เผยแพร่ |
---|
นับตั้งแต่มนุษย์ค้นพบและก่อไฟขึ้นได้ พัฒนาการหลังจากนั้นทำให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานและอื่นๆ อีกมากมาย ปฏิเสธได้ยากว่า คุณประโยชน์ย่อมมาพร้อมกับโทษหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น บริบทนี้จึงทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์สำหรับบรรเทาสาธารณภัยร้ายแรงอันมีต้นเหตุจาก “ไฟ” ขึ้น
แหล่งข้อมูลหลายแห่งบอกเล่ากันว่า หลักฐานการจัดตั้งหน่วยดับเพลิงมีปรากฏตั้งแต่สมัยโรมัน แต่เป็นเริ่มแรกจะสมัยใดนั้น จากคำอธิบายของแมทธิว ดิลเลียน และลินดา การ์แลนด์ (Matthew Dillion และ Lynda Garland) ผู้เขียนหนังสือ Ancient Rome: From the Early Republic to the Assassination of Julius Caesar อธิบายว่า สมัยโรมันไม่มีการแก้ปัญหาเพลิงไหม้แบบเป็นระบบจนกระทั่งสมัยออกัสตัส (Augustus) แต่ก่อนหน้านั้นพบการประดิษฐ์ปั๊มน้ำดับเพลิง (fire pump) ในช่วงศตรรษที่ 3
ขณะที่เอกสารที่รวบรวมประวัติการดับเพลิงในอดีต จัดทำโดยพิพิธภัณฑ์หน่วยดับเพลิงในแมนเชสเตอร์ (Greater Manchester Fire Service Museum Background information) อธิบายว่า จักรพรรดิออกัสตัส ใช้ทหารมาทำหน้าที่ดับเพลิงแทนกลุ่มทาส หน่วยนี้ถูกเรียกว่า Vigiles หน่วยนี้ในโรมมีอุปกรณ์อย่างเช่นขวาน และถังน้ำ
ไฟไหม้สมัยโบราณ
มีหลักฐานหลายชิ้นบอกเล่าเรื่องภัยจากไฟในสมัยโบราณหลากหลายพื้นที่ แน่นอนว่า วัสดุก่อสร้างหรือสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลายแห่งมีผลทำให้เกิดคดีไฟไหม้ ดังนั้น หลายประเทศจึงเริ่มปรากฏตั้งแต่หน่วยเฝ้าระวังเหตุอาชญากรรมจนถึงอัคคีภัยขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งที่พอจะใช้อธิบายได้คือเพลิงไหม้ในลอนดอน โดยเฉพาะเมื่อครั้งค.ศ. 1666 ซึ่งเป็นเพลิงไหม้ครั้งใหญ่อีกหนในประวัติศาสตร์ ภายหลังจากนั้นจึงเริ่มปรากฏการจัดตั้งหน่วยงานและอุปกรณ์สำหรับใช้ดับเพลิงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในไทยแล้วการเกิดเพลิงไหม้ปรากฏในประวัติศาสตร์หลายครั้งทั้งในส่วนราชสำนักเอง อันนำมาสู่วิกฤตวังหน้า หรือในส่วนของชาวบ้านเอง
หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังพบการตั้งหอกลองในกำแพงพระนคร มีหอกลอง 3 ชนิด ชนิดหนึ่งตั้งเพื่อใช้ตีเมื่อเกิดไฟไหม้ในกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง (เอกสาร “ประวัติความเป็นมาของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”)
เมื่อมาถึงกรุงสมัยรัตนโกสินทร์ จากการศึกษาของดร.นนทพร อยู่มั่งมี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวบรวมหลักฐานเหตุการณ์ไฟไหม้ในกรุงเทพฯ ในอดีต เรียบเรียงไว้ในบทความ “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558
จากการศึกษาหลักฐานพบว่า วิถีชีวิตประจำวันของประชาชนมีส่วนทำให้เกิดเพลิงไหม้ ดังเช่นเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านจีนซุง ถนนตรีเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2449
รายงานกองตระเวนระบุสาเหตุไว้ว่า “พิเคราะห์ตรวจดูไฟที่ไหม้นั้น เหนว่าเปนไฟถ่านหุงเข้าพลัดตกลงมาแล้วก็คุลุกขึ้นที่หน้าเตาโดยเหตุที่จีนเขียวลูกจ้างจีนซุงเลินเล่อดับไม่หมด”[1]
นอกจากนี้ ดร.นนทพร ยังอธิบายว่า บริเวณที่เกิดคดีอัคคีภัยมากที่สุดของบ้านเรือน(ในอดีต)มาจากห้องครัวซึ่งมักทำด้วยวัสดุธรรมชาติทำให้ติดไฟง่าย เห็นได้จากรายงานกองตระเวนโรงพักจักรวรรดิเมื่อปี พ.ศ. 2450 ดังนี้
