บันทึกเหตุการณ์ 2475 ของผู้ช่วยทูตทหารชาวฝรั่งผู้พำนักในไทยเวลานั้น

นายทหารคณะราษฎร

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปี 2475 นั้น เยอร์แมง อองตวน อองรี รูซ์ เรียกสั้นๆ ว่า    อองรี รูซ์ นายทหารชาวฝรั่งเศส ที่สามารถพูดได้หลายภาษา เช่น เยอรมัน, สเปน, ลาว, เวียดนาม, ไทย ฯลฯ อองรี รูซ์ มีตำแหน่งเป็นนายพันโท รับราชการอยู่ในประเทศไทย ตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารประจำสยามเมื่อปลาย ค.ศ. 1931-1936 (พ.ศ. 2474-2479) จึงเป็นผู้หนึ่งที่อยู่และเห็นเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น

นายพันโทอองรี รูซ์ ยังบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว และแสดงทัศนะต่อเหตุการณ์, บุคคล และสภาพสังคมโดยทั่วไป ส่งกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส เมื่อพิมพ์พลอย ปากเพรียว เดินทางไปค้นคว้าข้อมูล ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้พบเอกสารของนายพันโทอองรี รูซ์ จึงรวบรวมและแปลเอกสารดังกล่าว เป็นหนังสือชื่อ “การปฏิวัติสยาม 2475 ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์” (สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน 2564)

ซึ่งในที่นี้ขอนำรายงานของ พันโท อองรี รูซ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ในส่วนของบทสรุปที่พันโท อองรี รูซ์ บันทึกและแสดงทัศนะเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน และหลังจากนั้นไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

หลังการปฏิวัติที่ปราศจากการนองเลือด สยามก็เข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างน้อยก็ถือเป็นช่วงพักเพื่อรอดูผลจากการปกครองระบอบใหม่และเหตุการณ์อื่นๆ ที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเชื่อว่ายุคสมัยของความยากลำบากเพิ่งเริ่มต้นขึ้น การคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ยังเป็นไปไม่ได้ แม้แค่การประเมินสถานการณ์ในภาพกว้างก็ตามที สิ่งที่พอจะทำได้ในขณะนี้คือ สรุปประเด็นสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

การจะบอกว่าการปฏิวัติทำให้ประชาชนชาวสยามตกใจก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน จริงๆ แล้วประชาชนดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อการปฏิวัติ และยังคงมองว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาและจำกัดวงอยู่แค่รอบๆ พระราชวังดุสิต เป็นเพียงตอนหนึ่งในหนังที่พวกเขาชื่นชอบ ถนนหนทางยังคงเป็นปกติ มีผู้คนไม่มากไม่น้อยกว่าธรรมดา ร้านรวงต่างๆ ยังคงเปิด รถไฟ รถราง ที่ทำการไปรษณีย์ โทรศัพท์ยังคงใช้งานได้ ข้าราชการทุกคนไปทำงานตามเวลา นายทหารกองบัญชาการยังอยู่ประจำโต๊ะ ทว่าไม่มีงานทำแต่อย่างใด

ผู้คนไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับเสียง “ไชโย” ที่พวกทหารบนรถร้องตะโกน ปราศจากความกระตือรือร้น ทั้งไม่ปรบมือและไม่ตำหนิใดๆ ราวกับไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย พวกเขาค่อยๆ หยิบใบปลิวจำนวนมากที่รถทหารโปรยทิ้งไว้ตามถนนมาอ่านเงียบๆ และเก็บใส่กระเป๋าโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไร ไม่มีแม้กระทั่งธงหรือสัญญาณใดๆ จากส่วนของประชาชนที่จะบ่งบอกถึงเหตุการณ์นี้ แม้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ การประกาศใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ…

ในคืนวันอังคารที่ 28 ต่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านไปตามถนนเผยแพร่คำประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ และเชิญชวนให้ผู้คนประดับธง เช้าวันรุ่งขึ้นบ้านเรือนส่วนใหญ่ประดับธงอย่างว่าง่าย แต่มีไม่หลากหลายนัก ธงบางผืนทำจากกระดาษเคลือบน้ำมัน เหมือนจะสื่อว่าเจ้าของบ้านไม่คิดจะประดับไว้นาน

