ทำไมรัชกาลที่ 4 รับสั่ง ทำกำแพงกั้นปันเขตกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน?!?

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ฉายร่วมกับพระราชโอรสและพระราชธิดา

“ถ้าเช่นนั้นทำกำแพงกั้นปันเขตกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน” ทำไมรัชกาลที่ 4 มีรับสั่งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ [ช่วง บุนนาค] เช่นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ใน “พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5” ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

เพราะเหตุใดเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ [ช่วง บุนนาค] จึงยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้ ถ้าว่าตามความเห็นของผู้รู้การครั้งนั้น โดยมากเห็นว่าเพราะท่านเกรงว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญวัยขึ้น ไม่พอพระราชหฤทัยที่มีผู้ว่าราชการแผ่นดิน ก็จะทรงขวนขวายเอาท่านออกจากตำแหน่ง จึงคิดให้มีพระมหาอุปราชขึ้นสำหรับกีดกันพระราชอำนาจ และเลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช

ด้วยเห็นว่าคงเข้ากับวังหลวงไม่ได้ ก็จะต้องอาศัยท่าน [เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์] ทั้งวังหลวงและวังหน้า พาให้ตำแหน่งของท่านมั่นคง เห็นกันอย่างว่ามานี้เป็นพื้น และมักเข้าใจกันว่า ท่านคิดขึ้นในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคต แต่เรื่องที่ผู้อื่นไม่รู้ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ว่าการที่จะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชนั้น ที่จริงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้คิดมาแต่ในรัชกาลที่ 4 และได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบด้วย [89]

เรื่องที่ปรากฏนั้นคือ วันหนึ่ง (สันนิษฐานว่า เมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ. 2410) พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระทวารมุข พระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้าเป็นที่รโหฐาน มีแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [รัชกาลที่ 5] คอยรับใช้อยู่ข้างพระขนองสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสสนทนากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ด้วยเรื่องราชการต่าง ๆ

ตอนหนึ่งตรัสถึงเรื่องวังหน้า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะตรัสปรารภอย่างไร และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะได้กราบทูลสนองว่ากระไร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงได้ยินถี่ถ้วน ได้ยินแต่คำพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นทำกำแพงกั้นปันเขตกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน”

ดังนี้ ทรงสันนิษฐานว่า คงเป็นด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลอธิบายถึงเรื่องที่เห็นควรจะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช และพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่จะไม่ให้ขัดใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงตรัสตอบอย่างนั้น

พิเคราะห์เรื่องที่แสดงมา ประกอบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในตอนปลายรัชกาลที่ 4 เห็นว่าการตั้งพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 5 เป็นข้อวินิจฉัยสำคัญอันหนึ่งในเรื่องพงศาวดาร ยังไม่มีใครได้รวบรวมกรณีทั้งปวงเรียบเรียงไว้ให้ปรากฏ มีแต่ติเตียนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงรวบรวมกรณีทั้งปวงมาแสดงไว้ในตอนนี้ เพื่อให้เห็นยุติธรรมในเรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

……….

มูลของความลำบากในครั้งนั้นอยู่ที่เวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [รัชกาลที่ 5] ยังทรงเยาว์วัย มีพระชันษาได้เพียง 13 ปี และพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราพระชันษาได้ถึง 62 ปี ถ้าเสด็จสวรรคตไปในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [รัชกาลที่ 5] ยังทรงพระเยาว์ก็จะต้องมีผู้อื่นว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์ไปจนทรงสมบูรณ์พระชันษาว่าราชการบ้านเมืองได้เอง

ข้อนี้ที่เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเกิดความวิตก เพราะในกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ มีตัวอย่างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระเยาว์ทุกครั้ง ครั้งหลังที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2171 พระเจ้าทรงธรรมมอบเวนราชสมบัติแต่พระเชษฐาราชโอรส พระชันษา 14 ปี ให้เจ้าพระยาสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เกลี้ยกล่อมเอาข้าราชการไปเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชสงสัยว่าจะคิดร้ายจะชำระ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยเป็นกบฏ จับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ชิงเอาราชสมบัติเสีย

