การศึกษาเพื่อ “ปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์” ส่งต่อสายพันธุ์ที่ดี เชื่อฟัง และฉลาด

เซอร์ฟรานซิส กัลตัน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจ และบุกเบิกการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์

ในปัจจุบันการปรับปรุงสายพันธุ์พืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ฯลฯ ที่อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อให้ได้ผลตามความต้องการของเจ้าของ, ลูกค้าและตลาด เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ และการผลิตอาหารให้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลก

แต่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งในหลายประเทศสนใจและเริ่มศึกษาค้นคว้าวิจัย “การปรับปรุงพันธุ์มนุษย์” นี่ซิ ฉงนว่ามีทำทำไม เพื่ออะไร

Advertisement

จอห์น คอร์นเวลล์ อดีตผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และมิติมนุษย์ที่วิทยาลัยจีซัส, เคมบริดจ์ และภาคีสมาชิกของคณะประวัติศาสตร์และปรัชญาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นผู้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์” สำนวนแปล นภดล เวชสวัสดิ์ (สำนักพิมพ์มติชน สิงหาคม 2554) ที่นำบางส่วนมาเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

เรื่องที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับอนามัยเผ่าพันธุ์มนุษย์ในเยอรมนี ก็คือ การผงาดขึ้นของศาสตร์ว่าด้วย “การปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์” (eugenics) ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์การคัดเลือกเชื้อพันธุ์ชั้นดีส่งผ่านไปถึงรุ่นลูกหลาน การปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์มีที่มาจากญาติของชาร์ลส์ ดาร์วิน, เซอร์ฟรานซิส กัลตัน ผู้ลุ่มหลงการวัดสรรพสิ่ง ตั้งแต่ระดับสติปัญญาไปจนถึงความงามทางกายภาพ

หนังสือของกัลตันชื่อ Hereditary Genius ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1869 เสาะหาสติปัญญาที่ส่งผ่านไปถึงลูกหลาน แทบจะไม่สนใจปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เน้นไปที่ความได้เปรียบของการคัดเลือกคนสติปัญญาสูงในสังคม เพื่อจะนำมาผสมพันธุ์กันให้ได้ลูกหลานสติปัญญาดี กัลตันอัศจรรย์ใจไปกับกราฟการแจกแจงแบบปกติของเกาส์ หรือที่รู้จักกันดีว่า “รูประฆังคว่ำ” เขาให้เหตุผลว่าในเมื่อการแจกแจงบรรทัดฐานทางกายภาพและข้อยกเว้นในหมู่ประชากร เช่น ความสูง น้ำหนัก และอื่นๆ เก็บข้อมูลได้ง่ายอยู่แล้ว ระดับสติปัญญาก็น่าจะตรวจนับได้ ความแตกต่างของระดับสติปัญญาจะพิจารณาได้จากระดับสติปัญญาของพ่อแม่

ในช่วงที่อาชญากรรมและความยากจนเพิ่มสูงในตอนท้ายขอของศตวรรษที่ 19 มหานครใหญ่ เช่น ลอนดอนและนิวยอร์ก เขาเชื่อว่าประชากรที่ว่านอนสอนง่าย สมบูรณ์แข็งแรง และมีสติปัญญาดี น่าจะเพาะเลี้ยงขึ้น รัฐบาลกำหนดแผนนี้ไว้ในนโยบาย เขาเรียกโครงการนี้ว่า “การปรับปรุงพันธ์ุมนุษย์” ข้อเสนอเรื่องหนึ่งของเขาคือ การจัดงานแต่งงานในมหาวิหารเวสมินสเตอร์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากคู่แต่งงานนั้นผ่านเกณฑ์วัดในเรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์

