“ขบถเมืองโปรตุกัล” ภาพยนตร์ต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ 6

ภาพระลึกเหตุการณ์ "การประกาศสาธารณรัฐโปรตุเกส" วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910 ภาพจาก Casa Comum ไฟล์ public domain (ภาพนี้ผ่านการแต่งภาพบางส่วนแล้ว)

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2453 หรือประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว โรงภาพยนตร์พัฒนากรโฆษณาจะฉายภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงการนครบาล ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในนครหลวง จึงออกประกาศห้ามมิให้มีการฉายภาพยนตร์ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพยนตร์ดังกล่าวชื่อเรื่อง “ขบถเมืองโปรตุกัล”

Advertisement

เรื่องราวกบฏในประเทศโปรตุเกส เริ่มส่อเค้าร่างตั้งแต่ต้นรัชกาลพระเจ้าคาร์ลอสที่ 1 เนื่องจากประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อันเนื่องจากและการดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้ประเทศที่เคยร่ำรวยและมีเมืองขึ้นมากที่สุดในโลก เมื่อเผชิญกับขั้วอำนาจใหม่อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ต้องเสียอาณานิคมจำนวนมากในทวีปแอฟริกาให้กับอังกฤษ

กษัตริย์โปรตุเกสกลายเป็นเป้านิ่งของการโจมตี นักการเมืองฝ่ายซ้ายปลุกระดมมวลชน ให้เป็นความผิดพลาดของราชสำนัก พ.ศ. 2445 รัฐบาลตกต่ำถึงขีดสุด จนท้องพระคลังอยู่ในสภาพล้มละลาย เหตุการณ์เลวร้ายลงอย่างมาก เกิดกระแสข่าวว่า กลุ่มสังคมนิยมพยายามโค่นล้มระบอบกษัตริย์

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 เกิดเหตุลอบปลงพระชนม์พระเจ้าคาร์ลอสที่ 1 ระหว่างการเสด็จเลียบพระนคร ผู้ก่อเหตุไม่ต่ำกว่า 3 คน กระหน่ำยิงรถม้าพระที่นั่งขณะวิ่งผ่านสวนเตรีโร กลางกรุงลิสบอน พระเจ้าคาร์ลอสที่ 1 สิ้นพระชนม์ทันทีในที่เกิดเหตุ มกุฎราชกุมารหลุยส์ ฟิลิปเป บาดเจ็บสาหัสสิ้นพระชนม์ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล พระราชินีอาเมลี และเจ้าชายมานูเอล พระโอรสองค์เล็กทรงก้มหลบวิถีกระสุนได้อย่างหวุดหวิด

พระเจ้ามานูแวลและผู้ว่าราชการแห่งโปร์ตู  ในปี พ.ศ. 2451

ผู้ก่อเหตุถูกทหารราชองครักษ์กระทำวิสามัญฆาตกรรมในที่เกิดเหตุ วันรุ่งขึ้น เจ้าฟ้าชายมานูเอลก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ทรงพระนามว่าพระเจ้ามานูเอลที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ. 2451-2453) ทามกลางบรรยากาศการเมืองที่ยังไม่นิ่ง

พ.ศ. 2452 เกิดเหตุนักการเมืองหัวอนุรักษ์ถูกลอบสังหารนับสิบราย สถานการณ์ที่เลวร้ายลงเช่นนี้ ทำให้ราชสำนักตัดสินใจย้ายออกไปประทับภายในเขตพระราชฐานนอกตัวเมือง ท่ามกลางการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในเมืองหลวงเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถควบคุมความสงบได้ เกิดการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยรายวัน มีการปล้นสะดมอย่างอุกอาจและทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ตำรวจชั้นประทวนจำนวนมากยังหันไปเข้าข้างฝ่ายกบฏ และปะปนกับฝูงชนทั้งที่ยังอยู่ในเครื่องแบบ

