ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ |
เผยแพร่ |
ทำไมต้องเป็น เลือดสุพรรณ? ทำไมละครเพลงเรื่องแรกของหลวงวิจิตรวาทการจึงไม่เป็น เลือดอยุธยา? หรือ เลือดกรุงเทพฯ? หรือเลือดอุทัยธานีบ้านเกิด?
ทำไมละครเพลงเรื่องแรกจึงไม่เป็นเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจัน? ซึ่งมีเรื่องบันทึกในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอยู่แล้ว
นี้เป็นสองคำถามเบื้องต้นเมื่ออ่านบทละครและชมการแสดงละครเวทีเรื่องนี้ที่มีเผยแพร่อยู่ใน Youtube จบลง ทั้งนี้เพราะเมื่อหลวงวิจิตรฯ ได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรกปี 2477 นั้น เรื่องราวการสงครามไทยกับพม่ามีมากมายที่บันทึกไว้ในพงศาวดาร ทั้งสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ คำถามเบื้องต้นนี้เราค่อยๆ มาขบคิดกันในท้ายบทกันอีกครั้งหนึ่ง
เลือดสุพรรณ เปิดการแสดงครั้งแรกในปี 2479 นั้นเท่ากับว่าหลวงวิจิตรฯ ได้ใช้เวลาในการเตรียมการสร้างละครเรื่องนี้อยู่ราว 2 ปี โรงละครเป็นโรงชั่วคราวที่เรียกว่า “โรงไม้ไผ่” สร้างจากไม้ไผ่มาทำเป็นเสา ยืมผ้าเต๊นท์ทหารมาขึงเป็นหลังคา ยืมเก้าอี้จากหน่วยทหาร ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว หลวงวิจิตรฯ เล่าว่าถึงขั้น “ต้องขอกำลังตำรวจมาอารักขา เพราะเหตุว่าคนแน่น อัดกันเข้าเบียดกันเข้าไปซื้อตั๋ว มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนหกสิบคนบุกเข้าไปเฉยๆ และไปนั่งดูเฉยๆ แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องให้ดู” [1]
ซึ่งผลสำคัญจากละครนี้ทำให้ได้เงินจากการแสดงนำมาสร้างโรงละครถาวรขึ้นมา และใช้กันมาจนถึงสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังปี 2502 จึงมีการอนุมัติเงินสร้างโรงละครแห่งชาติเป็นอาคารตึกที่อยู่ตรงมุมสนามหลวงในทุกวันนี้
สงครามและความรัก
เลือดสุพรรณ [2] เป็นเรื่องของสงครามและความรัก โดยสมมุติว่าเป็นสงครามที่กองทัพพม่าได้บุกเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในอดีต ได้จับตัวชาวบ้านที่อยู่ในเขตสุพรรณบุรีมาเป็นเชลยทำงานด้านเสบียงอาหารและอื่นๆ ซึ่งมีนายทหารพม่าคนหนึ่งเป็นผู้ที่รังแกข่มเหงและแสวงหาทรัพย์สินของมีค่าจากเชลยไทย และกระทำการถึงระดับทารุณทางจิตใจอย่างยิ่ง เมื่อพ่อของนางเอกที่ชื่อดวงจันทร์ ได้ขอน้ำดื่มจากลูก แต่นายทหารพม่าผู้นี้แย่งขันน้ำและดึงลากพ่อเธอ แล้วให้ดื่มน้ำที่เทลงผ่าน “ตีน” ของเขาซึ่งพ่อเธอก็ต้องทำขณะนั้นมีนายทหารอีกคนซึ่งเป็นลูกของแม่ทัพกองนี้ชื่อมังรายได้เข้ามาช่วยเชลยให้หลุดออกจากการกระทำที่เลวร้ายของนายทหารคนนั้นถึงขั้นมีการต่อสู้กันนายทหารคนนั้นแพ้ยอมถอยออกไป
ต่อมามังรายหลงรักดวงจันทร์สาวเชลยไทย ดวงจันทร์ขอให้มังรายปล่อยเชลยไทยทั้งหมดให้หนีไป มังรายยอมช่วยเหลือในวันที่ตนเองเป็นผู้คุมเชลย แม้จะตระหนักว่าเป็นความผิดที่ต้องได้รับโทษที่สำคัญ แต่คิดว่าอาจไม่ถึงกับต้องเสียชีวิตเพราะพ่อเป็นแม่ทัพกองนี้ เมื่อดวงจันทร์พาเชลยชาวไทยไปหลบซ่อนแล้ว เธอเดินทางกลับมาหามังรายที่ค่าย เพื่อขอรับโทษร่วมกับมังราย อันแสดงถึงความรักที่เพิ่มพูนอย่างลึกซึ้ง ทั้งสองหวังว่าเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ มังรายจะมาแต่งงานอยู่กินกับเธอที่สุพรรณ
แต่ในที่ประชุมของกองทัพพม่าแม่ทัพยืนยันคำตัดสินใจอย่างแสนเศร้าใจให้ประหารมังรายที่ทำผิดกฎกองทัพแม้จะเป็นลูกก็ตามและให้ประหารนายทหารพม่าที่กระทำไม่ดีต่อเชลยคนนั้นด้วยที่หลักประหารแบบฟันคอดวงจันทร์ได้แต่กอดศพร่ำไห้และเมื่อเธอเดินทางกลับไปหาพ่อแม่และคนไทยเธอกลับพบว่าพ่อแม่เธอถูกฆ่าตายจากลูกน้องนายทหารพม่าที่ไม่ดีที่ตามมาแก้แค้นให้ลูกพี่เมื่อดวงจันทร์สำนึกว่าเธอและคนไทยได้สูญเสียแล้วทุกอย่างเธอจึงลุกขึ้นยืนนำการปลุกเร้าใจคนไทยให้ลุกคว้าอาวุธที่มีอยู่ออกเดินทางไปต่อสู้กับทหารพม่าด้วยบทเพลงเลือดสุพรรณกองทัพฝ่ายพม่ามีปืนกำลังชาวบ้านไทยที่บุกเข้าไปจึงถูกยิงตายทุกคนดวงจันทร์ตาย
ความรักในเรื่องเลือดสุพรรณ เป็นความรักหลายประเภท ได้แก่ ความรักหญิงกับชายที่ต่างเชื้อชาติ ความรักระหว่างลูกกับพ่อแม่ ทั้งของฝ่ายไทย ดวงจันทร์ และฝ่ายพม่า มังราย แต่ความรักที่ถูกยกย่องและชูเป็นเรื่องสำคัญเหนือความรักอื่นใด คือ ความรักชาติ ดังนั้น ดวงจันทร์และมังรายจึงต้องตาย
ผลของละครดัง
ละครที่มีระยะเวลาการแสดง 2 ชั่วโมงนี้ [3] ไม่เพียงเป็นการเปิดฉากภารกิจของกรมศิลปากรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ในมิติการแสดงที่ออกแบบเป็นสมัยใหม่ ทั้งในด้านการแสดง การพูด การร้องเพลงแบบสากล ผสมกับการร้องรำแบบไทยประยุกต์ การแต่งกาย ฉากที่สร้างภาพให้ดูสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง รวมทั้งการใช้วงดนตรีแบบไทย และวงดนตรีแบบสากล ซึ่งต้องใช้ทีมงานการแสดงจำนวนมาก ทว่า ละครเรื่องนี้ได้กลายเป็นต้นแบบที่สำคัญของละครในหน่วยราชการและสถาบันที่สอนนาฏศิลป์และการแสดงในระดับอุดมศึกษาของไทยมาจนถึงปัจจุบัน
เลือดสุพรรณได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากประชาชนที่มาซื้อตั๋วเข้าชม ขณะที่หลวงวิจิตรฯ ก็บันทึกไว้ว่า “กระทรวงกลาโหมขอให้นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ ได้ดูละครเรื่องนี้ กรมตำรวจก็ขอให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้ดูเช่นเดียวกัน”
