ทำไม “ตึกดิน” ของจีนฮากกา ที่ฝูเจี้ยนในจีน อเมริกาจึงเห็นเป็นฐานยิงขีปนาวุธ

ตึกดิน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน
ตึกดิน (ภาพโดย 郑 开亮 ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 3.0)

เมื่อ “ตึกดิน” ที่ มณฑลฝูเจี้ยน ใน ประเทศจีน ถูกสหรัฐอเมริกาเข้าใจผิดว่าเป็น “ฐานยิงขีปนาวุธ” !?

ในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาปูพรมสํารวจสภาพภูมิประเทศของชาติคู่อริทางการเมืองด้วยภาพถ่ายทางอากาศ จากภาพถ่ายทางอากาศเหล่านั้น สหรัฐอเมริกาพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แถบมณฑลฝูเจี้ยนกำลังก่อสร้างฐานขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีปหลายสิบแห่ง ซึ่งเป็นภัยอันตรายต่อชาวโลก

หากภาพทางอากาศช็อกโลก ที่แท้คือ “ตึกดิน” เก่าแก่ของจีนฮากกา

สิ่งที่สหรัฐอเมริกาพบเห็นในภาพทางอากาศคืออะไร จึงทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจผิดไปไกลได้ถึงเพียงนั้น คำตอบก็คือ อาคารที่มีผังวงกลมเรียงรายอยู่หลายสิบหลังภายในหุบเขากลางป่าที่มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ทางตะวันออกเฉียงใต้ประเทศจีน หน่วยงานทางทหารของสหรัฐอเมริกาสันนิษฐานว่า นี่เป็นหลักฐานแสดงถึงการกําลังก่อสร้าง ฐานยิงขีปนาวุธ

เหตุการณ์นี้ทำให้โลกรู้จัก “ตึกดินแห่งฝูเจี้ยน” ไปอย่างเร็ว

ตึกดิน หรือ ถู่โหลว (土楼) ใน มณฑลฝูเจี้ยน เป็นอาคารทรงกลมขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากคุ้นเคยกับอาคารอยู่อาศัยรูปทรงสี่เหลี่ยมมากกว่า  นอกจากนี้ตึกดินทรงกลมในมณฑลฝูเจี้ยนก็มีจำนวนมากที่มีอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง ก็ชวนให้น่าตกใจได้ ถ้ามันคือฐานขีปนาวุธจริงๆ

อะไรทําให้ริเริ่มก่อสร้างอาคารเป็นวงกลมและปิดทึบต่อโลกภายนอก

อาคารทรงกลมไม่ใช่แค่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังผนวกเอาการปรับตัวและความจำเป็นหลายด้าน เมื่อชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ฮากกา” หรือ “แคะ” อพยพมาปักหลักในตอนใต้ การบุกเบิกดินแดนใหม่ ที่ต้องระมัดระวังอันตรายจากสัตว์, โจรขโมย, เจ้าถิ่นเดิม ฯลฯ จะมีอะไรดีกว่าอยู่รวมกับพวกของตนเอง ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ตึกดินจึงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับพวกเขา

ตึกดิน มณฑลฝูเจี้ยน
ภาพด้านนอกตึกดิน ในมณฑลฝูเจี้ยน (ภาพจาก Gisling唐戈,CC-BY 3.0 Wikimedia commons: “Zhenchenglou.jpg”)

ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว กำแพงด้านนอกของตึกดินจึงมีความหนาเป็นเมตร ตึกดินบางแห่งกำแพงหนาถึง 2.5 เมตร สามารถป้องกันกระสุน หรือปืนใหญ่สมัยโบราณได้ ด้านบนของตึกดินมีช่องหน้าต่าง ให้คนภายในใช้สังเกตสถานการณ์ภายนอก หรือสำหรับยิงอาวุธโต้ตอบกับภายนอก ส่วนประตูที่ดูเหมือนจุดอ่อนเดียวที่ด้วยทำจากไม้ มีการสร้างห้องเหนือประตูสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหากมีการเผาประตู หรือถ้าหมดหนทางจริงๆ ตึกดินหลายแห่งยังมีทางลับสำหรับลำเลียงผู้คนออกไปข้างนอกได้อย่างปลอดภัย

นั่นทำให้รูปแบบของตึกดินทั้งหมดมีลักษณะคล้าย “ป้อมปราการ”

ผู้อยู่อาศัยในตึกดินแม้จะมาจากหลายครอบครัว แต่ส่วนมากมักเป็นคนตระกูลเดียวกัน หรือเครือญาติ ห้องหรือบ้านของแต่ละครอบครัว จะหันหน้าเข้าสู่ศูนย์กลางของวงกลมหรืออาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งส่วนกลาง และทางเข้าออกที่ทุกคนใช้ร่วมกัน ตึกดินที่มีขนาดใหญ่อาจก่อสร้างเป็นวงกลม (แบบโดนัท) ซ้อนกันอีก 1-2 วง และเป็นอาคารสูง 3-4 ก็มี ภายในมีทุกอย่างพร้อม ตั้งแต่พื้นที่พักอาศัยของแต่ละครอบครัว, ยุ้งฉาง, ศาลบรรพชน, บ่อน้ำ, ลานสำหรับตากผลิตผลทางการเกษตร ฯลฯ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยก็ปิดประตูเข้าออก สามารถอยู่ในตึกดินได้เป็นเดือนๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ “ตึกดิน” สถานที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตั้งข้อสงสัยว่าเป็น ฐานยิงขีปนาวุธ ข้ามทวีป กลายเป็นมรดกโลกในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นิธิพันธ์ วิประวิทย์. ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร, สำนักพิมพ์มติชน , กันยายน 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564