สหรัฐฯ นำคนดังวงการบันเทิงระดับ “เอลวิส” กระตุ้นวัยรุ่นฉีดวัคซีนโปลิโอ ได้ผลอย่างไร

ภาพประกอบเนื้อหา - เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) [ขวา] จับมือกับ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น ที่ทำเนียบขาว เมื่อ 21 ธันวาคม 1970 ภาพจาก HO / THE NATIONAL ARCHIVES / AFP

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเผชิญกับโรคโปลิโอระบาดอย่างหนักในหมู่เยาวชน กระทั่งเป็นที่ตื่นตระหนกต่อเหล่าผู้ปกครองและระบบสาธารณสุข ทางการสหรัฐฯ จึงต้องดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อขจัดปัญหาโรคระบาดที่เป็นอันตรายต่ออนาคตของชาติ หนึ่งในนโยบายที่สหรัฐฯ ดำเนินการเพื่อโฆษณาและกระตุ้นการเข้ารับวัคซีนในหมู่เยาวชน คือการนำขวัญใจวัยรุ่นในขณะนั้นอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) มาช่วยโปรโมทและส่งเสริมการเข้ารับวัคซีน จนกระทั่งการฉีดวัคซีนกลายเป็นกระแสและเป็นเรื่องของรสนิยมในหมู่วัยรุ่นสหรัฐฯ

โรคที่ในไทยเรียกกันว่าโปลิโอ (Poliomyelitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่อาจนำไปสู่อัมพาต ความทุพพลภาพ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยก่อนหน้านี้ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โรคโปลิโอไม่ได้เป็นปัญหาที่แพร่หลายมากนักในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพลเมืองโดยทั่วไปมักได้รับเชื้อโปลิโอเป็นประจำผ่านการบริโภคน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งในแง่หนึ่งก็กลับเป็นการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

จนกระทั่งมีการปรับปรุงการจัดการสิ่งปฏิกูลในระบบสาธารณูปโภคทำให้การประปามีมาตรฐานที่ทันสมัยมากขึ้น แม้จะเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขให้มีคุณภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนจำนวนไม่น้อยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยเด็ก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1950 ภูมิคุ้มกันที่หายไปได้สร้างภาวะที่เอื้อแก่การแพร่เชื้อโปลิโอในวงกว้าง ช่วงต้นถึงกลางทศวรรษ 1950s สหรัฐฯ พบผู้ป่วยโรคโปลิโอหลายหมื่นรายต่อปี รายงานจาก Scientific American เผยว่าจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 60,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็ก และพบบ่อยในช่วงฤดูร้อน

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือความตื่นตระหนกโดยเฉพาะในหมู่ผู้ปกครอง สระว่ายน้ำถูกปิด ผู้ปกครองไม่ยอมให้เด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันในสถานที่อย่างโรงภาพยนตร์ ลานสเก็ต หรือชายหาด

การระบาดของโรคโปลิโอเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปีค.ศ. 1952 เพียงปีเดียว มีผู้ป่วยโรคโปลิโอสูงสุดเกือบ 58,000 ราย

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการพัฒนาวัคซีนโปลิโอขึ้นโดย Dr. Jonas Salk ได้รับอนุมัติในปีค.ศ. 1955 จำนวนผู้ป่วถึงเริ่มลดลง เนื่องจากมีเด็กได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้น และแม้ว่าวัคซีนโปลิโอจะแพร่หลายในวัยเด็ก แต่สำหรับช่วงวัยรุ่น การเข้ารับวัคซีนก็ยังถือว่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การรับรู้เกี่ยวกับวัคซีนในคนทั่วไปมีทั้งในแง่ข้อผิดพลาดจากห้องปฏิบัติการ จนทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตจากการรับวัคซีน รวมถึงการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโรคโปลิโอและวัคซีนที่คลาดเคลื่อน เช่น ความเข้าใจผิดว่าตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นขึ้นไปไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโปลิโอ หรือความยุ่งยากที่ต้องฉีดถึงสามโดสหรือแม้แต่ตัวเข็มที่ฉีดเอง ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้การฉีดวัคซีนโปลิโอไม่สามารถขยายวงกว้างมากไปกว่าในวัยเด็กได้

