ย้อนรอย “ร้านถ่ายรูป” ในอดีต ไม่ได้บริการแค่ถ่ายรูป ตั้งอยู่ที่ไหน ชื่ออะไรบ้าง?

ร้านถ่ายรูป ร้านถ่ายภาพ

ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของเมืองไทยคือร้านถ่ายรูปของ F. Chit หรือฟรานซิส จิตร หรือนายจิตร ต้นตระกูล จิตราคนี ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ กับหลวงอัคนีนฤมิตร ตามลำดับ

หลายปีมาแล้วผู้เขียนพบโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ฉบับ 23 มกราคม 1889 ระบุว่านายจิตรตั้งร้านถ่ายรูปบนแพหน้าวัดซางตาครู้ส ธนบุรี เมื่อ ค.ศ. 1863 เท่ากับ พ.ศ. 2406 ซึ่งนับได้ว่าเก่าแก่กว่าร้านใด ๆ ในเมืองไทย หลังจากนั้นเราก็ค่อย ๆ มีร้านถ่ายรูปเพิ่มมากขึ้น กระทั่งปัจจุบันเกิดร้านกี่พันร้านแล้ว ไม่สามารถค้นได้…

Advertisement

ผู้เขียนได้พบข้อมูลเกี่ยวกับร้านถ่ายรูปหลังสมัย ร.5 อีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่ปรากฏในรูปโฆษณา ข้อมูลเหล่านี้จะแกล้งทําเพิกเฉยเสียก็ไม่ได้ เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องนำมาใช้ในการอ่านรูปหลังสมัย ร.5 ตามที่ต่าง ๆ อยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น รูปที่นำมาตีพิมพ์ในหนังสืองานศพ หรือรูปที่ทางร้านพิมพ์เป็นโปสการ์ดจำหน่าย เป็นต้น รูปเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ศึกษาเรื่องการแต่งกาย และอื่น ๆ อีกมาก…

บัดนี้ได้พบปัญหาแล้วว่าประวัติการถ่ายรูปหลังสมัย ร.5 ยัง บกพร่องอยู่มาก คือเวลาอ่านพบชื่อร้าน หรือได้รูปถ่ายมา ไม่สามารถจะอธิบายอะไรต่อได้มากนัก เช่น ไม่รู้ว่าร้านนั้นอยู่ที่ไหน ถ่ายรูปในช่วง พ.ศ. ไหน จึงเห็นว่าควรประมวลความรู้ไว้สักชั้นหนึ่ง เป็นทำนองบันทึกช่วยจำสั้น ๆ เพื่อทั้งตัวเองและผู้อื่นจะได้ใช้เป็นแนวในการศึกษารูปถ่ายหลังสมัย ร.5 ต่อไป แต่ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการทำอย่างสังเขปเหมือนตั้งนั่งร้าน และข้อมูลที่นำมาเสนอก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของจักรวาลแห่งความรู้เท่านั้น

ความรู้ที่จะนำเสนอได้แก่

ร้านถ่ายรูปสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453-2468)

1. ฉายาลักษณ์ตลาดน้อย

โฆษณาในหนังสือธง ฉบับปฐมฤกษ์ 5 ธ.ค. 2456 บอกว่าอยู่ตรงข้ามห้างมิวชวลสโตร์ นายกวงหงวน เป็นผู้จัดการ

โฆษณาในหนังสือพิมพ์สยามจีนโนสยามวารศัพท์ 4 ส.ค. 2460 ลงเต็มหน้าบอกว่า “แทนโรเบิต เลนซ์ได้แล้ว” เพราะได้ช่างฝีมือดีที่ทำการอยู่ในห้างโรเบิร์ต เลนซ์ มาทำการที่ฉายาลักษณ์ตลาดน้อย ช่างเหล่านี้ไม่ได้เป็นชาวเยอรมัน แต่ก็เป็นพวกที่ทำให้ห้างโรเบิร์ต เลนซ์มีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงสยาม (ห้างโรเบิร์ต เลนซ์ เริ่มเข้ามารับถ่ายรูปตั้งแต่ พ.ศ. 2437 ได้ฉายพระบรมรูป ร.5 พระราชโอรสธิดา และเจ้านายขุนนาง พร้อมถ่ายรูปสภาพบ้านเมือง และคนต่าง ๆ ด้วยฝีมือประณีตจำนวนมาก)

