รู้จัก “เบิร์ท เทราต์มันน์” อดีตทหารนาซี ผันสู่ตำนานนายทวารแมนฯ ซิตี้-กุนซือทีมชาติพม่า

รูปปั้น เบิร์ท เทราต์มันน์ (Bert Trautmann) ที่พิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถ่ายเมื่อ ก.ย. 2008 ภาพจาก Oldelpaso สิทธิ์ใช้งาน CC BY-SA 3.0

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ผกผันของ เบิร์ท เทราต์มันน์ (Bert Trautmann) จากพลร่มกองทัพนาซี สู่เชลยศึก และกลับเป็นผู้เอาชนะใจชาวอังกฤษในฐานะนายทวารแห่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มักเป็นข้อมูลในเรื่องราวที่ถูกพูดถึงในแง่ความงดงามของฟุตบอลนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งทำให้เห็นว่ามีสิ่งที่อยู่เหนือสงครามและความเกลียดชังในใจคนอยู่

เบิร์ท เทราต์มันน์ สำหรับแฟนบอลแล้ว เขาคือตำนานผู้รักษาประตูชาวเยอรมันแห่งสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ เป็นอีกบุคคลสำคัญที่พาทีมต้นสังกัดคว้าแชมป์เอฟเอคัพ (FA Cup) ในปีค.ศ 1956 ได้อย่างน่าจดจำ แต่กว่าที่ชาวอังกฤษจะยอมรับเขาได้ เทราต์มันน์ ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านและเสียงก่นด่าจากแฟนบอลในฐานะที่เขาเคยมีภูมิหลังเป็นศัตรูของอังกฤษ

เทราต์มันน์ เกิดที่เมืองเบรเมน (Bremen) ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1923 พ่อของเขาทำงานอยู่ที่ท่าเรือ เทราต์มันน์เติบโตมาด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุวชนฮิตเลอร์” ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง และเทราต์มันน์เองก็ถูกหล่อหลอมมาด้วยแนวคิดนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เทราต์มันน์ ฉายแววความเป็นนักกีฬามาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาสนใจและใช้เวลาไปกับกีฬาหลายประเภท ถึงขนาดได้เป็นตัวแทนของซิลิเซีย (Silesia) ในการแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศที่สนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลินปีค.ศ. 1938 แต่ความเป็นนักกีฬาของเขาก็อยู่ได้ไม่นาน โดยเฉพาะยิ่งหลังจากสงครามเริ่มขึ้น เมื่อเทราต์มันน์ อายุ 17 ปี เขาเป็นอาสาสมัครของกองทัพ

Louise Taylor ผู้สื่อข่าวของ The Guardian ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของเทราต์มันน์ในปีค.ศ. 2010 โดยอดีตนักเตะรายนี้กล่าวว่า “ผมเป็นอาสาสมัครตอนอายุ 17 ผู้คนต่างถามกันว่า ‘ทำไม?’ แต่ตอนที่คุณยังเด็ก สงครามดูเหมือนการผจญภัย”

“การเติบโตขึ้นมาที่เยอรมนีในยุคของฮิตเลอร์ คุณจะไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เดิมทีคุณจะไม่คิดว่าศัตรูเป็นมนุษย์ จนเมื่อคุณเริ่มจับนักโทษ และได้ยินพวกเขาร้องไห้หาพ่อและแม่ คุณพูดว่า ‘โอ้’ เมื่อคุณพบศัตรู ศัตรูที่คุณพบกลายเป็นมนุษย์จริงๆ ยิ่งสงครามดำเนินไปนานเท่าไหร่ คุณจะเริ่มตั้งข้อสงสัยมากขึ้น แต่ในระบอบเผด็จการของฮิตเลอร์ คุณไม่สามารถพูดในสิ่งที่คุณต้องการได้ และในกองทัพเยอรมัน เมื่อได้รับคำสั่ง คุณต้องทำตามพวกเขา หากไม่ทำตาม คุณก็ถูกยิง”

