กรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี การแย่งชิงที่ดินระหว่างนายทุนเจ้าที่ดินกับราษฎร

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบโฉนดที่ดินแก่ราษฎรอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ณ ทำเนียบรัฐบาล 15 กรกฎาคม 2496 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

กรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี เป็นกรณีพิพาทที่ดินครั้งสำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในพื้นที่อำเภอบางบ่อและอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งความสำคัญของกรณีพิพาทนี้คือ เป็นการแย่งชิงที่ดินกันระหว่างนายทุนเจ้าที่ดินกับราษฎรที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 จนถึงปลายทศวรรษ 2490 และจากกรณีพิพาทนี้ทำให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายจัดสรรที่ดินของรัฐบาลในช่วงปลายทศวรรษ 2490

มูลเหตุของกรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี

ทั้งนี้พื้นที่พิพาทในอำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แต่เดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าน้ำเค็มท่วมถึง ซึ่งบางพื้นที่เป็นป่าแสม แต่หลังจากกระทรวงเกษตราธิการได้จัดสร้างโครงการชลประทานบางเหี้ย [1] สำเร็จจึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเค็มท่วมพื้นที่ดังกล่าวได้ ดังนั้นราษฎรทั้งในและนอกพื้นที่จึงพากันแย่งขอจับจองที่ดินในท้องที่ดังกล่าวอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2460 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว โดยที่ดินที่ราษฎรถือครองส่วนมากล้วนไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่อย่างใด

ความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินในท้องที่อำเภอบางบ่อและบางพลีเริ่มก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2473 เมื่อกลุ่มนายทุนใหญ่คือ “ห้างหุ้นส่วนสยามกสิกร” [2] ซึ่งมี นายมังกร สามเสน เป็นผู้จัดการได้เข้ากว้านซื้อที่ดินจากราษฎรในตำบลบางเพรียง ตำบลบางเหี้ย อำเภอบางเหี้ย (อำเภอบางบ่อและบางพลีในปัจจุบัน) จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลคลองสอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมเนื้อที่ประมาณ 11,970 ไร่ เพื่อดำเนินการทำนาด้วยวิธีทันสมัย ทั้งการใช้รถแทรกเตอร์ไถนา สูบน้ำด้วยเครื่องยนต์ รวมถึงมีการขุดคูคลองเป็นคันกั้นเขตโดยรอบ ซึ่งการดำเนินการกว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสยามกสิกรได้สร้างความวิตกอย่างยิ่งให้แก่ทางราชการ ดังสะท้อนได้จากความเห็นของกระทรวงมหาดไทย ต่อการดำเนินการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า

“การตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทรับซื้อที่ดินโดยไม่มีจำกัดเช่นนี้ เป็นที่น่าวิตกยิ่ง ในเมื่อไม่มีกฎหมายห้าม และใคร ๆ ก็ทำได้เช่นนั้นแล้วอาจเป็นชนวนให้บุคคลบางจำพวกที่รัฐบาลพึงรังเกียจทำได้เช่นเดียวกัน…เมื่อพิเคราะห์ดูความประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนี้แล้ว ก็เป็นการแสดงตัวอยู่ว่าจะเป็นพ่อค้าทำการค้าขาย โดยมีความตั้งใจว่าจะทำการรับจำนองที่ดิน อันอาจกระทำไปเนืองนิตย์แก่สาธารณชนทำนองเป็นธนาคารย่อย ๆ” [5]

การทำนาของคนไทยในอดีต (ภาพจาก Siam Rural Economic Survey 1930-31)

นอกจากนี้ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2473 นายเผื่อน ศุขศิริ กับราษฎรในตำบลบางเหี้ยและตำบลบางเพรียง อำเภอบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ ได้ร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทย ว่าได้รับความเดือดร้อนจากห้างหุ้นส่วนสยามกสิกร เนื่องจากทางห้างหุ้นส่วนขุดคลองผ่านเข้าไปในที่ดินของผู้ร้องทุกข์ มีการใช้เครื่องยนต์ไถนาทำให้คูและบ่อปลาของราษฎรเสียหาย รวมถึงปิดคลองสาธารณประโยชน์ไม่ให้ราษฎรผ่าน และเมื่อราษฎรห้ามปรามกลับถูกคนของห้างหุ้นส่วนใช้วาจาอาฆาตมาดร้ายและพยายามทำร้ายร่างกายราษฎรเหล่านั้น [6]

เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างราษฎรกับห้างหุ้นส่วนสยามกสิกรขึ้น ทางกระทรวงมหาดไทยจึงรีบเข้าไปดำเนินการระงับข้อพิพาทอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้ลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงเสนอให้ตรา “พระราชกฤษฎีกากำหนดการแบ่งที่ดิน ในอำเภอบางเหี้ย บางพลี และบางปะกง ให้ราษฎร พ.ศ. 2473” มีการแต่งตั้งข้าหลวงพิเศษเพื่อจัดแบ่งที่ดินและระงับข้อพิพาทในที่ดินในท้องที่อำเภอบางเหี้ย บางพลี และบางปะกงให้แก่ราษฎรผู้สามารถทำการเพาะปลูกได้เอง [7]

แต่อย่างไรก็ตามในการจัดแบ่งที่ดินกลับปรากฏว่า ยังคงมีการทะเลาะวิวาทกันขึ้นระหว่างราษฎรในที่ดินที่จัดแบ่งอย่างกว้างขวาง ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินตามคำชี้ขาดของข้าหลวงพิเศษไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินได้ เพราะมีผู้ครอบครองอยู่ก่อนแล้วและไม่ยอมออกจากที่ดิน โดยอ้างว่าตนได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อน

ส่วนความขัดแย้งระหว่างห้างหุ้นส่วนสยามกสิกรกับราษฎรกลับไม่มีทีท่าว่าจะยุติ โดยในปี พ.ศ. 2480 นายมังกร สามเสน ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้ยื่นคำร้องขอรังวัดเพื่อรับโฉนด ซึ่งนายมังกรอ้างว่าห้างหุ้นส่วนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยได้ที่ดินมาจากการหักร้างถางพงเอง ข้าหลวงพิเศษจัดแบ่งให้ และซื้อจากผู้ครอบครองที่ดินเดิม การขอรังวัดครั้งนี้ปรากฏว่าราษฎรหลายรายคัดค้าน แต่เรื่องก็ค้างเรื่อยมาเพราะทั้งฝ่ายผู้ขอและผู้คัดค้านไม่เอาใจใส่ทอดทิ้งเรื่องไว้ [8]

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการจัดแบ่งที่ดินของข้าหลวงพิเศษในที่ดินพิพาทระหว่างห้างหุ้นส่วนสยามกสิกรกับราษฎรกลับปรากฏว่า ข้าหลวงพิเศษยังไม่มีการดำเนินการจัดแบ่งที่ดินจนกระทั่งมีการออกกฎหมายฉบับสุดท้ายที่ยกเลิกข้าหลวงพิเศษจัดแบ่งที่ดินในปี พ.ศ. 2489 อันทำให้คู่พิพาทต้องแก้ปัญหาด้วยการดำเนินการฟ้องร้องในโรงศาลภายใต้กฎหมายที่ดินธรรมดา [9] ซึ่งภาวะเช่นนี้ฝ่ายราษฎรย่อมเสียเปรียบฝ่ายนายทุนที่มีเงินทุนในการฟ้องร้อง

การเคลื่อนไหวของราษฎรท้องที่อำเภอบางบ่อและบางพลี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

จากความต้องการต่อที่ดินที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากราคาข้าวที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเฉลี่ยข้าวส่งออกหาบละ 7.50 บาท ในช่วงปี พ.ศ. 2483-87 เพิ่มขึ้นเป็นหาบละ 35.50 บาท ในปี พ.ศ. 2489 และราคาสูงถึงหาบละ 92 บาท ในปี พ.ศ. 2491-92 [10] ถึงแม้ราคาข้าวภายใน ประเทศจะไม่สูงเท่าราคาข้าวในตลาดโลกก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าดีขึ้นกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ [11]

ด้วยภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้ราษฎรรวมถึงนายทุนแสวงหาที่นามากขึ้น อันส่งผลให้เกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในพื้นที่ปลูกข้าวอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งรวมไปถึงกรณีพิพาทที่ดินในอำเภอบางบ่อและบางพลี ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2491 นายสกล สามเสน (บุตรคนโตของ นายมังกร สามเสน) ได้ขอรังวัดรับโฉนดในที่ดินพิพาท ซึ่งการขอรังวัดครั้งนี้นายสกลมิได้ขอในนามห้างหุ้นส่วนสยามกสิกร แต่แยกออกเป็น 184 แปลง และทางเจ้าหน้าที่ได้ออกโฉนดที่ดินให้ 115 แปลง [12]

