ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
อิตาลี เป็นชาติแรกที่ใช้ ตอร์ปิโดมนุษย์ (Human Torpedo) อาวุธสงคราม ที่มีชื่อเรียกว่า “มายาเล” ตอร์ปิโดมนุษย์ของอิตาลีมีความยาว 6.7 เมตร พร้อมกับหัวระเบิดที่ถอดได้ มีพลขับ 2 นาย สวมชุดยางใ่ส่ท่อออกซิเจนและหน้ากากนั่งคร่อมตอร์ปิโด
วันที่ 19 ธันวาคม ปี 1947 อิตาลีทดลองใช้ “ตอร์ปิโดมนุษย์” อาวุธสงคราม เพื่อโจมตีเรือรบแวเลียนต์ของอังกฤษ แต่เกิดปัญหาบางประการ มนุษย์กบชาวอิตาลีที่เป็นพลขับ 2 คน ถูกจับได้ในบริเวณท่าเรืออเล็กซานเดรีย
เมื่อสอบสวน พวกเขาสารภาพว่า เกิดปัญหาบริเวณนอกท่าเรือ จึงต้องทิ้งอุปกรณ์และว่ายน้ำมา หากอีก 2-3 นาทีต่อมามีเสียงระเบิดใต้ท้องเรือบรรทุกซาโกเนีย
มนุษย์กบทั้งสองบอกให้กัปตันเรือแวเลียนต์เรียกทุกคนไปที่ดาดฟ้าเรือ เพราะอีกไม่นานจะเกิดการระเบิดใต้ท้องเรือแวเลียนต์ และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อีก 2-3 นาทีต่อมาเกิดการระเบิดรุนแรง สร้างความเสียหาย อย่างหนักให้กับเรือแวเลียนต์
หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้เรือรบควีนเอลิซาเบธ ชาวอิตาลี 6 คน พร้อมตอร์ปิโดมนุษย์ มายังท่าเรืออเล็กซานเดรียโดยเรือดำน้ำ พวกเขาทำให้เรือรบ 2 ลำ ในกองเรือเมดิเตอร์เรเนียนเสียหายใช้การไม่ได้หลายเดือน แม้จะไม่มีผู้ใดเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
อิตาลียังใช้ตอร์ปิโดมนุษย์โจมตีเรือขนสินค้าของฝ่ายสัมพันธมิตรในยิบรอลตาร์ มอลต้า และอ่าวแอลเจียร์ ในช่วงปลายสงคราม
ต่อมาอังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น ก็ลอกเลียนแบบ “ตอร์ปิโดมนุษย์” ของอิตาลี อย่างรวดเร็ว
คืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 ตุลาคม ปี 1942 ตอร์ปิโดมนุษย์ที่อังกฤษพัฒนาขึ้น ชื่อ “ชาริออต” ความยาว 7.6 เมตร โจมตีเรือรบเตียร์ปิตซ์ของเยอรมนี ที่ทรอนด์ไฮม์ นอร์เวย์ ตอร์ปิโดชาริออต 2 ลูก ถูกนำไปยังฟยอร์ดทรอนด์ไฮม์ โดยผูกกับสลิงไว้ใต้ท้องเรือหาปลา แต่ขณะจะเข้าใกล้เรือเดียร์ปิตซ์ ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เกิดข้อขัดข้องกับชาริออตและจมลงเสียก่อน ส่วนพลขับของชาริออตสามารถหลบหนีไปสวีเดนได้ตามแผน
ความสำเร็จของตอร์ปิโดมนุษย์ของอังกฤษ เกิดที่ภูเก็ตนี่เอง
วันที่ 28 ตุลาคม ปี 1944 ชาริออต 2 ลำประสบความสำเร็จในการโจมตีเรือ 2 ลำ ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เรือดำน้ำเทรานชานต์พามนุษย์กบพลขับชาริออตไปยังบริเวณเป้าหมาย จากนั้นพลขับขับตอร์ปิโดของพวกเขา และยึดส่วนหัวของระเบิดให้ติดแน่นเข้ากับท้องเรือเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรือสินค้า 2 ลำ คือเรือสุมาตราและเรือวอลปิของอิตาลี และครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ขณะพลขับกลับมายังเรือเทรนชานต์ เสียงระเบิดดังขึ้น 2 ครั้ง เรือสินค้าทั้ง 2 ลำ ใช้การไม่ได้ตลอดช่วงที่เหลือของสงคราม
