เผยแพร่ |
---|
ชาวต่างชาติอีกคนหนึ่งที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับประเทศไทย คือ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ บัณฑิตกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บุตรเขยประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ดร. บี. แซร์ รับราชการเป็นที่ปรึกษา จนมีความชอบได้เป็น “พระยากัลยาณไมตรี” ภายหลังเมื่อกลับประเทศอเมริกาได้เขียนบทความเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายครั้ง
ผลงานชิ้นหนึ่งของ ดร. บี. แซร์ ชื่อว่า SIAM’S FIGHT FOR SOUVEREIGNTYW ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ATLANTIC MONTHLY ของอเมริกา ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1927 ม.ล. ฉอ้าน อิศรศักดิ์ แปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า “สยามกู้อิสรภาพตนเอง” แต่นำมาเสนอเฉพาะหัวข้อ “อนาคตของกรุงสยาม” เนื้อหามีดังนี้
“อนาคตของกรุงสยาม
สัญญาพระราชไมตรีฉบับใหม่ทั้งหมด รวมทั้งฉบับประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเจรจากันในกรุงเทพฯ นี้ด้วย ได้ลงนามและกระทำสัตยาบันต่อกันสิ้นแล้ว และเรื่องสิทธิ์พิเศษอันตัดสิทธิ์กรุงสยามก็เป็นอดีตภาพ เมื่อสิทธิ์พิเศษเป็นอันยกเลิกไป กรุงสยามมีอำนาจขึ้นอัตราภาษีได้ตามชอบใจ ก็เรียกได้ว่าหนทางของกรุงสยามได้เปิดขึ้นใหม่ แต่ปัญหามีอยู่ว่าเมื่อกรุงสยามกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ดังนี้แล้ว กรุงสยามได้เตรียมตัวไว้อย่างไรบ้าง? กรุงสยามจะมีความสามารถแผ่อำนาจใหม่ของตนได้โดยฉลาดดีหรือ?
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2468 ในเวลาอันเร็วต่อจากดำเนิรการทำสัญญาพระราชไมตรีฉบับใหม่กับนานาชาติเป็นผลสำเร็จลงนั้นเอง ในระวางใกล้จะสิ้นรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น รายจ่ายของประเทศสูงกว่ารายได้ และฐานะการเงินของประเทศตกอยู่ในความขัดข้องฝืดเคือง
ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำริแก้ไขฐานะความขัดข้องทางการเงินนั้น ในการหาหนทางแก้ไข แทนจะคิดกู้เงินจากต่างประเทศหรือเพิ่มอัตราส่วยภาษีให้สูงขึ้นกลับดำเนิรพระบรมราชกุศโลบายอันงาม กล่าวคือ ตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นนั้นโดยสิ้นเชิง พระองค์มีพระบรมราชปรารถนา ให้ทุกๆ กระทรวงจึงตัดทอนรายจ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ ตัดข้าราชการที่เหลือเฟือจากหน้าที่ ยุบเลิกกรมกองที่ไม่เป็นประโยชน์ทำให้เปล่าเปลืองพระราชทรัพย์โดยไม่ใช่เหตุ การประหยัดทรัพย์คราวนั้นเป็นเรื่องซึ่งชาวสยามพูดกันอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