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ราษฎรจำนวนมากที่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนต่างยื่นเรื่องราวร้องทุกข์มายังรัฐบาล โดยราษฎรเหล่านี้กล่าวหาว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการสมคบกับนายทุนเอาที่ดินของราษฎรในท้องที่อำเภอบางบ่อและบางพลีไปออกโฉนดให้แก่นายทุนอย่างไม่เป็นธรรม [13] นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีราษฎรบางส่วนเริ่มจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่เข้าบุกรุกที่ดินที่ราษฎรเคยปกครองมาก่อน จนทำให้ท้องที่อำเภอบางบ่อและบางพลีได้กลายเป็นสนามรบระหว่างนายทุนเจ้าที่ดินกับราษฎรชาวนาไปโดยปริยาย [14]

จากความรุนแรงในกรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี จอมพล ป. ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยท่านได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการชุดหนึ่งเพื่อ พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งจากการพิจารณาของกรรมการมีความเห็นว่า ที่ดินพิพาทที่ได้ออกโฉนดให้แก่นายสกลนั้น ราษฎรที่ครอบครองที่ดินอยู่แต่ไม่ได้รับโฉนด น่าจะมีสิทธิดีกว่าบุคคลอื่นที่มิได้ครอบครอง แต่เมื่อพิจารณาในแง่กฎหมายปรากฏว่า รัฐไม่สามารถยกเลิกโฉนดได้เนื่องจากเป็นเรื่องแย่งสิทธิกันเองระหว่างเอกชนต้องฟ้องร้องกันเอง ดังนั้นคณะกรรมการจึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างคู่พิพาท แต่การดำเนินการดังกล่าวกลับไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ เนื่องจากฝ่ายนายสกลไม่ยินยอม [15]

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางฝ่ายราษฎรจึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ หนทางหนึ่งคือ การเดินทางมาร้องทุกข์กับจอมพล ป. และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ที่บ้านชิดลม เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งในครั้งนั้นท่านผู้หญิงละเอียดได้แสดงความเห็นอกเห็นใจราษฎรในท้องที่อำเภอบางบ่อเป็นอย่างมาก ดังความว่า

“เรื่องนี้ว่าเปนเรื่องเรื้อรังมาหลายปีแล้ว และทุกปีจะต้องมีการฆ่ากันและทำร้ายกัน. พวกที่มาร้องทุกข์นี้ ครัวหนึ่งลูก ๆ ซึ่งทำนาหยู่ในที่นี้มาหลายปีว่าได้ร้องขอใบจอง โฉนด แต่ก็ไร้ผลดังที่คนอื่นในพวกนี้ทำ ลูก 6 คนถูกยิงตาย พาลูกมาโรงพยาบาล หยู่ทางโน้นโดนไฟเผาบ้าน และมีอะไรร้าย ๆ กับพวกนี้อีกหลายคน. ฟังดูแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงควรจะสงสารพวกคนจนเหล่านี้ และควรช่วยให้พวกนี้ได้เปนเจ้าของนาแทนที่จะเป็นช่วยยังบริษัท. เพื่อจะได้ตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้คนพลเมืองเปนเจ้าของนาเอง และเพื่อหลีกหนีลัทธิคอมมิวนิสต์ และเพื่อศีลธรรม ก็เห็นว่า พวกนี้เปนพวกไร้การศึกษา จึงควรที่ทางการจะได้ช่วยประคับประคองให้เป็นพลเมืองที่มีสัมมาอาชีวะของชาติต่อไป” [16] (สะกดตามต้นฉบับ – ผู้เขียน)

ราษฎรอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มารับมอบและร่วมเป็นสักขีพยายานในการมอบโฉนดที่ดิน ณ ทำเนียบรัฐบาล 15 กรกฎาคม 2496 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

นอกจากนี้ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 นายเผด็จ ศิวะทัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ได้นำราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีพิพาทที่ดินในอำเภอบางบ่อและบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประมาณ 5,000 คน เดินขบวนเข้ามาพระนคร เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกับจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี และ พล.ต. บัญญัติ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [17]