เทราต์มันน์ เริ่มงานในกองทัพด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่วิทยุ ก่อนจะย้ายไปประจำยังฝ่ายพลร่ม เขาถูกส่งไปยังโปแลนด์ และรัสเซีย เทราต์มันน์ ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ที่แนวรบทางตะวันออก จนได้รับเหรียญกล้าหาญ 5 เหรียญ รวมไปถึงเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) จากกองทัพนาซี

เทราต์มันน์ เผชิญหน้ากับความตายมาหลายครั้ง เช่น ที่แนวรบรัสเซีย ขณะที่กองกำลังนาซีถอยทัพ แต่เทราต์มันน์ ถูกโจมตีด้วยระเบิด หรือในฝรั่งเศส เมื่ออาคารที่เขาอาศัยอยู่ถูกทิ้งระเบิด และเขาตกอยู่ในซากปรักหักพัง อย่างไรก็ดี เทราต์มันน์ ยังรอดชีวิตมาได้

จนถึงปีค.ศ. 1944 เทราต์มันน์ ถูกอังกฤษจับตัวได้ที่เมือง Kleve โดยเขาได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“เมื่อพวกเขาจับตัวผม [หลังจากที่กระโดดข้ามรั้วและตรงเข้าไปในกองซุ่มโจมตี] สิ่งแรกที่พวกเขาพูดคือ ‘สวัสดีไอ้พวกเยอรมัน จิบชาสักถ้วยไหม’”

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เบรท เทราต์มันน์ ถูกส่งมาอยู่ในค่ายกักกันเชลยศึกที่เมือง Ashton-in-Makerfield แถบแลงคาเชียร์ (Lancashire) ประเทศอังกฤษ และในค่ายกักกันที่นี่เองที่เปลี่ยนชีวิตเทราต์มันน์ จากทหารยอดฝีมือแห่งนาซี สู่การเป็นสุดยอดผู้รักษาประตูตลอดกาลของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้

“เมื่อมีคนถามผมเกี่ยวกับชีวิต ผมบอกว่าการศึกษาของผมเริ่มต้นขึ้นเมื่อผมไปอังกฤษ ผมเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ความอดทน และการให้อภัย” เทราต์มันน์กล่าว

เทราต์มันน์ ได้เปิดเผยในภายหลังว่า เขาเริ่มรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ตอนที่บังเอิญเห็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยเอสเอส (SS) ของกองทัพนาซีสังหารหมู่ชาวยิวในป่า

“ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี ความคิดแรกของผมคือ เพื่อนร่วมชาติของผมทำแบบนั้นไปได้อย่างไร”

ในวัย 22 ปี อดีตนายทหารกองทัพนาซี ซึ่งขณะนั้นนอกจากเขาจะทำหน้าเป็นคนขับรถให้กับเจ้าหน้าที่ชาวยิวในค่ายกักกันแล้ว เทราต์มันน์ ยังได้เล่นฟุตบอล โดยเป็นผู้เล่นในตำแหน่งกองหลัง ก่อนที่จะพบว่าเขาสามารถเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูได้อย่างดี

จนเมื่อปีค.ศ. 1948 เทราต์มันน์ถูกปล่อยตัวและปฏิเสธการถูกส่งกลับไปยังเยอรมนี จากนั้นเขาเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ จากการเซ็นสัญญาเป็นนักเตะของสโมสรเซนต์ เฮเลน ทาวน์ สโมสรนอกลีกทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ และด้วยฝีมือที่ไม่ธรรมดาของเทราต์มันน์ เขาแสดงศักยภาพจนเป็นที่จับตามองของสโมสรชั้นนำในลีกสูงสุดหลายแห่ง สุดท้ายเป็นสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่คว้าตัวเขาไปได้ในที่สุด

และในสโมสรแมนฯ ซิตี้ เทราต์มันน์ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันครั้งใหญ่ ซึ่งรอคอยให้เขาได้พิสูจน์ตัวเอง การคว้าตัวเทราต์มันน์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากผู้คนกว่า 20,000 คนในเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งมีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่อาศัยอยู่