“ครั้นเมื่อทำการหุงต้มเสร็จแล้ว อำแดงเปลี่ยนได้ดับเพลิงที่เตาเอาถ่านที่ดับแล้วใส่ลงในหม้อมีฝาไม้ปิดเอาถ่านวางลงไว้ที่ข้างฝาครัวไฟแล้วใส่กุญแจห้องครัวไว้ ตัวอำแดงเปลี่ยนรับใช้การงานในตึกพระยานรฤทธิ์ เพลิงในหม้อถ่านดับยังไม่สนิดดีลุกติดลามหม้อเลยคุไหม้ฝากระดานไม้สิงคโปร์ในครัวไฟเพลิงลุกลามขึ้น”[2]
กระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 25 หรือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ราษฎรในกรุงเทพฯ เริ่มใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการให้แสงสว่าง ซึ่งตรงกับระยะเวลาเดียวกับที่เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเชื้อเพลิงชนิดใหม่ปรากฏขึ้น สิ่งที่ตามมาคือภัยในรูปของคดีไฟไหม้จำนวนมากเนื่องจากบรรดาราษฎรยังไม่คุ้นชิน พระยาอนุมานราชธน ยกตัวอย่างไว้ ดังนี้
“เขาว่าเมื่อมีน้ำมันก๊าดใช้ใหม่ๆ มักเกิดไฟไหม้บ้านเรือนบ่อยๆ เพราะไปเข้าใจว่าเหมือนน้ำมันมะพร้าว ไม่รู้พิษสงของมันว่า มันลุกผึบได้ทันทีถ้าใกล้ไฟ พอรู้ก็หวาดเกรงกัน จึงยังมีผู้ดื้อใช้น้ำมันมะพร้าวอยู่ก็เป็นอันมาก ถ้าซื้อน้ำมันก๊าดทั้งปีบมาใช้ เวลาจะเปิดเอาปีบน้ำมันออก ถ้าอยู่ในสวน ก็ต้องหิ้วปีบไปเปิดหรือเก็บไว้ในสวนให้ห่างไกลจากตัวเรือน เพราะกลัวจะระเบิดเกิดลุกเป็นไฟไหม้บ้านเรือนขึ้น”[3]
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง “กองตระเวน” มีหน้าที่ป้องกันดูแลและดับไฟ โดยภายหลังเปลี่ยนมาเป็น “กรมตำรวจนครบาล” ข้อมูลจากเอกสาร “ประวัติความเป็นมาของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” กล่าวอ้างว่า พบหลักฐานว่าเมื่อพ.ศ. 2451 เกิดการรวบรวมทรัพย์เพื่อนำมาซื้อรถดับเพลิงให้กรมตำรวจฯ 1 คัน โดย “นับว่าเป็นรถดับเพลิงคันแรกที่มีอยู่ในกรมตํารวจ” (เอกสาร “ประวัติความเป็นมาของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”)
เอกสาร “ประวัติความเป็นมาของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ยังอธิบายว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 มีคณะกรรมการชุดหนึ่งถูกจัดตั้งขึ้นให้แก้ไขกิจการดับเพลิงเพื่อพัฒนากิจกรรมนี้ ผลการหารือเห็นว่าควรจัดตั้งกองดับเพลิงอาชีพหรือประจำตามที่หลายประเทศทำกัน แต่ติดปัญหาเรื่องกำลังคนและงบประมาณ กระทรวงกลาโหมจึงโอนเงินเดือนและกำลังคนมาขึ้นกับกรมตำรวจ รวบรวมหน่วยดับเพลิงที่กระจายอยู่ตามแห่งหนต่างๆ รวมเป็นแผนกหนึ่ง โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าแผนกดับเพลิง และขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ
ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงโอนย้ายกิจการดับเพลิงไปอยู่ใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานต่างๆ กระทั่งเกิด “กองตำรวจดับเพลิง” ในช่วงทศวรรษ 2501
เวลาล่วงเลยมาถึงพ.ศ. 2546 เกิดการถ่ายโอนภารกิจกองบังคับการตํารวจดับเพลิงสํานักงาน
ตํารวจแห่งชาติไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ขณะที่กรุงเทพมหานคร รับมอบภารกิจดับเพลิงจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546
มหากาพย์คดีทุจริตจัดซื้อ
ในประวัติศาสตร์คดีการจัดซื้อของไทย ปรากฏคดีเรื่องจัดซื้ออุปกรณ์รถ-เรือดับเพลิงขึ้น เป็นกรณีความเสียหายจากการทุจริตซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 2547
โดยกทม. ได้ยื่นฟ้องนายนายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเคยมีคำพิพากษาให้นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย ชดใช้เงิน 587,580,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 เมื่อปี 2547 หลังจากนั้นยังมีการพิจารณาคดีต่อเนื่องกันมาอีกยาวนาน
กรณีคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงมูลค่า 6,687 ล้านบาทของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เวลาต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. นําเรื่องดังกล่าวยื่นฟ้องบริษัท สไต เออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ร ขอยก์ จํากัด ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิง และเรียกเงินที่จ่ายไปคืนทั้งหมด โดยยื่นฟ้องคดีไปตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งได้ดําเนินการเจรจาตามขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการฯ มาเป็นเวลา 5 ปี
กระทั่งอนุญาโตตุลาการฯได้ส่งผลการพิจารณามาให้กทม. เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมายแล้ว
แม้ว่าคําตัดสินจะส่งมายังกทม. เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แต่ในช่วงสุญญากาศเป็นเวลาหลายเดือนตามที่ปรากฏในรายงานจากสื่อหลายแห่งในไทย รายงานข่าวจากสื่อบอกว่า ยังไม่พบทีท่าของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่าจะออกมาให้รายละเอียดให้สาธารณชนได้รับทราบแต่อย่างใด (มติชน รายวัน, 2558)
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2558 ระบุว่า ผู้บริหารกทม.ทุกคน ต่างถูกสั่งให้ปิดปากเงียบในเรื่องนี้ เวลาต่อมาในที่ประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ ส.ก.กทม. ได้เสนอญัตติขอให้กทม.เร่งเตรียมความพร้อมรับผลกระทบคําตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกรณีรถและเรือดับเพลิงในด้านงบประมาณที่จะต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการนํารถออกจากสถานที่รับฝาก ค่าภาษี ค่าซ่อมและค่าอะไหล่รถ ซึ่งจะต้องมีแผนการจัดหางบประมาณที่ชัดเจนโดยไม่กระทบต่อแผนการพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านอื่นๆ
รายงานข่าวเผยว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวในที่ประชุมว่า กทม. ยังไม่ได้แถลงข่าวเรื่องคําตัดสินต่อสาธารณชน เนื่องจากคําพิพากษาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ระบุห้ามให้มีการแถลงข่าวใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดี หากยังไม่ผ่านการพิจารณาร่วมกันระหว่างกทม.และบริษัทคู่กรณีคือบริษัทสไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รขอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรียก่อนจึงจะสามารถดําเนินการได้ ดังนั้น หากให้ข่าวใดๆ ไปก็จะเกิดผลกระทบต่อคดีได้
ที่ชัดในเวลานั้นคือ กทม.ต้องรับรถดับเพลิงจํานวน 315 คัน และเรือดับเพลิงจํานวน 30 ลํามาใช้งานทั้งหมด ซึ่งในที่ประชุมสภา กทม.ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว นอกจากนี้ คณะผู้บริหารกทม.ยังได้เตรียมตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความเสียหายของสินค้าทั้งหมด จะได้ตั้งงบประมาณในการซ่อมแซมต่อไป
ก่อนหน้านี้ได้มีผู้ที่เกี่ยวข้องให้รายละเอียดคร่าวๆ ของผลการตัดสินแต่เพียงว่า อนุญาโตตุลาการฯ ระบุให้บริษัทสไตเออร์ฯ ยินยอมจ่ายเงินคืนให้กทม.เป็นเงิน 20.49 ล้านยูโร หรือประมาณ 820 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนช่วงเวลานั้น และให้กทม.ยอมรับรถ-เรือและอุปกรณ์ดับเพลิงทั้งหมดมาใช้ ซึ่งจอดแน่นิ่งอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ด้วยการดูแลของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จํากัด (บางแห่งสะกดว่า “นามยงค์”) และที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ในการดูแลของบริษัท เทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัส ตรีส์ จํากัด
