เจสซี่ โอเวนส์ นักกรีฑาผิวดำ “หักหน้า” ฮิตเลอร์ ในโอลิมปิก แต่ต้องขมขื่นในสหรัฐฯ บ้านเกิด

ภาพถ่าย เจสซี่ โอเวนส์ (Jesse Owens) นักกรีฑาชาวอเมริกัน วิ่งเข้าเส้นชัยในการแข่งระยะ 200 เมตร ในโอลิมปิก เมื่อ 5 สิงหาคม 1936 ภาพจาก AFP

ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีจะเริ่มขึ้น แหล่งข้อมูลบางแห่งเชื่อกันว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี-เยอรมนี คาดหวังให้การจัดโอลิมปิกในครั้งนั้นเป็นเครื่องมือแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติ ซึ่งฝั่งสหรัฐอเมริกาเกือบจะไม่เข้าร่วมและคว่ำบาตรมหกรรมกีฬาในครั้งนั้นเสียแล้ว แต่ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ก็ตกลงเข้าร่วมโอลิมปิกในครั้งนั้นด้วย

โอลิมปิกครั้งนั้นมีนักกรีฑาผิวดำชาวอเมริกันนามว่า เจสซี่ โอเวนส์ (Jesse Owens) สร้างความสำเร็จแก่สหรัฐฯ และดับฝันฮิตเลอร์ ด้วยการคว้าสี่เหรียญทองและสร้างสถิติใหม่จากการแข่งขัน กระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ทางการสหรัฐฯ มีท่าทีเมินเฉยต่อความสำเร็จของโอเวนส์ยามเขากลับมายังแผ่นดินเกิด

เจสซี่ โอเวนส์ หรือชื่อจริงคือ เจมส์ คลีฟแลนด์ โอเวนส์ (James Cleveland Owens) เป็นลูกชาวไร่ เกิดเมื่อ 12 กันยายน ปี ค.ศ. 1913 ในโอ๊ควิลล์ รัฐอลาบามา สหรัฐฯ ในวัยเด็กร่างกายของโอเวนส์ค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลอดลมและปอด อย่างไรก็ตาม โอเวนส์ต้องทำงานหนักตั้งแต่เด็ก เขาต้องช่วยครอบครัวทำมาหากิน ด้วยการเก็บฝ้ายกว่า 100 ปอนด์ต่อวัน ตั้งแต่เจ็ดขวบ

เมื่ออายุได้เก้าขวบ โอเวนส์ย้ายไปอยู่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ และต่อมาในช่วงมัธยมปลายที่ East Technical High School ชื่อของ เจสซี่ โอเวนส์ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศในฐานะนักวิ่งระยะสั้น จากการสร้างสถิติในการวิ่ง 100 และ 200 หลา รวมถึงการกระโดดไกล

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับไฮสคูล โอเวนส์ได้เข้าเรียนที่ Ohio State University และลงแข่งขันในรายการ Big Ten Championship ในปี ค.ศ. 1935 ในรายการนี้ โอเวนส์ทำลายสถิติระดับโลกทั้งการวิ่ง 100 หลา และ 220 หลา การกระโดดไดล และการวิ่งข้ามรั้วระยะ 220 หลา ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่ยากจะหาใครเทียบในแต่ละช่วงวัยของเขา

ทั้งนี้ เจสซี่ โอเวนส์ เกือบไม่ได้มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1936 ที่กรุงเบอร์ลินแล้ว เมื่อ Jeremiah Mahoney ประธานสหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่น คัดค้านว่า การเข้าร่วมโอลิมปิกที่จัดขึ้นโดยเยอรมนีในเวลานั้น เสมือนการสนับสนุนเผด็จการนาซี-เยอรมัน แต่ถึงที่สุดแล้ว ความเห็นของเขาก็ถูกปัดตกไป เมื่อ Avery Brundage หัวหน้าคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐฯ ยืนกรานว่าการแข่งขันนี้มีไว้สำหรับนักกีฬา ไม่ใช่สำหรับนักการเมือง