อนึ่งพระองค์เองก็ทรงประหยัดเงินแผ่นดินให้เป็นตัวอย่าง กล่าวคือรายจ่ายส่วนพระองค์ซึ่งรัฐบาลถวายปีละ 9,000,000 บาทนั้น ก็โปรดให้ประหยัดลงเพียงปีละ 6,000,000 บาทเท่านั้น อันพระบรมราชปรารถนาของพระองค์ซึ่งทรงมุ่งหมายในการประหยัดทรัพย์ของแผ่นดินนี้ มีกำลังแรงแข็งกล้าอันระงับไม่ได้ ผลของการที่พระองค์ทรงดำเนิรพระบรมราชกุศโลบายนี้ งบประมาณของกรุงสยามซึ่งมีรายได้ไม่พอรายจ่ายก็กลายเป็นเหลือจ่าย และความมุ่งหมายที่มุ่งอยู่ในเวลานี้ ก็เพื่อวางกำหนดงบประมาณให้มีเงินเหลือจ่ายไว้คงคลัง
เมื่อพิเคราะห์ถึงทรัพย์แผ่นดินของประเทศอันมีจำนวนมาก พิจารณาถึงรายได้ของประเทศอันย่อมจะเพิ่มขึ้นเนื่องแต่ทำสัญญาพระราชไมตรีฉบับใหม่กับนาๆ ประเทศ เก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมแม้เพียงเล็กน้อยจากสินค้าซึ่งเห็นว่ากรุงสยามใช้มาก และพิจารณาถึงฐานะการทำนาของกรุงสยาม ก็เจริญขึ้นกับกสิกรรมอย่างอื่นที่กำลังจะเจริญขึ้นนั้นแล้ว ทำให้เราเห็นได้ว่าฐานะการเงินของกรุงสยามในอนาคตดูจะรุ่งเรืองสุกใส
กล่าวถึงระเบียบการปกครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลปัจจุบันนี้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยอย่างดีที่สุด เมื่อสิ้นรัชชกาลพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ข้าราชการจำพวก 1 ได้ดำเนิรวิธีการตัดหนทางมิให้พระองค์ทรงติดต่อกับบรรดาที่ปรึกษาอันสามารถแห่งราชอาณาจักรเป็นผลอย่างงาม ทำให้ ข้าราชการจำพวกนั้นมีอำนาจบันดาลการสิ่งใดได้ตามประสงค์ พระราชกรณียกิจบทแรกแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลปัจจุบันนี้ ก็คือโปรดเกล้าให้ปลดหัวหน้าข้าราชการจำพวกนั้นออกเสียจากตำแหน่งอันสูง
ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ทรงตั้งคณะมนตรีขึ้นใหม่คณะ 1 สำหรับมีหน้าที่ออกความคิดเห็นเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินในเรื่องสำคัญ คือ อภิรัฐมนตรีสภา สภานี้มีสมาชิกเป็นมนตรี 5 คน เป็นจำนวนน้อยพอที่จะมองเห็นเด่นชัดในการรับผิดชอบประการต่างๆ ผู้ที่เป็นมนตรีแห่งสภานี้ได้ทรงเลือกล้วนแต่ผู้ซึ่งเป็นประมุขของชาวสยามอันมีความสัตย์ซื่อและความสามารถเหมาะสมกับวิธีการของคนสำคัญแห่งบ้านเมืองเช่นนี้ ใช่แต่จะเปิดหนทางไว้ให้เรื่องต่างๆ คิดต่อถึงพระเจ้าแผ่นดินได้เท่านั้นก็หาไม่ ยังเป็นสิ่งที่กรุงสยามต้องการอยู่เป็นที่สุด กล่าวคือ โดยการตั้งคณะมนตรีเพียงจำนวนเท่านี้ สามารถช่วยประสานสมานกิจการของกระทรวงทบวงการต่างๆ ให้โยงถึงกันได้เป็นอัน 1 อันเดียวกัน
มีรเบียบปกครองที่ยังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ข้อ 1 คือ พระบรมราชดำริเห็นว่า การปกครองแผ่นดินแผนสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นใกล้ต่ออันตรายและมีอุปสักยิ่งยวด พระองค์มีพระบรมราชปรารถนาอย่างยิ่งว่าจะให้รัฐบาลดำเนิรการปกครองใกล้แบบประชาธิปตัย และทำให้ประชาพลเมืองมีส่วนรับผิดชอบบางอย่างบางประการเสมอว่าเสมอไหล่กันด้วย แต่การที่จะดำริตั้งให้มีรัฐสภาขึ้นนั้น มีพระบรมราชดำริเห็นว่า ถ้าสภานั้นไม่ล้วนแล้วไปด้วยสมาชิกผู้ฉลาดสามารถย่อมจะเป็นเครื่องจักร์อันใกล้อันตรายกว่าการปกครองแผนสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลายเท่า
