“มันซา มูซา” จักรพรรดิที่ถูกยกเป็น “ผู้ร่ำรวยสุดตลอดกาล” หาคนเทียบยาก รวยจากอะไร?

ภาพวาด มันซา มูซา จินตนาการขณะถือทองทรงลูกโลก ใน Catalan Atlas แผ่นที่ 6 จาก 12 ไฟล์ public domain

ข้อมูลเรื่องสถานะทางการเงินและความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีรอบโลกปรากฏให้คนยุคนี้เห็นกันบ่อยๆ ผ่านไปหลายเดือนเข้า อันดับก็ขยับกันไป ไม่ว่าใครจะอยู่อันดับใด มีคนบางกลุ่มเชื่อว่า บุคคลซึ่งร่ำรวยสุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่เคยมีมาคือ มันซา มูซา (Mansa Musa) แห่งอาณาจักรมาลี ในแอฟริกันตะวันตก

ก่อนจะกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปกครองยุคโบราณซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดนับตั้งแต่โลกอินเทอร์เน็ตแพร่กระจายในวงกว้างเป็นต้นมา คงต้องกล่าวถึงแหล่งข้อมูลในทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอาณาจักรมาลี (Mali Empire) กันก่อน ส่วนใหญ่แล้วข้อมูลที่บอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่นี้ในช่วงศตวรรษที่ 14 มาจากเอกสารบันทึกในภาษาอารบิก โดยเฉพาะจากเอกสารโดย Ibn Khaldun นักประวัติศาสตร์, Ibn Battuta นักเดินทางผจญภัย และนักภูมิศาสตร์เรียกกันว่า al-Umari

ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง

บันทึกของ Ibn Khaldun ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ปกครองอาณาจักมาลีไว้หลายช่วง ช่วงเวลาหนึ่งบอกเล่าว่า “มันซา มูซา” (คำว่า มันซา – Mansa หมายถึง จักรพรรดิ, ผู้พิชิต หรือสุลต่าน) ขึ้นปกครองต่อจาก มันซา อาบูบาคาริ เคอิตา ที่ 2 (Mansa Abubakari Keita II) ซึ่งออกเดินทางไปพร้อมกับกองเรือยิ่งใหญ่

Mansa Abubakari Keita II แต่งตั้งให้ มูซา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มคนใกล้ชิดทำหน้าที่รักษาการ แม้ว่ามูซา ไม่ได้มีสายเลือดเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองก็ตาม

Abubakari II ปกครองอาณาจักรที่กล่าวกันว่าร่ำรวยและใหญ่โตมากที่สุดในโลกในเวลานั้น กินพื้นที่ไปเกือบทั้งหมดของแถบแอฟริกาตะวันตก

Gaoussou Diawara นักวิชาการชาวมาลี ผู้เขียนหนังสือ The Saga of Abubakari II เล่าไว้ว่า พระองค์ออกเดินทางไปพร้อมกับกองเรือร่วมพันลำ โดยสละพระราชอำนาจทั้งหมดและทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อออกค้นหาองค์ความรู้และหวังว่าจะค้นพบสิ่งต่างๆ

การเดินทางสำรวจทางเรือครั้งนั้น Mansa Abubakari Keita II ไม่ได้เดินทางกลับมาอีกเลย มีข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปของผู้ปกครองรายนี้แตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่ในที่นี้จะไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลส่วนนี้

เมื่อเป็นเช่นนั้น “มูซา” จึงกลายเป็นผู้ปกครองและมีชื่อเสียงในเวลาต่อมาในฐานะผู้ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่ขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งนั้นไม่ตรงกัน บ้างก็บอกว่าปี 1307 บ้างก็บอกว่า 1312 ส่วนใหญ่แล้วมักเรียกกันในชื่อ “มันซา มูซา” หรือ มูซาที่ 1 แห่งมาลี

ข้อมูลที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์หลากหลายแห่งล้วนบรรจุข้อมูลทางการเงินภายหลังการประเมินปรับอัตราเงินเมื่อเทียบกับอัตราค่าเงินในปัจจุบันแล้ว จนนำมาสู่การประเมินว่า มันซา มูซา มีทรัพย์สินรวมเท่ากับ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน (2020) มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดถูกประเมินออกมาเป็นตัวเลขแตกต่างกัน มีตั้งแต่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คงเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงตัวเลขแบบชัดเจน

เมื่อมาถึงตรงนี้ คำถามที่น่าจะอยู่ในใจใครหลายคนคือ (ถ้าสมมติว่ารวยจริง) แล้วรวยจากอะไร?