โดยสรุป สภาพทั่วไปที่ปรากฏในเมืองคือความเฉยเมย คำพูดของชาวสยามคนหนึ่งแสดงให้ข้าพเจ้ารู้ถึงความคิดจิตใจของผู้คนต่อเรื่องนี้ นับแต่วันศุกร์ที่แล้ว โรงหนังปิด 4 ทุ่ม “เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเฝ้าดูแลตลอดทั้งคืน” หลังจากที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ระบุข้อความแนบท้ายให้ประชาชนในบางกอกกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิม “เหมือนเมื่อก่อนปฏิวัติ” ชาวสยามผู้นั้นจึงพูดว่า “เอาละ จะได้กลับมาดูหนังเต็มๆ เรื่องแล้ว”

การมองโลกในแง่ดีเช่นนั้นดูจะสร้างความสบายใจให้เฉพาะประชาชนชาวสยาม ซึ่งทราบกันดีว่ามักเพิกเฉย ไม่วิตกกังวลกับเรื่องใดๆ อันเป็นอุปนิสัยที่แก้ไม่ได้ หลายเดือนที่ผ่านมา มีข้อบ่งชี้มากมายที่ทำให้คาดการณ์ถึงความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่แล้ว เกือบ 2 เดือน ที่ข้าพเจ้ามารับตำแหน่ง ข้าพเจ้าเคยเตือนไว้อย่างหนักแน่นแล้วถึงข้อบ่งชี้ที่ยังไม่รุนแรงนัก แต่มีนัยสำคัญต่อคนที่คุ้นเคยกับความเฉื่อยชาภายนอก และการสงวนวาจาของผู้คนในดินแดนตะวันออกไกล พระบรมวงศานุวงศ์ คือเหยื่อพวกแรกที่ถูกหมายหัว และได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าหลายครั้ง กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้รับการแจ้งข่าวหลายครั้งเช่นกัน ครั้งล่าสุด เมื่อ 3 วันก่อนการปฏิวัติ แต่ไม่ทรงเชื่อคำเตือน หรือไม่ก็เพราะทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาเชื่อมั่น จึงปล่อยให้เป็นเรื่องของ “กรรม”

…………

แต่ปัญหาอีกประการคือ จังหวะเวลาในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเลือกได้ไม่เหมาะสมนัก ถึงแม้สยามจะเข้าสู่วิกฤตโลกค่อนข้างช้า แต่สยามก็ตกอยู่ในวิกฤตเช่นกัน และดูเหมือนยังลงไม่ถึงจุดต่ำสุดของความทุกข์ยาก งบประมาณของประเทศยังคงขาดดุลอยู่ทั้งๆ ที่ลดค่าใช้จ่ายลงอย่างเคร่งครัด การลดค่าเงินบาททำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ความไว้วางใจของต่างประเทศต่อเสถียรภาพของค่าเงินสยามที่ลดลง อาจทำให้ค่าเงินบาทตกลงจนอยู่ในอัตราที่ไม่น่าพอใจในคราวนี้ ย่อมจะดีกว่าถ้ารอให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวเสียก่อน ซึ่งเป็นไปได้มาก และจะนำความมั่งคั่งสมบูรณ์มาสู่รัฐบาลใหม่

…………

หนทางเยียวยายังมีอยู่ แม้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แต่จะต้องนำมาใช้ทันทีอย่างแข็งกร้าว นั่นคือการยึดทรัพย์สินของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ทหารปืนใหญ่คนเดิมที่ข้าพเจ้าเคยพูดถึงบอกว่า บรรดาผู้นำกองทัพประเมินทรัพย์สินของพระบรมวงศานุวงศ์ต่อหน้าเหล่าทหารว่ามีมากกว่า 100 ล้านบาท ผู้นำกองทัพต่างนับส่วนแบ่งของพวกเขาแต่ละคน และคิดว่าตัวเองรวยแล้ว