ในหนังสือกษัตริย์กับกล้อง ของ ศ.ศักดา ศิริพันธุ์ อ้างหนังสือ The Directory for Bangkok and Siam 1925 (พ.ศ. 2468) ว่า ในช่วงนั้นเจ้าของและผู้จัดการคือ นายสุดจำลอง (ไม่มีรายละเอียด)

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงถือกล้องถ่ายรูป (ประทับกลาง) ภาพถ่ายราวพุทธศักราช 2430
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงถือกล้องถ่ายรูป (ประทับกลาง) ภาพถ่ายราวพุทธศักราช 2430

2. ห้องฉายานรสิงห์

อยู่ที่หัวมุมถนนเจริญกรุง ทแยงกับโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ภายหลังกลายเป็นร้านแว่นตาเฉลิมกรุง แล้วถูกรื้อสร้างเป็นเฉลิมกรุงเซ็นเตอร์…

เคยเขียนในหนังสือตำนานห้างร้านสยามไปแล้ว สรุปว่า รัฐบาลไทยยึดกิจการมาจากร้านโรเบิร์ต เลนซ์ ของชาวเยอรมัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วเปิดดำเนินการในชื่อ ฉายานรสิงห์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2461 ถือเป็นร้านถ่ายรูปหลวง ได้ฉายพระบรมรูป ร.6 และถ่ายรูปเจ้านาย และขุนนางไว้มาก ภาพเหล่านี้ต่อมาพระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) ได้พยายามสืบหากระจกต้นฉบับจนพบ…เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

3. ร้านถ่ายรูปฉายาเจริญกรุง

โฆษณาในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ 25 ส.ค. 2463 อวดว่า สามารถถ่ายรูปลักยิ้มด้วยวิชาสมัยใหม่คือ เมื่อถ่ายแล้ว หน้าของท่านในรูปนั้นจะเปลี่ยนไปได้ต่าง ๆ เช่น ยิ้มแล้วโกรธ โกรธแล้วหัวเราะ หัวเราะแล้วหน้าบึ้ง เปลี่ยนสีหน้าได้ต่าง ๆ เหมือนคนจริง ๆ ฤๅเช่นเดียวกับภาพยนตร์ ยังไม่มีใครทำได้ เปนของแปลก ไม่เหมือนกับรูปเลื่อนที่ทำขายในตลาด เชิญท่านลองไปถ่ายสักรูปหนึ่ง เพราะราคาถูกที่สุด ร้านถ่ายรูป ‘ฉายาเจริญกรุง’ ตำบลสามยอด แลร้านถ่ายรูป ‘คานาดา’ ข้างโรงพักนางเลิ้ง”

จากโฆษณาชิ้นนี้ทำให้ทราบว่า ฉายาเจริญกรุง อยู่ที่สามยอด แต่ก็ยังไม่ทราบอยู่ดีว่าอยู่ใกล้อะไร ใครเป็นเจ้าของ

หยิบโฆษณาอีกชิ้นในมอนิงโปสต์ 15 เม.ย. 2467 มาดู พบโฆษณาสั้น ๆ ลงว่า ทางร้านกำลังขยายการลดราคาถ่ายรูปต่อไปอีก ขอเชิญไปอุดหนุน อย่าให้เสียโอกาส ลงชื่อ ฉายาเจริญกรุง อยู่ถนนเจริญกรุงเหนือประตูสามยอด นายหงี เจ้าของ

ตรงนี้สำคัญ เพราะเอ่ยชื่อนายหงีขึ้น ก็นายหงีนี้ ท่านที่อ่านเรื่องภาพวาดในพระอุโบสถวัดราชบูรณะก่อนถูกระเบิดเป็นอย่างไร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2542 คงจำได้ว่าภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังวัดราชบูรณะ ซึ่งถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2468 เป็นฝีมือของ “จีนหงี” หรือนายหงีคนเดียวกันนี้เอง และจีนหงีก็เป็นผู้ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้อัดรูปต่าง ๆ ถวาย เช่น อัดรูปจากกระจก ผลงานนายโหมด อมาตยกุล ดังกล่าวในหนังสือสาส์นสมเด็จ เป็นต้น