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เหตุการณ์เข้าขั้นวิกฤติอีกครั้ง เมื่อนาย Hermers de Fonseca ประธานาธิบดีบราซิลซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เดินทางมาเยือนโปรตุเกส เป็นการปลุกอดีตอันรุ่งเรืองของลัทธิจักรวรรดินิยมให้ตื่นขึ้นจากภวังค์ เพียงแต่มันเกิดขึ้นผิดเวลา เพราะขณะนั้นประชาชนหมื่นคนกำลังลุกฮือขึ้นขับไล่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และขับไล่กลุ่มอำนาจเก่า (LILLUSTRATION, Paris, 15 October 1910)

สำนักข่าวในสเปนและฝรั่งเศสรายงานสถานการณ์ดังกล่าวว่า ค่ำคืนวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2453 มีการยิงปืนใหญ่หลายนัดด้วยกัน รุ่งขึ้น (4 ตุลาคม) พระเจ้ามานูเอลที่ 2 และพระประยูรญาติประมาณ 10 พระองค์ทรงลี้ภัยออกนอกประเทศ เสด็จออกนอกเมือง เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการปิดตำนานกษัตริย์ของโปรตุเกส และนำไปสู่การปกครองระบอบสาธารณรัฐ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของโปรตุเกสถูกขนานนามว่า การปฏิวัติ 5 ตุลาคม 1910 ( 5 October 1910 Revolution)

พระเจ้ามานูแวลที่ 2 พร้อมพระราชวงศ์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ ด้วยทางเรือที่ชายฝั่งเอริเซรา

เมื่อมีภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ข้างต้นจะมาเข้ามาฉายในประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่ง “ห้าม” ดังปรากฏอยู่ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” (สนพ.มติชน, 2550) อันเป็นพระราชนิพนธ์ในพระองค์ ภายใต้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ ความว่า (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“เช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน เจ้าพระยายมราชได้รายงานว่าได้เห็นบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรลงข่าวอวดในหนังสือพิมพ์ว่าจะฉายภาพยนตร์เรื่องขบถในเมืองโปรตุกัลป์ (ซึ่งได้เกิดขึ้นในต้นเดือนตุลาคมศกนั้นเอง) เจ้าพระยายมราชเห็นว่าไม่ควรจะยอมให้ฉายให้คนดู เพราะอาจจะทำให้คนที่โง่เขลาเบาปัญญามีความคิดเห็นฟุ้งสร้านไปได้ต่างๆ จึงได้สั่งให้ผู้บังคับการกองตระเวนไปห้ามมิให้ฉายภาพชุดนั้น

ฉันตอบเจ้าพระยายมราชว่าฉันเห็นชอบด้วยในการที่ห้าม เพราะตามที่สังเกตมามีปรากฏขึ้นบ้างแล้วว่าภาพยนตร์อาจจะทำให้ใจคนฟุ้งสร้านและคิดการไม่ดีต่างๆ ได้ เช่นวิธีขโมยต่างๆ ที่ได้เห็นในภาพยนตร์แล้วมีผู้จำเอาไปทดลองบ้างก็มีและสังเกตว่าเมื่อมีเรื่องผู้ร้าย ถ้าตอนผู้ร้ายหนีพลตระเวนรอดไปได้ คนดูมักเกรียวกราวพอใจมาก ในกาละนั้นในสหปาลีรัฐก็ได้เกิดรู้สึกกันขึ้นแล้วเหมือนกันว่าการดูภาพยนตร์อาจให้โทษแก่ผู้ที่ไร้สติ

ในบางเมืองเขาจึงได้มีกฏข้อบังคับห้ามมิให้ฉายภาพยนตร์เรื่องใดๆ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตและห้ามมิให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีไปดูภาพยนตร์โดยลำพัง ต้องให้ไปกับผู้ใหญ่ ในยุคนั้นที่อเมริกาได้ห้ามมิให้ฉายภาพยนตร์แสดงการชกมวยระหว่างคนดำกับคนขาว เพราะเกรงจะเป็นเหตุให้คนดำกับคนขาววิวาทกันขึ้น ก็แต่เรื่องชกมวยเขายังเห็นควรห้ามแล้ว เรื่องขบถฉันจึงได้เห็นว่าควรห้ามทีเดียว”

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงส่วนหนึ่งจากบทความ “ ‘โปรตุเกส’ กับประวัติศาสตร์ต้องห้ามตามทรรศนะของรัชกาลที่ 6” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2563