จะเกิดอะไรขึ้นกับ “การชันสูตร” ครั้งนี้ ชาวยุโรปที่รู้เรื่องราวดีต่างยืนยันว่า คงจะยึดเงินดังกล่าวมาได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท ทว่าความหิวกระหายต่อเงินจำนวนนี้ กลับยิ่งใหญ่และมีมากมาย หลังจากยึดทรัพย์สินของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต และกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินแล้ว พวกเขาก็จะยึดทรัพย์สินของพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ อย่างแน่นอน

คำแถลงการณ์มากมายที่แพร่หลายสู่ประชาชนอย่างไม่ขาดสายเพื่อปลุกให้ประชาชนตื่นตัว แสดงให้เห็นว่า “กลุ่มมันสมอง” ของรัฐบาลใหม่พยายามใช้หลักเกณฑ์ในคู่มือนักปฏิวัติที่สมบูรณ์แบบ แต่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกยึดทรัพย์และอยู่ในสภาพยากลำบากเหล่านี้ยังมีลูกน้องอยู่มาก และบรรดาลูกน้องอาจฮึดสู้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะบ่อยครั้งความหิวและความสิ้นหวังก็สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมุ่งมั่นจะลุกขึ้นสู้

รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ดูจะเข้าใจเรื่องดังกล่าวดี จึงจับกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินขึ้นศาล ซึ่งนอกจากจะได้กำจัดกรมพระกําแพงเพชรอัครโยธินซึ่งขึ้นชื่อว่าทรงเข้มแข็งไม่ยอมจำนนง่ายๆ แล้ว ยังทำให้มีแพะรับบาปที่ประชาชนอยากเห็นในสถานการณ์เช่นนี้เสมอ แต่จะไม่เกิดคนกลุ่มใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลขึ้นมาอีกหรือ โดยเฉพาะในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกยึดทรัพย์หรือกลุ่มลูกน้อง

…………

การให้คำมั่นสัญญาเกินจริงกับประชาชนเป็นเรื่องเสี่ยงเสมอ วันหนึ่งขุนนางเวียดนามคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า “ก่อนที่นายก (ข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนท่านหนึ่ง) จะมาถึงพวกเราไม่ได้คิดอะไรเลย เขาต่างหากที่สัญญา จะให้เดือนให้ดาวแก่เรา แต่ถึงตอนนี้ เขายังไม่ได้ให้เราแม้เพียงเสี้ยวเดียว” เรื่องนี้คงจบไม่ดีแน่ และยังไม่ทันไรก็เริ่มเสียแล้ว

เราไว้ใจชาวสยามได้เรื่องความไม่กระตือรือร้น เนื่องจากเราเพิ่งมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องจับตามองในขณะนี้ในบางกอกไม่ได้มีแต่ประชากรชาวสยามเท่านั้น อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรในเมืองเป็นชาวจีนที่ยังคงดำเนินชีวิตแบบจีนแท้ๆ พวกเขากุมชะตากรรมของเมืองในเรื่องการค้าขาย ครัวเรือน แรงงาน โรงงาน ทุกสิ่งอย่างล้วนอยู่ในกำมือของชาวจีน อีกประการหนึ่ง ชาวจีนไม่เกรงกลัวการถูกลงโทษ พวกเขาชอบความเสี่ยงและความวุ่นวาย ธรรมนูญฉบับใหม่มิได้ลิดรอนหน้าที่พลเมืองของพวกเขาแต่อย่างใด ด้วยความใจแคบรวมทั้งวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา หากไม่มีมาตรการบังคับใช้ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่สยามจะตกอยู่ในความครอบครองของพวกเขาในไม่ช้า

ทุกสิ่งเกี่ยวกับสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงอาจทำให้เรารู้สึกเฉยๆ ถ้าเราไม่มีดินแดนในอินโดจีนและไม่ต้องเป็นเพื่อนบ้านกับประเทศนี้ องค์ประกอบในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ดูจะเป็นหลักประกันความสงบและเสถียรภาพในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลใหม่มิได้เอียงซ้ายดอกหรือ ในเมื่อมีทนายความและนักศึกษาจำนวนมากอยู่ในคณะรัฐบาลหรือใกล้ชิดกับคณะรัฐมนตรี