ปัญหาที่จะต้องหาคำตอบต่อไปคือ นายหงีนามสกุลอะไร ร้านฉายาเจริญกรุงแปรเปลี่ยนไปอย่างไร รูปถ่ายลักยิ้นเป็นอย่างไร ผลงานอื่น ๆ ของนายหงีเป็นอย่างไร

4. จิตรภักดี

เคยพบผลงานบ้างเล็กน้อย แต่ยังสืบไม่ได้ว่าเป็นร้านของใคร เปิดเมื่อไร ใครเป็นทายาท เคยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ หลายฉบับ

ในสยามราษฎร์ ฉบับ 27 พ.ย. 2463 บอกว่าอยู่หน้าวัดราชบพิธ แต่ลงจั่วหัวว่า “จิตรภักดีแลบุญครองน่าวัดราชบพิธ” เป็นทำนองว่ามีสองกิจการอยู่ในร้านเดียวกัน จิตรภักดี ทำด้านถ่ายรูป ส่วนบุญครอง รับพิมพ์หิน รับพิมพ์ประกาศนียบัตร สัญญาบัตร ใบสำคัญ ตราปิดขวดและกระป๋อง ป้ายประกาศขายของ รับเขียนรูประบายสี ตลอดจนรับแกะตราไม้ ตรายาง ทองแดง ทองเหลือง เหล็กทุกชนิด

ต่อมาร้านจิตรภักดีคงย้ายไปอยู่อีกแห่งดังโฆษณาในหญิงสยาม 19 ต.ค. 2473 บอกว่าตั้งอยู่ที่ตึกสร้างใหม่ ตำบลสี่แยกคอกวัว ถนนบ้านตะนาว พระนคร บอกว่า นอกจากรับถ่ายรูป ล้างกระจกรูป พิมพ์รูป ขยายรูปแล้วยังมีแผนกเขียนสี รับเขียนสีน้ำ สีถ่าน เขียนป้ายทุกชนิด รับออกแบบเขียนภาพทุกชนิด ตลอดจนเขียนฉากละคร ฉากถ่ายรูปด้วย (น่าสนใจมาก)

5. ห้างถ่ายรูปตาเคอุจี

พบโฆษณาในหนังสือพิมพ์ยามาโต วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 บอกว่าอยู่ข้างโรงพักพาหุรัด ยังไม่ทราบประวัติ

6. ห้างถ่ายรูปพร้อม

อยู่ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง เดิมเป็นร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ซึ่งได้ถ่ายรูปบ้านเมืองและคนไทยปลายสมัย ร.5 พิมพ์เป็นโปสการ์ดจำนวนมาก (ดูตัวอย่างในหนังสือ Postcards of Old Siam ของ Bonnie Davise) มากลายเป็นร้านพร้อมเสียเมื่อสมัย ร.6 แต่เมื่อปีไหนไม่ทราบ ปัจจุบันกลายเป็นร้านขายเครื่องเขียน

สิ่งที่น่าสนใจคือหนังสือคู่มือการถ่ายรูป ซึ่งโฆษณาในหนังสือพิมพ์ช่วง พ.ศ. 2468…บอกขายหนังสือว่า “How to make good pictures ห้างถ่ายรูปพร้อม เป็นสมุดที่ได้เรียบเรียงขึ้นโดยผู้ชำนาญการถ่ายรูปที่ใช้เครื่องโกดั้ก ควรท่านที่มีเครื่องถ่ายรูปโกดั้กหรือท่านที่พึ่งเริ่มเปนนักถ่ายรูปมีไว้เปนสมุดคู่มือ เพราะจะช่วยเหลือท่านให้เปนนักถ่ายรูปที่เก่งได้ ท่านที่ถ่ายรูปได้ดีนั้นโดยมากใช้สมุดเล่มนี้เปนเครื่องช่วยเหลือเสมอ ราคาเพียงเล่มละ 1.25 บาทเท่านั้น”

