

พวกเรามองที่ความเป็นไปได้ของสัญญะทางวัฒนธรรมที่ลื่นไหลและเต็มไปด้วยการต่อรองและสร้างสรรค์ของคนในสังคม ความเชื่อและประเพณีย่อมมีข้อยกเว้นเพราะทั้งคู่ต่างก็มีมิติที่ลื่นไหลอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกคนผู้เป็นเจ้าของให้ความหมายมันว่าอย่างไร จะจัดวางมันไว้ที่ตรงไหน เข้าคู่กับอะไร ผ้าซิ่นกับคัมภีร์ใบลานศักดิ์สิทธิ์ย่อมมีวันที่จะพบกันได้ เพราะทั้งสองอย่างไม่ใช่เดินทางที่เหินห่าง หรือแตกต่างแยกขาดจากกันและกันเป็นเส้นขนานตลอดไป

เมื่อเป็นเช่นนี้พวกเราเชื่อว่า นักวิชาการหรือผู้อ่านสัญญะแต่ละคนน่าจะมีหลายวิธี หลายแนวทาง และหลายความหมายที่สามารถผลิตได้จากการอ่าน/ทำความเข้าใจสัญญะทางวัฒนธรรมของผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ การตีความหมายและวิธีการอ่านที่พวกเรานำเสนอในที่นี้เป็นเพียงตัวเลือกอันหนึ่งเท่านั้น พวกเรามองเห็นในเงื่อนไขเฉพาะอันหนึ่งและเชื่อว่าความหมายต่อไปนี้สอดคล้องกับข้อมูล เรื่องเล่า และสิ่งที่พวกเราคิดอยู่ในใจ กล่าวคือ “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” สำหรับพวกเราแล้วบอกถึงร่องรอยวิธีคิดและความทรงจำเกี่ยวกับ “ความเชื่อและประเพณีที่ไม่น่าจะเป็นไปได้” ในวัฒนธรรมอีสาน ขณะเดียวกันก็บอกถึงการให้ความสำคัญกับความรู้หนังสือและผู้รู้ ในวัฒนธรรมอีสานยุคหน้าก่อนจะถูกกลืนด้วยระบบการศึกษาแห่งชาติและวัฒนธรรมราชการไทย

ส่วนกรณีปัญหาแนวทางการวิเคราะห์ทางทฤษฎีนั้น พวกเรานำเสนอว่า เราคงจะต้องพิจารณาให้เฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณี และเน้นความสำคัญของเงื่อนไขของสถานที่ เวลา ฟังเหตุผลและทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นสำคัญ ไม่ใช่การค้นหาภาพรวมหรือข้อสรุปรวมที่เป็นหลักการทั่วไปของวัฒนธรรมการห่อคัมภีร์ด้วยผ้าซิ่นในวัฒนธรรมอีสานหรือวัฒนธรรมใกล้เคียง

 

“ห่อคัมภีร์ด้วยผ้าซิ่น” ในวัฒนธรรมอีสาน

พวกเราคิดว่าหนทางหนึ่งที่จะทำความเข้าใจความสำคัญของคัมภีร์ใบลานในสังคมอีสาน โดยเฉพาะยุคก่อนหน้าการปฏิรูปหัวเมืองและการจัดการศึกษาพื้นฐานแห่งชาติในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ก็คือเราควรจะมองว่าคัมภีร์ใบลานคือ “หนังสือของคนอีสานในอดีต” หนังสือเหล่านี้ต้องการการดูแลรักษาด้วยความเชื่อและข้อปฏิบัติพิเศษ เพราะวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุธรรมชาติ เปราะบางและไม่คงทน นอกจากนี้องค์ความรู้ที่บรรจุไว้ในหนังสือเหล่านั้นมีความพิเศษอยู่ในตัวเอง คนที่จะเขียน อ่าน หรือใช้ประโยชน์จากหนังสือเหล่านี้ได้มีเฉพาะคนที่รู้หนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ เจ้านาย และผู้ชายที่ได้มีโอกาสบวชเรียน

ดังนั้นคัมภีร์ใบลานแท้ที่จริงก็คือหนังสือของคนอีสานและคนไทยในยุคสมัยก่อนหน้าอิทธิพลของเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ ส่วนผ้าทอโดยเฉพาะผ้าซิ่นที่ผู้หญิงทานให้วัดหรือปราชญ์ผู้รู้ใช้ห่อคัมภีร์อาจเปรียบเทียบได้กับเครื่องห่อหุ้มปกหนังสือ พลาสติกเคลือบปกหนังสือ หรือวัสดุอื่นๆ ที่ช่วยรักษาตัวหนังสือสมัยใหม่ให้คงทน เก็บรักษาไว้อ่านหรือใช้ประโยชน์ได้นานๆ

สิ่งที่ต่างกันมากก็คือ วัสดุที่ให้ห่อปกหรือเคลือบปกหนังสือสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ไม่ได้มีความเชื่อ ประเพณี หรือพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งบทบาททางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกเลยระหว่างตัวบทที่ศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์กับผ้าซิ่นหรือผ้าทอฝีมือของผู้หญิงอีสาน ซึ่งอาศัยขั้นตอนหรือกระบวนการทางพิธีกรรมในการเชื่อมโยงระหว่างวัสดุทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ๒ ชิ้นนี้เข้าด้วยกัน