ตัวอย่างครั้งที่กล่าวนี้ยิ่งร้าย ด้วยคล้ายกับพฤติการณ์ในเวลานั้น ทั้งพระชันษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [รัชกาลที่ 5] และมีตัวเจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์เด่นอยู่สำหรับจะเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน ก็เกิดหวาดหวั่นกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตไปโดยด่วน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะชิงราชสมบัติ ถ้ามีข้าราชการบางหมู่เข้าพวก สัญญากันว่าจะคอยป้องกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [90] กิตติศัพท์ความหวาดหวั่นเช่นนั้น ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดลำบากใจแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มิใช่น้อย

อีกประการหนึ่ง เวลานั้นพวกข้าราชการที่ชังท่านก็มีอยู่แล้ว ถ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคงจะมีผู้ชังมากขึ้นด้วยพ้นวิสัยที่จะบังคับบัญชาการให้ชอบใจคนไปได้หมด พวกที่ไม่ชอบก็จะพากันคิดร้ายด้วยประการต่าง ๆ เช่นทูลยุยงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นอริกับตัวท่านเป็นต้น และที่สุดจะว่าราชการบ้านเมืองในสมัยนั้นก็ลำบากด้วยฝรั่งเข้ามามีอำนาจกว่าแต่ก่อน

ข้อความที่กล่าวมา ผู้มีสติปัญญาเช่นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ย่อมจะคิดเห็นและคิดหาทางแก้ซึ่งเห็นมีแต่ 2 ทาง คือทางหนึ่ง หลีกตัวเสีย อย่าให้ต้องเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน หรืออีกทาง 1 ถ้าจำจะต้องเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินก็ให้มีอะไรเป็นเครื่องป้องกันอย่าให้คนทั้งหลายสงสัยว่าท่านจะชิงราชสมบัติ อันนี้น่าจะเป็นมูลความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่ให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช ตรงตามที่ผู้อื่นคิดเห็นกันโดยมาก ท่านอาจจะคิดเห็นต่อไปว่าไม่มีการเสี่ยงภัยอันใดในเรื่องสืบราชสันตติวงศ์ด้วยกรมหมื่นบวรวิชัยชาญพระชันษาแก่กว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 16 ปี คงจะล่วงลับไปก่อนสิ้นรัชกาลที่ 5 ไม่มีช่องจะได้รับรัชทายาท [91]

ฝ่ายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คงทรงปรารภถึงเรื่องรัชทายาทมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พิเคราะห์เค้าเงื่อนตามรายการที่ปรากฏในตอนปลายรัชกาลที่ 4 ดูเหมือนจะได้ทรงพระราชดำริตกลงในพระราชหฤทัยเตรียมการเป็น 2 สถานดังกล่าวมาแล้ว ในตอนพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ

(1) ถ้าพระองค์ดำรงพระชนม์อยู่จนปีระกา พ.ศ. 2461 พอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระชันษาสมบูรณ์ ได้ทรงผนวชตามประเพณีแล้ว ก็จะมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน และส่วนพระองค์จะเสด็จออกเป็นพระเจ้าหลวง ช่วยคุ้มครองและแนะนำให้ทรงว่าราชการแผ่นดินไปจนตลอดพระชนมายุของพระองค์

(2) ถ้าหากพระองค์จะเสด็จสวรรคตก่อนปีระกานั้นไซร้ ก็จะพระราชทานอนุญาตให้พระราชวงศ์กับข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษากัน ถวายราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ตามแต่จะเห็นพร้อมกันว่าสมควรจะปกครองแผ่นดินได้ ด้วยทรงพระราชดำริดังกล่าวมา ทั้งในเวลานั้น พระเจ้าอยู่หัวก็เพิ่งโสกันต์จึงยังไม่ทรงแสดงพระราชปรารภในเรื่องรัชทายาท

