“อุจจาระจระเข้ผสมน้ำผึ้งแล้วสอดช่องคลอด” เปิดวิธีคุมกำเนิดในอดีตจากทุกมุมโลก

อียิปต์โบราณ

กล่าวกันมาว่าการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของชาวอียิปต์ คือ นำเอาอุจจาระจระเข้มาผสมกับน้ำผึ้ง และใบอาเคเซีย (Acacia) จากนั้นนำส่วนผสมดังกล่าวไปแช่น้ำพร้อมกับชิ้นส่วนผ้าลินินหรือผ้าพันแผล เสร็จจึงนำมาสอดเข้าไปในช่องคลอดก่อนจะมีเพศสัมพันธ์

ชาวอียิปต์เชื่อว่าอุณหภูมิของร่างกายจะช่วยให้ส่วนผสมดังกล่าวอ่อนตัวลงจนเหนียวกลายเป็นเกราะป้องกันน้ำเชื้อได้ ซึ่งคุณสมบัติของอุจจาระจระเข้นั้นมีความเป็นกรดสูงจึงน่าจะไปทำลายอสุจิได้ ส่วนน้ำผึ้งมีฤทธิ์สามารถต้านแบคทีเรีย ดังนั้น หากมีแมลงในอุจจาระของจระเข้ น้ำผึ้งก็มีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย นอกจากผู้หญิงแล้วผู้ชายอียิปต์เองก็พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึ่งประสงค์เช่นกัน โดยพวกเขาใช้ถุงยางอนามัยที่ทำจากผ้าลินิน

ภาพวาดจระเข้ที่ปรากฏใน Book of the Dead อายุ 332–200 ก่อนคริสตกาล

จีนโบราณ

ในวัฒนธรรมจีน โลหะหนักหลายชนิดถูกมองเป็นยาอายุวัฒนะ บรรดาหญิงสาวเชื่อว่าการดื่มสารผสมโลหะหนักอย่างตะกั่ว ปรอท สารหนู เข้าไปหลังมีกิจกรรมทางเพศ หรือผสมลงไปในเครื่องดื่มและดื่มทุก ๆ วัน จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และทำให้น้ำเชื้อของผู้ชายหมดฤทธิ์

ส่วนอีกหนึ่งความเชื่อ คือ ปรอทเป็นยาที่ช่วย “ยืดชีวิต” ได้ โดยมีตำนานเล่าว่า การกินซินนาบาร์ (Cinnabar) หรือชาด เป็นแร่ของปรอทนั้น สามารถช่วยทำให้อายุยืนยาวได้

ดังนั้น จักรพรรดิจีนบางพระองค์จึงเสวยไวน์และน้ำผึ้งที่คลุกเคล้ากับสารดังกล่าว เพื่อหวังที่จะมีอายุที่ยืนยาวด้วยเช่นกัน แต่ผลข้างเคียง คือ มีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไตวาย สมองถูกทำลาย

กรีก-โรมัน

ในยุคนี้จะใช้ดอกซิลเฟียม (Silphium) นำมาใช้รักษาอาการคลื่นไส้ ตาปลาที่เท้า รวมถึงบรรเทาอาการไข้หนาวสั่น ที่สำคัญยังถูกนำมาสกัดเป็นยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน ว่ากันว่าผู้หญิงสมัยนั้นจะดื่มน้ำที่สกัดมาจากดอกซิลเฟียมเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการคุมกำเนิด บางคนก็นำมาบดเป็นน้ำแล้วใช้ผ้าจุ่มลงไป จากนั้นก็สอดเข้าไปในช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์

ดอกซิลเฟียมได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากคุณสมบัติในการคุมกำเนิดนั่นเอง จนการค้าดอกซิลเฟียมมั่งคั่งทั่วเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการดอกซิลเฟียมเพิ่มขึ้นจึงนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพืชชนิดนี้ ว่ากันว่ามันสูญพันธุ์ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

นอกจากนี้ หญิงชาวโรมันมักใช้ของเหลว เช่น น้ำทะเล น้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชู มาทำความสะอาดช่องคลอดก่อนหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อทำความสะอาดและเป็นการล้างอสุจิอีกด้วย

ยาคุมกำเนิด

ชาวอาหรับ

วิธีการคุมกำเนิดของชาวอาหรับจะมีลักษณะคล้ายกับชาวอียิปต์ คือ การใช้อุจจาระของสัตว์มาเป็นส่วนประกอบ หนึ่งในตำราการแพทย์จากศตวรรษที่ 9-10 ของมูฮัมหมัด อิบน์ ซาคาริยะ อัล-ราซี (Muhammad ibn Zakariya al-Razi) พูดถึงวิธีคุมกำเนิด คือ การนำอุจจาระช้างผสมกับยางไม้และสมุนไพรอื่น ๆ ใช้เป็นยาเหน็บช่องคลอด โดยอ้างว่าสามารถป้องกันน้ำเชื้ออสุจิได้

ส่วนผสมอื่นที่นิยมนอกจากอุจจาระช้าง คือ น้ำมันดิน และกะหล่ำปลีบด เชื่อกันว่าวิธีนี้จะสามารถคุมกำเนิดได้

ยุโรปยุคกลาง

ในยุคนี้จะใช้ไส้หรือกระเพาะอาหารของสัตว์มาเป็นอุปกรณ์ในการคุมกำเนิด โดยเฉพาะไส้ของหมูและแกะได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากสัมผัสที่บางและนุ่ม ในอดีตมีการใช้ไส้หมูชุบกับนมอุ่น ๆ สวมเข้าไปที่อวัยวะเพศชาย เพื่อช่วยในการคุมกำเนิด แต่การใช้ไส้ของสัตว์ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความบางทำให้ฉีกขาดง่ายและความคงทน เนื่องจากมันสามารถเน่าเปื่อยได้

ถุงยางในยุคแรก ๆ ใช้สวมเพียงปลายองคชาติ แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็นับว่าดีที่สุดแล้วในยุคนั้น ทว่า การใช้ส่วนใหญ่ก็เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าการคุมกำเนิด เนื่องจากช่วงเวลานั้นซิฟิลิสระบาดทั่วยุโรปตะวันตก ดังนั้น ถุงยางอนามัยจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

สมัยวิกตอเรียน 

ผลจากการล่าอาณานิคมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีการค้นพบวัตถุดิบใหม่ ๆ เช่น ยางและน้ำมัน และในปี 1855 เริ่มมีการผลิตถุงยางที่ทำจากยางพาราเป็นครั้งแรก จากสมัยก่อนที่ถุงยางมีขนาดไม่ครอบคลุมทั้งองคชาติ ทว่าความยืดหยุ่นของยางพารานั้นทำให้สามารถครอบได้เต็มทั้งองคชาติ อีกทั้งยังมีความหลากหลายในเรื่องของขนาด ดังนั้น ถุงยางจึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์คุมกำเนิดยอดนิยมในยุคปัจจุบัน


อ้างอิง :

“The weird history of contraception”. BBC. Online. Retrieved June  30, 2021, https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/z7ffmfr

Katie Serena. 2017. “The Greatest Contraceptive Was Silphium – A Plant That The Romans Ate To Extinction”. All That’s Interesting. Retrieved June  30, 2021, https://allthatsinteresting.com/silphium.

Peter Preskar. “8 Surprising Fact About the Love of the Ancient Egyptians”. History of Yesterday. Retrieved June  30, 2021, https://historyofyesterday.com/love-life-of-the-ancient-egyptians-561199fb5a0d


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564