เกิดการคัดค้านการจ้างนายทวารอดีตพลร่มอย่างรุนแรง เทราต์มันน์ ได้รับจดหมายแสดงความเกลียดชังอย่างท่วมท้น บางส่วนยังปรากฏในสื่อต่างๆ บ้างก็ขู่ว่าจะคว่ำบาตรสโมสรแมนฯ ซิตี้ หากผู้เล่นคนใหม่นี้ยังคงอยู่ และจะคืนตั๋วเข้าชมการแข่งขัน

กระนั้นก็ตาม ดร.อัลต์มันน์ (Dr. Altmann) แรบไบ (Rabbi) พระหรือผู้นำชุมชนในหมู่ชาวยิวแสดงท่าทีต่างออกไป แรบไบมองว่า ควรให้โอกาสนักเตะชาวเยอรมันรายนี้ และได้เตือนสติว่าเราทุกคนล้วนเป็นปัจเจก ไม่ควรมีใครถูกลงโทษเนื่องจากบาปของประเทศเขา

เทราต์มันน์ กล่าวถึงช่วงนั้นไว้ว่า “ต้องขอบคุณอัลต์มันน์ หลังจากผ่านไป 1 เดือน ทุกคนก็ลืมเรื่องนี้ไป หลังจากนั้น ผมได้ไปที่ชุมชนชาวยิว และพยายามอธิบายทุกอย่างให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ของคนเยอรมันในทศวรรษที่ 1930s ภายใต้ระบอบเผด็จการ ผมถามพวกเขาว่า ถ้าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน พวกเขาจะปฏิบัติอย่างไร พอได้คุยแบบนั้น ผู้คนก็เริ่มเข้าใจ”

จากนั้นเทราต์มันน์ ก็เริ่มเป็นหนึ่งเดียวกับแฟนบอลมากขึ้น และเริ่มพิสูจน์ศักยภาพของตน

เมื่อปีค.ศ 1956 ในนัดชิงชนะเลิศ FA Cup ที่แมนฯ ซิตี้ พบกับสโมสรเบอร์มิงแฮม ในแมตช์นี้ เทราต์มันน์ แสดงความเป็นยอดผู้รักษาประตูในเหตุการณ์ที่เป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ เมื่อแมนฯ ซิตี้ ขึ้นนำเบอร์มิงแฮมอยู่ 3-1 จนถึงช่วง 16 นาทีสุดท้าย ปีเตอร์ เมอร์ฟี กองหน้าของเบอร์มิงแฮม ได้บอลในกรอบเขตโทษ ขณะเดียวกัน เทราต์มันน์ ก็พยายามพุ่งตัวออกมาตัดบอลอย่างกล้าหาญเหมือนเคย แต่โชคร้ายที่ศีรษะของเทราต์มันน์ เข้าไปกระแทกกับหัวเข่าของเมอร์ฟีเข้าอย่างจัง จนต้องรีบปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน

สถานการณ์ในเวลานั้นก็ไม่สามารถเปลี่ยนตัวได้ ซึ่งเท่ากับว่าหากขาดเทราต์มันน์ ฝั่งแมนฯ ซิตี้ จะเหลือผู้เล่น 10 คนโดยปราศจากนายทวารมืออาชีพ แต่เทราต์มันน์ ตัดสินใจฝืนเล่นต่อไปทั้งที่เจ็บปวดทรมาน เมื่อแข่งจบยังขึ้นไปรับเหรียญจากราชินี รายงานข่าวจาก Independent ระบุว่า เมื่อผลเอ็กซเรย์หลังการแข่งขันออกมากลับพบว่า กระดูกสันหลังของเขาชิ้นหนึ่งหักแต่ยังโชคดีที่กระดูกซึ่งหักไปนั้นไม่ได้เคลื่อนที่ หากเขาโดนกระแทกกะทันหันอีก อดีตทหารรายนี้น่าจะจบชีวิตลง

