รัชกาลที่ 5 กับวิธีรับมือ “ฝรั่งมุง” ในการเสด็จประพาสยุโรป

ภาพรัชกาลที่ 5 ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส L’ILLUSTRATION ฉบับที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1910 (ภาพจากคุณไกรฤกษ์ นานา)

ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2449-2450) ของรัชกาลที่ 5 นั้น มีบ้างบางมุมที่ทรงไม่พอพระราชหฤทัย เช่นการรับเสด็จของประชาชนของบางประเทศ ซึ่งทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” หลายครั้งด้วยกัน ดังที่ พ.อ. ดร. ศรศักร  ชูสวัสดิ์ เรียบเรียงไว้ใน “เมื่อต้องเสด็จ ‘ไกลบ้าน’ ” (สนพ. มติชน. กันยายน 2554) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

เมื่อเสด็จประพาสเมืองปาเลอร์ดม เกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี  (11 ตุลาคม) ทรงเล่าว่า “พอย่างลงไปจากรถ แมลงวันก็ตอมแน่น แต่ไม่ใช่แมลงวันจริงๆ เป็นแมลงวันคน”

บางครั้งทรงบ่นด้วยถ้อยคําแรงๆ และทรงสงสัยว่า เพราะเหตุใดผู้คนจึงติดตามพระองค์มากมายเช่นนั้น เช่น ที่เมืองฟลอเรนส์ (20 พฤษภาคม) ผู้คนมาก จนกระทั่งพระองค์ทรงพระดำเนินไปทรงเลือกซื้อของไม่ได้

…ถ้าลงเดินเที่ยวหาเปนไม่ได้ คนตอมกันแน่น มันจะดูเอานรกฤาสวรรค์ เพราะดูไม่รู้แน่ ไม่เห็นเมืองใดเหมือนอิตาลี ฝนตกอยู่เสมอก็มายืนอยู่เต็มน่าโฮเตลกางร่มกันแน่น ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ได้เห็นก็แต่ชั่วเวลาออกจากประตู ผลุดขึ้นรถ รถก็เปนรถปิด สู้วิ่งตามดูจนหมดแรง ไปร้านไหนตอมอยู่น่าร้าน ประตูร้านปิดใช่ว่าจะเห็นอะไร เบ็ดเสร็จมายืนดูเสียสิบสี่สิบห้าชั่วโมง ได้เห็นสักสามเซกันต์ฤาสีเซกันต์ จึงถามว่านี้มันจะดูเอานรกฤาจะขึ้นสวรรค์อย่างไรแน่...”

………..

ภายหลังจึงไดข้อสรุปว่า การตอมดังกล่าวเป็นนิสัยของชาวอิตาลี ทรงเล่าว่า “ไม่ใช่ตอมแต่เฉภาะพ่อที่ว่าเปนเจ้าแผ่นดิน ใครแปลกหน้าเปนคนต่างประเทศมาแล้วถูกตอมด้วยกันทั้งนั้น ตอมเหมือนแมลงวันตอม ไม่เจ็บไม่ปวดอันใดเปนแต่ให้รำคาญเท่านั้น”

หม่อมนเรนทรราชา ราชองครักษ์ ผู้ติดตามยืนยันในทำนองเดียวกันว่า ไม่ใช่แต่รัชกาลที่ 5 เท่านั้นที่ทรงถูกมุงหรือตอมเช่นนั้น “แต่ว่าเปนคนไทยแล้ว จะไปหยุดอยู่ไหนต้องมีคนมุงดูกันจนเต็มถนนทุกแห่ง”

………..

สําหรับวิธีการที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้แก้การตอมมีหลายวิธี

วิธีแรก เสด็จฯ เลี่ยงไปทางอื่น เช่น ที่เมืองเวนิศ (18 พฤษภาคม) ขณะทรงพระดำเนินหาร้านขายเครื่องแก้ว “คนก็ค่อยมากขึ้นมากขึ้น ตามกราวมาข้างหลังแน่น หลบฝนเข้าไปที่ใดคนก็มาตอมอยู่น่าถนน ทั้งฝนตกอยู่เช่นนั้น ต้องวานให้โปลิสลับไปเรียกเรืออ้อมไปรับที่ท่าริมวัง เดินทนฝ่าฝนกลับมาเรือก็ยังไม่มา ต้องจ้างเรือจ้างแจวเดียวกลับมาทั้งกำลังฝน”

หรือที่เมืองฟลอเรนส์ เมื่อเสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำ พระองค์ต้องเสด็จฯ เลี่ยงออกไปทางด้านหลังของโรงแรมที่ประทับ แต่กระนั้นเมื่อเสด็จฯ กลับถึงโรงแรม “เปน 4 ทุ่มก็ยังมีคนคอย”

วิธีที่สอง โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ติดตามบางพระองค์แสดงเป็นพระองค์เอง เช่น ที่เมืองเนเปอล (25 เมษายน) ในอิตาลี เมืองแรกในยุโรปที่เสด็จฯ ไปถึง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมประทับรถพระที่นั่งไปเสวยที่โรงแรมตามหมายกำหนดการ

ส่วนพระองค์เองเสด็จฯ โดยรถรับจ้างไปเสวยที่ภัตตาคารอื่น “อยากจะไปกินเรสเตอรองต์จึงได้จัดการใหม่กับมิสเตออาเซลเมเยอ จ้างรถมารับตอนข้างหลังตึก สำหรับที่จะให้หลบคนดู ตอนข้างในให้กรมประจักษ์แอกต์เปนพระราชา ขึ้นรถแลน [ดอ] คอตั้งกระบวนแห่ไปกินเลี้ยงที่โฮเตล”

วิธีที่สาม การไล่คนพร้อมไปกับมีผู้แสดงแทน แล้วแยกเป็นสองกลุ่ม เช่น ที่เมืองเยนัว (27 เมษายน) “ต้องตกลงไล่กันเสียดื้อๆ ตั้งให้เยนตราเปนผู้แทนพระราชาออกเดินน่า มันก็ไม่เชื่อ รุมตอมพ่อเรื่อยไป ต้องเปลี่ยนกระบวนเดินห่างๆ กันจึงได้สำเร็จ”

วิธีสุดท้ายก็คือ เสด็จฯ ไป “ดูเขาบ้าง” เช่น เมื่อเสด็จไปถึงโรงแรมสตาล ไฮม์ ที่คุดวังเคน นอรเว (22 กรกฎาคม) ทรงเล่าว่า “ถูกถ่ายรูปเสียจริงๆ แลไม่รู้หยุด ในการที่จะให้หยุดนั้นก็ง่าย ไปยืนเรียกว่าให้มาถ่าย คงจะมีคนกล้าเข้ามาถ่ายสักคนเดียวเท่านั้น คราวนี้เข็ดไม่ใคร่จะมีใครถ่ายอิก ในเรื่องดูเหมือนกัน ถ้าเราไปดูเสียบ้างก็เรี่ย”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564