และตราบใดที่หลักของการยังสร้างไม่มั่นคง คือ ทำนุ บำรุง การศึกษาให้ก้าวหน้าขึ้นนั้น การที่จะเปลี่ยนรูปรัฐบาลให้ดำเนิรแผนรัฐสภาก็ต้องรอไว้ก่อนถึงอย่างนั้นก็ดี พระองค์ก็ทรงวางโครงการไว้แล้วเพื่อมุ่งให้เดิรไปสู่หลักอันนั้น อนึ่งในระวางเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงวางวิธีการเพื่อให้ข้าราชการของพระองค์ มีความชำนาญมากขึ้น โดยโปรดให้ตั้งสภานครบาลขึ้นในเมืองใหญ่ๆ บางแห่ง
พระราชกำหนดกฎหมายบ้านเมืองในกรุงสยามการณ์เป็นที่เรียบร้อยดีอยู่งานอันลำบาก และเต็มไปด้วยความพยายามของคณะกรรมการร่างกฎหมายนั้นก็เกิดผลให้ตรากฎหมายใหม่ เดิรตามแบบของกฎหมายชาวยุโรป กฎหมายต่างๆ เหล่านี้ยังจะต้องกินเวลาอีก 5 ปีจึงจะเป็นผลสำเร็จ ส่วนสำคัญทางกฎหมายแห่งกรุงสยามที่ยังมีอยู่อีกอย่างเดียวก็คือ การฝึกและสอนผู้พิพากษาชาวสยามเท่านั้น
หนทางที่จะดำเนิรการสู่ความเจริญซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนิรนั้นมีอยู่ 2 ทาง ทาง 1 ก็ คือทำนุบำรุงการศึกษาให้เจริญขึ้น ซึ่งในเวลานี้ยังเป็นข้อยากอยู่ก็เพราะขาดครูไทยที่ดีและขาดตำรับตำราต่างๆ อีกทาง 1 ก็คือส่งเสริมทำนุบำรุงการกสิกรรมทางเข้าให้เจริญดียิ่งขึ้น กับกสิกรรมรองจากนั้นมีสินค้ายาสูบและป่านเป็นต้นอีกด้วย
เมื่อยกข้ออื่นๆ ออกนอกเรื่องแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญของกรุงสยามอยู่อีกเรื่อง 1 คือ จะดำเนิรวิธีการอย่างใดจึงจะถ่ายความเจริญแบบชาวตะวันตกให้มาเกิดในประเทศได้ โดยไม่ต้องเกิดความยุ่งยากทรามลง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ย่อมเกิดพร้อมกับความเจริญชนิดนั้นเสมอ) อันตรายใหญ่หลวงที่สุดซึ่งจะเป็นไปได้ สำหรับกรุงสยามก็มีอยู่สิ่งเดียวคือ ปัญหาข้อนี้ กรุงสยามจะสามารถเฟ้นเอาแต่ความเจริญในทางที่ของอัษฎงคตประเทศ และคงรักษาหน้าที่ของตนไว้ให้เห็นชัดในความเป็นเอกราชของตนได้หรือไม่? กรุงสยามจะสามารถเลียนแบบชาวตะวันตกและมิให้พวกตะวันตกกลืนประเทศตนได้หรือ? กรุงสยามจะสามารถป้องกันธรรมจรรยาและทางศาสนาของตนมิให้ต้อยลงน้อยหน้าเขาได้หรืออย่างไร?
กล่าวตามความเป็นจริง กรุงสยามยังมีปัญหาอยู่จำนวนมาก แต่ปัญหาเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญ ผู้ใดที่ได้ไปอยู่ในกรุงสยาม ไปทำงานในกรุงสยาม และรู้จักมีความรักประชาชนของกรุงสยามแล้ว ย่อมมีความเชื่อถือในชาวสยามอย่างใหญ่ยิ่ง ชาวสยามย่อมจะมีหนทางดำเนิรสู่ความเจริญในวัน 1 ดาวของกรุงสยามกำลังรุ่งเรืองอยู่แล้ว!” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]
ข้อมูลจาก :
ไกรฤกษ์ นานา. “ค้นหารัตนโกสินทร์” สิ่งที่เรารู้จัก อาจไม่ใช่ทั้งหมด, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2564