คัมภีร์ใบลานเป็นตัวอย่างชิ้นสำคัญของวัฒนธรรมการรู้หนังสือในอดีต ซึ่งผู้คนใช้อักษรหรือภาษาเขียนจารเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะบทสวดในพิธีกรรมทางศาสนา ตำนาน นิทานชาดก ตำรายา ฯลฯ ลงในใบลาน คัมภีร์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการเรียนการสอนที่วัด เก็บรักษาไว้ที่วัด และใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมต่างๆ ยกเว้นเฉพาะกรณีของหมอธรรม หมอสวด หมอยา หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมีความรู้สามารถอ่านและใช้ประโยชน์จากคัมภีร์ใบลานได้ คนกลุ่มนี้จะมีใบลานจำนวนหนึ่งอยู่ในครอบครองดูแลของตนเองที่บ้าน ดังนั้นคัมภีร์ใบลานจึงมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล กระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน คัมภีร์ใบลานอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ในการครอบครองของปราชญ์ผู้รู้ ข้าราชการที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายอีสานดั้งเดิม หมอธรรม หมอยา หรือผู้เชี่ยวประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านของอีสานจำนวนมาก แน่นอนว่าคัมภีร์ใบลานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการจาร การอ่าน และการศึกษาเล่าเรียน เพราะผู้หญิงอีสานในอดีตยังไม่สามารถบวชเรียนได้ ดังนั้นการรู้หนังสือของผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงอีสานจึงมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก (โปรดดู สมชาย นิลอาธิ ๒๕๔๔)

(บน) ผ้าขิด (ฝ้าย) ห่อคัมภีร์ใบลาน อยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเลย
(ล่าง) กองผ้าขิด (ฝ้าย) ผ้าฝ้ายโรงงานห่อคัมภีร์ใบลานจำนวนหนึ่ง ที่หอศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเลย

สุรจิตต์ จันทรสาขา (๒๕๔๔) อธิบายว่า “คำว่าคัมภีร์หมายถึงหนังสือหรือตำราที่สำคัญ เช่น คัมภีร์เกี่ยวกับศาสนา คัมภีร์เกี่ยวกับโหราศาสตร์ คัมภีร์เกี่ยวกับสมุนไพรหรือตำราแพทย์ เป็นต้น แต่ในภาคอีสานนอกจากจะใช้ใบลานสำหรับเขียนเป็นคัมภีร์หรือตำราแล้ว ยังใช้ใบลานสำหรับเขียนหรือบันทึกเป็นเอกสารสำคัญอื่นๆ อีกด้วย…แยกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

๑. หนังสือผูก จะจารึกลงในใบลานขนาดยาวที่สุดประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร มีเชือกร้อยกึ่งกลาง ส่วนมากจะจารึกเรื่องราวคำสั่งสอนในทางพุทธศาสนา ชาดก กลอนลำหรือวรรณกรรม จะจารึกด้วยตัวอักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อย

๒. หนังสือก้อม (หรือหนังสือเจียง) จะจารึกในใบลานขนาดสั้นยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร มีเชือกร้อยกึ่งกลางใบลาน ส่วนมากจะจารึกประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ตำรายา คาถาอาคม บายศรีสู่ขวัญ กฎหมายและประเพณี ฯลฯ จะจารึกด้วยอักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อย

๓. แผ่นใบลานจารึก จะจารึกลงในใบลานขนาดสั้น ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร จำนวนไม่มาก เช่น แผ่นเดียว หรือหลายแผ่น เช่น การสร้างพระพุทธรูป พัทธสีมามักจะฝังไว้ในหลุมที่ฝังลูกนิมิตจะจารึกเป็นอักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อย หรือจารึกเป็นใบเกิด (สูติบัตร) หรือจารึกคาถาอาคมสวมศีรษะในเมื่อจะทำพิธีให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์

๔. บั้งจุ้ม ใบลานอีสานมักจะเก็บรวบรวมไว้ในกระบอกไม้ไผ่ มีกระบอกไม้ไผ่เป็นฝาปิดมิดชิดวางสุมกันไว้ ซึ่งจะเรียกว่าบั้งจุ้ม…” (สุรจิตต์ จันทรสาขา ๒๕๔๔ : ๑)

บำเพ็ญ ณ อุบล อดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ผู้สืบเชื้อสายของเจ้านายเมืองอุบลราชธานีและให้ความสนใจกับการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอีสาน ได้อธิบายถึงตัวอักษรดั้งเดิมที่ใช้ในการจารใบลานว่าประกอบด้วยอักษร ๓ หมวด คือ

๑. อักษรขอม คือใช้ภาษาขอมหรือหนังสือเขมร…อักษรประเภทนี้ใช้จารึกในใบลานเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทางพระพุทธศาสนา มีพระไตรปิฎก พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา พระสูตร พระวินัย พระธรรมบทและบทสวดต่างๆ และใช้เขียนเวทมนตร์คาถาต่างๆ ผู้ที่ศึกษาจะต้องเข้าไปบวชเป็นพระสงฆ์ สามเณร แล้วศึกษาเล่าเรียนหนังสือเหล่านี้ให้แตกฉาน สามารถใช้อ่านเขียนท่องบทได้ทุกบทได้ทุกทาง

๒. อักษรธรรม คือตัวหนังสือที่ใช้จารึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวแก่พระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับอักษรขอม…เป็นอักษรที่เรียนและศึกษายาก นอกจากผู้ที่สนใจและเข้าบวชเรียนแล้ว น้อยคนจะอ่านได้เพราะมีวิธีเล่าเรียนมีขั้นตอนและการผสมอักษรยากมาก…

๓. อักษรไทยน้อย เป็นอักษรชนิดหนึ่งที่ใช้เขียนหรือจารึกไว้ในใบลานถึงเรื่องนิทาน ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปที่จะได้เล่าเรียนมีความรู้พอสมควร ไม่ถึงกับเป็นอาจารย์หรือบัณฑิต เป็นอักษรที่นิยมเล่าเรียนอีกอย่างหนึ่งในสมัยโบราณของอีสาน หนังสือเหล่านี้ยังพอมีให้เป็น (sic) ได้ แต่ไม่มีใครสนใจเพราะถือว่าเป็นหนังสือที่ตายไปแล้ว คนรุ่นใหม่ของอีสานอ่านหนังสือทั้งสามหมู่เหล่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะเรามีหนังสือไทยเรียนกัน และได้รับนับถือว่าเป็นผู้มีความรู้ถึงขั้นปริญญาสาขาต่างๆ เป็นพระมหาเปรียญ หนังสือเก่าจึงถูกทอดทิ้งไป…” (บำเพ็ญ ณ อุบล ๒๕๔๔ : ๑-๒)