สหรัฐฯ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1936 และ เจสซี่ โอเวนส์ ก็เป็นตัวแทนนักกรีฑาจากสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาเขาได้สร้างประวัติศาสตร์มากมายจากการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์นั้น โดยโอเวนส์ได้คว้าเหรียญทองเหรียญแรกจากการแข่งวิ่งระยะ 100 เมตร และมีชัยเหนือ Luz Long แชมป์จากเยอรมนี ในการกระโดดไกล

นอกจากนี้ เขายังได้สร้างสถิติใหม่ในโอลิมปิกจากการแข่งวิ่ง 200 เมตร อีกทั้งยังมีผลงานจากการวิ่งผลัด 4×100 ที่เขาก็ทำลายสถิด้วยเช่นกัน โอเวนส์กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่สามารถคว้าสี่เหรียญทอง ในการแข่งขันประเภทกรีฑาจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพียงครั้งเดียว

เจสซี่ โอเวนส์ กลายเป็นดาวเด่นในโอลิมปิกครั้งนั้น แต่ที่สำคัญกว่าสำหรับเขาคือ ความสำเร็จและชัยชนะต่อหน้าลัทธิเหยียดเชื้อชาติทั้งในอเมริกาและเยอรมัน มีรายงานว่า ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้ออกแบบการแข่งขันที่เบอร์ลินเพื่อแสดงถึงอุดมการณ์ฟาสซิสต์ ที่เชื่อว่าชาวอารยันนั้นเลิศล้ำกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ อีกทั้งฮิตเลอร์ยังตกตะลึงที่ชาวอเมริกันยอมลดตัวเพื่อให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนนี้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกในปีนั้น

ไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าฮิตเลอร์ปฏิบัติต่อโอเวนส์อย่างไรในทัวร์นาเมนต์นั้น แหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่า ฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะจับมือกับโอเวนส์ และฮิตเลอร์ไม่ต้องการจับมือผู้ชนะหากนั่นไม่ใช่มือของชาวเยอรมัน

แต่ในทางกลับกัน มีรายงานว่าฮิตเลอร์ต้องการให้มีการปฏิบัติต่อผู้ชนะทุกคนโดยเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังมีการคำนับต่อโอเวนส์จากผู้นำนาซีในระยะไกล

แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ที่ชัดเจนคือ ความเจ็บช้ำที่โอเวนส์ได้รับจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นำประเทศบ้านเกิดที่เขาพึ่งเป็นตัวแทนสร้างความสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิก ดั่งคำพูดของโอเวนส์ที่เว็บไซต์ Gazette ได้เปิดเผยว่า “ฮิตเลอร์ไม่ได้ดูถูกฉัน” โอเวนส์กล่าว “มันคือ (รูสเวลต์) ที่ปฏิเสธฉันต่างหาก ประธานาธิบดีไม่ได้ส่งโทรเลขมาหาฉันเลยด้วยซ้ำ”

เมื่อฮีโร่เหรียญทองผู้นี้กลับมายังสหรัฐฯ ไม่มีคำเชิญจากทำเนียบขาว ไม่มีโทรเลขแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีสำหรับสถิติการคว้าเหรียญทองของเขา เพราะความจริงคือ เกียรติยศเหล่านั้นถูกสงวนไว้สำหรับนักกีฬาผิวขาวเท่านั้น หรือแม้กระทั่งในงานเลี้ยงที่โอเวนส์ได้รับเกียรติให้เข้าไปร่วมรับประทานอาหารเย็น ขณะที่แขกคนอื่นได้รับการบริการตามมาตรฐานด้วยลิฟท์ทั่วไปสำหรับแขก แต่โอเวนส์กลับถูกปฏิบัติด้วยการกีดกันและให้ใช้ลิฟต์ขนของ

และตลอดช่วงชีวิตของโอเวนส์ เขาได้สัมผัสกับความเป็นจริงนี้มาตลอดตั้งแต่วัยเยาว์ที่รัฐอลาบามา ตลอดจนเมื่อเขาประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬาที่มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เขาจะเป็นกัปตันทีมกรีฑาผิวดำคนแรกของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตก็ตาม แต่เขาก็ยังต้องอาศัยอยู่นอกบริเวณมหาวิทยาลัย อาบน้ำแยก ทานอาหารที่ร้านอาหารสำหรับคนผิวดำ หรือขณะเดินทาง เขาสามารถเข้าพักได้เฉพาะในโรงแรมที่มีแต่คนผิวดำเท่านั้น

