ภูมิศาสตร์การเมือง หนึ่งในวิทยาการที่เยอรมนีใช้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ทั้งคนและศาสตร์ต่างๆ จำนวนไม่น้อยปรับตัวตามระบอบฟาสซิสต์ ผู้คนในสาขาวิชาอื่นๆ กระโจนเข้าร่วมขบวนเค้นคิดหาแง่มุมต่างๆ ในเนื้อหาสาขาวิชาของตนเพื่อจะส่งเสริมและกลืนไปกับอุดมการณ์นาซี วิชาภูมิศาสตร์ก็เช่นกัน

จอห์น คอร์นเวลล์ เขียนถึง วิชาภูมิศาสตร์การเมือง ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง แต่นี่คือวิทยการความรู้หนึ่งที่เยอรมนีเลือกใช้ ไว้ในตอนหนึ่งของ “นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์” ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


วิชาภูมิศาสตร์ที่เป็นเช่นนั้น ด้วยการเสนอแนวคิดการขยายดินแดนเพื่อการตั้งถิ่นฐาน เลเบนส์รอม (การเสาะหาผืนดินที่ทำกินกว้างใหญ่) สนับสนุนการรุกรานขยายดินแดนของฮิตเลอร์ด้วยข้อสนับสนุนเชิงวิทยาศาสตร์ที่ชอบธรรม

รูดอล์ฟ คเจลเลน

“วิทยาศาสตร์” แห่งภูมิศาสตร์การเมือง (เกโอโพลิทิค-Geopolitik) มีจุดกำเนิดจากการค้นคิดของ รูดอล์ฟ คเจลเลน นักรัฐศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้บัญญัติศัพท์ “ภูมิศาสตร์การเมือง” ไว้ในปี 1905 แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพล จากเซอร์ฮัลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้จะมาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ลอนดอนในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 วาดเค้าโครงร่างของ “แคว้นสำคัญของประชาชน และแนวคิดชาติประหนึ่งว่าเป็นสิ่งมีชีวิตแสดงพฤติกรรมเหมือนว่าเป็นชีวิตเดี่ยว” เขาเชื่อว่าเกิดความจำเป็น รัฐชาติจะต้องขยายดินแดนเลยไกลไปกว่าอาณาเขตประเทศของตน

เม็กคินเดอร์มองว่าเชื้อชาติแต่ละประเภทปรับตัวโดยอาศัยทฤษฎีของดาร์วิน การคัดเลือกตามธรรมชาติขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ จากมุมมองของเขาภูมิอากาศเขตอบอุ่นเหมือนเกาะอังกฤษ เหมาะแก่คนประเภท “จอห์น บุล” ซึ่งเชิดชูเสรีภาพและมีค่านิยมศิวิไลซ์ ตรงกันข้ามกับพวกสลาฟในรัสเซียซึ่งเกิดและเติบโตในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ที่ปรับตัวและยอมรับการกดขี่ของผู้มีอำนาจ

แม็กคินเดอร์คิดว่าหากผู้คนบนโลกนี้ยังไม่อาจปรับตัวเข้ากับเขตภูมิอากาศและภูมิประเทศได้ ก็สมควรจะฝากตัวเป็นทาส ให้คนขาวแองโกล-แซกซอน (อังกฤษ-เยอรมัน) เป็นผู้ชี้แนะไปพลางก่อน หากยังไม่ฉลาดพอที่จะตระหนักถึงความจริงในเรื่องนี้ ก็สมควรจะใช้แพ็กซ์ บริเทนนิกา [สันติภาพที่อังกฤษบีบบังคับให้เกิดขึ้น-ผู้แปล] เพื่อประโยชน์ของโลก [1]

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บัญญัติศัพท์ เลเบนส์รอม คือ ราตเซิล ในบทความ ชื่อ แดร์ เลเบนส์รอม ตีพิมพ์ในปี 1901 บรรยายถึง “เขตภูมิศาสตร์ที่สิ่งมีชีวิตจะเจริญเติบโตได้” เนื้อหาหลักเป็นการศึกษาพืชและสัตว์ประจำถิ่น แต่เขายังขยายความเชิงสังคมชีววิทยาว่า เลเบนส์รอม จะเป็นการทำสงครามระหว่างรัฐ [2]

