ตัวอักษรลาว “ร รถ” กลับมาแล้ว…อย่างสง่างาม!

ตัวอักษร “ร รถ” ในภาษาลาวนั้นเดิมทีใช้เขียนแทนเสียงที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเพื่อเป็นอักษรแทนเสียงรัวลิ้น (หรือเสียง “ร เรือ” ที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในภาษาไทย ไม่ใช่เสียง “ล เลือ” ที่คนไทยเคยชิน!?!) “ร รถ” จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ร หันลิ้น”

แม้ว่าเสียงของตัวอักษร “ร รถ” หรือ “ร หันลิ้น” จะเป็นเสียงรัวลิ้นดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงเสียงรัวลิ้นไม่มีอยู่ในระบบเสียงภาษาลาวปัจจุบัน คนลาวออกเสียง “ร รถ” ว่า /ลอ-ลด/ โดยที่คณะกรรมการอักษรศาสตร์ลาวได้ประกาศให้ใช้ตัว “ร รถ” อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ (มหาสิลา วีระวงส์ ๑๙๙๕ : ๒๖-๒๗) เช่นคำว่า ອັກຂຣວິທີ <อักขรวิที> ຣາຊກາຣ <ราชการ> ບໍຣິສັທ <บริสัท> ในภาษาลาวล้วนแล้วแต่สะกดด้วยตัว “ร รถ” ทั้งสิ้น แต่อ่านออกเสียงว่า /อัก-ขะ-หละ-วิ-ที/ /ลาด-ซะ-กาน/ และ /บอ-ลิ-สัด/ ตามลำดับ

การสะกดคำในช่วงเวลานั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับไทยเราในปัจจุบันที่เขียนตามเค้ามูลเดิมของคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แต่ในเวลาต่อมาขบวนการแนวลาวรักชาติ (ที่ได้กลายมาเป็นพรรคประชาชนปฏิวัติลาวในภายหลัง) ได้ยึดถือมติที่ ๑ ข้อที่ ๒ ซึ่งเสนอโดยราชบัณฑิตสภาลาวให้สะกดคำตามเสียงอย่างแท้จริง ตัวอย่างคำข้างต้นปัจจุบันนี้ภาษาลาวสะกดอักษรว่า ອັກຊະຫລະວິທີ <อักขะหละวิที> ລາຊະການ <ลาชะกาน> และ ບໍລິສັດ <บอลิสัด>

สังเกตได้ว่าอักษร “ล ลิง” ใช้สะกดแทนที่ตัว “ร รถ” ตามการออกเสียงของคนลาว

หนังสือเรื่อง “ไวยากอนลาว” โดย พูมี วงวิจิต

ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ คุณจินตรัยอธิบายว่า ตัวอักษรลาวมีทั้งสิ้น ๒๗ ตัว แต่ในโปสเตอร์อักษรลาวที่อ้างจากข้อเขียนของคุณแพรวา พานิชกิจ (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๓๘) ปรากฏตัวอักษรลาวเพียง ๒๖ ตัว อักษรที่ขาดไปก็คือ “ร รถ” (ซึ่งคุณจินตรัยเรียกมันว่า “ร รุงรัง”) ที่มันหายไปจากหนังสือลาวนั้น มหาสิลา วีระวงส์ กล่าวไว้ว่า เมื่อขบวนการแนวลาวรักชาติกำหนดให้มีการสะกดคำตามเสียงอย่างแท้จริงนั้น ให้เลิกใช้ตัวอักษร “ร รถ” ด้วย เช่นคำว่า ຣາຊາ  <ราชา> ให้เขียนว่า ລາຊາ <ลาชา> (มหาสิลา วีระวงส์ : ๑๙๙๕ : ๒)

สำหรับเหตุผลที่ตัว “ร รถ” ถูกตัดทิ้งออกไปนั้น คุณทองเพ็ด กิ่งสะดา อธิบายว่า :