ไรอัน ฮากู๊ด (Ryan Hagood) ทนายความด้านสิทธิพลเมือง และผู้บริหารของสถาบัน New Jersey Institute for Social Justice ให้ข้อมูลกับ Gazette ว่า เมื่อโอเวนส์กลับมาที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีเพิกเฉยต่อเขา และมาทำงานเป็นภารโรงในสนามเด็กเล่น นอกจากนี้ ยังตระเวนรับงานอีเวนท์ต่างๆ ทั้งการวิ่งแข่งกับสุนัข ม้า รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

นอกจากนี้ ฮากู๊ดยังกล่าวว่า “นี่เป็นสถานการณ์ที่เจสซี โอเวนส์ปะทะกับโลกแห่งความจริง โดยพื้นฐานแล้ว เขากำลังต่อสู้กับฮิตเลอร์เป็นหลัก เขาพยายามทำลายความเชื่อในชาวอารยัน และเขาเป็นตัวแทนของอเมริกา เขาหักหน้าชายผู้น่าเกรงขามและความเชื่อที่ว่าคนผิวขาวเป็นผู้ที่ล้ำเลิศกว่า แต่เขามาจากประเทศที่มีระเบียบอันเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ […] เขาได้โชว์ผลงานในเวทีที่สูงส่งและยิ่งใหญ่ที่สุด ในยุคหนึ่ง เขาเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของอเมริกา เขาแบกรับความหวังของประเทศเอาไว้ แต่เขาไม่ได้รับการยอมรับจากประธานาธิบดีในประเทศของเขาเอง”

หลายปีต่อมา เมื่อระบอบการปกครองของนาซีล่มสลายลง เจ้าของสี่เหรียญทองแห่งโอลิมปิกปี ค.ศ. 1936 ได้กลับไปที่กรุงเบอร์ลินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1951 มีรายงานว่า วอลเตอร์ ชไรเบอร์ (Walter Schreiber) นายกเทศมนตรีเบอร์ลินตะวันตกในขณะนั้น ได้กล่าวกับโอเวนส์ว่า “ฮิตเลอร์ไม่ยอมจับมือกับคุณ แต่ผมขอมอบสองมือของผมให้แก่คุณเลย”

อย่างไรก็ดี ภายหลังสงคราม เมื่อสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลง โอเวนส์ได้ใช้ประโยชน์จากความสำเร็จของเขาด้วยการทำงานเป็นทูตกีฬาของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเขามีรายได้และมีชีวิตที่ดีในฐานะวิทยากรที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน

ในวาระสุดท้ายของชีวิต โอเวนส์เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอดในปี ค.ศ. 1980 เมื่ออายุ 66 ปี ชีวิตของเจสซี่ โอเวนส์ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Race เข้าฉายเมื่อปี ค.ศ. 2016 และเรื่องราวของเขามักเป็นแรงบันดาลใจแก่นักกีฬาผิวสีในยุคหลังอยู่เสมอ

 


อ้างอิง :

Jesse Owens Biography. Biography. Published 7 JAN 2021. Access 22 JUL 2021. <https://www.biography.com/athlete/jesse-owens>

Ott, Tim. “How Jesse Owens Foiled Hitler’s Plans for the 1936 Olympics”. History. Online. Published 10 JUN 2021. Access 22 JUL 2021. <https://www.history.com/news/jesse-owens-adolf-hitler-1936-olympics>

Ramsey, David. “Jesse Owens rose triumphant over Hitler . . . and Roosevelt”. Gazette. Online. Published 29 MAR 2021. Access 22 JUL 2021. <https://gazette.com/news/jesse-owens-rose-triumphant-over-hitler-and-roosevelt-david-ramsey/article_9e3c53d0-54c0-11ea-b136-c73abbf5bd68.html>

“Why was Jesse Owens deprived of presidential recognition?”. Telegraph. Online. Published 27 MAY 2016. Access 22 Jul 2021. <https://www.telegraph.co.uk/films/race/how-america-snubbed-jesse-owens/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564