ครั้นถึงปีเถาะ พ.ศ. 2410 กรมหมื่นมเหศวรสิ้นพระชนม์ ประจวบกับเวลาพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาเป็นหนุ่ม พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเริ่มแสดงกระแสพระราชดำริเรื่องรัชทายาทให้ปรากฏ เช่นมีพระราชดำรัสแก่เจ้านายที่จะเลื่อนกรม 4 พระองค์ดังแสดงมาแล้ว และคงจะได้ปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ด้วย สันนิษฐานว่าในข้อที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกจากราชสมบัติไปเป็นพระเจ้าหลวงนั้น แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะไม่เห็นชอบด้วย ก็คงไม่กราบทูลดคัดค้าน

แต่ข้อที่จะให้ตัวท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น คงกราบทูลถึงความลำบากต่าง ๆ ซึ่งเกรงว่าตัวท่านจะไม่สามารถสนองพระเดชพระคุณได้ ฝ่ายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงทรงชี้แจงให้เห็นความจำเป็นด้วยไม่มีผู้อื่นจะเป็นได้ บางทีท่านจะได้กราบทูลขอผ่อนผัดตริตรองมาจนวันเข้าเฝ้า ณ ที่รโหฐานนั้น จึงกราบทูลความคิดว่า ถ้าจะให้ปลอดภัยในการที่มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านเห็นควรให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยฐานเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คนทั้งหลายจะได้สิ้นสงสัยว่า ท่านจะชิงราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่ไม่กล้าขัดขวาง เพราะทรงพระราชดำริว่า ถ้าพระองค์สวรรคตแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะทำอย่างไรก็คงทำได้ จึงพระราชทานอนุมัติด้วยพระวาจา ดังเช่นพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ยิน อันเห็นได้ว่าโดยไม่เต็มพระราชหฤทัย แต่ถึงกระนั้นก็ทรงปฏิบัติต่อมาตามพระบรมราชานุมัติ

ข้อนี้มีปรากฏดังเช่นโปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญลงไปเยี่ยมตอบราชทูตฝรั่งเศสด้วยกันกับพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อเสด็จออกรับเจ้าเมืองสิงคโปร์ที่พลับพลา ตำบลหว้ากอ ก็โปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญหมอบเฝ้าอยู่ข้างหนึ่งเป็นคู่กับพระเจ้าอยู่หัว แต่ในทางราชการหาได้ทรงยกย่องกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ผิดกับแต่ก่อนอย่างไรไม่

มาคิดดูว่าถ้าหากพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระชนม์อยู่จนได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระเจ้าอยู่หัว จะทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชหรือไม่ ก็เห็นว่าคงไม่ทรงตั้ง เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมทรงพระราชวิจารณ์โดยรอบคอบ ทรงเห็นการณ์ไกลกว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่เผอิญพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตไปโดยด่วน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชตามที่คิดไว้ เพื่อจะให้ตัวท่านว่าราชการแผ่นดินได้สะดวก


[89] เรื่องนี้พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง เมื่อเตรียมจะแต่งหนังสือนี้

[90] ข้าราชการพวกนี้จะมีกี่คนข้าพเจ้าไม่ทราบ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่า ทรงระบุชื่อแต่ 3 คน คือเจ้าหมื่นสรรเพ็ชร์ภักดี (เพ็ง ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง) คน 1 เจ้าหมื่นเสมอใจ (เอม ชูโต) คน 1 พระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมต อมาตยกุล ภายหลังได้เป็น พระยากสาปนกิจโกศล) คน 1

[91] มีความจริงอันประหลาดอยู่ที่พระมหาอุปราชในกรุงรัตนโกสินทร์นี้บรรดาที่มิได้เป็นพระราขโอรส ย่อมเสด็จสวรรคตก่อนพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์

บรรณานุกรม

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5, พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ทรงพิมพ์ ในงานฉลองพระชันษาครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2493


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2564