การตอบสนองต่อวัคซีนที่ล่าช้าและไม่กระตือรือร้นในวัยรุ่น ส่งผลให้สถาบันเพื่อกลุ่มผู้เป็นอัมพาตในกลุ่มทารก (The National Institute for Infantile Paralysis ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น The March of Dimes) คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากประชากรที่ไม่สนใจฉีดวัคซีนในปีค.ศ. 1954 โดยองค์กรได้เชิญกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับการคัดเลือกมายังสำนักงานในนิวยอร์ก และสัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับวัคซีน รวมถึงจัดให้มีประเด็นพูดคุยเพื่อส่งเสริมเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีน

เพื่อให้เรื่องการเข้ารับวัคซีนได้รับความสนใจจากผู้คน The March of Dimes จึงมีแคมเปญโปรโมทการเข้ารับวัคซีน โดยนำผู้ที่มีชื่อเสียงหรือผู้ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากสังคมจำนวนมาก เช่น นักแสดงอย่าง จูดี้ การ์แลนด์ (Judy Garland), มิกกี้ รูนีย์ (Mickey Rooney), มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) และที่สำคัญคือ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ราชาร็อคแอนด์โรล์ ที่เพิ่งประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นจากเพลง Heartbreak Hotel ในขณะนั้น

ในบทความของ Robin Mckie บนเว็บไซต์ของ The Guardian อ้างอิงข้อมูลจาก Stephen Mawdsley ที่กล่าวว่า “วัคซีน [Dr] Salk ป้องกันโรคโปลิโอเพิ่งถูกผลิตและเด็กเล็กได้รับฉีดวัคซีนหลายล้านคน แต่วัยรุ่นที่มีความเสี่ยงจะเป็นโปลิโอยังไม่ได้รับการขึ้นวัคซีน … เอลวิสถูกทาบทามให้ประชาสัมพันธ์โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่น และเขาตอบรับที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างถูกต้อง”

จนวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1956 เอลวิส เพรสลีย์ได้ปรากฏตัวที่รายการ The Ed Sullivan Show รายการโทรทัศน์ยอดนิยมขณะนั้นและใช้พื้นที่ในการสื่อสารต่อผู้คนโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น เกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีน เขาเริ่มต้นโดยการพูดถึงหนังสั้นซึ่งฉายให้เห็นภาพของผู้ป่วยโรคโปลิโอ

“เฮ้ เด็กๆ ขอผมคุยด้วยคุณสัก 30 วินาทีได้ไหม? นี่คือเอลวิส เพรสลีย์” ราชาร็อคแอนด์โรล์ กล่าวออกอากาศ

“ถ้าเธอคิดว่าสามารถเอาชนะโรคโปลิโอนี้ได้ ผมจะขอให้คุณฟังผม มันคือเสียงของคนนับพันที่รู้ว่าการต่อสู้กับโปลิโอนั้นยากเย็นเสมอมา”

หลังจากให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว เอลวิสยังสนับสนุนการระดมทุนเพื่อวัคซีนสำหรับเด็กที่กำลังจะมีขึ้น

เวลาต่อมายังมีการถ่ายทอดสดการฉีดวัคซีนของเอลวิส เพรสลีย์ ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศ โดย Leona Baumgartner กรรมาธิการสาธารณสุขประจำเมืองนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนให้เอลวิสในครั้งนั้น ได้กล่าวถึงบทบาทการรับใช้สาธารณะที่กำลังเกิดขึ้น(โดยคนดัง) ว่า “เขาได้สร้างแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนของประเทศ”

วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์หลายร้อยฉบับทั่วอเมริกาตีพิมพ์ภาพดังกล่าว มีใบหน้าของราชาร็อคแอนด์โรลยิ้มร่าขณะที่แพทย์กำลังฉีดวัคซีน

