ดูบ้านหลังแรกของ “อินจัน” แฝดสยามก้องโลก สู่การรวมตัวทายาททั้งคู่ครั้งแรก

อินจัน แฝดสยาม
อินจัน แฝดสยาม

อินจัน ถือกําเนิดในครอบครัวชาวประมงที่อําเภอแม่กลองในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ทั้งสองมีท่อนเอ็นยาวประมาณ 4-5 นิ้ว เชื่อมร่างกายของแต่ละฝ่ายไว้ตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่ออายุเกือบ 18 ปี นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ กับ กัปตันเอเบิล คอฟฟิน ได้โอกาสพา อิน-จัน เดินทางออกจากสยามเพื่อไปแสดงตัวในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยใช้ชื่อว่า “แฝดสยาม”

อินจัน มิได้เพียงแค่ปรากฏตัวให้คนดูเท่านั้น แต่ได้พัฒนาความสามารถและเรียนรู้กลเม็ดต่างๆ ในการแสดงที่ทําให้ผู้ชมรู้สึกทึ่งและประทับใจ จนเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว เมื่ออายุประมาณ 22 ปี ทั้งสองได้พบกับพี่น้องสองสาวชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมาอีก 4 ปี ได้กลายมาเป็นคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อินมีทายาท 11 คน ส่วนจันมี 10 คน ทั้งคู่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2417 โดยจันเป็นฝ่ายเสียชีวิตก่อน

มรณกรรมของอิน-จันไม่เพียงแต่นําความโศกเศร้ามาสู่ครอบครัวเท่านั้น แต่ชาวโลกด้วย ข่าวการเสียชีวิตของแฝดสยามปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ ติดต่อกันเกือบทุกวันนานถึง 6 เดือน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “อินจัน”

เรื่องเล่าบางเรื่องเป็นข้อมูลที่น่าจะมีต้นกําเนิดมาจากโรงน้ำแข็ง เป็นต้นว่า อินจันเดินทางไปทั่วโลก เรื่องนี้เป็นจริงเฉพาะในกรณีที่คําว่าทั่วโลกหมายความถึงสหรัฐฯ และยุโรปเท่านั้น ทั้งสองไม่เคยเดินทางมายังเอเชียหรือไปแอฟริกา หรือเรื่องที่ว่าตระเวนแสดงกับคณะละครสัตว์ทั่วสหรัฐและยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะของนาย พี.ที. บาร์นัม เรื่องนี้ไม่ถูกต้องนัก เพราะตามประวัติแล้ว ในช่วงแรก ทั้งสองไม่ได้ไปร่วมแสดงในคณะละครสัตว์ แต่เป็นการเร่ปรากฏตัว/แสดง

อินจันไปร่วมงานกับนายบาร์นัมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น โดยที่ครั้งแรกเป็นการปรากฏตัวในช่วงเวลา 6 สัปดาห์ที่พิพิธภัณฑ์ของนายบาร์นัมขณะที่ทั้งสองมีอายุ 49 ปี ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการไปปรากฏตัวในยุโรปตามที่ได้ตกลงกับนายบาร์นัมไว้

ทั้งคู่เคยร่วมเวทีกับคณะละครสัตว์จริงๆ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือที่ประเทศเยอรมนี และไปในลักษณะการปรากฏตัวเป็นแขกรับเชิญพิเศษ ไม่ใช่การแสดงในคณะละครสัตว์อย่างที่เข้าใจกัน