ความร่ำรวย

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงอาณาจักรมาลีมากนัก อย่างไรก็ตาม หากค้นข้อมูลแหล่งที่มาของสัญลักษณ์ความมั่งคั่งในยุคกลางอย่างทองคำ ซึ่งมีบทบาทสำคัญท่ามกลางสงครามครูเสด (Crusade) ระหว่างยุโรปกับตะวันออกกลางแล้ว จะพบว่า ทองคำในยุโรปและตะวันออกกลางไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งมาจากอาณาจักรมาเลียน (Malian Empire) ของมีค่าที่ทำให้มาลีมั่งคั่งมหาศาลในยุคโบราณก็คือทองคำนั่นเอง

ฟันเฟืองสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความมั่งคั่งของอาณาจักรล้วนผูกพันกับทรัพยากรในพื้นที่และความสามารถในการทำการค้า สินค้าสำคัญในเส้นทางการค้าของมาลีคือ เกลือ ทองคำ และถั่วโคลา (kola nut)

เกลือผลิตกันทางตอนเหนือ และขนส่งโดยใช้อูฐผ่านทะเลทรายมา ส่วนทองคำอยู่ในเหมืองทางตอนใต้ที่ Bambuk ซึ่งถือเป็นแหล่งทรัพยากรด้านทองคำราวครึ่งหนึ่งของทองคำในโลกยุคนั้น ขณะที่ถั่วโคลาปลูกในป่าใกล้กับ Akan ในบรรดา 3 ทรัพยากรสำคัญ เกลือและทองคำถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ

ในสมัยนั้น เกลือเป็นของสำคัญสำหรับนักเดินทาง ไม่ใช่แค่นำมาถนอมอาหารเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ทดแทนเกลือในร่างกายที่เสียไปจากเหงื่อขณะเดินทางในพื้นที่แห้งแล้งและยากจะเดินทางข้ามผ่านอีกโซนหนึ่งในโลก ขณะที่ถั่วโคลาก็มีส่วนช่วยยังชีพสำหรับคนที่ต้องมีวิถีชีวิตในทะเลทราย เชื่อกันว่าถั่วชนิดนี้ช่วยระงับความกระหายและทำให้เดินทางได้สะดวกขึ้น

แน่นอนว่า ทองคำคือสิ่งของมีค่าตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แต่ในสมัยศตวรรษที่ 14 ทองคำมีมูลค่ามาก แต่สำหรับการค้าภายในท้องถิ่น ทองคำไม่ค่อยมีบทบาทนัก มันยังมีค่าสูงเกินไปสำหรับคนในทะเลทรายซึ่งคนกลุ่มนี้ใช้เกลือและถั่วโคลามากกว่า ทองคำกลับนำมาใช้สำหรับซื้อผ้า กระดาษ จากมาเกร็บ (Maghreb) และอียิปต์ ซื้อทองแดง อาวุธ และม้า จากแอฟริกาเหนือและยุโรป

อย่างไรก็ตาม บทบาทอันสืบเนื่องจากการขึ้นปกครองอาณาจักรที่ทำให้มันซา มูซา เป็นที่จดจำอีกประการคือการพัฒนาอัตลักษณ์และทรัพย์สินทางปัญญาของดินแดน มาลีรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอย่างดนตรี, กวี, เครื่องปั้น, เครื่องเพชร และการบอกเล่าเรื่องราวข้อมูลต่างๆ

มันซา มูซา ยังมีชื่อเสียงจากการเดินทางจาริกแสวงบุญไปที่เมกกะ (Mecca) กล่าวกันว่าในช่วงปี 1324

นอกเหนือจากข้อมูลเกี่ยวกับความมั่งคั่งแล้ว มันซา มูซา ยังโดดเด่นด้านการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรของตัวเองไปจนถึงการสร้างภาพลักษณ์ตัวเองต่อสาธารณชน มีพรสวรรค์ในการพัฒนาโครงสร้าง และการบริหารจัดการ มรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรมาลีแม้ว่าจะผ่านอุปสรรคและกระจัดกระจายกันไป แต่มีหลายอย่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