สยามเป็นหนึ่งในประเทศกบดานของบรรดานักเคลื่อนไหวชาวเวียดนาม แต่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสยามตั้งใจจริงที่จะอนุญาตให้เราจับกุมผู้มีบทบาทสูงสุดในการเคลื่อนไหว แต่อนาคตจะยังคงเป็นเช่นนี้หรือไม่ เป็นเรื่องง่ายมากสำหรับบรรดารัฐมนตรีชุดใหม่ที่ไม่สลักสำคัญอันใด ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือที่ไม่มั่นคงถาวรแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่กระตือรือร้นที่จะส่งตัวคนกลุ่มนี้ให้พวกเรา หรือพูดง่ายๆ ว่าการทำงานที่เชื่องช้านี้ช่วยให้คนเหล่านี้หลบหนีไปได้

ทั้งนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเราหรือทางตะวันออกของประเทศจีน เพื่อเข้าใจจุดยืนของอาณานิคมขนาดใหญ่ของ เราซึ่งรายล้อมด้วยกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบความยุ่งยากเหล่านั้น เนื่องจากดินแดนของเราเองก็ค่อยๆ ประสบความยุ่งยากเช่นกัน

ท้ายสุดคือเรื่องที่เพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศสมาแจ้งให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่อันยากลำบากในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของสยามซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้ว มีข่าวลือหนาหูว่ารัฐบาลใหม่ประสงค์จะยุติการลดจำนวนที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือนักกฎหมายชาวสยามรุ่นใหม่ที่เรียนจบสาขาเดียวกันจากประเทศฝรั่งเศสและมั่นใจในศักยภาพของตัวเองจะมีจำนวนไม่เพียงพอ?

สนธิสัญญาที่ทำกับประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับประเทศมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ น่ะหรือ ไม่ต้องสงสัยเลย แต่การเปลี่ยนสัญญาเป็นเรื่องง่าย สัญญาที่ทำกับรัฐบาลสยามและข้าราชการระบุให้จ่ายเงินเดือนเป็นเงินบาท โดยไม่มีหลักประกันการแลกเปลี่ยนใดๆ ล่วงหน้า ชาวฝรั่งเศสถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับชาวสยาม และการลดค่าเงินบาทก็ทำให้เงินเดือนของข้าราชการฝรั่งเศสลดลงมากกว่าหนึ่งในสี่ ถ้าค่าเงินบาทยังคงลดลงอีก และเหล่าที่ปรึกษาเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ในประเทศนี้ต่อไปก็จะขอออกจากประเทศไปเอง

ข้าพเจ้าต้องขออภัยในความยาวของรายงานฉบับนี้ ทว่าวัตถุประสงค์ในการเขียนก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามและข้าพเจ้า เข้าใจดีถึงผลกระทบที่จะมีต่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในสยาม สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในครั้งนี้

ตั้งแต่สัญญาณบ่งชี้แรกๆ เริ่มปรากฎ นายโรเฌ่ร์ โมกราส์ (Roger Maugras) อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามและข้าพเจ้าได้ติดต่อสอบถามข้อมูลกันทุกวัน การติดต่อประสานงานระหว่างเราตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน เป็นต้นมา นับวันยิ่งใกล้ชิดมากขึ้นจนอาจเรียกว่าถาวรก็ว่าได้ และด้วยเหตุนี้ หลังจากข้าพเจ้าส่งโทรเลขฉบับที่ 1 ของหน่วยข่าวกรอง (สิ่งที่แนบมาด้วย)

รายงานข่าวเรื่อง “การปฏิวัติ” ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้ท่านทราบแล้ว โทรเลขอื่นๆ ทุกฉบับที่ตามมาของข้าพเจ้า ท่านอัครราชทูตเป็นผู้ดำเนินการส่งให้ โดยได้รับความกรุณาจากกระทรวงการต่างประเทศส่งต่อมาถึงท่านอีกทีหนึ่ง ข้าพเจ้าคงไม่จำเป็นต้องกล่าวเสริมว่า ความร่วมมือของเราทั้งสองจะยังคงแน่นแฟ้นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

อองรี รูซ์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2564