ทศวรรษ 1920 แนวคิดของราตเซิล ถูกคาร์ล เฮาส์โฮฟเฟอร์ อดีตนายพลแคว้นบาวาเรียนำไปใช้ประโยชน์ใช้ในการขับไล่ชนกลุ่มน้อยที่มีความขัดแย้งกันออกจากพื้นที่ เพื่อประโยชน์แห่งการขยายดินแดนของรัฐ นับเป็นเวอร์ชันแรกของการล้างเผ่าพันธุ์ (ไม่ว่าจะเป็นการเนรเทศหรือสังหารหมู่) เฮาส์โฮฟเฟอร์ไปเยี่ยมฮิตเลอร์ในคุกที่ลันสแบร์กหลายครั้ง ในปี 1924 หลังจากที่ผู้นำนาซีถูกจับกุมคุมขังหลังการปฏิวัติ (เดินเท้าจาก) โรงเบียร์

แนวคิด เลเบนส์รอม อิงอยู่กับความกลัวต่อการอยู่รอดของ โฟล์ค [มหาชน] เจือเข้ามาในความคิดของฮิตเลอร์แล้ว ฮิตเลอร์เขียนไว้ในหนังสือคำประกาศการเมือง “ไมน์ คามพ์ฟ” ว่า

ชาติรัฐเยอรมันจักต้องค้นหาความกล้าหาญ รวบรวมผู้คนและพละกำลังทั้งมวล เคลื่อนรุดหน้าสืบไปบนเส้นทางที่จะนำผองชนจากที่อยู่อาศัยแออัดยัดเยียดไปยังดินแดนใหม่ที่ดินผืนใหม่ จากเหตุนี้ เราจะเป็นไทรอดพ้นจากภัยอันตรายของการสิ้นสูญไปจากโลกนี้หรือเป็นข้ารับใช้ชาติอื่นในฐานะรัฐทาส [3]

เป็นจริงหรือว่าเกโอโพลิทิคเวอร์ชันนี้ถือเป็น “วิทยาศาสตร์” เพราะเนื้อหาสาระเอนเอียงไปทางวัตนธรรมและประวัติศาสตร์การเมืองมากกว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ ราตเชิลกับคเจลเลนเชื่อว่าความรู้แตกฉานในวิชาภูมิศาสตร์ของประเทศจะช่วยในการก่อสานนโยบายของชาติในระดับยิ่งใหญ่

เฮาส์โฮพเฟอร์ประกาศว่าสถานะต่ำต้อยของเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จำเป็นต้องดึงผู้เชี่ยวชาญเกโอโพลิทิค มาสะสางวิกฤตแห่งการพ่ายแพ้ ความยากจนล้มละลาย และการสูญเสียดินแดน เหมือนนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า เช่น แม็กซ์ พลังค์ ยกความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ดีที่สุดของปิตุภูมิในสถานะหลังสงครามโลก ผู้คนในสาขาวิชาภูมิศาสตร์ พร่ำพูดไม่ขาดปากว่า “วิทยาศาสตร์เกโอโพลิทิค” จะเป็นเนื้อหาหลักสำคัญที่จะช่วยให้เยอรมนีฟื้นตัวสู่ความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

เพื่อเผยแพร่แนวคิดนี้ให้แผ่ไปในวงกว้าง เฮาส์โฮฟเฟอร์ก่อตั้งและรับหน้าที่บรรณาธิการวารสาร ไซต์ชริฟต์ เฟอร์ เกโอโพลิทิค ในปี 1924 บาท ในวารสารเต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างเลื่อนลอย ไม่มีกลิ่นไอของการใช้เหตุผล การให้ความคิดวัตถุวิสัยและเทคนิควิธีการสังเกตการณ์ที่ถือว่าเป็นพื้นฐานของงานวิทยาศาสตร์ เขาบรรยาย เกโอโพลิทิค ไว้ว่า

วิทยาศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ของโลกกับกระบวนการทางการเมือง…ตั้งอยู่บนรากฐานกว้างใหญ่ของวิชาภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์แห่งสิ่งมีชีวิตทางการเมืองในกาลอากาศและโครงสร้างของตน…เกโอโพลิทิคประสงค์จะมอบเครื่องมือ เพื่อให้นำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นบทชี้นำของชีวิตการเมืองโดยรวม ดังนั้น เกโอโพลิทิคจะกลายเป็นศิลปะ กล่าวให้ชัด “ศิลปะแห่งการชี้ทิศบอกทางการเมืองที่ปฏิบัติให้เกิดผลได้” เกโอโพลิทิค ถือเป็นมโนธรรมเชิงภูมิศาสตร์ของรัฐ [4]

เฮาส์โฮฟเฟอร์ชี้ชวนให้เห็นว่าความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดจาก “ความโง่เขลาเบาปัญญาไม่ยอมรับรู้ความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ของผู้นำเยอรมนีโดยแท้” [5] เนื้อหาสาระของเกโอโพลิทิค แท้จริงแล้วเกิดจาก “ความปรารถนาพื้นฐานที่ใคร่จะดึงเกราะวิทยาศาสตร์มาห่มคลุมหน่วยทางการเมือง” [6]

เขาเห็นพ้องกับโอสวาล์ด สเปงเลอร์ที่ว่าโลกตะวันตกเคลื่อนไปสู่ความเสื่อมทราม และบัดนี้ ถือเป็นชะตาลิขิตไว้ ชัดเจนแล้วว่าเยอรมนีจักต้องเป็นผู้นำยุโรปให้หวนคืนสู่สถานะสูงส่ง เป็นผู้พิทักษ์ปกป้องค่านิยมศิวิไลซ์ในโลกนี้ เยอรมนีเป็นดวงใจของยุโรป และยุโรปก็เป็นดวงใจของโลกศิวิไลซ์

เงื่อนขั้นโหดร้ายในสนธิสัญญาแวร์ซายส์คุกคามเยอรมนีให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไปชั่วนิรันดร์ แยกผู้คนออกจากรัฐ และตัดหั่นดินแดนที่ชอบด้วยกฎหมายของปิตุภูมิไปยกให้ประเทศอื่น เฮาส์โฮฟเฟอร์เรียกร้องให้นักภูมิศาสตร์กระโจนลงมาเล่นการเมืองเต็มตัว ใช่ว่านักภูมิศาสตร์ทุกคนจะเห็นพ้อง นักภูมิศาสตร์รุ่นเก่ายึดจุดยืนไม่ฝักใฝ่การเมือง ความตึงเครียดเกิดขึ้นแล้ว เพราะกลุ่มสนับสนุนเฮาส์โฮฟเฟอร์เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

ในสมัยการปกครองของสาธารณรัฐไวมาร์ ในระหว่างที่ฮิตเลอร์ดึงเอาแนวคิดของเฮาส์โฮฟเฟอร์ไปเจือไว้ในอุดมการณ์นาซี แนวคิดเกโอโพลิด ปรากฏให้เห็นในหลักสูตรการศึกษาแล้ว อิทธิพลของนักภูมิศาสตร์ขวาจัดโน้มเอียงไปสู่การเหยียดผิว หยิบยืมเนื้อหาชีววิทยาเข้าร่วมด้วย แนวคิดสำคัญแสดงเรื่องที่ข้องเกี่ยวกับ เลเบนส์รอม ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักภูมิศาสตร์ที่ผลักดันให้มีการ “ล่าอาณานิคมเยอรมัน” สองข้อนั้นคือ ดราง นาค โอสเทน (รุกคืบไปทางตะวันออก) และ โฟล์คส์ อุนด์ คุลทัวร์โบเดน (ผืนดินของผู้คนและวัฒนธรรม) แนวคิดข้อหลังดึงเอาการตีความสามเรื่องเข้ามาร่วมด้วยคือ อาณาจักรไรซ์หรือดินแดนทั้งมวลที่อยู่ในปกครอง กลุ่มเชื้อชาติเยอรมันที่อยู่นอกเขตพรมแดน และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับความเป็นเยอรมัน [7]

