ตู้พระธรรม สัญชาติไทย ในอเมริกา มี “ปริศนาธรรม”

ตู้พระธรรมด้านหน้า

ตู้พระธรรมลายรดน้ำใบนี้ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก (Asian Art Museum of San Fransisco)

ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองด้านเขียนเรื่องทศชาติชาดก

ส่วนด้านหลังเขียนเรื่องพระมาลัยกับพระอินทร์ ที่จุฬามณีมหาเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวชื่อ Forrest Mcgill เห็นว่าตู้พระธรรมงามๆ ใบนี้มีปริศนา จึงส่งรูปถ่ายครบชุดให้ผม พร้อมทั้งจดหมายแสดงข้อสงสัย และขอให้ผม “กรุณาวานให้เพื่อนคนไทยช่วยไขปริศนา”

ปริศนาอยู่ตรงไหน?

ปริศนาอยู่ที่ความขัดแย้งกันระหว่างอายุของภาพจิตรกรรมที่ปรากฏบนตู้ใบนี้ กับปีที่สร้างตู้ที่ระบุไว้ในจารึกบนบานประตูด้านใน

ใครๆ ที่คุ้นศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์คงยอมรับพร้อมๆ กันว่าลายบนตู้ใบนี้เป็นฝีมือครั้งรัชกาลที่ ๔ (หรือรัชกาลที่ ๓ ปลายๆ ถึงรัชกาลที่ ๕ ต้นๆ) แต่จารึกในบานประตูระบุว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ (ตัวเลขเห็นได้ชัด) ในต้นรัชกาลที่ ๑ !

ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร? จะให้เชื่อสายตา หรือให้เชื่อตัวเลขในจารึก?

เมื่อเปิดประตูตู้ออกมาจะเห็น “รูปเหมือน” ผู้สร้างตู้ คือนายพึง กับอำแดงจุย (สองคนผัวเมียกัน?)

ต่างนั่งพับเพียบประนมมือในเรือนศาลาคล้ายเก๋งจีน

เพื่อท่านผู้อ่านจะได้เห็นหลักฐานชั้นต้นด้วยตา ผมขอขยายจารึกทั้งสองที่ปรากฏบนหลังคาเก๋งดังนี้ :-

ตู้พระธรรมด้านหลัง

จารึกของอำแดงจุย :-

หมายความว่า “ข้าพเจ้าอำแดงจุยมีศรัทธาสร้างตู้ไว้ในพระศาสนา ขอข้าพเจ้าจงสำเร็จธรรมะเจ็ดประการมรรคและผลนั้นเถิด”

จารึกของนายพึง :-

หมายความว่า “ข้าพเจ้านายพึงอายุได้ ๖๓ มีศรัทธาสร้างตู้ไว้ในพระศาสนา ศักราชล่วงได้ ๒๓๒๘ ปีเถาะอัฏฐศก เป็นราคา ๑๖ ตำลึง จะทำพระอัฏฐังคิกมรรคแปดจงบังเกิดในสันดานแห่งข้าพเจ้าจงทุกชาติเถิด ขอให้ได้นิพพาน ณ ปัจจโยโหตุ”

ปริศนาตู้ใบนี้ชวนให้สงสัยว่า ตู้ใบนี้อาจจะเป็นของ “ปลอม” ที่หมายจะขายให้ใครในราคาแพง จึงทำจารึก “ปลอม” ให้ตู้มีอายุเก่ากว่าความเป็นจริง แต่ผมดูทั้งลายและจารึกแล้วเห็นว่าเป็นของซื่อๆ แท้ๆ ในรัชกาลที่ ๔ แล้วทำไมนายพึงจึงอ้างว่า “(พุทธ) ศักราชล่วงได้ ๒๓๒๘” ในรัชกาลที่ ๑ ?

ขอเสริมหลักฐานล้อมรอบบ้างว่า :-

๑. ภาษาในจารึกนี้เป็นฝีมือนักเขียนสามัญชน (สัดทราง = ศรัทธาสร้าง; สาศะนา = ศาสนา; ษักกระราช = ศักราช ฯลฯ) หากเป็นของหลวงพระอาลักษณ์คงเขียนได้ “ถูกต้อง” ดีกว่านี้ แสดงว่าตู้ใบนี้เป็นผลงานของราษฎร ไม่ใช่ของหลวง

๒. ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ (ครั้งรัชกาลที่ ๑) บ้านเมืองเพิ่งผ่านศึกมา งานศิลปะยุคนั้นจึงล้วนเป็นงานหลวง เพราะราษฎรยังไม่มีทรัพย์เหลือใช้พอที่จะสร้างของไว้ในศาสนาแพงๆ เช่น ตู้ลายทอง “ราคา ๑๖ ตำลึง” ตู้ใบนี้จึงสร้างในยุครัชกาลที่ ๑ ไม่ได้

๓. ในรัชกาลที่ ๔ บ้านเมืองสงบมานานพอสมควร ราษฎรจึงเริ่มมีทรัพย์เหลือใช้ สามารถทำบุญทำทานแพงๆ สร้างตู้พระธรรมลายทองเป็นร้อยเป็นพันตู้ ดังนั้นตู้ใบนี้ควรอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่ใช่รัชกาลที่ ๑

๔. ผมนำเรื่องนี้เสนออาจารย์เทิม มีเต็ม ท่านอ่านจารึกที่ว่า “ศักราชล่วงได้ ๒๓๒๘ ปีเถาะอัฏฐศก” แล้วนำไปเทียบกับปฏิทิน ๑,๐๐๐ ปี ปรากฏว่าปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ไม่ใช่ปีเถาะ และไม่ใช่อัฏฐศก แล้วจะให้คิดอย่างไร?

บทสรุป

สรุปได้ง่ายๆ ว่า ผมไม่สามารถตอบคำถามของท่านภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียในเมืองซานฟรานซิสโกว่า “ทำไมลายในตู้พระธรรมใบนี้ไม่พ้องกับปี พ.ศ.ในจารึก?”

แล้วท่านผู้อ่านตอบได้ไหมว่า ทำไมคุณลุงพึง (อายุ ๖๓ ปี) และคุณป้าจุยในรัชกาลที่ ๔ จึงสร้างตู้พระธรรมงามๆ ใบนี้ โดยอ้าง “พ.ศ. ๒๓๒๘ ปีเถาะอัฏฐศก” ในรัชกาลที่ ๑ ?

ผมไม่เชื่อว่าเป็นการเผลอหรือเลอะเทอะ แต่ต้องมีเหตุผลประการหนึ่งประการใด