จากการเคลื่อนไหวของราษฎรข้างต้นประกอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในท้องที่อำเภอบางบ่อ และบางพลี ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินบางบ่อ-บางพลี โดยมี พล.ท. สวัสดิ์ สวัสดิ์รณรงค์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้พบว่าสาเหตุของข้อพิพาทในหลาย ๆ กรณีพบว่า เกิดจากการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบธรรมจำนวนมากให้แก่นายทุน ขณะที่ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนกลับไม่ได้รับโฉนดที่ดิน นอกจากนี้นายทุนยังใช้อิทธิพลข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายราษฎรที่ขัดขวาง อันทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนและต้องมาร้องทุกข์กับทางราชการอยู่เสมอ [18]

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณากรณีพิพาทกรรมสิทธิ์ที่ดินบางบ่อ-บางพลี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2496 ได้เชิญ พล.ท. สวัสดิ์ สวัสดิ์รณรงค์ และนายอรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร กรรมการพิจารณากรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินบางบ่อ-บางพลีมาชี้แจงในที่ประชุมด้วย โดยทั้งสองได้สรุปว่า จะดำเนินการในทางประนีประนอมไม่ได้เพราะนายทุนคิดราคาที่ดินสูง การแก้ไขอาจทำได้ 2 ทาง คือ ต้องออกกฎหมายยกเลิกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบธรรม หรือให้สู้คดีโดยหาเงินช่วยราษฎร ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบในหลักการที่จะออกกฎหมายยกเลิกโฉนดที่ได้ออกโดยไม่เป็นธรรมเสียแล้วจัดการแบ่งสรรที่ดินออกโฉนดให้แก่ราษฎรเสียใหม่ตามความเป็นธรรม [19] อันนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินฉบับแรกของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496

……..

การให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร ในกรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 และมีการตั้งคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน [37] โดยมีจอมพล ป. เป็นประธานกรรมการ งานชิ้นแรกของคณะกรรมการชุดนี้คือ การสำรวจการออกโฉนดที่ดินในท้องที่อำเภอบางบ่อ และบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่เกิดกรณีพิพาทกันอย่างรุนแรงระหว่างราษฎรกับนายทุนเจ้าที่ดิน ซึ่งจากรายงานการประชุมคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน จอมพล ป. ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมกรรมการว่า “พ.ร.บ. สำรวจการออกโฉนดที่ดินเป็นกฎหมายพิเศษ ออกมาเพื่อช่วยเหลือคนสุจริตแต่ยากจนหรือโง่เง่า ซึ่งต้องแพ้เปรียบคนที่ฉลาดหรือมีอิทธิพล” [38]

โดยที่ประชุมได้วางหลักการเกี่ยวกับการวินิจฉัยว่าการออกโฉนดที่ดินแปลงใดไม่เป็นธรรมนั้น ไม่หมายความเฉพาะความเป็นธรรมทางกฎหมายแต่อย่างเดียว แต่หมายถึงความเป็นธรรมในทางสังคมด้วย โดยคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ถึงมูลเหตุที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินและวิธีการออก ตลอดจนพฤติการณ์แวดล้อมโดยละเอียดและวินิจฉัยเป็นโฉนด ๆ ว่าตามความเป็นธรรมนั้นที่ดินนั้นสมควรจะเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ใด [39] ซึ่งจากหลักการข้างต้นนี้ย่อม สะท้อนถึงจุดมุ่งหมายของการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน คือ เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ราษฎรผู้ทำประโยชน์ในที่ดินมากกว่าผู้ที่ถือโฉนดที่ดินแต่ไม่ได้ทําประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด

ในการดำเนินการสำรวจการออกโฉนดที่ดินพิพาทระหว่าง นายสกล สามเสน กับราษฎร คณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินได้มีคำสั่งยกเลิกการออกโฉนดที่ดินที่ออกให้แก่นายสกลและพรรคพวกหลายแปลง ซึ่งจากการดำเนินการพิจารณาของคณะกรรมการนับตั้งแต่ต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 คณะกรรมการได้ชี้ขาดที่ดินพิพาทระหว่างนายสกลกับราษฎรไปแล้วทั้งสิ้น 32 แปลง เนื้อที่ 930 ไร่ 1 งาน 58 วา ซึ่งผลการพิจารณาปรากฏว่าคณะกรรมการออกโฉนดให้แก่ นายสกล สามเสน เพียงโฉนดเดียวเท่านั้นมีเนื้อที่ 24 ไร่ 2 งาน 92 วา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบโฉนดที่ดินแก่ราษฎรอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ณ ทำเนียบรัฐบาล 15 กรกฎาคม 2496 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