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ (ธรรมการ) ก็ขอให้กรมศิลปากรส่งบทละครเรื่องนี้ไปยังศึกษาธิการจังหวัดและโรงเรียนรัฐบาลทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น ครูและโรงเรียนจึงเป็นฐานสำคัญในการแพร่กระจายความรับรู้ละครรักชาติเรื่องนี้ไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทั้งประเทศ ในยุคที่การสื่อสารทางวิทยุกระจายเสียงยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศเป็นสำคัญ
ละครเลือดสุพรรณ “ได้ชื่อในทางเป็นเรื่องเรียกร้องน้ำตาคนดู” หลวงวิจิตรฯ จึงเชิญ ส.ส. ที่มีบทบาทด้านงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎรมาดูละครเรื่องนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนในด้านการจัดงบประมาณสร้างโรงเรียนนาฏดุริยางค์ เช่น ครูผู้สอนในโรงเรียนก็มีอัตราเงินเดือนประจำ ไม่ใช่เป็นการยืมอัตรามาจากหน่วยงานอื่นในกระทรวงธรรมการที่กรมศิลปากรสังกัด หรือเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มาชม ก็ชื่นชมและพยายามหาเงินงบประมาณที่จะมอบให้เพื่อสนับสนุนการสร้างโรงละครถาวรแก่หลวงวิจิตรฯ แม้ว่าจะสามารถมอบเงินให้ได้เพียง 6,500 บาทเท่านั้นก็ตาม [4] รายได้จากละครเลือดสุพรรณ ก็ทำให้มีเงินสร้างโรงละครถาวรที่สร้างจากไม้จริงหลังคาสังกะสีมีฝารอบ ที่เรียกและใช้งานกันอีก 2 ทศวรรษต่อมาว่า หอประชุมศิลปากร
หลายกรณีข้างต้นนี้กล่าวได้ว่า ละครเลือดสุพรรณได้ทำให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของงานศิลปะด้านละครและดนตรีใช้ในการ “ปลูกต้นรักชาติ” ปลุกใจให้รักชาติของกรมศิลปากรแล้ว ทั้งหลวงวิจิตรฯ ก็สามารถสร้างตัวสร้างชื่อเสียงได้อย่างสำเร็จในการมาดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรก นับแต่มีการประกาศพระราชบัญญัติให้มีกรมศิลปากรขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2476 กล่าวคือ หลวงวิจิตรฯ ได้ทำให้หน่วยงานและตำแหน่งที่ดูน่าเบื่อและไม่เป็นการเมือง ได้เป็นงานที่น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นการเมืองเรื่องการสร้างคนให้รักชาติและสร้างระบอบใหม่
หลวงวิจิตรฯ ยังเล่าว่า “เพลงสำคัญ 2 เพลงในละครเรื่องนี้ คือเพลงดวงจันทร์ กับเพลงเลือดสุพรรณ ร้องกันได้ทั่วประเทศ” [5] นอกจากนี้ เมื่อครั้งหลวงวิจิตรฯ ถูกคุมขังในเรือนจำลหุโทษเมื่อเดือนมีนาคม 2489 คดีอาชญากรสงคราม หลวงวิจิตรฯ บันทึกว่า ในยามเช้า ตนได้ยินนักโทษหญิงร้องเพลงปลุกใจรักชาติที่ตนเป็นผู้แต่ง เช่น แหลมทอง รักเมืองไทย ซึ่งได้รับคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่เรือนจำว่า “ทางการของเรือนจำได้ให้ร้องเพลงเหล่านี้มาช้านานแล้ว เพื่ออบรมจิตใจให้รักชาติ” [6]
เลือดสุพรรณกับชาตินิยม
ปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรเพื่อสร้างระบอบใหม่ประชาธิปไตยมีรากฐานสำคัญมาจากพลังลัทธิชาตินิยม ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชนชั้นนำใหม่ได้สร้างกลุ่มการเมืองและกำลังกองทัพของชาติเพื่อต่อสู้สร้างเอกราชจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก [7]
ลัทธิชาตินิยม (nationalism) เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดมาพร้อมกับการเกิดประเทศที่มีเส้นเขตแดนและประชากรที่แน่นอนของรัฐประเทศสมัยใหม่ และสัมพันธ์กับระบอบการเมืองที่มีอุดมการณ์ว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่ออธิบายถึงความเป็นคนประเทศเดียวกัน ที่อาจแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ แต่สร้างแนวความคิดความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในประเทศร่วมกัน เพื่อสร้างชาติ รักชาติ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน ไม่ผูกพันอยู่กับใครคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ายกย่องเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งว่ามีความสำคัญสูงสุด รักเฉพาะเชื้อชาติตนเอง กดขี่กำจัดคนเชื้อชาติอื่นหรือคนที่เห็นแตกต่างไป สิ่งนี้เรียกว่า “คลั่งชาติ” (racism)
นโยบาย 6 ข้อของรัฐบาลคณะราษฎรที่แสดงไว้ใน “ประกาศคณะราษฎร” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน 2475 ที่มักเรียกกันว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนั้น ในนโยบายข้อแรกสุด ก็คือนโยบายว่าด้วยเอกราช ที่ “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”
ซึ่งชนชั้นนำใหม่ของไทยที่เกิดในช่วงทศวรรษ 2440 เป็นต้นมา เช่น พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ผู้นำฝ่ายทหารบก (เกิด 2440) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำฝ่ายพลเรือน (เกิด 2443) เรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้นำฝ่ายทหารเรือ (เกิด 2444) หลวงวิจิตรวาทการ (เกิด 2441) กลุ่มผู้นำหนุ่มรุ่นใหม่เมื่อปฏิวัติ 2475 มีอายุระหว่าง 31-35 ปีเหล่านี้ จะเห็นร่วมกันว่า สนธิสัญญาเบาริ่งที่ไทยทำกับอังกฤษเมื่อปี 2398 ต้นสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และเป็นต้นแบบกับการทำสัญญาเช่นนี้กับประเทศต่างๆ ในยุโรป กับสหรัฐ และญี่ปุ่น รวม 13 ประเทศ เรื่อยมาจนถึงกลางสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 นั้น ได้ทำให้ไทย “เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ซึ่งความหมายที่ตรงตัวคือ แม้ไทยจะไม่ตกเป็นอาณานิคมตะวันตกโดยมีฝรั่งเข้ามาปกครอง แต่สภาพของไทยก็ไม่ต่างไปจากประเทศอาณานิคมกล่าวคืออยู่ในสภาพ “กึ่งอาณานิคม”
ดังนั้น เป้าหมายนโยบายข้อแรกของคณะราษฎรก็คือ สร้างเอกราชอันสมบูรณ์ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรบรรลุเป้าหมายนี้ในเวลาเพียง 6 ปี ทำให้สถานภาพของประเทศแบบกึ่งอาณานิคมยุติลงจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 83 ปีก่อน [8]