ผู้หญิงอีสานเข้าไปเกี่ยวข้องกับคัมภีร์ใบลานหรือหนังสือใบลานหรือไม่ อย่างไร

คำตอบก็คือ เกี่ยวข้องด้วยในเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงอย่างยิ่ง นั่นคือเป็นผู้ฟัง ร่วมทำบุญโดยการสร้างคัมภีร์ถวายวัด และทานผ้าทอหรือ “ผ้ามัดหมี่” (โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับผ้าทอและผ้ามัดหมี่อีสานในทรงพันธ์ วรรณมาศ ๒๕๓๔) เพื่อใช้ในการห่อคัมภีร์ถวายวัด

ข้อมูลจากการสำรวจคัมภีร์ใบลานอย่างคร่าวๆ ในเขต ๗ จังหวัดภาคอีสาน (นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด นครพนม และขอนแก่น) ของสมชัย ฟักสุวรรณ์ และคณะจากหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๔ สามารถรวบรวมคัมภีร์ใบลานได้มากกว่า ๒,๕๐๐ มัด ในจำนวนนี้มีคัมภีร์ที่ห่อด้วยผ้าซิ่นมากกว่า ๕๐๐ มัด ส่วนที่เหลือห่อด้วยผ้าทอประเภทอื่น เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง หรือเก็บไว้ในหีบหรือกล่องไม้สลัก คัมภีร์ใบลานที่พบในเขตจังหวัดศรีสะเกษและร้อยเอ็ดส่วนใหญ่จะถูกห่อด้วยผ้าซิ่นและเก็บไว้ในสภาพเรียบร้อยและคงทนถาวรพอสมควร ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารโบราณและตัวอักษรพื้นบ้านอีสานท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่าคัมภีร์ใบลานในเขตจังหวัดนครพนมและอุบลราชธานีน่าจะมีผ้าซิ่นห่อและเก็บรักษาไว้ในสภาพที่ดีกว่าท้องถิ่นอื่นๆ ของภาคอีสาน เพราะทั้ง ๒ จังหวัดได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง และศิลปวัฒนธรรมของอีสานและหัวเมืองลาวภาคใต้ในอดีต

ที่หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมาก็มีรายงานการเก็บรวบรวมและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ “…จำนวน ๖,๕๔๙ ผูก และสมุดไทยอีก ๑๘ เล่ม…เนื้อเรื่องที่จดบันทึกไว้ในเอกสารโบราณเหล่านี้มีหลากหลายสาขาวิชาเช่นเดียวกับวรรณกรรมประเภทหนังสือ คือเป็นเรื่องราวในสังคมชาวอีสานในอดีต เช่น กฎหมายโบราณ จดหมายเหตุ ตำนานต่างๆ ตำราต่างๆ เช่น ตำรานวดแผนโบราณ มีรูปภาพประกอบ ตำราโหราศาสตร์ ตำราเวชศาสตร์ เช่น จำพวกยาสมุนไพรพื้นบ้าน หมวดวรรณคดี หมวดพงศาวดาร วรรณคดีก็มีนิทานพื้นบ้าน นิทานชาดก นิทานอิงหลักธรรมทางพุทธศาสนา และประเภทกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โลกศาสตร์ ฯลฯ อักษรที่ใช้บันทึกเท่าที่มีอยู่ในหอสมุดฯ นครราชสีมาในปัจจุบันนี้มี ๕ ตัวอักษรคือ อักษรธรรมอีสาน มีมากเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ ๕๐-๖๐% หรือประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าผูกหรือเรื่อง อักษรขอมรองลงมาเป็นอันดับสอง ประมาณ ๒๐% หรือประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าผูก อักษรลาวหรือไทยน้อย ประมาณ ๑๕% หรือประมาณ ๑,๕๐๐ กว่าผูก ส่วนที่เป็นอักษรไทย แต่เขียนด้วยอักขรวิธีโบราณ ประมาณ ๑๐๐ ผูก สมุดไทยส่วนใหญ่จะบันทึกไว้ด้วยลายลักษณ์อักษรไทยและอักษรขอม อักษรธรรมล้านนามีประมาณ ๒-๓ ผูก…” (สมชัย ฟักสุวรรณ์. มปป.)

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมาข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้ผ้าทอมือของผู้หญิงอีสานในอดีต โดยเฉพาะผ้าซิ่น สำหรับห่อคัมภีร์ใบลานเป็นธรรมเนียมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมอีสานดั้งเดิม

ความนิยมดังกล่าวได้กลายมาเป็นสำนวนพื้นบ้านที่คนอีสานรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวข้องกับการบวชเรียนและใช้ประโยชน์จากคัมภีร์ใบลานจดจำและเข้าถึงความหมายอย่างขึ้นใจหลายสำนวน เช่น “ทานกล้วยได้เป็นเศรษฐี ทานผ้ามัดหมี่ได้เป็นพระเจ้า” “ไผอยากเป็นปราชญ์ให้แก้ผ้าซิ่น” หรือ “ไผอยากเป็นปราชญ์ให้ไปแก้ซิ่นในวัด” เป็นต้น