ในเวลานั้นมีการประเมินกันว่าเงิน 820 ล้านบาทที่กทม.ได้กลับมาจะไม่คุ้มค่ากับการต่อสู้คดีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้ากว่า 6,000 ล้านที่กทม.จ่ายไป อีกทั้งกทม.ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกมากมายต่อจากนี้ ได้แก่ ค่าซ่อมบํารุงรถ เรือ และอุปกรณ์ดับเพลิงที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี ซึ่งยุคนั้นคาดกันว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ล้านบาท และไหนจะค่าจอดในการเก็บรักษารถตลอด 9 ปี กว่า 800 ล้านบาท ซึ่งกทม.ได้เดินหน้าเจรจาเพื่อขอยกเว้นค่าเช่าพื้นที่จอดรถ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีค่าทนายความต่างประเทศที่ว่าจ้างมาตลอด 5 ปี ที่มีข่าวว่าหมดเงินราว 51 ล้านบาท และยังมีค่าภาษีนําเข้าสินค้าที่กทม.จะต้องเจรจากับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ขึ้นทะเบียนสินค้าทั้งหมดเป็นยุทโธปกรณ์จะได้ขอยกเว้นภาษีเพื่อนํารถและเรือออกมาใช้งาน ไม่เช่นนั้นอาจต้องเสียกว่า 1,000 ล้านบาท และไหนจะค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้ คดีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และทีมผู้บริหาร ที่ต้องไปกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อยู่หลายครั้ง
ทั้งนี้ คดีการทำสัญญาจัดซื้อซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิงตามที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 6 คนเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 โดยศาลมีคำสั่งจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี โดยในวันฟังคำพิพากษาทั้งสองท่านไม่มาฟังคำพิพากษา จึงมีหมายจับในเวลาต่อมา
เชิงอรรถ :
[1] หจช. ร.5 น.22/209 ที่ 482/125 รายงานโรงพักพาหุรัด นายปลื้มสารวัตรแขวง นายชื่นนายหมวด เสนอรายงานต่อ สารวัตรใหญ่ และเจ้ากรม ปลัดกรมกองตระเวน ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125. อ้างถึงใน “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558.
[2] หจช. ร.5 น.22/265 ที่ 460 นายผล นายหมวดโรงพักจักรวรรดิ รายงานต่อ นายเทียนสารวัตรใหญ่ ลงวันที่ 27 กันยายน ร.ศ. 126. อ้างถึงใน “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558.
[3] เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : เทียนวรรณ, 2531), น. 224. อ้างถึงใน “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558.
อ้างอิง :
“ปิดฉาก ‘คดีรถดับเพลิง’ ประชาชนได้อะไร?”. มติชน รายวัน ฉบับ 14 เมษายน 2558. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564.
เอกสาร “ประวัติความเป็นมาของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”. สืบค้นจากเว็บไซต์ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. ออนไลน์. ไม่ปรากฏวันที่เผยแพร่. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564.
นนทพร อยู่มั่งมี. “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558.
Dillion, Matthew and Garland, Lynda. Ancient Rome: From the Early Republic to the Assassination of Julius Caesar. New York : Routledge, 2005.
“History of Fire Fighting”. Greater Manchester Fire Service Museum Background information. Access 6 JUL 2021.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564