หากนับพื้นที่อาณาจักรมาลีในทางตะวันออกมาจนถึงตะวันตกกินพื้นที่จากชายฝั่งแอตแลนติกมาจนถึงช่วงโค้งของแม่น้ำไนเจอร์ (Niger) ขณะที่ทางทิศเหนือจรดใต้ กินพื้นที่จากทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าอันแห้งแล้ง มาจนถึงป่าอันเขียวขจีแถบเส้นศูนย์สูตรแอฟริกา อาณาจักรแห่งมาลีกินพื้นที่รวมถึงดินแดนประเทศในปัจจุบันอย่าง มาลี, เซเนกัล, กินี, ไนเจอร์, ไนจีเรีย และเบอร์คินา ฟาโซ

เรียกได้ว่ากินพื้นที่มหาศาล ในพื้นที่ซึ่งอาณาจักรครอบคลุมถึงมีหลากหลายภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ชน นั่นแสดงให้เห็นว่า อาณาจักรซึ่งมันซา มูซา ต้องปกครองมีขนาดใหญ่ไม่พอ ยังหลากหลายและยากต่อการปกครอง แน่นอนว่าการใช้กำลังทางทหารก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่มูซา เลือกใช้กลวิธีแข็งกร้าวน้อยกว่านั้น

Caseley-Hayford ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมมาลีในยุคกลางชี้ว่า มูซา มีทักษะความสามารถในการร้อยเรียงถ่ายทอดความคิดว่าความสำเร็จของอาณาจักรไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่กำลังการทหารเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับการสร้างความเข้าใจร่วมกันในหมู่ผู้พำนักอาศัยในดินแดนว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองได้อย่างน่าประหลาด

มูซา ใช้ศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบาย ความพยายามในการรวมประชากรที่หลากหลายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ผลแตกต่างหลากหลายออกไป มีผู้เปลี่ยนศาสนาบ้าง

อย่างไรก็ตาม คนงานเหมืองทองคำทางตอนใต้ของมาลี ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจในอาณาจักรนี้มีท่าทีต่อต้านแนวทางของรัฐ และพวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วย

หลังจากนั้น มูซา ไม่เคยใช้กฎหมายผลักดันความเชื่ออื่นออก ไม่เคยทำสงครามเชิงศาสนา และแทบจะไม่ได้ใช้คำสอนทางมุสลิมมาใช้ในกฎหมาย ตราบใดที่ประชากรในอาณาจักรยังจ่ายภาษีและรับใช้ในกองทัพเมื่อมีประกาศเรียก อาณาจักรมาลียังยอมรับหรือแม้แต่สนับสนุนการแสดงออกทางความเชื่อศาสนาที่แตกต่าง

เดินทางไปเมกกะ

ในปี 1324 มูซา ร่วมประกอบพิธีฮัญจ์ (Hajj) เดินทางไปจาริกแสวงบุญที่เมกกะ (Mecca) พระองค์เลือกเดินทางบก เดินทางร่วม 6,000 ไมล์ ไปตามเส้นทางคาราวานจากมาเกร็บ สู่อียิปต์ จากอียิปต์ สู่เมกกะ การเดินทางไปเมกกะ ของมูซา ปรากฏในบันทึกหลายแห่ง แตกต่างจากข้อมูลเกี่ยวกับการปกครองในอาณาจักรของพระองค์เองซึ่งไม่ค่อยมีในบันทึก

มีบันทึกไว้ว่าการเดินทางของมูซา มีผู้คนติดตามไปด้วยร่วม 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่มาจากกองทัพ และมีทาสอีก 12,000 คน บรรดาผู้คนที่ร่วมเดินทางประดับตกแต่งร่างกายด้วยผ้าไหมราคาแพง และมีทองคำแท่งติดตัวด้วย ขบวนของมูซา มีทาสนำหน้าร่วม 5,000 คน

ในเส้นทางการเดินทาง มีบันทึกว่า มันซา มูซา ซื้อสินค้าต่างชาติตามท้องถนนด้วยความเมตตา แม้จะมีเจตนาดี แต่ทองคำของมันซา มูซา ส่งผลกระทบต่อมูลค่าแร่โลหะในอียิปต์ เชื่อกันว่าสภาพเศรษฐกิจในอียิปต์ได้รับผลกระทบจนต้องใช้เวลาฟื้นฟูนับสิบปี

ดร. รูดอล์ฟ แวร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า ในยุคกลาง พื้นที่เดียวที่จะมีความแข็งแกร่งทางการทหาร, เศรษฐกิจ และการเมืองในระดับเดียวกับอาณาจักรมาลีอาจมีเพียงจีนเท่านั้น