อิน-จันได้อําลาเวทีการแสดงหลังจากที่เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง และไปอาศัยอยู่ที่เมืองนอร์ทวิลค์สบอโร (North Wilkesboro) ตามด้วยเมืองแทร็ปฮิลล์ (Trap Hill) ก่อนย้ายไปปักหลักถาวรอยู่ที่เมืองเมาต์แอรี (Mt. Airy) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ใกล้กับมลรัฐเวอร์จิเนีย สถิติประชากรใน พ.ศ. 2553 บอกว่ามีพลเมืองประมาณหมื่นกว่าคน เมืองนี้มีชื่อเสียงในฐานะที่มีเหมืองหินแกรนิตแบบใกล้ผิวดิน (open-face quarry) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ว่ากันว่ามีหินแกรนิตให้ขุดต่อไปได้อีกประมาณ 500 ปีจึงจะหมด นอกไปจากหินแกรนิตและอินจันแล้ว บุคคลที่ทําให้เมืองนี้มีชื่อเสียงไม่แพ้กันคือนักแสดงโทรทัศน์ชื่อแอนดี กริฟฟิท (Andy Griffith) คนไทยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) คงไม่ค่อยรู้จักนักแสดงคนนี้ เขาเคยแสดงเป็นตัวเอกในหนังโทรทัศน์ชื่อ “ดิ แอนดี กริฟฟิท โชว์” (The Andy Griffith Show) เชื่อกันว่าเมืองเมาต์แอร์เป็นแรงบันดาลใจของชุมชนที่เรียกว่าเมย์แบร์รี (Mayberry) ในหนังโทรทัศน์เรื่องนี้

ทุกๆ ปี ในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ทายาทของอิน-จันจะจัดงานชุมนุมทายาทที่เมืองเมาต์ แอรี ประมาณกันว่าขณะนี้จํานวนทายาททั้งหมดมีประมาณพันกว่าคน ในสาขาอาชีพต่างๆ ตั้งแต่ลูกจ้างทั่วไป ครู ทหาร นักธุรกิจ วิศวกร ทนายความ พยาบาล และแพทย์ ประมาณ 10% ในจํานวนทายาททั้งหมดนี้อาศัยอยู่ที่เมืองเมาต์แอรี

ก่อนหน้า พ.ศ. 2533 ทายาทแต่ละฝ่ายจัดงานสังสรรค์แยกกันต่างหาก แต่เมื่อคณะผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีจากบริษัทกันตนาติดต่อขอไปถ่ายทําสารคดีเกี่ยวกับอิน-จันในปีดังกล่าวจึงมีการออกข่าวเชื้อเชิญให้ทายาททั้ง 2 ฝ่ายมาชุมนุมสังสรรค์ร่วมกันเป็นครั้งแรก และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา…

พินัยกรรมของแฝดสยาม

พินัยกรรมของอินมี 3 หน้า ส่วนของจันมีเพียงหน้าเดียว แต่ทั้ง 2 ฉบับแสดงให้เห็นถึงความรักใคร่ อาทร และความผูกพันที่ทั้งสองมีต่อครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด

บ้านหลังแรกของ “อินจัน”

บ้านหลังแรกของอิน-จันที่เมืองแทร็ปฮิลล์ ซึ่งใช้เวลาขับรถจากเมืองเมาส์แอร์ไปไม่เกิน 45 นาทีก็ถึง บ้าน หลังนี้สร้างขึ้นบนที่ดิน 150 ไร่ (ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า 110 ไร่) ที่อิน-จันซื้อรวมกัน โดยจ่ายค่าที่ดินด้วยถุงบรรจุเหรียญเงินมูลค่า 300 เหรียญสหรัฐ

พอซื้อแล้ว เพื่อนบ้านก็สมัครใจช่วยกันปลูกเรือนให้ บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น พร้อมระเบียงกว้างล้อมชั้นล่างของตัวบ้านไว้ 3 ด้าน มีทั้งหมด 4 ห้อง ชั้นละ 2 ห้อง โดยมีปล่องไฟขนาดยักษ์ กว้าง 5 ฟุต ทําหน้าที่ระบายควันไฟจากเตาผิงที่มีประจําห้องทุกห้อง หน้าต่างในห้องแต่ละห้องมีขนาดใหญ่จากพื้นจรดเพดาน เพราะทั้งสองชอบแสงแดด

บันไดที่ทอดจากชั้นล่างสู่ชั้นบนมีความกว้างกว่าบันไดปกติ เพื่อให้ทั้งสองขึ้นลงสะดวก ส่วนครัวนั้น สร้างแยกออกจากตัวบ้าน และมีเตาผิงขนาดใหญ่ที่สุดในละแวกนั้น นอกจากนี้ยังมีคอกม้าและอาคารหลังใหญ่ซึ่งใช้เป็นเรือนทาสและที่เก็บของ