กระทั่งเฉลิมฉลองด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กลางถนนราชดำเนินกลาง ยืนยันความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร และนโยบาย 6 ข้อโดยประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของทุกปี ตั้งแต่ปี 2482 และให้วันชาติปีแรกนี้เป็นวันเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์ด้วย
คณะราษฎรเป็นพรรคการเมืองปิดลับขนาดเล็กที่ได้ปฏิวัติประเทศ (revolution) เพื่อสร้างชาติและระบอบการเมืองใหม่ ดังนั้น เมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ภารกิจหลักจำต้องแพร่กระจายความรู้และสำนึกต่อระบอบใหม่ และสร้างสำนึกร่วมในการรักชาติสร้างชาติไทยให้ศิวิไลซ์ (civilize, civilization) ให้ลงไปเบียดขับกับความเชื่อในระบอบเดิมที่ประชาชนมีสถานภาพเป็นเพียงราษฎรที่ถูกปกครอง [9]
ทว่า ในช่วง 2 ปีแรกของระบอบใหม่ ปัญหาของการต่อสู้เพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ระบอบเก่าเป็นไปอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น [10] ทั้งการรัฐประหารครั้งแรกโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในวันปีศักราชใหม่เมื่อ 1 เมษายน 2476 ที่จบลงด้วยทหารคณะราษฎรยึดอำนาจกลับคืนมาเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 ตามมาด้วยการใช้กำลังทหารบกต่างจังหวัดที่กลุ่มผู้นำระบอบเก่าที่เรียกชื่อว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ยังควบคุมและมีอำนาจบังคับบัญชา นำกำลังทหารเข้าล้อมกรุงเทพฯ เพื่อยึดอำนาจเปลี่ยนรัฐบาลคณะราษฎรของ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
กระทั่งรบกันด้วยอาวุธกับกองทัพบกฝ่ายรัฐบาลของกรุงเทพฯ ฝ่ายคณะทหารระบอบเก่าแพ้อย่างราบคาบ อันตามมาด้วยปัญหาระหว่างพระปกเกล้าฯ กับรัฐบาลคณะราษฎร กระทั่งพระปกเกล้าฯ สละราชย์ในต้นเดือนมีนาคม 2477 หลังจากนี้มา รัฐบาลคณะราษฎรจึงเริ่มมีเสถียรภาพ และสามารถดำเนินงานเพื่อเผยแพร่การเปลี่ยนระบอบใหม่ การสร้างยุคใหม่ของไทย
ดังนั้น เมื่อหลวงวิจิตรฯ ลาออกจากราชการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงความผันแปรทางการเมืองหลังปฏิวัติ 2475 เพื่อตั้งพรรคการเมืองของตนเอง แต่เมื่อสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มเข้าสู่การมีเสถียรภาพมากขึ้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม “เพื่อนรัก” ของหลวงวิจิตรฯ [11] และหลวงพิบูลสงคราม ได้ชักชวนให้หลวงวิจิตรฯ กลับเข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2476 และต่อมาสนับสนุนให้ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)
กรมศิลปากรที่สร้างขึ้นใหม่โดยรวมงานด้านหอสมุด ด้านพิพิธภัณฑ์ และด้านช่าง ที่ในระบอบเก่าหลวงวิจิตรฯ กล่าวว่าของเดิมได้วางรากฐานไว้ดีแล้ว ก็จะรักษาตามแนวทางนั้นและเพียงขยายงานให้มากขึ้น แต่งานใหม่ของกรมนี้ที่สร้างขึ้นมาตามกฎหมายคืองานละครและดนตรี ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นภารกิจหลักของหลวงวิจิตรฯ ในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร คือการสร้างละครและบทเพลงเพื่อปลูกใจคนไทยให้รักชาติและสร้างสามัคคี ซึ่งก่อนที่หลวงพิบูลสงครามจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายปี 2481 ผลงานด้านละครและเพลงรักชาติเป็นที่พอใจของผู้นำทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายทหาร หลวงพิบูลฯ และฝ่ายพลเรือน หลวงประดิษฐ์ฯ [12]
คำว่า “รัก” หลวงวิจิตรฯ ได้ให้ความหมายก่อนหน้านั้นราว 6 ปี ว่าหมายถึงการชอบในคนอื่นมากกว่าชอบในตนเอง และคำว่า “รักชาติ” คือ “ถ้ายังไม่พร้อมที่จะเสียสละสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งชีวิตของตัวให้ชาติได้แล้ว จะเรียกว่ารักชาติไม่ได้เลยเป็นอันขาด” [13] ดังนั้น ดวงจันทร์ ผู้หญิงตัวเอกของเรื่อง ที่นำชาวไทยจับอาวุธบุกเข้ารบกับกองทัพพม่าจนถูกยิงตายสิ้นทุกคน จึงเป็นความรักชาติสูงสุดตามอุดมคติของหลวงวิจิตรฯ หรือพูดได้ว่า ดวงจันทร์ต้องตายเพราะคำ “รักชาติ” ที่หลวงวิจิตรฯ กำหนดความหมายไว้
เลือดสุพรรณกับลัทธิทหาร
ปฏิวัติ 2475 เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก กลุ่มผู้นำหนุ่มของคณะราษฎรที่เดินทางไปศึกษาและไปรับราชการในยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงได้เพียงสองสามปี เช่น หลวงวิจิตรฯ ขณะยังชื่อ นายกิมเหลียง ก็มีอายุ 22 ปี ไปรับราชการที่ปารีส ฝรั่งเศส นายปรีดีอายุ 20 ปีไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านกฎหมายที่ปารีส
ดังนั้น ประสบการณ์และการรับรู้ข่าวสารของกลุ่มผู้นำหนุ่มเหล่านี้ระหว่างอยู่ในยุโรปคือการคาดการณ์ได้ว่า สงครามในยุโรปอาจต้องระเบิดขึ้นอีกครั้ง ในด้านเอเชีย ปฏิวัติ 2475 เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง 14 ปี ขณะที่ในปีนั้นด้านเอเชีย กองทัพญี่ปุ่นรุกรบบุกยึดดินแดนในจีนตลอดเวลาและครอบครองเกาหลีไว้เป็นอาณานิคมมากว่า 3 ทศวรรษแล้ว ทั้งความขัดแย้งจีนกับญี่ปุ่นแผ่กระจายไปยังชุมชนจีนที่ทำการค้าต่างๆ ของประเทศอาณานิคมในเอเชีย รวมทั้งในไทยด้วย