หนึ่งในลูกศิษย์ชั้นเลิศของกัลตันคือ คาร์ล เพียร์สัน คนสมถะ แก้มบางตอบ เคร่งศาสนาและโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม เพียร์สันเป็นนักศึกษาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต่อด้วยมหาวิทยาลัยลอนดอน จากนั้น ไปเรียนวิทยาศาสตร์ชีววิทยาในเยอรมนี เขากลายเป็นบิดาแห่งวิชาสถิติยุคใหม่ ผลงานโดดเด่นที่สุดคือการทดสอบไคกำลังสอง (Chi square) ซึ่งเป็นการทดสอบสมมุติฐานทางสถิติ และแนวคิดแห่งค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ในเมื่อต้องรับงานตรวจนับข้อมูลชีววิทยาในเชิงคณิตศาสตร์ เขาปักหลักทำงานที่ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจในลอนดอน เหย้าของปรัชญาประโยชน์นิยม เขาดึงดูดเงินทุนสนับสนุนงานวิจัย “ไบโอเมทริก” [การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์โดยใช้คุณลักษณะทางชีวภาพของร่างกาย-ผู้แปล] มีทั้งห้องปฏิบัติการและวารสารรายปักษ์ ไบโอเมทริกา

หลังจากกัลตันเสียชีวิตในปี 1911 เพียร์สันเป็นศาสตราจารย์ผู้ก่อตั้งภาควิชากลต้นปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ และเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการกัลตันเพื่องานการปรับปรุงมนุษย์แห่งชาติ รวบรวมข้อเท็จจริงและตัวเลขของลักษณะต่างๆ ผ่านไปถึงลูกหลานได้ ข้อมูลนี้รวมทั้งโรคหลายชนิด การติดสุราเรื้อรัง และสติปัญญา (การตรวจวัดระดับสติปัญญาของเด็กนักเรียนก่อนจะมีแบบทดสอบสติปัญญา ผู้ตรวจสอบจะเป็นครูประจำชั้น)

เมื่อสังเกตเห็นความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “สติปัญญา” ของพ่อแม่ กับขนาดของครอบครัว เพียร์สันสรุปว่าประชากรอังกฤษกำลังเคลื่อนไปหาการเสื่อมทราม เขายกให้เป็นผลเชิงบวกที่สงครามมีต่อการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ ในการคัดเลือกกลุ่มคนจากการสู้รบ เขาเขียนว่า “ความเจริญรุดหน้าของการอยู่รอดของผู้เข้มแข็งที่สุด อาจดำมืดในสายตาของคุณ แต่การดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิตรอด ก็ให้คุณสมบัติพิเศษ เพราะจะมีก็แต่เบ้าหลอมร้อนแรงเท่านั้นที่เราจะได้เหล็กกล้าคุณภาพดีเยี่ยม” [1]

ความสนใจต่อการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ และประโยชน์ที่ได้จากสงคราม ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกา โรแลนด์ แคมป์เบลล์ แม็กฟี อ้างว่าสงครามทำให้ขาดแคลนคนหนุ่ม ผลที่ตามมาก็คือ “การกำจัดสตรีที่ไม่เหมาะสมทิ้งไปด้วย” สงครามไม่ได้หมายความเพียงแค่ “การคัดเลือกบุรุษไปเป็นทหาร” ที่ก่อให้เกิดการทำลายล้างมากพอๆ กับการคัดเลือกสตรีมาแต่งงานด้วยวิธีที่เข้มงวดโดยผ่านวิจารณญาณของฝ่ายชายเป็นสำคัญ แต่สงครามหมายถึงการยกระดับของ “ความงามและอนามัยของชนเผ่านักรบ”

เหมือนเช่นความเห็นของสเตฟาน คูห์ล ที่ระบุว่า มุมมองดังกล่าว “สอดคล้องไปกับนักการทหาร แนวคิดล่าอาณานิคม และเชื่อมโยงนักปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์เข้ากับการปลุกระดมความคลังชาติภายในแต่ละประเทศ [2]

งานการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดย ชาร์ลส์ ดาร์เวนพอร์ต ลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับคาร์ล เพียร์สัน กล่าวคือ รวมชีววิทยาเข้ากับคณิตศาสตร์ เพื่อประมวลเป็นผลสรุปถึงพฤติกรรมเชิงศีลธรรมและสติปัญญา เขาชี้ชวนให้เห็นว่าคนเชื้อชาติอื่นบางกลุ่ม มีข้อบกพร่องทางศีลธรรมประจำเผ่า…ซึ่งทำให้การก่ออาชญากรรมและการขายตัวสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลาน

เขาก่อตั้งสำนักงานทะเบียนการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ เพื่อประมวลข้อมูลลักษณะประชากรในสหรัฐ เขาทำงานรวมกับเฮนรี ก็อดดาร์ด ผู้เป็นต้นคิดร่วมกับลูอิส เทอร์แมน นำเอาแบบทดสอบสติปัญญา “บิเนต์” จากฝรั่งเศสมาใช้ในสหรัฐและเปลี่ยนชื่อเรียกแบบทดสอบสติปัญญา “สแตนฟอร์ด-บิเนล” ทีมงานนี้ปักใจเชื่อว่าในตัวมนุษย์มียีนเพียงตัวเดียวควบคุมสติปัญญา ทั้งสามยังรับผิดชอบในการนำการหาค่าระดับสติปัญญา (ไอคิว) มาใช้ในภาษา

การนำแบบทดสอบนี้ไปใช้กับผู้อพยพ ส่งผลให้มีการปฏิเสธคนบางเชื้อชาติ ก็อดดาร์ดสนับสนุนแนวคิดของเมนเดลเกี่ยวกับพันธุกรรมและสติปัญญาที่ว่า พ่อแม่ที่ที่มียีนต่างกันอยู่ร่วมกัน (heterozygous) ยืนหนึ่ง “ฉลาด” อีกหนึ่ง “ปัญญาอ่อน” หากไม่มีการแสดงยีนเด่น ก็พอจะอนุมานได้ว่า ลูกที่เกิดมาจะฉลาดหนึ่งคน ปัญญาอ่อนหนึ่งคน และปานกลางอีกสอง

มุมมองเช่นนี้สนับสนุนให้มีการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ ซึ่งจะสั่งห้ามการผสมพันธุ์ของคนที่มีโรคทางพันธุกรรม โรคซิฟิลิส พฤติกรรมต่อต้านสังคม รวมไปถึงการหมกมุ่นสำเร็จความใครด้วยตนเองจนติดเป็นนิสัย บางมลรัฐ เช่น อินเดียนา ออกกฎหมายบังคับให้ทำหมันโดยการตอนหรือการฉายรังสี

ในระหว่างนั้น พัฒนาการของการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ในเยอรมนี เหมือนเช่นโครงการอนามัยของเผ่าพันธุ์ก่อตัวชัดยิ่งขึ้น โดยอิงกับลัทธิดาร์วิน “จอมปลอม” บวกรวมเข้ากับนิยายปรัมปราสายเลือดอารยันสุดสูงส่ง หัวขบวนของกลุ่มนี้คือ ฟิลาเลเธส คุห์น ศาสตราจารย์ภาควิชาอนามัยคลินิกที่เทคนิชเชอ โฮคชูลเลอ ในเดรสเดน ตั้งแต่ปี 1920, ฮานส์ ไรเทอร์ ผู้สอนวิชาอนามัย เน้นมิติเหยียดผิวในโรชต็อกตั้งแต่ปี 1919 และฟริตซ์ เลนซ์ ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คนแรกของภาควิชาอนามัยของเผ่าพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิกตั้งแต่ปี 1923

ฮิตเลอร์อ่านและชื่นชมมุมมองของเลนซ์ เกี่ยวกับเชื้อชาติและการแพทย์ เมื่อครั้งที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำลานด์สแบร์กในปี 1924 เลนซ์ตอบรับความชื่นชมนั้น โดยการสมัครเข้าพรรคนาซี ทุ่มเททำงานรับใช้อุดมการณ์นาซี