เทราต์มันน์ ได้รับรางวัลผู้เล่นแห่งปีจากสมาคมนักข่าวฟุตบอลในปีค.ศ. 1956 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มอบให้กับผู้เล่นต่างชาติ รางวัลนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเขาสามารถพิสูจน์ตัวเอง และเป็นที่ยอมรับจากชาวอังกฤษ ในฐานะผู้รักษาประตูยอดฝีมือคนหนึ่ง

เทราต์มันน์ ได้กล่าวถึงช่วงชีวิตของเขาไว้ว่า “ผมไม่ได้เก็บอะไรไว้จากสงคราม” เขากล่าวว่า ไม่มีเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ใดๆ อีกแล้ว

เรื่องราวชีวิตของ เทราต์มันน์ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และยังคงเป็นเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อจนถึงทุกวันนี้ ในแง่ความงดงามของฟุตบอลที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางความคิดและสงครามระหว่างชาติ

น่าเสียดายที่เบิร์ท ไม่เคยลงเล่นรับใช้ทีมชาติเยอรมนี แม้ว่าเขาจะเป็นผู้เล่นมากฝีมือในระดับแถวหน้าของวงการก็ตาม The Guardian ระบุว่า เยอรมนียังใช้เบิร์ท ในการช่วยประสานงานในห้วงทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกเมื่อปี 1966 ในอังกฤษ

เทราต์มันน์ ยังรับบทบาทกุนซือหลังจากอาชีพผู้รักษาประตู เขาคุมทีมสโมสรสต็อกพอร์ท เคาน์ตี้ (Stockport County) ระยะสั้นๆ จากนั้นก็เดินทางกลับเยอรมนี และคุมสโมสรในเยอรมนีอีก 2 แห่ง

จากนั้นมารับงานในประเทศที่ยังเริ่มพัฒนาโครงสร้างฟุตบอลภายในประเทศ โดยคุมทีมชาติเบอร์มา (Burma/Myanmar) ระหว่างค.ศ. 1972-74 ตามด้วยไลบีเรีย และปากีสถาน รายงานข่าวส่วนใหญ่บอกว่า เขาเริ่มสนใจฟุตบอลในแถบแอฟริกาในช่วงบั้นปลาย

เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ (OBE) เมื่อปี 2004

เบิร์ท แต่งงาน 3 ครั้ง มีทั้งบุตร (3 คน) และธิดา เขาเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในบ้านพักที่บาเลนเซีย ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2013 ขณะอายุ 89 ปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Taylor, Louise. Bert Trautmann: from Nazi paratrooper to hero of Manchester City. The Guardian. Published 11 APR 2010. Access 29 JUN 2021 < https://www.theguardian.com/football/2010/apr/11/bert-trautmann-nazis-manchester-city>

Glanville, Brain. Bert Trautmann obituary. The Guardian. Published 19 JUL 2013. Access 29 JUN 2021 < https://www.theguardian.com/football/2013/jul/19/bert-trautmann>

Brooks, Gideon. Bert Trautmann: From Adolf Hitler’s paratrooper to an FA Cup winner – the remarkable story. Express. Published 3 ARP 2019. Access 29 JUN 2021. < https://www.express.co.uk/sport/football/1109070/Bert-Trautmann-Adolf-Hitler-paratrooper-FA-Cup-winner-Manchester-City-Germany>

Scullard, Vikie. How Bert Trautmann overcame Nazi brainwashing to become the greatest Manchester City goalkeeper of all time. Manchester Evening News. Published 4 MAR 2019. Access 29 JUN 2021 < https://www.manchestereveningnews.co.uk/whats-on/film-news/how-bert-trautmann-overcame-nazi-15903119>

Ponting, Ivan. Bert Trautmann obituary: Footballer who overcame prejudice and went on to play with a broken neck in the FA Cup final. Independent. Published 19 JUL 2013. Access 29 JUN 2021. < https://www.independent.co.uk/news/obituaries/bert-trautmann-obituary-footballer-who-overcame-prejudice-and-went-play-broken-neck-fa-cup-final-8721156.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2564