คณะราษฎรเองนั้นเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ เรียกได้ว่าเป็นพรรคข้าราชการอันเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ได้อำนาจรัฐ สมาชิกครึ่งหนึ่งเป็นทหารบกและทหารเรือ อีกครึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน ดังนั้น แนวทางการสร้างระบอบใหม่หลังปฏิวัติจึงมีลักษณะทั้งที่ร่วมกัน คือสร้างชาติให้ศิวิไลซให้เป็นประชาธิปไตย โดยมีชนชั้นนำเป็นข้าราชการ ระยะปีแรกหลังการปฏิวัติ ฝ่ายพลเรือนมีบทบาทสำคัญในการสร้างรัฐธรรมนูญ สร้างระบบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก แต่ฝ่ายพลเรือนก็เพลี่ยงพล้ำจากการโจมตีทางการเมืองของฝ่ายระบอบเก่าและกลุ่มอนุรักษนิยม ทำให้ผู้นำฝ่ายพลเรือน คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ต้องลี้ภัยการเมืองจากการถูกกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ
แม้คณะราษฎรจะสามารถพลิกสถานการณ์กลับเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองในการรัฐประหารครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการ “มโนเครซี” อายุ 81 วันที่ระบอบเก่าสนับสนุน และต่อมาทหารคณะราษฎรได้ชัยชนะจากฝ่ายทหารกบฏบวรเดช ลำดับของการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในปีที่ 2 ของการปฏิวัติ ก็ทำให้บทบาททหารเพิ่มสูงขึ้นในการเมือง และเป็นฝ่ายนำทางการเมืองแทนฝ่ายพลเรือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับสถานการณ์สงครามในบริบทพื้นที่ต่างๆ ของโลก
หลวงพิบูลสงครามได้เป็นพันเอก และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปี 2477 อยู่ในฐานะผู้นำทหารของคณะราษฎร โดยในเดือนสิงหาคม 2478 พันเอก พระยาพหลฯ (อายุ 48 ปี) ได้สละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ให้แก่หลวงพิบูลฯ (อายุ 38 ปี) นับจากนี้มา การสร้างชาติตามแนวทางลัทธิทหารจะมีความเข้มข้นเป็นลำดับ ลัทธิทหารคือความเชื่อว่าทหารเป็นรากฐานของความมั่นคงของประเทศ วิถีแห่งทหารที่มีระเบียบวินัยปฏิบัติตามคำสั่งจะทำให้ประเทศชาติเข้มแข็ง และทหารคือผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติจากข้าศึกภายนอกและ “ผู้ไม่หวังดี” ภายในประเทศ
รวมความแล้ว ทหารคือผู้นำของสังคมการเมืองประเทศไทย ดังตัวอย่างสำคัญคือภาพยนตร์ “เลือดทหารไทย” ที่สร้างโดยภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ตามความประสงค์ของกระทรวงกลาโหม และให้การสนับสนุนทางงบประมาณ และกำลังทหารอาวุธยุทโธปกรณ์ในฉากรบ ภาพยนตร์นี้ฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงในปี 2478 และสำนักงานโฆษณาการนำออกเดินสายไปฉายยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และในช่วงต้นปีเดียวกันนี้ กระทรวงกลาโหมให้มีการฝึกนักเรียนเป็น “ยุวชนทหาร” โดยการส่งผู้แทนทหารไทยไปดูงานที่ประเทศเยอรมนีสมัยรัฐบาลฮิตเลอร์ ทั้งนี้ฝ่ายทหารระบุทิศทางของโลกอย่างชัดเจนว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้น ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง คนชรา ก็ต้องพร้อมที่จะเป็น “ทหาร” ทำการรบเพื่อชาติกันทุกคน นักเรียนมัธยมปลายที่จะเข้าฝึกยุวชนทหารต้องมีอายุระหว่าง 15-17 ปี ดังนั้น ปี 2478 กล่าวได้ว่าเป็นหลักหมายของการเพิ่มบทบาททหารและลัทธิทหารในสังคมการเมืองไทยในทุกด้าน
ในช่วงการเตรียมการเพื่อสร้างละครเรื่องแรกระหว่างปี 2477-78 หลวงวิจิตรฯ ย่อมเห็นทิศทางสำคัญของการเมืองไทยในบริบทสงครามของโลก รวมทั้งมีประสบการณ์ในช่วงการทำงานที่สถานทูตไทยในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นช่วงของการเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศและการสร้างสันนิบาตชาติ ที่ต่อมาประสบความล้มเหลวในการรักษาสันติภาพของโลก
ขณะเดียวกัน ทรัพยากร “ประวัติศาสตร์” ไทยที่มีอยู่ในตำนานและพระราชพงศาวดารที่ตกทอดจากระบอบเก่า ที่จะนำมาเป็นฉากในการปลูกใจให้รักชาติที่ดีที่สุดก็คือการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการสงครามเพื่อสร้างรัฐบ้านเมือง หรือสงครามเพื่อปกป้องการรุกรานของข้าศึก (แต่เราจะไม่เห็นวิธีคิดว่าด้วยการสงครามที่ไทยรุกรานบ้านเมืองอื่น)
ดังนั้น การใช้ฉากการสงครามในละครเลือดสุพรรณ โดยตัวของมันเอง หลวงวิจิตรฯ ก็เลือกสนับสนุนการสร้างความรักชาติในแนวทางของกองทัพบก เพื่อเตรียมสร้างให้คนไทยเป็นนักรบและต่อสู้เพื่อชาติจนตัวตาย นอกจากละครเลือดสุพรรณแล้ว ยังมีละครอีกหลายเรื่องที่เนื้อหามีลักษณะเดียวกัน เช่น ราชมนู ศึกถลาง และพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่แนวทางนี้จะเคลื่อนแก่นสำคัญไปสู่การรวมคนไทยในแผ่นดินต่างๆ เพื่อสร้างมหาอาณาจักรไทย หรือจากแก่นชาตินิยม สู่ระดับคลั่งชาติในละครอีก 3 ปีต่อมา และมีระดับตอบต่อแนวทางลัทธิทหารอย่างเต็มที่เมื่อหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปลายปี 2481 ดังละครก่อนการเข้าสู่สงครามโลก เช่น เจ้าหญิงแสนหวี มหาเทวี และ พ่อขุนผาเมือง [14]
ปลูกใจผู้หญิงไทยให้รักชาติและลุกรบ
เลือดสุพรรณวางตัวเอกฝ่ายชายเป็นทหารพม่าตัวเอกฝ่ายหญิงเป็นดวงจันทร์ผู้หญิงไทยเชลยศึกของพม่าและตัวเอกที่สุดของเรื่องนี้ก็คือดวงจันทร์
เมื่อพิจารณาจากบทละครต่างๆ โดยรวมของหลวงวิจิตรฯ กล่าวได้ว่าให้ความสำคัญกับผู้หญิง และการมีบทบาทเป็นตัวเอกของเรื่อง เช่น เรื่องศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี ซึ่งจะเป็นวิธีคิดตรงกันข้ามที่ผู้หญิงในสังคมไทยถูกทำให้เชื่อตลอดมาว่าเป็นช้างเท้าหลัง ไม่มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม และมักต้องปฏิบัติตามการตัดสินของผู้ชาย [15]
ละครเลือดสุพรรณ เราเห็นความตั้งใจของหลวงวิจิตรฯ ที่ใช้บทตัวเอกผู้หญิงใน ๒ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก คือใช้ตั้งคำถามต่อผู้ชายไทยว่ายังมีผู้รักชาติอยู่อีกหรือไม่ ทำไมไม่มีใครลุกขึ้นสู้กับผู้รุกราน ประเด็นนี้ปรากฏอย่างชัดในบทเพลง “ยากเย็น” ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีเนื้อร้องเอื้อนในลักษณะไทยๆ ที่เศร้า แต่ด้วยดนตรีฝรั่ง เพลงนี้มาต่อจากฉากที่พ่อดวงจันทร์ต้องถูกย่ำยีให้ดื่มน้ำผ่าน “ตีน” ของทหารพม่า เนื้อเพลงท่อนที่ 2 มีความว่า “คนไทยช่างไร้ฝีมือ ไม่มีแล้วหรือชายชาติทหาร ไปอยู่ทางไหนปล่อยให้เขาราน รุกมาถึงบ้านล้างผลาญผู้คน”