ถ้าพิจารณาสำนวนพื้นบ้านเหล่านี้นอกบริบททางวัฒนธรรมและใช้เป็นคำพูดในชีวิตประจำวันก็จะได้ความหมายที่เป็นปริศนาธรรมกึ่งทะลึ่งตลกขบขัน เพราะคำว่า “แก้ซิ่น” แปลอีกอย่างว่าเป็นการแก้ผ้าซิ่นหรือถอดผ้าของผู้หญิงในวัด ซึ่งเป็นข้อห้ามที่ผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามสำนวนพื้นบ้านเหล่านี้บ่งบอกถึงความแพร่หลายของการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ใบลานอย่างชัดเจน จนกล่าวได้ทั่วไปเลยว่า คัมภีร์ใบลานในอีสานส่วนใหญ่มักจะถูกห่อด้วยผ้าซิ่น ซึ่งมาจากฝีมือการทอของผู้หญิง ขณะเดียวกันสำนวนพื้นบ้านเหล่านี้ก็บ่งบอกความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเพศที่มีต่อคัมภีร์ใบลานด้วย โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าผู้ชายสามารถบวชเป็นพระ มีโอกาสบวชเรียนศึกษาหาความรู้ที่อยู่ในคัมภีร์ใบลานต่างๆ ได้ ส่วนผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้น แต่สามารถใช้ฝีมือและความสามารถในการทอผ้าของตน รวมทั้งจิตใจที่เป็นกุศลบริจาคทรัพย์และทานผ้าทอของตนเองเพื่อสร้างคัมภีร์ใบลาน และดูแลคัมภีร์โดยการทานผ้าซิ่นและผ้าทออื่นๆ ให้กับวัดเพื่อใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์

สมชาย นิลอาธิ (๒๕๔๔ : ๖-๗) ได้อธิบายความเชื่อเกี่ยวกับหนังสือใบลานและการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ในภาคอีสานอย่างละเอียดว่า

“…ชาวอีสานในอดีตเชื่อว่า ทั้งหนังสือใบลานผูกและใบลานก้อมเป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้มีข้อกำหนดพฤติกรรมการกระทำต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือใบลาน ทั้งในแง่ที่ต้องปฏิบัติและข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ความเชื่อที่มีผลให้คนทำกัน คือ เชื่อว่าผู้ใดสร้างหนังสือใบลานผูกถวายวัดจะได้อานิสงส์บุญกุศลมาก

เมื่อมีการสร้างหนังสือใบลานผูกขึ้นมาแล้วย่อมต้องมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับหนังสือผูกใบลานด้วย โดยเฉพาะผ้าห่อหนังสือใบลานผูก ก็มีความเชื่อกันด้วยว่า ถ้าได้ถวายผ้าห่อหนังสือใบลานก็จะได้บุญกุศล ซึ่งสามารถถวายได้ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม และก็ถวายได้โดยไม่จำกัด ได้ทั้งผ้าขาว ผ้าสี ผ้าขิด ผ้าจก ผ้ามัดหมี่ โดยเน้นที่ต้องเป็นผ้าทอใหม่ๆ เป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นผ้าเก่าที่ทอไว้แล้วก็ต้องเป็นผ้าที่ยังไม่เคยใช้สอยมาก่อน โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ที่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นทอขึ้นมาเพื่อใช้เป็นผ้าซิ่นของผู้หญิง

มีผู้หญิงบางคนในบางแห่งที่คิดว่า การทอผ้าไหมเป็นหน้าที่ของลูกผู้หญิงนั้น กว่าจะได้เส้นไหมมาทอแต่ละผืน แต่ละเครือหูกต้องเอาตัวไหมและฝักไหมลงต้มในหม้อน้ำร้อนเพื่อสาวให้เป็นเส้นไหม นั่นคือต้องฆ่าชีวิตตัวไหมเป็นจำนวนมาก จึงหาโอกาสทำบุญกุศลทดแทนจากการฆ่าด้วยหน้าที่ทางสังคมเป็นเหมือนการไถ่บาปไปในตัว

มีผู้หญิงบางคนสละเส้นผมที่หมั่นดูแลรักษาอย่างดีจนยาวสลวย โดยการถอนออกมาหลายๆ เส้น จนสามารถรวบโคนเส้นผมใฟ้เป็นปอยได้ใหญ่พอสมควร ขนาดประมาณนิ้วมือ มัดโคนให้แน่น หรือรวบติดโคนปอยด้วยครั่งหรือขี้สูด คล้ายการทำ “ช้องผม” หรือไม่ก็ถักปอยผมหรือช้องผมนั้นให้เรียบร้อยสวยงามเพื่อถวายวัด เพื่อให้ใช้ผูกปี้ที่ใช้บอกชื่อเรื่อง ชื่อตอน เสียบไว้กับมัดหนังสือผูกใบลาน โดยเชื่อว่าจะได้บุญกุศลมาก

คนที่มีหนังสือใบลานเป็นสมบัติส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นใบลานผูกหรือใบลานก้อมอยู่กับเรือน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นหมอธรรมหรือหมอสูตรที่เป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ คือ ผู้รักษาธรรม จะมีการบูชาหนังสือใบลานทุกวันศีล (วันพระ) และในโอกาสพิเศษที่มีการจัดงานบุญประเพณีเสมอ

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับหนังสือใบลานที่เป็นคะลำหรือข้อห้ามก้มีอยู่หลายอย่าง เช่น เมื่อต้องเคลื่อนย้ายหนังสือใบลานอย่าให้เนื้อหนังสือใบลานถูกเนื้อต้องตัว ต้องจับเคลื่อนย้ายที่เก็บวางไปทั้งมัด ถ้าจะต้องถือหนังสือใบลานผูกไปที่อื่นแล้ว ห้ามถือไว้ในระดับต่ำกว่าหน้าอก และห้ามถือหนังสือใบลานในลักษณะกวัดแกว่ง กรณีที่เกี่ยวข้องกับเพศ-วัยนั้น จะมีข้อห้ามอยู่ด้วย คือห้ามผู้หญิงจับต้อง-จับถือหน้งสือผูก และห้ามเด็กจับเล่นหนังสือผูกรวมทั้งห้ามทุกเพศ-วัยนอนทับ-นั่งทับหนังสือผูก เป็นต้น”

