อัศวินฟ้องเพื่อนล่วงเกินภรรยา ฝรั่งเศสให้คู่กรณีดวลตัวต่อตัว ผู้รอดชีวิตคือชนะคดี

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาด พระเจ้าชาร์ลสที่ 6 กษัตริย์ฝรั่งเศส โจมตีพวกเดียวกันด้วยความเข้าใจผิด ภาพในเอกสารของ Jean Froissart, "Chronicles" fol. 153v จาก BNF, FR 2646 ไฟล์ public domain

สำหรับผู้สนใจภาพยนตร์ย้อนยุคในสมัยยุคกลางที่มีอัศวินเกราะเหล็กเข้าต่อสู้ชิงชัยกันอาจคุ้นเคยบทในช่วงที่เกิดข้อพิพาทและมาลงเอยด้วยการตัดสินให้ “สู้กันตัวต่อตัว” ผู้ที่รอดชีวิตก็เท่ากับชนะคดีไป วิธีตัดสินคดีเช่นนี้เคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ การ “สู้ตัวต่อตัว” เรียกว่า การตัดสินคดีด้วยการต่อสู้ (trial by combat) และไฟต์ที่เป็นเรื่องราวใหญ่โตที่สุดก็คือการต่อสู้กันระหว่างอัศวินในฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 14

กรณีตัวอย่างที่มักถูกหยิบมาเอ่ยถึงปรากฏข้อมูลในบันทึกของ “ฟรัวซาร์ต” (Froissart) นักเขียนในทศวรรษ 1330s ซึ่งมีชีวิตจนถึงค.ศ. 1404 งานเขียนของเขาครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์ไปจนถึงด้านบทกวี งานเขียนความเรียงขนาดยาวชิ้นหนึ่งของเขาคือ “บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ” (Chronicles) หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่า “บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของฟรัวซาร์ต” (Froissart’s ‘Chronicles’)

เอกสารชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวใน “สงครามร้อยปี” ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ฟรัวซาร์ต เขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 เนื้อหาในบันทึกขนาดยาวชิ้นนี้มีมากมายนับล้านคำ ถือว่าเป็นความเรียงภาษาฝรั่งเศสในยุคกลางซึ่งมีความยาวมากที่สุด

เนื้อหาส่วนใหญ่ของบันทึกนี้เล่าเกี่ยวกับนักรบและชนชั้นสูง มักมีเรื่องเกี่ยวกับการรบ การผจญภัย และเล่าถึงความกล้าหาญของบุคคลต่างๆ

เนื้อหาหนึ่งในบันทึกใช้ชื่อว่า “การตัดสินความเป็นความตายระหว่างฌาคส์ เลอ กริส (Jacques Le Gris) กับ ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส (Jean de Carrouges)” (The life-and-death duel between Jacques le Gris and Jean de Carogne) [เล่ม 3, ch. 46 (Johnes, v. 2, pp. 203-06)]

จากสำนวนการแปลของ Steve Muhlberger จากมหาวิทยาลัย Nipissing ในแคนาดา เนื้อหาบทนี้เล่าถึงการตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่อัศวินที่มีสถานะเป็นคนรู้จักมักคุ้นกัน ฝ่ายผู้กล่าวหาคือ ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส กล่าวโทษฌาคส์ เลอ กริส ว่าข่มขืนภรรยาของเขาชื่อมาร์การีต (Marguerite)

คู่กรณีต่างอยู่ใต้อาณัติของ เคานต์ ปิแอร์ (Count Pierre of Alençon) และได้รับความไว้วางใจ แต่จากบันทึกของฟรัวซาร์ต ดูจะเป็นฌอง เดอ คาร์รูจ์ส เป็นที่นิยมมากกว่า แต่มีช่วงที่เลอ กริส เป็นที่ชื่นชอบเหนือกว่า จนทั้งคู่เกิดไม่ลงรอยกันในเวลาต่อมา

ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส เกิดในครอบครัวตระกูลอัศวินและขุนนาง เวลาต่อมาเขามีบทบาททั้งในทางการเมืองและการเมืองในราชสำนักของปารีส ภรรยาคนแรกของฌอง เดอ คาร์รูจ์ส คือ Jeanne de Tilly ซึ่งคาร์รูจ์ส มีบุตรกับเธอ 1 คน พ่ออุปถัมภ์ (พ่อทูนหัว) ของเด็กคนนี้คือเพื่อนบ้านและคนใกล้ชิดของฌอง เดอ คาร์รูจ์ส นั่นก็คือฌาคส์ เลอ กริส

ภายหลังภรรยาคนแรกและลูกชายที่เกิดขึ้นกับเธอเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส ออกเดินทางไปเข้าร่วมรับใช้ Jean de Vienne และประสบความสำเร็จในการเข้าจัดการกับอังกฤษ หลังจากเดินทางกลับมาก็แต่งงานกับมาร์การีต (Marguerite)

ช่วงกลางทศวรรษ 1380s ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส ตัดสินใจเดินทางออกจากนอร์มังดี โดยจะเข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสออกเดินทางไปสกอตแลนด์หวังว่าจะแสวงหาความมั่งคั่งทางการเงินและความก้าวหน้า การเดินทางเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1385 เมื่อไปถึงก็เข้าร่วมกับชาวสกอตไล่ทำลายดินแดนอังกฤษไปตามหมู่บ้านและปราสาทต่างๆ