ในเพลงนี้นอกจากเรื่องมีหรือไม่ผู้ชายไทยที่รักชาติแล้ว ยังกำลังอธิบายลักษณะอุดมคติของความเป็นผู้ชายไทย ว่าต้องมีลักษณะ “ชายชาติทหาร” ซึ่งนี้คือการสร้างชุดความเชื่อและผลิตซ้ำว่า ไทยเป็นชาตินักรบ ดังนั้น ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา อุดมการณ์แห่งชาติของรัฐทหารไทยต่อคนไทยคือเรื่องนี้เรื่องเดียว เราจะไม่เห็นการสร้างอุดมการณ์ว่าคนไทยเป็นนักการค้าที่เก่งกาจ คนไทยเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ หรือคนไทยที่ประกอบอาชีพที่หลากหลายคือส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สำคัญต่อการสร้างชาติรักชาติ
ด้วยเหตุนี้ รัฐทหารไทยจึงยังคงอำนาจนำในปฏิบัติการเรื่องยุวชนทหาร ที่ปัจจุบันคือแต่งชุดทหารไปเรียนรักษาดินแดน อันสัมพันธ์กับการที่บอกว่า คนไทยต้องถูกเกณฑ์ทหาร ขณะที่โลกสมัยใหม่ ประเทศหลายสิบประเทศที่ก้าวไปสู่ยุคสมัยใหม่และไฮเทคโนโลยี ได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปนานแล้ว ญี่ปุ่นเลิกเกณฑ์ทหารมากว่า 7 ทศวรรษแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
ประเด็นที่ 2 สร้างคติใหม่ว่า ผู้หญิงคือทหาร ทุกคนคือทหาร ละครเลือดสุพรรณให้ดวงจันทร์คับแค้นใจที่เห็นคนไทยถูกรังแก ในขณะที่ตนเป็นผู้หญิงที่ไม่อาจออกไปสู้รบได้ ดังนั้น ดวงจันทร์ได้แต่อธิษฐานว่า “ไปชาติหน้าขอกำเนิดเกิดเป็นผู้ชาย” แล้วจะสู้กับทหารพม่าให้ถึงที่สุด แต่ในฉากสุดท้าย ดวงจันทร์และชาวบ้านสุพรรณไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่เฒ่า ทุกคนเป็นทหาร เท่าเทียมกับผู้ชาย และรักชาติจนสิ้นชีพ ไม่จำเป็นต้องไปคอยชาติหน้าแต่อย่างใด
การจบเรื่องด้วยความตายของดวงจันทร์และชาวบ้านสุพรรณ เป็นโศกนาฏกรรมและสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมอย่างสูงยิ่ง ใครคือผู้ชมละครที่สำคัญของสังคมไทยในขณะนั้น คำตอบคือผู้หญิง และผู้หญิงเป็นลูกค้าของการอ่านการซื้อนวนิยายด้วย
ดังนั้น เลือดสุพรรณ ไม่เพียงวางเป้าหมายลูกค้าคือผู้หญิง แต่ยังมีชุดอธิบายของหลวงวิจิตรฯ เรื่องบทบาทของผู้หญิงต่อสังคมไว้ด้วยเมื่อปี 2473 ปาฐกถาเรื่อง “ผู้หญิง” ทางวิทยุ [16] ว่า เมื่อพิจารณาผู้หญิงทางร่างกายและจิตใจเปรียบเทียบกับผู้ชาย ผู้หญิงมี “ความจำ” ดีกว่าผู้ชาย ประเด็นนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงฉากเริ่มชีวิตของหลวงวิจิตรฯ ที่อุทัยธานี
หลวงวิจิตรฯ เล่าว่า ก่อนเข้าโรงเรียนประถม ตนรู้เรื่องสังข์ทอง รามเกียรติ์ อิเหนา และพระอภัยมณี แล้ว เพราะย่าซึ่งเป็นคนจดจำนิยายต่างๆ ได้มาก ได้เล่าให้ฟังตอนนอน ในปาฐกถา หลวงวิจิตรฯ ชี้ว่า ตำแหน่งที่สำคัญของผู้หญิงคือมารดา ดังนั้น เมื่อผู้หญิงคือลูกค้าสำคัญของละครเลือดสุพรรณ เมื่อผู้หญิงชมและประทับใจ ผู้หญิงก็จะนำไปเล่าให้ลูกหลานตนเองฟัง เป็นวิธีการการปลูกใจผู้หญิงให้รักชาติและมีการแพร่ขยายการปลูกใจไปยังลูกหลานของตนเอง
ในด้าน “ความรัก” หลวงวิจิตรฯ กล่าวว่า “ผู้หญิงรักด้วยหัวใจ แต่ผู้ชายรักด้วยหัวสมอง” ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าผู้ชายคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนหมดความงามไปจากเดิม หรือหากผู้ชาย “กลับกลายเป็นคนน่าเกลียดเลวทรามต่ำช้า และอยุติธรรมแก่ตนอย่างที่สุด” ผู้หญิงก็จะยังรักด้วยหัวใจ ผู้หญิงอาจอ่อนแอทางร่างกายเมื่อเทียบกับผู้ชาย แต่ด้านหัวใจ ผู้หญิงมี “ลักษณะเข้มแข็งเด็ดขาด” มากกว่าหัวใจของผู้ชาย ทั้งยัง “ฉลาด” มากกว่าผู้ชาย และจากความจำที่ดีของผู้หญิง ผู้หญิงจึง “มีความกตัญญูหรือพยาบาทมากกว่าผู้ชาย”
ในท้ายสุด แม้ผู้หญิงจะเป็นนักรบเป็นทหารที่ไม่แข็งแกร่งเท่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีวิธีการรบการต่อสู้อย่างยาวนานต่อเนื่องของตนเอง คือใช้ความเป็นแม่บอกเล่าอบรมสั่งสอนให้กับลูกหลานของตนเอง นี้คือการปลูกต้นรักชาติที่ยืนยง
จากปาฐกถา “ผู้หญิง” ของหลวงวิจิตรฯ ดวงจันทร์จึงไม่ได้ตายเพราะเพียง “ความรัก” ต่อพ่อแม่ ต่อคนรัก แต่ดวงจันทร์เธอคือ “ทหาร” และตายเพื่อชาติที่เป็นความรักอันสูงสุดของเธอ ความตายของเธอต่างจากละครที่มีมาก่อน ที่ผู้หญิงต้องมาตายด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องคือเพราะถูกผู้ชายทิ้ง ถูกผู้ชายหลอก ขณะเดียวกัน เรื่องเล่าและบทเพลงเลือดสุพรรณ ก็ถูกจดจำและแพร่กระจายด้วยผู้หญิงในฐานะกระบอกเสียงของการสร้างชาติ “ทหาร” ในยุคสมัยนั้น
ทำไมต้องเลือดสุพรรณ
ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกล่าวถึงศัตรูและคู่สงคราม โดยทั่วไปย่อมคิดถึงพม่า ซึ่งได้มีการศึกษาและจัดระเบียบลำดับสงครามอย่างพิสดารในหนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดพิมพ์ในปี 2463 จัดพิมพ์เป็น 2 เล่ม เล่มแรกเป็นสงครามในสมัยอยุธยา เล่มที่ 2 เป็นสงครามในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ และหนังสือเรื่องนี้ได้ถูกจัดเข้าเป็นเนื้อหาในประชุมพงศาวดารภาคที่ 6 แทนไทยรบพม่าฉบับเดิมที่พิมพ์เมื่อปี 2460