ภายหลังการกระจายการวัคซีนจำนวนมาก พร้อมด้วยแรงผลักดันจากรัฐบาลและการสนับสนุนจากเหล่าคนดัง รวมถึงเอลวิส จำนวนผู้ป่วยโปลิโอประจำปีในสหรัฐอเมริกาลดลงจากประมาณ 58,000 รายเหลือเพียง 5,600 ราย

บทความในเว็บไซต์ของ Scientific American อ้างว่า จากการถ่ายทอดสดของเอลวิสในครั้งนั้น อัตราการฉีดวัคซีนในหมู่เยาวชนอเมริกันก็พุ่งสูงขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์หลังจากผ่านไป 6 เดือน

การฉีดวัคซีนในหมู่วัยรุ่นสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่การเข้ารับวัคซีนยังได้กลายเป็นกระแสนิยมเพื่อการรณรงค์อีกด้วย โดยแหล่งข้อมูลบางแห่งระบุถึง งานเต้นรำในโรงยิมของโรงเรียนที่เรียกว่า “Salk Hop” ซึ่งเปิดรับเฉพาะหนุ่มสาวที่ตั้งใจจะรับวัคซีน หรือแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น

อีกทั้งยังมีปรากฏความพยายามรณรงค์ให้ผู้หญิงปฏิเสธการออกเดทหากอีกฝ่ายไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน โดย Stephen Mawdsley ได้ให้สัมภาษณ์กับ National Geographic ในประเด็นนี้ว่า “และแล้วในช่วงหนึ่ง วัคซีนไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบหรือเด็กเยาวชนเท่านั้น พวกมันมีไว้สำหรับวัยรุ่นที่เท่”

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม 5 ปีกับความลังเลใจของผู้ฉีดวัคซีนโปลิโอ ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมาผสมผสานกับพลังของหนุ่มสาว และไอเดียเชิงความคิดสร้างสรรค์

เมื่อวัคซีนโปลิโอพัฒนาขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา วัคซีนที่ฉีดแค่โดสเดียวและมีราคาไม่แพงก็เข้ามาแทนที่วัคซีนที่ต้องฉีดสามโดสในปีค.ศ. 1960 และตั้งแต่ปีค.ศ. 1979 ก็ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอในสหรัฐอเมริกา และในปีค.ศ. 2016 มีผู้ป่วยโปลิโอเพียง 42 รายทั่วโลก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Blakemore, Erin. “How vaccination became ‘hip’ in the ’50s, thanks to teens”. National Geographic. Published  27 APR 2021. Access 8 JUL 2021. <https://www.nationalgeographic.com/history/article/how-polio-vaccination-became-hip-50s-thanks-teenagers>

Crumlish, Callum. “Elvis Presley received life-saving polio vaccine live on TV with heartfelt plea”. Express. Published 4 MAR 2021. Access 8 JUL 2021. < https://www.express.co.uk/entertainment/music/1405015/elvis-presley-polio-vaccine-ed-sullivan-show-march-of-dimes-dolly-parton-coronavirus>

Mckie, Robin. “A jab for Elvis helped America beat polio. Now doctors have recruited him again”. The Guardian. Online. Published 24 APR 2021. Access 8 JUL 2021 < https://www.theguardian.com/society/2016/apr/24/elvis-presley-polio-vaccine-world-immunisation-week>

Brink, Susan. “Can’t Help Falling In Love With A Vaccine: How Polio Campaign Beat Vaccine Hesitancy”. NPR. Published 3 MAY 2021. Access 9 JUL 2021 <https://www.npr.org/sections/health-shots/2021/05/03/988756973/cant-help-falling-in-love-with-a-vaccine-how-polio-campaign-beat-vaccine-hesitan>

Solly, Meilan. “How Elvis Helped America Eliminate Polio”. Smithsonian. Published 22 DEC 2021. Access 8 JUL 2021 <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/how-elvis-helped-america-eliminate-polio-180976614/>

Hershfield, Hal and Brody, Ilana. “How Elvis Got Americans to Accept the Polio Vaccine”. Scientific American. Published 18 JAN 2021. Access 8 JUL 2021 <https://www.scientificamerican.com/article/how-elvis-got-americans-to-accept-the-polio-vaccine/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2564