ผู้ที่กล้าตัดตัว “ร” ออกจากระบบอักษรลาวนั้นเป็นผู้ที่เคารพ จงรักภักดีต่อเอกลักษณ์และสภาพความเป็นจริงของภาษาลาว และมีจุดประสงค์อยากทำให้ภาษาลาวกะทัดรัดง่ายดาย รับใช้มหาชนได้ดี พร้อมทั้งอยากทำให้ภาษาลาวกลับกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญที่สุดของทั่วปวงชนลาว ท่านอ้างเหตุผลว่า “คำพูดในภาษาลาวต่างกับคำพูดในภาษาบาลีอยู่ตรงที่คำภาษาบาลีมีเสียงตัว ร ที่หันลิ้น อยู่ระหว่าง “ฮ” และ ตัว “ล” แต่ภาษาลาวไม่มีเสียง “ร” มีแต่เสียงตัว “ล” กับตัว “ฮ” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนคำพูดจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาลาวนั้น จึงได้เอาคำที่มีเสียงตัว “ร” นั้น เปลี่ยนมาเป็นตัว “ฮ” หรือตัว “ล” ตามแต่มหาชนจะเคยใช้”

ทองเพ็ด กิ่งสะดา ๑๙๙๐ : ๑๐๓

หลักการเขียนตามเสียงที่ทางการลาวยึดถือนี้ มาจากหนังสือเรื่อง “ไวยากอนลาว” ของคุณพูมี วงวิจิด ในปี ๑๙๖๖ ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการแนวลาวรักชาติกำลังดำเนินการต่อสู้กับการแทรกแซงของอเมริกาอย่างดุเดือด

คุณพูมีเองก็เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในขบวนการแนวลาวรักชาติที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้อง (สหาย) ร่วมอุดมการณ์ ในเวลานั้นแนวลาวรักชาติกำลังปลุกระดมความสามัคคีกันของคนในชาติ ภาษาที่มีเอกภาพก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดความสามัคคีกัน การตัดตัว “ร รถ” ออกไปจะทำให้ระบบการเขียนของลาวมีความยุ่งยากน้อยลง นั่นหมายความว่าคนลาวจะเรียนรู้ระบบการเขียนภาษาของตนอย่างเป็นเอกภาพภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าประเทศลาวประกอบไปด้วยชนเผ่าทั้งหมด ๖๘ ชนเผ่า ในจำนวนนี้มีชนเผ่าลาวสูงและลาวเทิงซึ่งไม่ได้พูดภาษาลาวเป็นภาษาแม่ถึง ๓๐% ของประชากรทั้งประเทศ การอ่านออกเขียนได้จึงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลสมัยนั้นจำเป็นต้องรีบดำเนินการเพื่อให้ประชาชนลาวทุกเผ่าติดต่อสื่อสารกันได้อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ เพราะหากตัวอักษร “ร รถ” (อ่านออกเสียงว่า /ลอ-ลด/) ยังคงอยู่ต่อไปก็จะไปซ้ำซ้อนกับเสียงของตัวอักษร “ล ลิง” ซึ่งจะทำให้คนลาวสับสนยิ่งขึ้นว่าคำไหนควรจะสะกดด้วย “ร รถ” หรือ “ล ลิง” กันแน่ เช่น “ราชการ” ควรสะกดว่า ຮາຊກາຮ <ราชะกาน> หรือ ລາຊະການ <ลาชะกาน> จึงจะถูก

ตำรา “ไวยากอนลาว” เล่มดังกล่าวสอนวิธีการสะกดคำที่ไม่มีความยุ่งยากใดๆ เป็นการเขียนตามเสียงอย่างแท้จริง เช่น คำว่า ຄນະກັມມະກາຣ <คนะกัมมะการ> “คณะกรรมการ” ທັມມ໌ <ทัมม์> “ธรรม” ອັກສຣສາຕຣ໌ <อักสรสาตร์> “อักษรศาสตร์” ซึ่งเดิมประกอบไปด้วยตัวการันต์และวิธีการสะกดที่ยุ่งยาก ให้สะกดเสียใหม่เป็น ຄະນະກຳມະການ <คะนะกำมะกาน> ທຳ <ทำ> และ ອ້ກສອນສາດ <อักสอนสาด> ตามลำดับ

ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณจินตรัยที่กล่าวว่า แม้ตัว “ร รถ” จะถูกตัดออกไป แต่คนลาวยังไม่ลืมตัวอักษรนี้เลย ตัวอักษร “ร รถ” ปรากฏให้เห็นในหนังสือลาวตลอดช่วงระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา อักษร “ร รถ” เป็นประโยชน์อย่างมากในการจดบันทึกระบบเสียงของชนเผ่ากลุ่มต่างๆ และการสะกดคำที่มาจากภาษาต่างประเทศที่มีเสียง “ร” ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเสียง “ร รัวลิ้น” แบบแขก หรือ “ร ม้วนลิ้น” แบบในภาษาอังกฤษ เพราะเป็นการแยกคำยืมและคำทับศัพท์ออกจากคำลาวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยแยกความแตกต่างของเสียง “ล” กับ “ร” สำหรับผู้ที่ต้องการออกเสียง “ร” แบบต่างประเทศ เช่น  ຣີເວີສໂອສໂມຊີສ <รีเวิสโอสโมซีส> ແສງອູນຕຣາໄວໂອເລັດ <แสงอูนตราไวโอเล็ด> (จากโฆษณาน้ำดื่ม) ชื่อเมืองต่างๆ เช่น ໂຣມ <โรม> ປາຣີ <ปารี> “ปารีส” เป็นต้น

คนลาวที่รู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และภาษาอื่นๆ ที่มีเสียงประเภท “ร” มีจำนวนไม่น้อย หลายคนสามารถออกเสียง “ร เรือ” อย่างไทยได้จากอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ คนลาวบางคนพอใจที่จะออกเสียง “ร” ตามอย่างภาษาต่างประเทศ การออกเสียง “ร” จึงสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะบางอย่างทางสังคมของผู้พูด อาจเป็นระดับการศึกษา สถานภาพทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ เป็นต้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความไม่เป็นเอกภาพในการสะกดคำในแง่ของการใช้ตัว “ร รถ” และ “ล ลิง” บางครั้งคำๆ เดียวกันมีพบทั้งผู้ที่ใช้อักษร “ร รถ” บ้าง “ล ลิง” บ้าง ต่างคนต่างเขียนไปตามใจชอบ เช่นคำว่า “ฝรั่ง” ที่หมายถึงประเทศฝรั่งเศส มีทั้งรูปเขียน ຝຣັ່ງ <ฝรั่ง> และ ຝະລັ່ງ <ฝะลั่ง> คำว่า “สันสกฤต” ก็มีพบทั้งรูป ສັນສກຣິດ <สันสกริด> และ ສັນສະກິດ <สันสะกิด> เป็นต้น

ดูเหมือนว่ารัฐบาลลาวเข้าใจดีถึงปัญหาการใช้ตัว “ร รถ” และ “ล ลิง” อย่างไม่มีหลักเกณฑ์นี้ เพราะในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมได้จัดการประชุมโต๊ะมน (= โต๊ะกลม) วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาษาลาวขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต่างแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้ตัวอักษร “ร รถ” ในหลายแง่หลายมุม โดยรวมแล้วส่วนใหญ่เสนอให้นำอักษร “ร รถ” กลับมาใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

และในที่สุดสถาบันค้นคว้าวัฒนธรรมสังคมและกรมวรรณคดีและวัฒนธรรมมหาชน กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของ ส.ป.ป.ลาว ก็มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้มีการนำตัวอักษร “ร รถ” กลับมาใช้ใหม่ (สุวัน ทีละวง ๑๙๙๗ : ๓๖) มตินี้น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับความเป็นเอกภาพของอักขรวิธีลาว

อย่างไรก็ตามผู้เขียนพบว่าแบบเรียนภาษาลาวระดับชั้นประถมต้นยังไม่ได้มีการเพิ่มตัวอักษร “ร รถ” เข้าไป อาจเป็นเพราะแบบเรียนเหล่านี้เพิ่งได้รับการแก้ไขปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหาในระยะเวลา ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับมติที่ให้นำอักษร “ร รถ” กลับมาใช้ใหม่ หรือคงจะเป็นช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย กระทรวงศึกษาธิการจึงอาจกำลังดำเนินการปรับปรุงแบบเรียนอยู่ และเมื่อผู้เขียนสำรวจตลาดในแขวงกำแพงนครเวียงจันเพื่อดูโปสเตอร์อักษรลาวที่มีขายอยู่ตามร้านใหญ่ๆ ทั่วไป (เท่าที่ทราบมีอยู่ ๒ แห่ง คือร้านขายหนังสือแห่งรัฐกับร้านหนังสือที่กระจัดกระจายอยู่ในตลาดเช้า) ก็พบว่าโปสเตอร์รุ่นใหม่ที่มีตัวอักษร “ร รถ” แทรกอยู่ด้วยมีวางจำหน่ายแล้ว แสดงว่านับจากมติรัฐบาลที่ให้นำตัว “ร รถ” กลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้พยายามสนองนโยบายที่เกี่ยวกับภาษาอย่างจริงจัง