แต่การที่หลวงวิจิตรฯ เลือกที่จะให้ละครเลือดสุพรรณเป็นสงครามไทยกับพม่าโดยไม่ผูกอยู่กับเรื่องในพงศาวดารทำให้ละครเลือดสุพรรณนั้นมีบริบทที่อยู่เหนือกาลเวลาเฉพาะดังนั้นบทละครเลือดสุพรรณจึงไม่ต้องกล่าวถึงยุคสมัยเฉพาะไม่ต้องอ้างอิงถึงการปกครองและพระนามของกษัตริย์ทั้ง๒ฝ่ายไม่ต้องใช้ศัพท์แสงราชาศัพท์ทั้งเมื่อพิจารณาว่าการที่หลวงวิจิตรฯไม่นำเรื่องชาวบ้านบางระจันที่มีบันทึกเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแต่งเป็นบทละครเรื่องแรกก็น่าจะอยู่ในเหตุผลเดียวกันและจากการพิจารณารายชื่องานต่างๆของหลวงวิจิตรฯทั้งงานเขียนปาฐกถานวนิยายบทละครไม่มีชื่อเรื่องบางระจันเลยอันแสดงให้เห็นทั้งทัศนคติและเจตนาต่อการวางเนื้อเรื่องบทละครอย่างยิ่งยิ่งไปกว่านั้นในหลายๆที่เมื่อกล่าวถึงยุคสมัยอยุธยาหลวงวิจิตรฯอธิบายว่าอยุธยาเป็นยุคสมัยที่มีกษัตริย์อ่อนแอจำนวนมากมีเข้มแข็งไม่กี่พระองค์บ้านเมืองด้อยลงทางวัฒนธรรม๑๗ ในขณะที่หลวงวิจิตรฯ ต้องการสร้างความรักชาติและความเป็นทหารนักรบให้กับคนไทย ประวัติศาสตร์สงครามสมัยอยุธยาที่มีอยู่ในพระราชพงศาวดารจึงไม่ใช่คำตอบในโจทย์นี้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว เป็นไปได้ว่า หลวงวิจิตรฯ ได้มองหาเมืองบนเส้นทางเดินทัพของพม่าที่เหมาะสมจะเป็นเมืองตัวแทนของคนไทยที่รักชาติ เมืองสุพรรณถูกเลือก หากพิจารณาถึงเส้นทางเดินทัพของกองทัพพม่า เมืองสุพรรณก็มีภูมิยุทธ์ที่สอดคล้อง เพราะเมื่อพม่าเดินทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่เมืองกาญจนบุรีแล้ว โดยทั่วไปจะมุ่งทัพต่อมาทางเมืองสุพรรณ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญด้านตะวันตก ก่อนบุกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ทั้งในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ก็ได้รับการกำหนดซากเจดีย์แห่งหนึ่งว่านี้คือเจดีย์อนุสรณ์ของการชนช้างกันระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชแห่งในคราวสงครามประกาศอิสระของอยุธยา สุพรรณบุรีจึงเหมาะสมต่อการเป็นฉากในเรื่องมากกว่าเมืองใดๆ
ตัวเอกของละครเลือดสุพรรณคือชาวบ้านราษฎร หาใช่ผู้นำทางการปกครองทั้งกษัตริย์และขุนนาง เป้าหมายละครเลือดสุพรรณคือการสร้างชาตินิยม หรือปลูกใจประชาชนคนไทยให้มีความรักชาติของตนเอง (ในช่วงแรก หลวงวิจิตรฯ จะเรียกว่า “ลัทธิชูชาติ”) อันเป็นหนึ่งเดียวกับอุดมการณ์ร่วมของคณะราษฎร ดังปรากฏในประกาศคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่า
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร… บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสสรภาพพ้นมือจากข้าศึก…”๑๘
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ สุพรรณบุรีจึงเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ต่อการสร้างสำนึกคนไทยที่เท่ากันในยุคสร้างประชาธิปไตยอย่างที่สุด สามารถที่จะไม่จำต้องมีกาลเวลาที่แน่ชัด ไม่จำต้องมีความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในอดีต รวมทั้งชื่อเสียงเรียงนามของแม่ทัพนายกอง มีเพียงประชาชนชาวบ้านเลือดสุพรรณตัวแทนคนไทยเท่านั้น ทุกมิติสามารถสร้างจินตนาการได้ใหม่ และเหนืออื่นใด ทำให้ละครเรื่องนี้สามารถใช้ภาษาของประชาชนเป็นภาษาของเรื่อง ไม่มีราชาศัพท์
สรุป
เลือดสุพรรณคือการโฆษณาอุดมการณ์ของคณะราษฎรครั้งสำคัญด้วยรูปแบบวิธีการใหม่ในยุคหลังปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่าประชาชนคือผู้สร้างประเทศชาติ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศชาติร่วมกัน ประชาชนคือผู้รักชาติ และประชาชนทุกคนพร้อมลุกขึ้นมาร่วมรบเพื่อปกป้องชาติ ในบริบทการสร้างระบอบประชาธิปไตยและการมีสงครามของโลก
บทส่งท้าย
การแสดงละครเวทีเรื่องเลือดสุพรรณในยุคสมัยนั้น น่าจะมีการแสดงเพียงช่วงเวลาเดียวที่โรงละครชั่วคราวไม้ไผ่ที่กรุงเทพฯ ไม่มีการแสดงนี้อีกเลยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลวงวิจิตรฯ บันทึกไว้ในปี ๒๕๐๓ ว่า ๒๔ ปีมาแล้ว ที่ไม่มีการแสดงละครเรื่องนี้ ปีนี้สตรีวิทยาสมาคมได้ขออนุญาตนำมาแสดงอีกครั้ง หลวงวิจิตรฯ อนุมัติและได้นำบทมา “แก้ไขเล็กน้อยที่สุด” ทั้งได้หาครูฝึกซ้อมและผู้แสดงเมื่อครั้งก่อนนั้นได้หลายคน มาช่วยฝึกซ้อมในการแสดงละครครั้งนี้ เพื่อให้ “เหมือนกับที่แสดงเมื่อ ๒๔ ปีมาแล้ว เกือบทุกประการ”๑๙
การกลับมาของเลือดสุพรรณ ด้านหนึ่งคือการกลับมาของการจดจำของผู้ชมที่ขณะนี้ได้เติบใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มชั้นบริหารมีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจของประเทศ ในกรณีนี้คือทั้งผู้บริหารและผู้ปกครองของโรงเรียนสตรีวิทยา ที่อยู่ใกล้ชิดกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ แต่อีกด้านหนึ่ง เลือดสุพรรณสามารถคืนสู่เวทีการแสดงได้อีกครั้ง ก็อาจเพราะในยุคสมัยรัฐบาล “คณะปฏิวัติ” จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๐๑ เป็นต้นมา หลวงวิจิตรฯ คือหนึ่งในบุคคลสำคัญในใจกลางอำนาจนั้น ในตำแหน่งปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งมีอำนาจสั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในอีกหลายหน่วยงานระดับสูงของประเทศ โดยเหตุนี้ละครและบทเพลงของหลวงวิจิตรฯ จึงฟื้นชีพเพราะการมีอำนาจทางการเมือง เหมือนกับจุดเริ่มต้นของละครเรื่องนี้