เมื่ออิน-จันสร้างบ้านหลังนี้เสร็จ ก็ส่งนายชาร์ลส์ แฮร์ริส (ผู้จัดการและเพื่อนของอิน-จัน – กองบรรณาธิการ) ไปนิวยอร์กเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ เช่น พรม เชิงเทียน ภาพแขวนห้อง เครื่องเงิน และอื่นๆ มาแต่งบ้าน เสียค่าใช้จ่ายไป 467 เหรียญสหรัฐ

ส่วนเตียง เก้าอี้ กว้าง 2 เท่าสําหรับนั่งคู่กัน และโต๊ะนั้น อิน-จันซื้อหรือสั่งทําจากชุมชนของตนหรือ บริเวณใกล้เคียง ในราวเดือนมิถุนายนของปี พ.ศ. 2383 ทั้งสองได้ย้ายเข้าบ้านหลังนี้ในฐานะชาวอเมริกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

บ้านหลังแรกของ อินจัน ในเมืองแทร็ปฮิลล์
บ้านหลังแรกของอิน-จัน ในเมืองแทร็ปฮิลล์ (ถ่ายเมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2554) ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2554

หลังจากที่ผมเห็นบ้านหลังนี้แล้ว จึงเข้าใจว่า ในเวลานั้น อิน-จันคงอยากใช้ชีวิตที่เงียบเชียบและพ้นจากสายตาของผู้คนให้มากที่สุดจริงๆ เพราะตัวบ้านซุกอยู่ที่ปลายทางเล็กๆ ที่ห่างจากถนนใหญ่มากพอสมควร หากไม่สังเกตก็คงมองไม่เห็น

ยิ่งกว่านั้น ในละแวกใกล้เคียงยังแทบไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่เท่าใดนัก สถิติจํานวนประชากรในปี พ.ศ. 2543 บอกว่า เมืองแทร็ปฮิลล์มีประชากรประมาณ 1,900 คนเท่านั้น จริงอยู่ที่ว่าในอดีตอาจเป็นชุมชนที่หนาแน่นกว่านี้แต่คงเป็นไปได้น้อยมาก ถ้าให้เดาก็ต้องบอกว่า คงไม่หนาแน่นไปกว่าในปัจจุบันนี้

บ้านหลังนี้เพิ่งเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิม หลังจากที่ติดประกาศขายมานานในราคาตั้งต้นที่ 650,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมที่ดินประมาณ 67.5 ไร่ ปรากฏว่าประกาศขายอยู่นานก็ไม่มีผู้สนใจ

ทายาทบางคนคิดจะซื้อเก็บไว้ แต่เปลี่ยนใจเมื่อเห็นสภาพบ้านที่ค่อนข้างทรุดโทรม วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นเหตุให้เจ้าของจําเป็นต้องตัดใจขายไปในราคา 150,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมที่ดินประมาณ 55 ไร่ ซึ่งนับว่าถูกมาก ทราบมาว่าเจ้าของบ้านปล่อยให้คนเช่า ผมลองไปเคาะประตูบ้านแล้วปรากฏว่าไม่มีใครมาเปิดรับ

ที่ฝั่งตรงข้าม เยื้องกับปากทางเข้าบ้านหลังนี้เป็นสุสานเก่า คุณเมลวิน (เมลวิน ไมล์ส-Melvin Miles ทายาทของนายชาร์ลส แฮร์ริส) บอกให้ผมแวะไปดูหลุมฝังศพของภรรยานายแฮร์ริส ดูเหมือนว่าที่นี่เป็นสุสานสําหรับคนในตระกูลฝ่ายภรรยาของนายแฮร์ริสหลายคน