แม้จะมีการมองโลกในแง่ดีต่อประโยชน์ของการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ที่ได้จากสงคราม ในทศวรรษแรกของศตวรรษ แต่สงครามโลกครั้งที่ 1 พลิกเปลี่ยนทัศนคตินั้น เอดเวิร์ด โพลตันและเลนเนิร์ด ดาร์วิน เห็นพ้องต้องกันในหน้ากระดาษ Eugenics Review ของอังกฤษ “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสงครามคร่าชีวิตกลุ่มคนชั้นดี ดังนั้น สงครามถือเป็นความเสื่อมอย่างยิ่งทางพันธุกรรม”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 องค์กรการปรับปรุงสายพันธุมนุษย์นานาชาติ ลงมติเป็นเอกฉันท์ ประณามสงคราม โพลตซ์เป็นผู้นำกลุ่มนักปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ในเยอรมนี เรียกร้อง “การปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์อย่างสันติ” และขอให้นักการเมืองนาซีให้สัตยาบันต่อเรื่องนี้ วาลเทอร์ โกรสส์ ผู้อำนวยการสำนักเชื้อชาติทางการเมืองของพรรคนาซีประกาศว่า “เพราะนาซีเยอรมนีคิดในเชิงเชื้อชาติ… นาซีเยอรมนีต้องการสันติ” [3]

ในระหว่างที่กฎหมายสนับสนุนการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ในเชิงบวก ได้รับการสนับสนุนในสแกนดิเนเวียและเยอรมนีในช่วงกลางระหว่างสงครามโลกสองครั้ง มีความเห็นต่อต้านเรื่องนี้ในอังกฤษ แม้จะจำกัดอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าไม่กี่คน

ศาสตราจารย์ อี. ดับเบิลยู. แม็กไบรค์ เขียนจดหมายไปยังวารสารวิทยาศาสตร์รายสัปดาห์ Nature ในปี 1936 เรียกร้องรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพดำเนินโครงการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ จดหมายฉบับนั้นได้รับการโต้ตอบเผ็ดร้อนทันควันจากโจเซฟ นีดแฮม นักชีวเคมี และผู้เชี่ยวชาญประเทศจีนชาวอังกฤษ คำตอบโต้จากนีดแฮมระบุว่า

“เป็นการยากที่จะบรรยายความขมขื่นเจ็บปวดที่ได้เห็นลัทธิเช่นนี้ ลัทธิอุบาทว์ที่เป็นพิษภัยต่อมนุษยชาติ ได้รับอนุญาตให้ลงตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์รายสัปดาห์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก” [4]

ผู้ต่อต้านการปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์ทรงอิทธิพลยิ่งอีกคนในอังกฤษช่วงทศวรรษ 1930 คือ ไลโอเนล เพนโรส บิดาของนักคณิตศาสตร์ รอเจอร์ เพนโรส เขารับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจในลอนดอนต่อจาก คาร์ล เพียร์สัน และสั่งปลดป้าย “การปรับปรุงสายพันธุ์มนุษย์” ทิ้งไป

เขายืนกรานว่าสติปัญญามนุษย์ได้จากปัจจัยพันธุกรรมหลายข้อ รวมตลอดไปถึงสภาวการณ์ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม

 


เชิงอรรถ :

[1] Quoted in Stefan Kühl, ‘The Relationship between Eugenics and the so-called “Euthanasia Action” in Nazi Germany: A Eugenically Motivated Peace Policy and the Killing of the Mentally Handicapped during the Second World War’, in Science in the Third Reich, ed. by Margit Szöllősi Janze (Oxford, 2001), p.188.

[2] Ibid, p.189.

[3] Quoted in ibid., p.201.

[4] Quoted in Gratzer, Undergrowth, p.292.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2564