ระหว่างที่ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส อยู่นอกฝรั่งเศส ฌาคส์ เลอ กริส เดินทางไปที่ปราสาทซึ่งภรรยาของฌอง เดอ คาร์รูจ์ส พำนักอยู่ และเข้าไปล่วงละเมิดเธอโดยที่ฝ่ายหญิงไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ มาร์การีต ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับใครจนกระทั่งวันที่สามีของเธอเดินทางกลับมา

เมื่อเธอสารภาพเรื่องนี้กับสามีในยามราตรี ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส ให้อภัยเธอ แต่กล่าวว่า เลอ กริส จะต้องแลกด้วยชีวิต เขาจะไปปรึกษากับญาติทั้งฝ่ายตัวเองและฝ่ายหญิงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่หากพบว่าเธอกล่าวโป้ปดกับเขา ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส จะไม่ครองคู่กับเธออีกต่อไป

เมื่อเรื่องมาถึงหูผู้เป็นนาย (Count d’Alençon) ก็มีคำสั่งให้สอบสวนเรื่องขึ้น เลอ กริส ปฏิเสธเรื่องนี้ ฝั่งเคานต์ปิแอร์ กล่าวกับฝ่ายหญิงว่าเขาเชื่อในเลอ กริส และสั่งให้อย่าพูดถึงเรื่องทั้งหมดอีก ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส ที่ขึ้นชื่อเรื่องอัศวินผู้กล้าไม่ยอมให้จบง่ายๆ ด้วยเขาเชื่อในตัวภรรยา จึงเดินทางไปปารีสนำเรื่องไปแจ้งอุทธรณ์ต่อสภา

สภาเรียกตัวเลอ กริส ขึ้นมาให้การ เรื่องดำเนินไปยาวนานนับปี และไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัดสินได้นอกเหนือจากปากคำของฝ่ายหญิง เมื่อเป็นเช่นนี้สภาจึงสั่งให้ตัดสินด้วยวิธีให้คู่กรณีต่อสู้กันตัวต่อตัวจนกว่าจะได้ผู้รอดชีวิต ในการสู้ตัดสินคดีด้วยความเป็นความตาย หากฌอง เดอ คาร์รูจ์ส พ่ายแพ้ ภรรยาของเขาจะต้องถูกเผา ส่วนศพของผู้พ่ายแพ้จะต้องถูกแขวนด้วย

คู่กรณีและฝ่ายหญิงถูกควบคุมตัวจนกว่าจะถึงวันต่อสู้ในปี 1387 ซึ่งช่วงเวลานั้นกษัตริย์ฝรั่งเศส (พระเจ้าชาร์ลสที่ 6 / ค.ศ. 1368-1422) ยังประทับอยู่ที่ Sluys จากพระราชประสงค์ที่จะบุกเข้าอังกฤษ

เมื่อพระองค์ทรงรับทราบกำหนดวันต่อสู้ มีพระราชประสงค์เข้าชมการตัดสินด้วยพระองค์เองจึงมีรับสั่งให้เลื่อนวันต่อสู้ออกไป จนกว่าพระองค์จะเสด็จฯ มาถึงที่ปารีส

การดวลตัดสินแบบอัศวิน ในบันทึกบรรยายว่า ม้าของทั้งคู่ถูกจัดให้อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกัน การปะทะครั้งแรกไม่มีฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บ เมื่อลงจากพาหนะแล้ว ทั้งคู่ต่อสู้กันอย่างกล้าหาญ ฝ่ายฌอง เดอ คาร์รูจ์ส บาดเจ็บที่ต้นขาก่อน แต่ก็ไม่ได้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้น และสู้ต่ออย่างดุเดือดจนฟาดฟันคู่ต่อสู้จนล้มลงได้และแทงดาบไปที่เลอ กริส จนเขาเสียชีวิตคาที่ หลังจากนั้นก็ร้องเรียกให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามว่ายังมีลมหายใจหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่หายใจแล้ว ร่างของเลอ กริส ถูกนำไปให้กับเจ้าหน้าที่สำหรับแขวนร่างต่อไป

ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส เดินไปที่หน้าพระที่นั่งของกษัตริย์ฝรั่งเศสและคุกเข่าลง พระองค์รับสั่งให้ลุกขึ้นและให้มอบเงิน 1,000 ฟรังก์ให้ฌอง เดอ คาร์รูจ์ส และให้คงทรัพย์สินตามเดิม ได้รับบำนาญรายปี (ปีละ 2,000 livre) ไปจนตาย

เรื่องราวในบันทึกนี้มีนักประวัติศาสตร์นำมาขยายความบางส่วนและเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Last Duel: A True Story of Trial by Combat in Medieval France ภายหลังกลายเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 15 ตุลาคม 2021


อ้างอิง:

Jager, Eric (2004). The Last Duel. Century.

“The life-and-death duel between James le Gris and John de Carogne,” Froissart’s Chronicles; Book III, Chapter 43. Edited by Steve Muhlberger. Access 22 JUL 2021.
<https://uts.nipissingu.ca/muhlberger/FROISSART/TRIAL.HTM>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564