ด้านเยอรมนีก็สร้างตอร์ปิโดมนุษย์ ชื่อ “นีเกอร์” หรือ “โมห์ร” (ตามชื่อผู้ประดิษฐ์ ริชาร์ด โมห์ร) ตอร์ปิโดมนุษย์ของเยอรมนีใช้พลขับ 1 คน ประกอบด้วยตอร์ปิโด 2 ลูกที่ผูกติดเข้าด้วยกัน ลูกที่อยู่ด้านบนจะมีห้องพลขับติดตั้งกระจกทนความร้อนแทนที่จะเป็นหัวรบ แต่ไม่สามารถดำน้ำได้ ทำงานโดยมอเตอร์ในห้องพลขับที่อยู่เหนือผิวน้ำ การปล่อยหัวระเบิดจะต้องทำขณะเข้าใกล้เป้าหมาย และมองเห็นได้ง่ายในช่วงกลางวัน
กองทัพเยอรมนีใช้นีเกอร์โจมตีเรือขนสินค้าของฝ่ายสัมพันธมิตรที่อันซิโอ อิตาลี ในเดือนมกราคม ปี 1944 และอีกครั้งที่นอร์มังดี ฝรั่งเศส และในเดือนมิถุนายน มันทำลายเรือกวาดทุ่นระเบิดและเรือลาดตระเวนเบานอกชายหาดนอร์มังดี แต่หากประมินประสิทธิภาพ นีเกอร์จำนวนมากก็เสียหายไปเช่นกัน ตอร์ปิโดมนุษย์ที่คิดค้นมาแทนอย่าง “มาร์เดอร์” ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ขณะที่ประเทศในเอชียอย่างญี่ปุ่นก็พัฒนาตอร์ปิโดมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ตอร์ปิโด “คัลเท็น” ของญี่ปุ่น ถูกปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเป็นหอกยาว 9 เมตร หัวรบขนาดครึ่งตันและมีความเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีห้องสำหรับพลขับและหอบังคับการ โดยปกติแล้วมันจะถูกขับเคลื่อนตรงเข้าหาเป้าหมายในฐานะอาวุธพลีชีพ (ลักษณะกับฝูงบินพลีชีพ-คามิกาเซะ)
ญี่ปุ่นใช้คัลเท็นครั้งแรกที่เกาะยูลิตี ในมหาสมุทรแปซิฟิก สถานที่ที่กองเรือรบสหรัฐทอดสมอ เดือนพฤศจิกายน ปี 1944 ตอร์ปิโดคัลเท็นจมเรือบรรทุกได้ 2 ลำ แต่มนุษย์กบพลขับก็สังเวยชีวิตไป 8 คน ที่อิโวะจิมะ โอกินาวา และหัวหาดอื่น ๆ ในแปซิฟิก คัลเท็นจมเรือสหรัฐไป 4 ลำ หนึ่งในนั้นคือเรือพิฆาตยูเอสเอส อันเดอร์ฮิลล์
อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของฝ่ายญี่ปุ่นสูงมากเช่นกัน เรือดำน้ำ 18 ลำ ที่ถูกดัดแปลงให้มาทำหน้าที่บรรทุกคัลเท็นจมไป 8 ลำ จากการปล่อยตอร์ปิโดมนุษย์ ส่วนลำอื่น ๆ ถูกบังคับให้ยกเลิกภารกิจ คัลเท็นเสียหายไปทั้งสิ้น 80 ลูก
การโจมตีด้วยตอร์ปิโดมนุษย์ของอิตาลีประสบความสำเร็จมากที่สุด ในแง่ “ผลตอบแทนการลงทุน” แต่เมื่อเทียบกับการสูญเสียชีวิตทหาร รวมถึงมนุษย์กบพลขับผู้กล้าหาญ, เวลา และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอาวุธ ผลตอบแทนที่ได้จาก “ตอร์ปิโดมนุษย์” ของแต่ละชาติไม่น่าจะคุ้ม
อ่านเพิ่มเติม :
- “เรือรบยามาโตะ”เรือประจัญบานญี่ปุ่นสุดเกรียงไกร ที่จบลงด้วยความตายกว่า 3,000 ชีวิต
- “เรือรบติ้งหย่วน” เรือรบหุ้มเกราะสุดแกร่งลำแรกของจีน ที่มีจุดจบเพราะการฉ้อโกง
ข้อมูลจาก :
พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และ ดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2564