ที่จริงแล้ว ละครและเพลงของหลวงวิจิตรฯ ไม่ได้หายไปจากเวทีการแสดงในทศวรรษ ๒๔๙๐ แต่ประการใด หลังจากจบคดีอาชญากรสงครามที่หลวงวิจิตรฯ ถูกจับและถูกคุมขังในคุกลหุโทษราว ๑ เดือน (๒๒ กุมภาพันธ์ ถึง ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๙) ร่วมกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และผู้นำทางการเมืองทหารอีกหลายคน จนคดีถูกยกเลิกด้วยกฎหมายอาชญากรสงครามเป็นโมฆะ หลังจากนั้น หลวงวิจิตรฯ ไม่ได้รับราชการอีกต่อไป และหาเลี้ยงชีพด้วยสร้างคณะละครอาชีพออกแสดงในบทประพันธ์ของตนเองหลายเรื่อง ในชื่อ “คณะวิจิตรศิลป์” (ปี ๒๔๘๙–๙๑) ในแนวตื่นเต้นผจญภัยเร้าอารมณ์อิงฉากอดีต แต่ “การละครขาดทุน เกือบจะต้องขายบ้าน”๒๐ จึงยุติลง แต่งานด้านการแต่งนิยายขนาดยาวและเรื่องสั้น กล่าวกันว่าสร้างชื่อเสียงและเงินทองให้ได้ถึงเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท การประพันธ์จึงเป็นงานประจำอาชีพของหลวงวิจิตรฯ ตั้งแต่นั้นมา
หลวงวิจิตรฯ ได้กลับคืนตำแหน่งทางการเมืองโดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอีกครั้ง เมื่อคณะทหารรัฐประหารรัฐบาลตนเองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๔ ในปีต่อมาจึงได้กลับรับราชการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งด้วยการไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยที่อินเดีย และปีต่อมาย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ ดังกล่าวนี้ คอมมิวนิสต์ได้เป็นลัทธิอุดมการณ์ที่รัฐทหารไทยใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก และใช้ปราบปรามฝ่ายต่อต้านทางการเมือง รวมทั้งกระชับอำนาจของรัฐทหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บริการละครและเพลงของหลวงวิจิตรฯ เพื่อสร้างสภาวะผู้นำแบบพ่อขุนสมัยสุโขทัยปีละ ๑ เรื่องในชุด “อานุภาพ” โดยเปิดตัวด้วยเรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ในปี ๒๔๙๗ โดยคณะแสดงและโรงละครกรมศิลปากร ละครและเพลงประสบความสำเร็จด้วยอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป คือ ข้าศึกที่ซ่อนเร้นในบริบทของสังคมคือ คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่การปกครองและวัฒนธรรมของระบอบเก่าเหมือนเช่นก่อน ละครและเพลงปลูกใจคนไทยให้รักชาติของหลวงวิจิตรฯ ยุคนี้ ก็คือให้รักและพิทักษ์รัฐทหาร เชิดชูผู้นำทหาร เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารสร้างยุค “คณะปฏิวัติ” ที่ทำให้ผู้นำเช่น จอมพล สฤษดิ์ได้มรดกฐานะ “พ่อขุน” จากภาพลักษณ์ที่หลวงวิจิตรฯ ได้สร้างไว้ให้กับ จอมพล ป. เมื่อหลายปีก่อน รวมทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๒๕๐๒ (บิดามาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๙ ปี ๒๕๕๗) ในวัยหลัง๖๐ปีของหลวงวิจิตรฯในตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมืองหลวงวิจิตรฯไม่ต้องสร้างบทละครใหม่อีกต่อไปแต่ละครบทเก่าๆ ตั้งแต่เรื่องแรกเลือดสุพรรณได้กลับฟื้นมาโลดแล่นบนเวทีพร้อมกับแพร่กระจายผ่านระบบการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนฝึกหัดครูที่เริ่มปรากฏราวดอกเห็ดทั้งยังมีโทรทัศน์และวิทยุที่รัฐทหารสร้างและครอบครองไว้ช่วยปฏิบัติการแพร่กระจายละครและเพลงของหลวงวิจิตรฯไปทั้งประเทศอีกด้วยเป็นการฟื้นกลับคืนมาจากละครเพื่อปลูกใจให้รักชาติเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างชาติสร้างประชาธิปไตยในอดีตมาเป็นปลูกใจให้รักชาติเพื่อรัฐทหารและต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อยู่กับไทยเราอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยค่อยๆ สลายตัวในปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ และยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ที่ประกาศใช้เมื่อปี ๒๔๙๕ ลงในปี ๒๕๔๓ เรื่องของคอมมิวนิสต์จบลงไปแล้ว แต่เลือดสุพรรณยังคงแสดงอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งกรมศิลปากร บทเพลงดวงจันทร์ และเพลงเลือดสุพรรณ ยังได้รับการขับร้องจากนักร้องนักดนตรีหลายเวอร์ชั่น ดังที่เราสามารถสืบค้นดูได้ใน Google และ Youtube
การดำรงอยู่ของละครและเพลงเลือดสุพรรณ ด้านหนึ่ง ได้บอกเราว่า เลือดสุพรรณ และหลวงวิจิตรฯ ยังไม่ได้ตายไปจากสังคมไทย ยังอยู่กับเรามา ๘ ทศวรรษแล้ว แม้ว่าจะดูมีลมหายใจที่แผ่วเบาก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า ความคิดความเชื่ออุดมการณ์รัฐทหารที่สร้างขึ้นในอดีตนั้นยังอยู่กับเรา โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาทุกระดับ ในยุคที่เรากำลังไร้พรมแดน ในยุคที่มุ่งสร้างประชาคมอาเซียนในยุคโลกาภิวัตน์
ท้ายนี้ กล่าวได้ว่า เป็นความบกพร่องอย่างรุนแรงที่มีการเรียกบทละครและเพลงของหลวงวิจิตรฯ ตั้งแต่เรื่องแรกเลือดสุพรรณเป็นต้นมา ว่าคือบทละครและบทเพลง “ประวัติศาสตร์” หรือ “อิงประวัติศาสตร์” เพราะข้อเท็จจริง บทละครและเพลงเหล่านี้ทั้งหมดคือเรื่องแต่งแบบนิยายที่ใช้ฉากที่ดูเป็นอดีตที่สร้างขึ้นมาตามจินตนาการของนักประพันธ์เพียงเท่านั้นเอง
*ผู้เขียนเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เขียนต้องขอขอบคุณการที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ทั้ง คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว และคุณอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ได้เชิญไปเสวนาในหัวข้อที่เร้าใจกระตุกต่อมความคิดในชื่อ “หลวงวิจิตรวาทการ กับงานโฆษณา ‘เพื่อชาติ’ ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ที่ห้องโถงมติชนอคาเดมี จึงทำให้เกิดพลังกระตุ้นเร้าให้ผู้เขียนขยายการศึกษาแบบเจาะลึกในเรื่องเลือดสุพรรณ ดังปรากฏในบทความนี้
เชิงอรรถ
๑ หลวงวิจิตรวาทการ. “ความรู้บางเรื่องเกี่ยวกับการประพันธ์และการละคร” (ปาฐกถา, หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๙), ใน รำลึก ๑๐๐ ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ : บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๔๑). น. ๑๘๔–๑๘๖.
