สัมพันธ์แน่นแฟ้นราชวงศ์ไทย-ญี่ปุ่น กับการทูตหยุดโลกเริ่มต้นขึ้นจาก “ปลา”

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ “เจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร” เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต พร้อมสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศ “เจ้าหญิงมิชิโกะพระชายา” ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่างสมพระเกียรติ

มีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สำคัญต้องกล่าวถึงในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยครั้งแรกนี้ว่า มีโปรแกรมช่วงหนึ่งที่จัดให้ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ มาทอดพระเนตรปลา อันเป็นพระดำรินอกกรอบ ที่ทำให้การทูตหยุดโลกเริ่มต้นขึ้นจาก “ปลา” ภายในพิพิธภัณฑ์ประมง ซึ่งตั้งอยู่ในคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในเวลานั้นเจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาาร ทรงมีความสนพระราชหฤทัยและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาอยู่แล้ว ทรงพระสำราญเป็นอย่างยิ่ง ทรงหยิบขวดต่าง ๆ ขึ้นทอดพระเนตร รวมถึงขวดปลาบู่ ซึ่งเป็นปลาที่พบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของโลก โดยปลาบู่ชนิดดังกล่าวมีชื่อว่า “ปลาบู่มหิดล” ที่ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงทราบที่มาของชื่อปลา จึงทรงเกิดความประทับพระราชหฤทัย

จากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ขอพระราชทาน “ปลานิล” จากเจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร ซึ่งพระองค์ได้ถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว จากนั้นเมื่อปลาตายจนเหลือเพียง 10 ตัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงนำกลับมาทรงเลี้ยงเองในวังสวนจิตรลดา จนสามารถเพาะขยายพันธุ์เป็น “ปลานิล” ที่สามารถพระราชทานให้กรมประมงได้ถึง 10,000 ตัว ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี


ขอบคุณข้อมูลจาก : รายงานพิเศษ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช / สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=TNPOL591114001000


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ.2562