พัฒนาเมืองและแหล่งความรู้

ภายหลังจากเดินทางกลับจากเมกกะ พระองค์ลงทุนด้วยทรัพยากรในอาณาจักรพัฒนาสิ่งที่สำคัญต่อรากฐานทางวิชาการเชิงอิสลามในแอฟริกาตะวันตก มูซา พัฒนาเมืองทิมบัคตู (Timbuktu) [เมืองที่แม่ทัพรักษาการอาณาจักรขยายพื้นที่ไปได้ระหว่างมูซา ไปแสวงบุญ] ยุคทศวรรษ 1400s มีมหาวิทยาลัย 80 แห่ง เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่รุ่มรวยทางองค์ความรู้ มีนักวิชาการจากทั่วโลกเดินทางมาที่เมืองเพื่อศึกษากฎหมายอิสลาม ดาราศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆ ในแอฟริกาตะวันตก

ตลอดช่วงที่พระองค์ปกครอง อาณาจักรมาลีเจริญรุ่งเรือง ระยะเวลาที่พระองค์สวรรคตยังไม่สามารถระบุแน่ชัด บางแห่งว่าคือปี 1337 สาเหตุการสวรรคตก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัด ขณะที่พระราชโอรสที่ขึ้นปกครองต่อจากพระองค์ก็ยังอยู่ในช่วงที่อาณาจักรรุ่งเรือง

ภายหลังมันซา มูซา จากไปแล้วไม่นานนัก ชุมชนทางตะวันออกของอาณาจักเริ่มแยกตัวเป็นอิสระ เพื่อนบ้านก็เริ่มฉวยโอกาสจากสภาพสั่นคลอน กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 15 เมื่อเกิดเส้นทางการค้าใหม่และมีอาณาจักรอื่นขึ้นมาแข่งขันอาณาจักรมาลีจึงเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย

แคทลีน บิกฟอร์ด เบอร์ซอค (Kathleen Bickford Berzock) จากพิพิธภัณฑ์ The Bloc Museum of Art เผยว่า ลัทธิจักรวรรดินิยม และการค้าทาสในแอตแลนติกส่งผลกระทบต่อมุมมองของชาวยุโรป จนถึงยุโรป-อเมริกันในการเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทวีปแอฟริกาและชาวแอฟริกัน ซึ่งเป็นผลให้ข้อมูลจาก “มันซา มูซา” ไม่ค่อยปรากฏในพื้นที่ประวัติศาสตร์ในยุโรปหรืออเมริกันในระยะหนึ่ง อาจเรียกได้ว่า “สาบสูญ” ไปจากหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปก็ว่าได้ แม้ว่าในอดีตจะมีกษัตริย์แอฟริกันที่ยิ่งใหญ่ หรือเมืองในแอฟริกาจะมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทางความคิดมากเพียงใดก็ตาม

 


อ้างอิง :

Baxter, Joan. “Africa’s ‘greatest explorer’ “. BBC. Online. Published 13 DEC 2000. Access 13 JUL 2021. <http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/1068950.stm>

Bell, Nawal Morcos. “The Age of Mansa Musa of Mali: Problems in Succession and Chronology”. The International Journal of African Historical Studies Vol. 5, No. 2 (1972), pp. 221-234 (14 pages) Published By: Boston University African Studies Center. Access 13 JUL 2021. <https://www.jstor.org/stable/217515>

“The richest person who ever lived”. BBC Reel. Online. Published 12 APR 2021. Access 13 JUL 2021. <https://www.bbc.com/reel/video/p09dcbl0/the-richest-person-who-ever-lived>

Morgan, Thad. “This 14th-Century African Emperor Remains the Richest Person in History”. History. Online. Published 31 AUG 2018. Access 13 JUL 2021. <https://www.history.com/news/who-was-the-richest-man-in-history-mansa-musa>

“Mūsā I of Mali”. Britannica. Online. Access 13 JUL 2021. <https://www.britannica.com/biography/Musa-I-of-Mali>

“Mansa Musa I of Mali: Gold, Salt, and Storytelling in Medieval West Africa”. Global History of Capitalism Project. Oxford Center of Global History, University of Oxford. APR 2020. Access 13 JUL 2021. <https://globalcapitalism.history.ox.ac.uk/files/ghocmansamusainmalipdf>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564