ส่วนที่ดินแปลงอื่นคณะกรรมการได้มีคำสั่งยกเลิกการออกโฉนดที่ดินให้แก่นายสกล และสั่งให้ออกโฉนดแก่ราษฎรที่พิพาทแทน โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า โฉนดเหล่านั้นเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ไม่เป็นธรรมเพราะมิได้ออกโฉนดให้แก่บุคคลซึ่งควรมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการออกโฉนดทับที่ดินที่ราษฎรหักร้างโก่งสร้างทำเป็นนาและครอบครองมาเป็นเวลายาวนาน ส่วนผู้ที่มีชื่อในโฉนดเองมิได้เข้าหักร้างโก่งสร้างหรือเกี่ยวข้องกับประโยชน์ในที่ดินนี้แต่ประการใด

ซึ่งจากการดำเนินการของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินเป็นผลทำให้ นายสกล สามเสน ได้มีหนังสือมายังจอมพล ป. ว่ามีความประสงค์ที่จะทำการประนีประนอมกับราษฎรในที่ดินพิพาทเพื่อหวังขอรับค่าชดเชย โดยนายสกลอ้างว่า ได้ลงทุนลงแรงในที่นาพิพาทไว้มากจนทำให้เกิดหนี้สินรุงรัง แต่จากการพิจารณาของคณะกรรมการเห็นว่า นายสกลได้รับเงินค่าชดเชยเกี่ยวกับกรณีที่ดินไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่ถูกคณะกรรมการวินิจฉัยสั่งยกเลิกโฉนดที่ดินไปแล้วนั้นนับว่าส่วนที่ยังเหลือตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสกลยังมีอีกจำนวนมาก [40]

อย่างไรก็ตามในการดำเนินการสำรวจการออกโฉนดที่ดินตามนโยบายจัดสรรที่ดินของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเป็นระยะเวลาอันสั้น เมื่อการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลจอมพล ป. ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาเจ้าที่ดินอย่างมาก ดังนั้นกลุ่มผู้เสียประโยชน์เหล่านี้จึงสนับสนุนการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 อย่างถึงที่สุด [41]

ซึ่งจากการพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ พบว่าหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ได้มีกระบวนการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. โดยเริ่มจากการวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ว่าพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อความเป็นธรรมแก่สังคม พ.ศ. 2497 มีข้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้มีผลใช้บังคับไม่ได้ [42] ซึ่งจากคำวินิจฉัยดังกล่าว กระทบกระเทือนมาถึง พ.ร.บ. ว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 ฉบับแรกและฉบับที่ 2 ด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติลักษณะคล้ายคลึงกัน และยังผลให้คณะรัฐมนตรีชุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีมติยกเลิกการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินในเดือนมกราคม พ.ศ. 2504 [43]

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบโฉนดที่ดินแก่ราษฎรอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ณ ทำเนียบรัฐบาล 15 กรกฎาคม 2496 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวย่อมกระทบต่อคำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ยกเลิกและออกโฉนดให้แก่บุคคลต่าง ๆ อันเป็นช่องทางให้บรรดานายทุนเจ้าที่ดินฟ้องร้องเรียกคืนที่ดินจากราษฎรที่ได้รับโฉนดจากการดำเนินการของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน และสร้างความยากลำบากให้แก่ราษฎรเหมือนในช่วงก่อนการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน

นอกจากนี้การยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ยังสะท้อนนโยบายที่ดินของรัฐบาล จากที่เคยสนับสนุนการถือครองที่ดินขนาดเล็กของราษฎรที่ทำประโยชน์ในที่ดิน เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนให้เอกชนถือครองที่ดินขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของไทยเมื่อมีการส่งเสริมเศรษฐกิจของภาคเอกชนและพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับต่อ ๆ มาที่สนับสนุน ภาคอุตสาหกรรม

อันทำให้ปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “กรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี : นายทุนเจ้าที่ดิน, จอมพล ป. และการเมืองในกฎหมายสำรวจการออกโฉนดที่ดินช่วงปลายทศวรรษ 2490” เขียนโดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564