๒ บทละครเลือดสุพรรณ ใน พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (โดย สตรีวิทยาสมาคม) ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๕, น. ๑–๑๘. ดูละครได้ใน Youtube มีการแสดงของกรมศิลปากรเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ ในวาระครบ ๑๐๕ ปีหลวงวิจิตรวาทการ มีการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี มีการแสดงของสาขานาฏศิลป์และการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นต้น
๓ ในเอกสารบรรณานุกรมประวัติผลงานของหลวงวิจิตรฯ จะระบุว่า ละครขนาดใหญ่ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง เลือดสุพรรณ เป็นละครขนาดใหญ่ แต่การแสดงของกรมศิลปากรเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๔๖ ที่บันทึกเผยแพร่ทาง Youtube มีระยะเวลาแสดง ๒ ชั่วโมง รวมทั้งกิจกรรมก่อนแสดงด้วย ทั้งนี้การแสดงจริงก็อาจมีการพักครึ่งเวลาด้วย จึงรวมเป็นเวลามากกว่า ๒ ชั่วโมง ดูการแสดง เลือดสุพรรณ ที่สำนักงานสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงในวาระครบรอบ ๑๐๕ ปี หลวงวิจิตรวาทการ ณ โรงละครแห่งชาติ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๖, เผยแพร่ทาง Youtube เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗, ดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=tZDQTWEsKaI และhttps://www.youtube.com/watch?v=QaFUhyrdTpA
๔ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ๒๔๔๑–๒๕๐๕, (พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, ๒๕๐๕), น. ๗๒–๘๑. ประวัติตอนนี้กล่าวชื่อ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ว่าเป็น รมว.คลัง ซึ่งบุคคลท่านนี้เคยดำรงตำแหน่งนี้ในรัฐบาลพระยาพหลฯ ช่วงสั้นๆ ธันวาคม ๒๔๗๖–กันยายน ๒๔๗๗ แต่ในปีที่ละครนี้แสดง รมว.คลัง คือพระยาไชยยศสมบัติ โดยไม่มีบุคคลท่านนี้ร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลช่วงนี้แต่อย่างใด
๕ หลวงวิจิตรวาทการ. “คำชี้แจงของผู้แต่งบทละครเรื่องเลือดสุพรรณ,” ใน พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (โดย สตรีวิทยาสมาคม) ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๕, ไม่มีเลขหน้า.
๖ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ๒๔๔๑–๒๕๐๕, น. ๑๑๐.
๗ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๔๗๕ และ ๑ ปีหลังการปฏิวัติ. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๓), ดูหัวข้อคณะราษฎร และสาเหตุปัจจัยการปฏิวัติ น. ๑๓–๕๖.
๘ การแถลงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐ นำเสนอสัญญาที่จะแก้ไขกับประเทศต่างๆ เพื่อขออนุมัติจากสภา ก่อนดำเนินงานทางการทูตต่อไป ดูใน ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕–๒๕๑๗). (กรุงเทพฯ : กลุ่มรัฐกิจเสรี, ๒๕๑๗), น. ๒๕๗–๒๖๒. สำหรับ ๑๓ ประเทศที่แก้ไขสัญญาไม่เสมอภาคเสร็จ ทำให้ไทยมีเอกราชในทางศาลบริบูรณ์ ได้แก่ ๑. อังกฤษ ๒. สวิตเซอร์แลนด์ ๓. สวีเดน ๔. เดนมาร์ก ๕. สหรัฐอเมริกา ๖. นอร์เวย์ ๗. เบลเยียม ๘. อิตาลี ๙. ฝรั่งเศส ๑๐. ญี่ปุ่น ๑๑. เยอรมนี ๑๒. เนเธอร์แลนด์ และ ๑๓. โปรตุเกส เป็นประเทศสุดท้ายที่ลงนามกันเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๑
๙ ปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการเรื่อง “มนุสสปฏิวัติ” (Human Revolution) เป็นแนวคิดที่อธิบายการดำเนินงานของคณะราษฎรได้เป็นอย่างดี ซึ่งในด้านการสร้างลักษณะนิสัยใจคอของมนุษย์ หลวงวิจิตรฯ เสนอว่า ลักษณะความเป็นไทยคือการที่เราต้องพึ่งตัวเราเอง ดังนั้น การปลูกลักษณะนิสัยใจคอของคนไทย ต้องทำ ๓ เป้าหมาย ได้แก่ ปลูกความขยันขันแข็งในการงาน ปลูกความนิยมในงานอาชีพ และปลูกเพาะนิสัยพึ่งตนเอง ดูปาฐกถานี้ (บรรยายที่สโมสรกลาโหม วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๒) ได้ในหลวงวิจิตรวาทการ. ปาฐกถาและคำบรรยาย เล่ม ๒. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๔๖), น. ๔๑๙–๔๔๐.
๑๐ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย ๒๔๗๕–๒๕๐๐. พิมพ์ครั้งที่ ๕. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑), บทที่ ๓ “การเมืองไทยหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ : ประนีประนอมหรือขัดแย้ง”, น. ๑๒๑–๑๗๔.
๑๑ หลวงวิจิตรวาทการได้อุทิศหนังสือประวัติศาสตร์สากล เล่ม ๓ ที่จัดพิมพ์เมื่อปลายปี ๒๔๗๒ ให้แก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งได้ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสในปี ๒๔๖๓ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับหลวงวิจิตรฯ และหลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ๑ ใน ๗ สมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ได้ไปประจำสถานทูตไทยที่ปารีส และคงได้เป็นเพื่อนกันตลอด ๖ ปีที่อยู่ในปารีส การอุทิศให้กับหลวงประดิษฐ์ฯ ดังกล่าว ช่วยให้เราเห็นว่า ในขณะนั้น ชื่อเสียงของหลวงประดิษฐ์ฯ ในงานด้านกฎหมายน่าจะมีสูงยิ่ง คณะรัฐมนตรีพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๕), น. (๕).
๑๒ จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์. “นโยบายวัฒนธรรมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม : ลัทธิชาตินิยมกับผลกระทบทางสุนทรียทัศน์,” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, บรรณาธิการ. จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๐), น. ๒๖๕.
๑๓ หลวงวิจิตรวาทการ. “ความรัก,” (ปาฐกถาทางสถานีวิทยุศาลาแดง ๓ กันยายน ๒๔๗๓), ใน หลวงวิจิตรวาทการ. ปาฐกถาและคำบรรยาย เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๔๖), น. ๔๔.
๑๔ ดูการสรุปสาระสำคัญได้ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕–๒๕๐๐. พิมพ์ครั้งที่ ๕. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑), น. ๒๑๓–๒๑๗.
๑๕ จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์. “นโยบายวัฒนธรรมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม : ลัทธิชาตินิยมกับผลกระทบทางสุนทรียทัศน์,” น. ๒๗๔.
๑๖ หลวงวิจิตรวาทการ. “ผู้หญิง,” (ปาฐกถาทางสถานีวิทยุศาลาแดง ๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๓), ใน หลวงวิจิตรวาทการ. ปาฐกถาและคำบรรยาย เล่ม ๑. น. ๕๒–๖๐.
๑๗ หลวงวิจิตรวาทการ. “วัฒนธรรมสุโขทัย,” (ปาฐกถาที่กรมโฆษณาการ ๖ มีนาคม ๒๔๘๒), ใน หลวงวิจิตรวาทการ. ปาฐกถาและคำบรรยาย เล่ม ๑. น. ๔๐๑–๔๐๒, ๔๐๙, ๔๑๑.
๑๘ ดู “ประกาศคณะราษฎร” ได้ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒), ภาคผนวกที่ ๓. น. ๔๔๙–๕๐๑.
๑๙ หลวงวิจิตรวาทการ. “คำชี้แจงของผู้แต่งบทละครเรื่องเลือดสุพรรณ,” ไม่มีเลขหน้า.
๒๐ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ๒๔๔๑–๒๕๐๕, น. ๑๑๘.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2560