ส่วนร่างของนายแฮร์ริสเองนั้น คุณเมลวินบอกว่าเจ้าตัวต้องการให้ฝังไว้ใต้ธรณีประตูทางเข้าโบสถ์แห่งหนึ่ง เดาเอาว่าคงเพราะต้องการอุทิศร่างเพื่อให้คนเดินข้ามระหว่างทางไปสู่พระเจ้าหรือสวรรค์อะไรทํานองนั้น…

ทุกครั้งที่มีโอกาสไปร่วมงานชุมนุมทายาทของอิน-จัน ผมอดรู้สึกชื่นชมในตัวบุคคลคู่นี้ไม่ได้ อิน-จันเป็น บุคคลตัวอย่างที่ดีคู่หนึ่ง ซึ่งถ้าพูดตามภาษาปัจจุบันก็ต้องบอกว่า รู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส แล้วใช้โอกาสนั้นสร้างสมโชคลาภ

อิน-จันสามารถผันเปลี่ยนชีวิตจากเด็กชาวบ้านธรรมดาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ขณะที่เดินสวนกระแสสังคมที่จับจ้องมองดูด้วยความรู้สึกในเชิงลบ ทั้งคู่ประกอบอาชีพโดยสุจริตจนมีฐานะเป็นเศรษฐีย่อยๆ ในเมืองของตน และสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนฝันใฝ่มาตลอด คือการมีคนรักและชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข

ทายาททุกคนคือเลือดเนื้อเชื้อไขของอิน-จันที่ช่วยนําพาตํานานชีวิตของคนทั้งคู่ข้ามยุคข้ามสมัยตามกระแสของกาลเวลา เพื่อยืนยันว่าครั้งหนึ่งทั้งสองเคยมีตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงชื่อที่เราอ่านพบในชีวประวัติบุคคลสําคัญเท่านั้น

น่าเสียดายอยู่หน่อยตรงที่ว่า ตํานานชีวิตของอิน-จันที่เล่าสืบต่อกันมาในครอบครัวจําต้องขาดตอนไปช่วง หนึ่ง เพราะดูเหมือนทายาทรุ่นหลานของอิน-จันรู้สึกอับอายในบรรพบุรุษของตนเนื่องจากสภาพสังคมในเวลานั้น (ผิดกับรุ่นลูกซึ่งรู้สึกรักใคร่และภูมิใจในตัวผู้บังเกิดเกล้ามาก) ทําให้ทายาทรุ่นต่อมาไม่ได้รับฟังเรื่องราวที่เป็นเกร็ดชีวิตอันน่าสนใจไปอย่างน่าเสียดาย

ผู้สนใจเรื่องอิน-จันคนหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่าดูเหมือนคนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจกับอิน-จันเท่าฝรั่ง ลองนึกดูแล้วก็คงจะจริง และมีเหตุผลที่นํามาอธิบายได้ร้อยแปด แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าหนึ่งใน เหตุผลเหล่านั้นเป็นผลมาจากพื้นฐานทางศาสนา

คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่เชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม ฉะนั้น ในความรู้สึกของคนไทย ผลกรรมทําให้อิน-จันมีตัวติดกัน เราจึงไม่เห็นว่าอิน-จันเป็นอะไรมากไปกว่าชีวิตคนคู่หนึ่งในอดีตกาล แต่ฝรั่งที่นับถือ ศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่มักเชื่อว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ด้วยเหตุนี้ฝรั่งจึงอาจมองว่า อิน-จันเกิดมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ เห็นว่า ความขัดแย้งอยู่ร่วมกันได้ อิน-จันจึงเป็นสัญลักษณ์ที่นักคิด นักเขียนหลายคนเคยนํามาเปรียบเปรยกับกรณีขัดแย้งต่างๆ นานา เช่น สงครามกลางเมืองในสหรัฐ

ฉะนั้น ในยุคที่การเมืองผ่าประเทศไทยเป็น 2 ซีก เราอาจต้องอาศัย “อินจัน” เป็นแบบอย่าง เผื่อจะมีโอกาสนำพาประเทศไปสู่ความเจริญมั่นคงและมั่งคั่งกับเขาบ้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไปงานฉลอง 200 ปีชาตกาลอิน-จัน” เขียนโดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564