หนังสือกษัตริย์กับกล้องของ ศ.ศักดา ศิริพันธุ์ อ้างหลักฐานจากหนังสือ The Directory for Bangkok and Siam 1925 ว่าเจ้าของร้านถ่ายรูปพร้อมคือ นาย Y. Abata ผู้จัดการคือ นาย T. Ikeda ส่วนช่างถ่ายรูปคือ นาย E. Kawakita

โฆษณาของห้างถ่ายรูปพร้อม ในหนังสือพิมพ์ยามาโต 8 ธันวาคม 2466 ร้านถ่ายรูป ร้านถ่ายภาพ
โฆษณาของห้างถ่ายรูปพร้อม ในหนังสือพิมพ์ยามาโต 8 ธันวาคม 2466

ร้านถ่ายรูปสมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468-2477)

1. ร้านยากี

อยู่ที่เชียงใหม่ ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ (หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของภาคเหนือ ชื่อหนังสือพิมพ์นี้มีที่มาจากการเสด็จประพาสเชียงใหม่ในรัชกาลที่ 7) ว่า “ร้านยากี ยี่ปุ่น ช่างถ่ายรูป ถนนท่าแพ หน้าวัดอุตคุตเชียงใหม่ รับจ้างถ่ายรูป ล้างรูป, อัดรูปโดยทำอย่างประณีตงดงามราคาถูก ถ้าท่านจะต้องการถ่ายที่ไหน โปรดเรียกยินดีจะไปถ่ายให้ถึงที่ กับมีโปสก๊าดรูปวิวต่าง ๆ รูปเสด็จพระราชดำเนินคราวนี้, ฟิล์มทุกชนิดขาย”

2. โฟแทกซ์

ลงโฆษณาในข่าวหนังไทย 8 ม.ค. 2470 ทำให้ทราบว่าเป็นของนายประสาท สุขุม อยู่ที่ห้างยอนแซมสันเก่า ถนนหลานหลวง เป็นสำนักงานล้างรูป สอนวิธีถ่ายรูป รับล้างรูป พิมพ์รูป (อัดรูป) ขยายรูป ถ่าย-ล้างและพิมพ์ภาพยนตร์

3. เจียฮั่วเซ็ง

ลงโฆษณาในเสียงสยาม 14 เม.ย. 2472 ว่าอยู่ที่ตึกเลขที่ 2479 ตรงข้ามหน้าวังบูรพา ถนนมหาไชย จังหวัดพระนคร เดิมตั้งอยู่ใกล้สะพานหัน ทำการถ่ายรูปมา 24 ปีเศษ จนชำรุดทรุดโทรมลง และกิจการก็เจริญขึ้นตามลำดับ รู้สึกว่าสถานที่เดิมคับแคบ จึงย้ายมาทำการใหม่ที่ตึกสร้างใหม่ข้างห้างบีกริม สามารถถ่ายได้ทุกเวลา ไม่ว่าเช้าสายบ่ายหรือเย็น ส่วนกลางคืนก็รับถ่ายด้วยแสงไฟฟ้า มีรูปตัวอย่างตั้งแสดงไว้หน้าร้านเป็นพยาน

4. สหศิลป์

อยู่สี่แยกสะพานแม้นศรี มีโฆษณาในหนังสือช่วยกาชาด ปีที่ 4 พ.ศ. 2474 บอกว่านายชื้น โรจนวิภาต เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ทางร้านมีรูปเจ้านาย และรูปโปสการ์ดต่าง ๆ จำหน่าย…

ร้านถ่ายรูปอื่น ๆ ยังมีอีกมาก ล้วนแล้วต้องรอประมวลความรู้ทั้งสิ้น

โฆษณาของห้างสหศิลป์ จากหนังสือช่วยกาชาด 2474 ร้านภ่ายภาพ ร้านถ่ายรูป
โฆษณาของห้างสหศิลป์ จากหนังสือช่วยกาชาด 2474

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ร้านถ่ายรูปหลังสมัย ร.5” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2564