ความเชื่อแนวปฏิบัติข้างต้นนี้ก็สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของพระสงฆ์รูปหนึ่งจากวัดศรีอุบล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่พวกเราสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๕ ดังที่ปรากฏในข้อความต่อไปนี้

“…ผ้าซิ่นที่ใช้ห่อคัมภีร์ต้องเป็นของเจ้าของผู้ศรัทธาและบ่งบอกถึงฐานะของผู้นั้นด้วย ผ้าซิ่นเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย บางชิ้นก็มีดิ้นเงิน ดิ้นทองแกม เป็นการแสดงฝีมือผู้ทอ ซิ่นไหมเป็นของหายากและมีค่า ผู้มีจิตศรัทธานำมาบริจาคทานเป็นผ้าห่อคัมภีร์ถวายวัด โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้มีจิตศรัทธาจะถวายคัมภีร์ที่มีอาจารย์เป็นผู้จาร/เขียน แล้วนำมาถวายวัด เพื่อให้พระมีโอกาสใช้คัมภีร์เทศน์เรื่องต่างๆ ให้ญาติโยมได้นั่งฟังในช่วงเข้าพรรษา… ผู้ชายเป็นคนจารตัวธรรมในคัมภีร์ใบลาน ผู้หญิงจารไม่ได้เพราะไม่รู้หนังสือธรรม ต้องเป็นชายที่เคยบวชจึงได้เรียนหนังสือธรรม ผู้หญิงไม่มีโอกาสจาร/เขียนตัวธรรม เพราะไม่ได้เรียน…”

ข้อมูลและข้อคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับคัมภีร์ใบลานในอีสานข้างต้นนี้ นับว่าสอดคล้องกันกับความเห็นของสมหมาย เปรมจิตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคัมภีร์ใบลานทั้งในวัฒนธรรมล้านนา ลาว และอีสาน ทำไมผู้หญิงจึงต้องตกเป็นเสมือนผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนคัมภีร์ใบลานและพุทธศาสนาโดยรวม ทำไมผู้หญิงจึงอ่านและจารหรือเขียนใบลานไม่ได้๗ ต่อคำเหล่านี้ท่านอธิบายว่า

“…เรื่องผู้หญิงจารใบลานนั้นไม่พบหลักฐานเลยทั่วภาคเหนือทุกแห่ง คงจะเป็นเพราะผู้หญิงไม่ได้บวชเรียนเหมือนผู้ชาย แม้แต่ชาววังก็มีน้อยคนที่ได้เรียน ผู้หญิงโบราณจึงอ่านหนังสือไม่ออก แต่ทำวัตรสวดมนต์ได้ ใช้สตางค์ได้เหมือนคนที่ได้เรียนหนังสือและทุกคนจะเหมือนกัน ที่วัดช้างดำ จังหวัดน่าน พบภาพที่ตู้คัมภีร์ใบลานพระสอนหนังสือให้ผู้หญิง ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าผู้หญิงบางคนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ นอกนั้นไม่พบที่ไหนเลย

การที่ผู้หญิงภาคอีสานนิยมเอาผ้าซิ่น (ไหม) ห่อคัมภีร์นั้น คงจะเป็นเพราะผ้าซิ่นเป็นผ้าที่ถือว่าสวยงามที่สุด ผ้าอื่นๆ ไม่ค่อยจะมีมากเหมือนผ้าซิ่น จึงเป็นของที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงที่จะใช้ห่อพระคัมภีร์ ซึ่งถือกันว่าจะได้บุญมาก เพราะผู้หญิงไม่มีโอกาสได้บวชเหมือนผู้ชาย แต่ผ้าซิ่นที่ใช้แล้วเขาจะไม่ใช้ห่อเด็ดขาด

ส่วนที่ล้านนาเขาก็มีพบบ้างเล็กน้อย แต่ที่พบมากกว่าคือ การถักผม-ฟั่นผม-เป็นเชือกร้อยคัมภีร์ เพราะถือว่าจะได้บุญมากเช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเส้นผมไม่ทนนานเหมือนเชือกด้าย ไม่ถึงร้อยปีก็เปราะขาด อีกประการหนึ่งธรรมเนียมหรือประเพณีก็มีความสำคัญด้วย เมื่อไม่มีผู้หญิงคนไหนเขียน-จารใบลานมาก่อน ใครอุตริไปทำเข้าจะทำให้เป็นคนแปลกไป และการจารนั้นทำได้ลำบากมาก ต้องอาศัยความชำนาญจริงๆ เพราะใบลานมีใยประสานกันเหมือนผ้าทอเลยทีเดียว ผมเองก็จารไม่ได้เรื่อง…” (สมหมาย เปรมจิตต์. “จดหมายติดต่อส่วนตัว.” ๒ มกราคม ๒๕๔๕

ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ในอดีต บอกอะไรในปัจจุบัน

ดังที่กล่าวในตอนต้นของบทความแล้วว่า ประเด็นคำถามที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ การอ่านสัญญะทางวัฒนธรรมของกรณีผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ในวัฒนธรรมอีสานในอดีต ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ที่เก็บรวบรวมไว้ตามตู้คัมภีร์ หอสมุดแห่งชาติ และศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสานเวลานี้บอกอะไรกับเรา ในฐานะที่เป็นผู้สนใจและนักศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่าว เราจะอ่านหรือตีความหมายสัญญะทางวัฒนธรรมเหล่านั้นว่าอย่างไร