แต่มติดังกล่าวจะกลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้ค่า หากรัฐบาลไม่มีทิศทางที่แน่นอนว่าจะให้นำตัว “ร รถ” มาใช้อย่างไร ให้เขียน “ร รถ” ในคำที่มีรากศัพท์บาลี-สันสกฤตแบบที่เคยเขียนมาแล้ว (เช่น <สันสกริด> หรือ <สันสะกิด>?) หรือจะให้เขียนคำยืมด้วย “ร รถ” หรือไม่ อย่างไร (เช่น <ปารี> หรือ <ปาลี> “ปารีส”?)

ผู้เขียนคิดว่าแม้ปัญหาการใช้ตัวอักษร “ร รถ” ยังไม่จบง่ายๆ แต่รัฐบาลก็ตัดสินใจถูกแล้วที่เปิดตัว “ร รถ” สู่ระบบการเขียนภาษาลาวอีกครั้งในยุคที่ประเทศชาติต้องการเสริมสร้างเอกลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นลาว เป็นการกลับมาของ “ร รถ” อย่างสมศักดิ์ศรีและสง่างาม

แต่หากจะทำให้ “ร รถ” กลับมาอย่างสง่างามยิ่งกว่านี้ รัฐบาลลาวจำเป็นต้องเร่งบัญญัติหลักเกณฑ์การสะกดคำศัพท์ต่างๆ อย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในเรื่องการใช้ตัวอักษร “ร รถ” รวมทั้งอักษรตัวอื่นๆ ด้วย


เชิงอรรถ

๑. เครื่องหมาย <> เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกรูปเขียน ส่วนเครื่องหมาย // ใช้บ่งบอกการออกเสียง

๒. ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า “ท่าน” ที่คุณทองเพ็ดพูดถึงหมายถึงใคร เพราะคำพูดนั้นเป็นข้อความภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่ปรากฏแหล่งที่มา

๓. ในแง่ของสัทศาสตร์ ผู้เขียนหมายถึงเสียง trill และเสียง alveolar หรือ retroflex approximant ตามลำดับ

เอกสารอ้างอิงภาษาไทย

๑. จินตรัย. “ก ไก่ ก กา ภาษาลาว (ว่าด้วย ร-รุงรัง!)”, ศิลปวัฒนธรรม. ๑๗ (๑) : ๒๑๖-๒๑๗, ๒๕๓๙.

๒. แพรวา พานิชกิจ. “ก ไก่ ก กา ภาษาไทย-ลาว”, ศิลปวัฒนธรรม. ๑๖ (๙) : ๒๒๔-๒๒๕, ๒๕๓๘.

เอกสารอ้างอิงภาษาลาว

๑. สิลา วีระวงส์. ปวัตหนังสือลาว (พิมเทื่อที่สอง). สมาคมส่งปึ้มให้เด็กน้อยลาวแห่งยี่ปุ่น, ๑๙๙๕.

๒. สุวัน ทีละวง. “กองปะชุมปึกสาหาลือเกี่ยวกับกานนำใช้และปับปุงพาสาลาว”, วันนะสิน. พะจิก ๑๙๙๗ : ๓๖, ๑๙๙๗.

3. ทองเพ็ด กิ่งสะดา. “บันหาตัว “ร” ในพาสาลาว”, กองปะชุมโตะมนวิทะยาสาดเกี่ยวกับพาสาลาว คั้งวันที่ ๘-๑๐ ตุลา ๑๙๙๐ กะซวงถะแหลงข่าวและวัดถะนะทำ สะถาบันค้นคว้าวัดทะนะทำ. เวียงจัน : สำนักพิมและจำหน่ายปึ้มแห่งลัด, ๑๙๙๐.

4. พูมี วงวิจิด. ไวยากอนลาว (พิมเทื่อที่สอง). เวียงจัน : ห้องสูนกางแนวลาวส้างชาด, ๑๙๙๑.