ภายใต้ระบอบการปกครองนาซี นับตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นไป เกโอโพลิทิค ถือเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตำราเรียนรุ่นใหม่จะยกคำของเฮาส์โฮฟเฟอร์และราตเซิลที่สอดคล้องและสนับสนุนกับคำปราศรัยก้าวร้าวของฮิตเลอร์เรื่อง เลเบนส์รอม เด็กนักเรียนได้รับการสั่งสอนให้ตั้งตารอคอยการครองโลกของมหาอาณาจักรเยอรมนี (เยอมานนิชเชส เวลต์ไรซ์) ซึ่งเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดจากความชอบธรรมในการแสวงหา เลเบนส์รอม ของปิตุภูมิ

นักเรียนได้รับการสอนว่า “ความหมายและเจตนาแรงกล้าของรัฐบุรุษนาซี เป็นการยึดครอง เลเบนส์รอมของเรา และการจัดระเบียบที่สมเหตุสมผลของพื้นที่ใช้งานการจัดตั้งองค์กรจัดระเบียบพื้นที่ใช้สอยของเยอรมนีหมายถึงการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากประชากรไร้ค่า” [8]

เฮาส์โฮฟเฟอร์เล่นบทสำคัญในฐานะบิดาแห่ง เกโอโพลิทิค ภายใต้ฮิตเลอร์ เขามีความสุขล้นเหลือตลอดช่วงทศวรรษ 1930 แซซ้องชื่นชมนโยบายต่างประเทศของนาซีว่าเป็นการประกาศทฤษฎีของเขาให้ขจรขจายแม้ว่าแนวคิดยึดภูมิศาสตร์เป็นแก่นของเขาจะไม่ได้กล่าวถึงอุดมการณ์เหยียดผิวกดขี่เชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม เขามีชีวิตยืนยาวพอจะเศร้าใจไปกับการตัดสินใจของฮิตเลอร์ที่บุกรุกรานรัสเซีย ตรงกันข้ามกับความเชื่อของเขา เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย จะจับมือกันครองโลก

สถานะของ เกโอโพลิทิค ไต่สูง เป็นจริงเป็นจังมากทุกขณะ เมื่อกองทหารนาซียึดครองดินแดนทางตะวันออก เริ่มต้นด้วยการบุกโปแลนด์ และรัสเซีย ในช่วงการรุกคืบสู่ตะวันออก มีการตั้งอาณานิคมเยอรมันในโปแลนด์ กำจัดยิว และส่งแรงงานทาสกลับมาทำงานในเยอรมนี นักภูมิศาสตร์สุมหัวกันศึกษาสถิติประชากร ประเมินค่าประชากร “เยอรมัน” และความหนาแน่นของประชากรเยอรมันในรัสเซียและยูเครนที่จะให้ประโยชน์สูงสุด เหตุการณ์เปลี่ยนไปสิ้นหลังการพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด กองทัพแดงตีโต้เคลื่อนพลมุ่งหน้ามายังเบอร์ลิน….ลบล้างตัวเลขการคาดคำนวณของภูมิศาสตร์การเมืองนาซีไปสิ้น


เชิงอรรถ

[1] G. Kearns, ‘Halford Mackinder’, Geographers: Biobibliographical Stadies, 9 (1985), pp.71-86.

[2] See Henning Heske, ‘German Geographical Research in the Nazi Period’, Political Geography Quarterly, 5 (July 1986), pp. 267-281.

[3] Hitler, Mein Kampf, p.590.

[4] Quoted in Robert Strausz-Hupé, Geopolitics: The Struggle for Space and Power (New York, 1972), p.7. 6 [5] Quoted in Geoffrey Parker, Geopolitics: Past, Present and Future (London, 1998), p.30.

[6] Quoted ibid., p.30.

[7] See Mechtild Rössler, “Geography and Area Planning under National Socialism’, in Szöllösi-Janze, Science, p.62.

[8] Quoted in David Thomas Murphy, The Heroic Earth: Geopolitical Thought in Weimar Germany 1918-1933 (Kent, OH, 1997), p.242


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564