ประการแรก “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” ชี้ให้เราเห็นถึงความผูกพันและบทบาทในการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาและชุมชนท้องถิ่นของผู้หญิงอีสานในอดีต แน่นอนว่าพุทธศาสนาไม่มีพื้นที่ทางอุดมการณ์และโครงสร้างของสถาบันสำหรับผู้หญิงมากนัก ยกตัวอย่างเช่น คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นอุดมคติของผู้บรรลุธรรมในพุทธศาสนาขั้นสูงสุดก็มองข้ามเพศหญิง และเชื่อว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์และมีเพศเป็นชายเป็นอุดมคติสูงสุด ดังคำอธิบายที่ว่า “…พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีธรรมจนแก่กล้าจะบังเกิดธรรมสโมทาน ๘ ประการ ได้แก่ ๑. เป็นมนุษย์ ๒. มีเพศเป็นชาย ๓. มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาแก่กล้า ๔. ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ๕. ได้ออกบวช ๖. ได้บรรลุฌาณ ๘ และอภิญญา ๕ ๗. ได้ทำบุญยิ่งใหญ่โดยยอมสละชีวิต และ ๘. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในพุทธภูมิ…” (บรรจบ บรรณรุจิ อ้างในเสมอชัย พูลสุวรรณ ๒๕๔๔ : ๒๒๖)

กล่องไม้ใส่คัมภีร์ใบลาน ที่หอสมุดแห่งชาติ สาขาจังหวัดนครราชสีมา

อย่างไรก็ตามบทบาทในการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนาของผู้หญิงในวัฒนธรรมอีสานเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางสังคมจำนวนมาก เช่น ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุมีหน้าที่หลักในการทำบุญส่งข้าวพระที่วัดเป็นประจำ บางท้องที่ก็รวมกลุ่มกันเรียกว่า “แม่ออกค้ำ” ให้การอุปถัมภ์เรื่องข้าวปลาอาหาร ปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งเงิน แก่พระภิกษุสามเณรที่กำลังบวชเรียน ในช่วงเข้าพรรษาผู้หญิงอีสานในหลายพื้นที่จะรวมกลุ่มกันไปปฏิบัติธรรมที่วัดและหัดร้องบทสวดที่เรียกว่า “สรภัญญะ” นอกจากนี้ในประเพณีการทำบุญ ๑๒ เดือนที่เรียกว่า “ฮีต ๑๒” ต่างก็มีกลุ่มผู้หญิงในชุมชนเป็นกำลังสำคัญควบคู่กับผู้ชายแทบทั้งสิ้น การทานผ้าซิ่นให้วัดใช้ห่อคัมภีร์ใบลานเป็นกิจกรรมที่คล้ายคลึงกับการทานผ้าทอต่างๆ เพื่อทำบุญในพระพุทธศาสนาด้วย เช่น ทอทุงหรือธงผะเหวดในงานบุญเทศน์มหาชาติประจำปี ทอผ้าไหมเป็นชุดผ้าเหลืองประกอบด้วยสบง จีวร อังสะ และรัดประคดสำหรับพิธีบวชนาคของลูกชาย เป็นต้น

ประการที่สอง ความเกื้อกูลและสัมพันธ์กันระหว่างเพศหญิงและชายในสังคมหมู่บ้านอีสานในอดีต โดยเฉพาะในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ภูมิปัญญาและภูมิธรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับรากเหง้า พัฒนาการและประวัติศาสตร์ของตนเองและชุมชนท้องถิ่น พวกเราเห็นว่าฐานคิดทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนพื้นบ้านอีสานไม่ได้มองเรื่องเพศสภาวะในมิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือการเอารัดเอาเปรียบ งานหรือบทบาทหน้าที่ทางสังคมเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมโดยความเชื่อและประเพณี กรณี “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” เป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงค้ำจุนผู้ชาย ผู้ชายค้ำจุนช่วยเหลือเกื้อกูลผู้หญิง และทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็อุปถัมภ์หรือทำนุบำรุงพุทธศาสนา ความสัมพันธ์ทางสังคมดังกล่าวในชุมชนหมู่บ้านภาคอีสานมีความหมายสำคัญอย่างยิ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (๒๕๓๘ : ๑๐๖-๑๐๗) นำเสนอว่า หญิงชายในวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยมีสถานภาพแตกต่างกันก็จริง แต่ความแตกต่างไม่ได้แปลว่าการกดขี่หรือเอารัดเอาเปรียบทางเพศเสมอไป เพศสภาวะในวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมนั้น “…มีกลไกของวัฒนธรรมและประเพณีอื่นที่แวดล้อมอยู่ด้วยหลายประการ อันช่วยประกันมิให้มีการกดขี่ทางเพศเป็นไปอย่างรุนแรงได้ แต่เมื่อชาวชนบทอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง หรือเมื่อวัฒนธรรมเก่าถูกกระทบด้วยวัฒนธรรมตะวันตก เมื่อนั้นการกดขี่ทางเพศจะปรากฏชัดขึ้น”

“ผ้าห่อคัมภีร์…” ในความคิดของเรา “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และแนวปฏิบัติในวิถีชีวิตจริงอันหนึ่งของคนอีสานในอดีต ที่ทำให้หญิงชายในวัฒนธรรมอีสานมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในชุมชนท้องถิ่น โดยมีพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง

ประการที่สาม ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์บ่งบอกถึงการให้คุณค่าและความสำคัญกับหนังสือและการรู้หนังสือ (literacy) ธรรมเนียมนิยมในการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญา อุดมการณ์ความคิด และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน การเคารพยกย่อง กราบไหว้ หรือบูชาคัมภีร์ใบลานบอกถึงการให้คุณค่าอย่างสูงสุดต่อความรู้ หรือหนังสือ (literacy) ในอดีตคนพื้นบ้านอีสานยกย่องคนรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้ เชิดชูคนเก่งและคนมีความรู้ความสามารถในชุมชน โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางโลกย์และทางธรรม

ประการที่สี่ ความรู้ที่อยู่ในคัมภีร์ใบลานถูกกำกับด้วยจริยธรรมและศาสนธรรม ความรู้ในคัมภีร์ใบลานจึงขลังและศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเป็นความรู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมของคนในชุมชน ฐานของความรู้จึงอยู่ที่ชุมชน ความรู้และทักษะวิชาชีพต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องของปราชญ์หรือผู้ที่มีความสามารถแต่ละคน แต่ความรู้ดังกล่าวก็ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนความรู้และทักษะวิชาชีพที่ได้จากระบบการศึกษาแผนใหม่ พวกเราคิดว่าความรู้ในคัมภีร์ใบลานไม่ได้ถูกตัดขาดออกจากชุมชนจนกระทั่งการเข้ามาครอบงำของการศึกษาแผนใหม่จากกรุงเทพฯ และสถาปนาโรงเรียนสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ เป็นต้นมา หลังจากนั้นเราอาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าความรู้ในหนังสือสมัยใหม่และโรงเรียนเป็นเรื่องของสินค้าและทักษะอาชีพ ที่ถูกกำหนดโดยนโยบายการพัฒนาของรัฐและกลไกตลาดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (โปรดดู Keyes 1991)

ดังนั้นความรู้ที่ไม่ได้ถูกห่อด้วยผ้าซิ่นจึงเป็นความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นได้ไม่ทั่วถึง และไม่ได้พัฒนาศักยภาพของผู้หญิงและผู้ชายในชนบทตามความเป็นจริง ทั้งยังเป็นระบบความรู้ที่ห่างไกลวิถีชีวิตและความเป็นจริงในท้องถิ่นมากกว่าที่ระบบความรู้และภูมิธรรมที่เคยมีมาของชุมชน

บทสรุป

ความพยายามของ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ และกลุ่มสามเณรีที่ต่อสู้เรียกร้องให้มีการบวชของผู้หญิงไทย เพื่อเติมให้พุทธบริษัท ๔ ของพุทธศาสนาในประเทศไทยสมบูรณ์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้หญิงไทยถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกเลือกปฏิบัติโดยโครงสร้างและกฎระเบียบของมหาเถระสมาคมและระบบราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา (“กรมศาสนาบุกดูบวชสามเณรี.” มติชนรายวัน. ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕, หน้า ๑, ๑๕) ส.ศิวรักษ์ (๒๕๔๔ : ๑๘๐, ๑๘๗) นำเสนออย่างชัดเจนถึงการคัดค้านการบวชของผู้หญิงในพุทธศาสนา ทั้งภิกษุณี และสามเณรีในประเทศไทยว่า “…เราไม่เคยมีภิกษุณี ภิกษุณีมาไม่ถึงเมืองไทย เราก็เลยตระหนกตกใจกลัวสิ่งซึ่งเราไม่รู้…เป็นการคัดค้านจากผู้ซึ่งกลัวการเปลี่ยนแปลง หรือไปเข้าใจพระพุทธดำรัสที่ว่า ถ้าเกิดไม่มีภิกษุณี พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี มีภิกษุณีพระศาสนาจะอยู่ได้ ๕๐๐ ปี ไปตีความตามพยัญชนะ ไม่ได้ตีในบริบทที่กว้างขวาง…”

คำถามของพวกเราก็คือ การต่อสู้ของผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวและกลุ่มอื่นๆ ที่มาก่อนหน้าเกิดขึ้นในบริบทของพุทธศาสนาในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับบทบาทของผู้หญิงอีสานในการค้ำจุนโลกและค้ำจุนธรรมในอดีต ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ช่วยให้เราเข้าใจความพยายามของกลุ่มสามเณรีหรือไม่อย่างไร

พวกเราคิดว่าความใฝ่ฝันและความปรารถนาของผู้หญิงอีสานในอดีตและการทำบุญร่วมในพระศาสนาเป็นเนื้อนาบุญของผู้หญิงที่มีมาช้านาน ทุกสังคมต่างก็มีช่องทางในวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสและยอมรับบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้หญิง เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มอบสิ่งที่ดีที่สุด มีคุณค่าในทางศิลปะและงานฝีมือให้กับชุมชนเพื่อค้ำจุนหรือทำนุบำรุงพระศาสนามาโดยตลอด

กรณี “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” ก็เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งในภาคอีสาน ในกรณีนี้ผู้หญิงอีสานแสดงความปรารถนาและความใฝ่ฝันในการเข้าถึงรสพระธรรม ความปรารถนาในการรู้หนังสือและอ่านออกเขียนได้ และความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ หรือมีส่วนร่วมในการทำบุญในร่มเงาของพุทธศาสนาในระดับชุมชนท้องถิ่น

พวกเราไม่คิดว่าผู้หญิงอีสานในอดีตมีรากเหง้าทางความคิดทางศาสนาที่อยู่ในระนาบเดียวหรือใกล้เคียงกับแนวคิดเฟมินิสม์แบบตะวันตก รวมทั้งไม่คิดว่าผู้หญิงอีสานจะใช้วิธีการปฏิรูป เรียกร้อง ต่อสู้ และดิ้นรนในลักษณะเดียวกับกลุ่มสามเณรี แต่พวกเราคิดว่าด้วยเงื่อนไขของสังคมเกษตรกรรมและบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในอีสานเมื่อประมาณ ๓๐ ปีย้อนหลังกลับไปในอดีต ผู้หญิงอีสานมีบทบาทค้ำจุนโลกและค้ำจุนธรรมะไม่แพ้ผู้ชาย พวกเธอก็มีความปรารถนาที่จะเข้าถึงรสพระธรรมไม่แพ้ผู้ชาย แต่สิ่งที่สังคมอีสานและสังคมไทยในเวลานั้นเปิดโอกาสให้เข้าทำได้ก็คือ การทำบุญทำทานในวาระโอกาสและรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการทำหน้าที่ตามสถานภาพและบทบาทของลูกสาว แม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงในครอบครัวและชุมชน

ประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ บทบาทของผู้หญิงอีสานในทางศาสนาเริ่มลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ เมื่อคัมภีร์ใบลานหายไป ศูนย์กลางของชุมชนท้องถิ่นไม่ได้อยู่ที่วัด เมื่อการศึกษาแผนใหม่คืบคลานเข้ามา เมื่อระบบราชการและการพัฒนาประเทศแผนใหม่เข้ามาริบอำนาจและเปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชน อะไรเกิดขึ้นกับชุมชน อะไรเกิดขึ้นกับวัดและสถาบันศาสนาในท้องถิ่น อะไรเกิดขึ้นกับผู้ชายชาวบ้านที่จะมาสืบทอดพระศาสนา และที่สำคัญอะไรเกิดขึ้นกับผู้หญิงอีสานในชุมชนผู้ทำหน้าที่ค้ำจุนหรืออุปถัมภ์พระศาสนา

เมื่อผ้าซิ่นต้องจากท้องไร่ท้องนาเข้าสู่โรงงานในเมืองใหญ่ สู่คลับบาร์ และซ่องโสเภณีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้หญิงรวมทั้งผู้ชายจากชนบทต้องระหกระเหินจากถิ่นที่อยู่เข้าไปเผชิญชะตากรรมของชีวิตในเมือง ซึ่งเป็นเวทีที่การเลือกปฏิบัติและการเอารัดเอาเปรียบทางเพศรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายผู้หญิงในสังคมไทยจึงเปลี่ยนไปจากเดิม จากระนาบแนวนอนไปสู่ระนาบแนวดิ่งที่มีอำนาจการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ เงินตรา และผลประโยชน์เข้ามากำกับมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้ชายและผู้หญิงเปลี่ยนไป จากที่เคยอุปถัมภ์เกื้อกูลกันภายใต้การกำกับของกลไกทางวัฒนธรรมในชุมชนก็กลายเป็นกดขี่ ขูดรีด และเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ในเวทีที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำและด้อยอำนาจมากยิ่งขึ้น

ในท้ายที่สุดพวกเราเชื่อว่า “ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์” เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญเฉพาะที่บ่งบอกถึงบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงที่มีต่อสถาบันศาสนาในระดับชุมชน ความสำคัญของตัวอย่างนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่ช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจ “จุดเปลี่ยน” ในระดับสัญลักษณ์และญาณวิทยาที่บ่งบอกถึงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในสังคมอีสานและสังคมไทยร่วมสมัย ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในช่วง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา

“จุดเปลี่ยนเล็กๆ” ดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า ในโลกยุคโลกาภิวัตน์คนอีสานทั้งหญิงชายซึ่งไม่มีทั้งผ้าซิ่นและคัมภีร์เป็นภูมิรู้และภูมิธรรมติดตัว ได้กลายมาเป็นสมาชิกของชุมชนรัฐชาติไทยและประชาคมโลกอย่างเต็มตัว พวกเขาและเธอต้องเผชิญหน้ากับชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่ง แข่งขัน และเอาตัวรอด ในขณะที่ภูมิปัญญาและภูมิธรรมดั้งเดิมของตนเองและชุมชนนั้นตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและไร้พลังอย่างยิ่ง


เชิงอรรถ

๑. การประชุมทางวิชาการเรื่อง “การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้จากคัมภีร์ใบลานที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย.” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับองค์การยูเนสโก หน่วยข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงและการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒๒-๒๓ กันยายน ๒๕๔๔ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. โรงแรมนิวพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม.

๒. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. “คำบรรยายเรื่องจริยธรรม-จริยศาสตร์สำหรับนักศึกษาเทคโนโลยี” รายวิชาไทยศึกษา. ภาคการศึกษาที่ ๓/๒๕๔๔. สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๕. (สมุดบันทึกของพัฒนา กิติอาษา).

๓. สัมภาษณ์สมชัย ฟักสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ประจำหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา. สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยสุริยา สมุทคุปติ์. ๑๓, ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕.

๔. บำเพ็ญ ณ อุบล. คำอภิปรายเรื่อง “โลกทัศน์จากคัมภีร์ใบลานอีสาน : ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของคนอีสาน.” ในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้จากคัมภีร์ใบลานที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับองค์การยูเนสโก หน่วยข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงและการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒๒-๒๓ กันยายน ๒๕๔๔ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. โรงแรมนิวพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. (จากสมุดบันทึกของพัฒนา กิติอาษา)

๕. บุญเรือง คัชมาย์. “คำอภิปราย” ในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้จากคัมภีร์ใบลานที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับองค์การยูเนสโก หน่วยข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงและการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒๒-๒๓ กันยายน ๒๕๔๔ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. โรงแรมนิวพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. (จากสมุดบันทึกของพัฒนา กิติอาษา)

๖. สุริยา สมุทคุปติ์. สมุดบันทึกสนามสัมภาษณ์พระมหาสมบัติ ชุติปัญโญ อายุ ๓๓ ปี อายุบวช ๑๔ พรรษา วัดศรีอุบล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. ๕ มกราคม ๒๕๔๕.

๗. สมชัย ฟักสุวรรณ์ ให้ข้อมูลว่า เคยพบคัมภีร์ใบลานที่จารโดยผู้หญิงจำนวน ๑ ผูก ที่ทางหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมาได้รวบรวมไว้ ท่านยืนยันว่ามีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผู้หญิงในอดีตบางคนจะมีความสามารถถึงอ่านออกเขียนได้และจารคัมภีร์ใบลานได้ แม้ว่าจะเป็นกรณีที่หาได้ยากและเป็นกรณียกเว้นจริงๆ (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยสุริยา สมุทคุปติ์ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)