กองพันทหารราบที่ 3 กองทหารมณฑลปักษ์ใต้ ที่ตั้งและยุบในสมัยรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

หลังเกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่แน่พระราชหฤทัยต่อความจงรักภักดีของทหารในกองทัพบก จึงเกิดการก่อตั้ง “กรมทหารรักษาวัง” ในระยะแรกมีเพียง 2 กองพัน คือ กองพันที่ 1 ประจำการอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง และกองพันที่ 2 ประจำการอยู่ที่พระราชวังดุสิต

ส่วนกองพันทหารราบที่ 3 นั้นเป็นกองพันที่แตกต่างออกไปทั้งวัตถุประสงค์แรกตั้ง, สถานที่ ฯลฯ ซึ่ง เทพ บุญตานนท์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6 (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2559) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารรักษาวัง

การจัดตั้งกรมทหารรักษาวังที่มณฑลปักษ์ใต้ สืบเนื่องมาจาก การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะจัดตั้งกองทหารบริเวณภาคใต้ของประเทศเพื่อป้องกันการแทรกแซงของอังกฤษ เนื่องจากในขณะนั้นมีการก่อสร้างทางรถไฟบริเวณแหลมมลายู จึงอาจเป็นสาเหตุให้อังกฤษต้องการครอบครองดินแดนบริเวณนั้น

นอกจากนี้ในจังหวัดภูเก็ตก็มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีนเคยก่อการประท้วงอย่างรุนแรงมาแล้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนรัฐบาลต้องส่งทหารจากกรุงไปปราบปราม จึงมีแนวคิดว่าหากมีกองทหารประจำการ…จะทำให้ระงับเหตุการณ์รุนแรงได้อย่างทันท่วงที [1]

การจัดตั้งกองทหารที่มณฑลปักษ์ใต้นี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สมุหเทศาภิบาลและอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ในเวลานั้น ต่างทรงเห็นชอบกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันเรื่องที่ตั้งของกรมทหาร

ด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทรงต้องการตั้งกรมทหารที่มณฑลพัทลุง แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ทรงมีความเห็นว่าควรจะตั้งกรมทหารที่มณฑลนครศรีธรรมราช เพราะมีประชากรเยอะกว่า ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่จะได้อยู่ที่ภูมิลำเนาเดิมของตน [2] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ในการตั้งกองทหารที่มณฑลนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารทรงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งกองทหารขึ้นที่มณฑลปักษ์ใต้ เพราะเกรงว่าอังกฤษจะใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานสยาม พร้อมกันนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีบันทึกความเห็นในการจัดตั้งกองทหารมณฑลปักษ์ใต้ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอธิบายถึงสาเหตุที่ทรงคัดค้าน มีใจความสำคัญคือ

การตั้งกองทหารที่นครศรีธรรมราช ไม่สามารถป้องกันการรุกรานประเทศจากชาติมหาอำนาจได้ หากอังกฤษต้องการจะรุกรานสยามจริง จะใช้วิธีปิดปากอ่าวเหมือนที่ฝรั่งเศสเคยกระทำใน ร.ศ. 112 ก็สามารถเอาชนะประเทศสยามได้แล้ว การตั้งกองทหารควรตั้งในพื้นที่ที่ปกครองได้โดยสะดวก [3] โดยให้ความสำคัญกับการรวมกองทหารทั้งหมดเข้าด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว การกระจายกำลังกันต่อสู้ตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไป และอยู่ในตำราพิชัยสงคราม

สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงตำหนิแนวคิดการตั้งกรมทหารที่มณฑลปักษ์ใต้ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชอย่างรุนแรงว่าแม้แต่ “เด็กอมมือยังรู้หลักพิชัยสงครามนี้” [4] ทั้งยังทรงตำหนิที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชจะใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพื่อจัดตั้งกองใหม่ว่าเป็นความคิด “ฟั่นเฟือน” เพราะในความเป็นจริงแล้วงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาวุธให้แก่ทหารอยู่แล้ว [4]

การตั้งกรมทหารเพิ่มขึ้นมาซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่เกินกำลังกระทรวงกลาโหมจะทำได้ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงคัดค้านการตั้งกรมทหารที่มณฑลปักษ์ใต้อย่างรุนแรง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงเสนอแนะว่าการรักษาความสงบในมณฑลปักษ์ใต้ควรเป็นหน้าที่ของตำรวจภูธร โดยให้เพิ่มกองกำลังตำรวจและจัดระเบียบให้เป็นอย่างทหาร เพราะกองกำลังตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบภายในประเทศ

ต่างกับการเพิ่มกำลังทหารที่มีหน้าที่หลักในการต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติ [5] ดังนั้นหากมีการเพิ่มกำลังทางทหารจะทำให้อังกฤษซึ่งครอบครองมาลายู เกิดความระแวงว่าสยามต้องการรุกรานอาณานิคมของตน และการเพิ่มกำลังทหารของสยามเป็นข้ออ้างเพื่อการรุกรานสยามในเวลาต่อมาได้

ผลของการคัดค้านในคราวนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ในหัวเมืองมาลายูหากสยามไม่มีกองทหารในมณฑลปักษ์ใต้ สมเด็จฯ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการทรงให้ความเห็นว่าการไม่มีทหารในมณฑลปักษ์ใต้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการถือครองกรรมสิทธิ์ในหัวเมืองมาลายูแต่อย่างใด [5]

แม้พระราชประสงค์ในการจัดตั้งกองทหารที่มณฑลปักษ์ใต้จะได้รับการคัดค้านเป็นอย่างมากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทั้งยังทรงอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่ทรงต้องการก่อตั้งกรมทหารที่มณฑลปักษ์ใต้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งกรมทหารรักษาวังแทนการตั้งกองทหารในนครศรีธรรมราช โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากทรงให้สร้างพระประทับขึ้นที่นั้น ดังนั้นจึงควรจะมีกองทหารรักษาวังเพื่อเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยส่วนพระองค์

แม้ว่าโดยแท้จริงแล้วการกองทหารรักษาวังในคราวนี้เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ ซึ่งจะให้มีทหารประจำการที่มณฑลปักษ์ใต้ [6]  ดังนั้นใน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารในหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ เพื่อเกณฑ์ทหารเข้าประจำการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารรักษาวัง ในมณฑลนครศรีธรรมราช [7] และเมื่อปรับเปลี่ยนให้จัดตั้งกรมทหารรักษาวังซึ่งสังกัดกระทรวงวังแทนที่กองทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมแล้ว

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถซึ่งทรงคัดค้านการก่อตั้งกรมทหารที่มณฑลปักษ์ใต้มาตลอด ก็มิได้คัดค้านการก่อตั้งกรมทหารรักษาวังที่มณฑลปักษ์ใต้แต่อย่างใด เนื่องจากกรมทหารรักษาวังเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงวังซึ่งอยู่นอกเหนือพระราชอำนาจในการบังคับบัญชาของพระองค์ อีกทั้งในเรื่องของงบประมาณในการบริหารก็เบิกจ่ายจากงบประมาณของกระทรวงวัง จึงไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณของกระทรวงกลาโหมเหมือนการจัดกองทหารโดยทั่วไป

การจัดตั้งกองพันทหารราบที่ 3 ส่งผลต่อสายการบังคับบัญชาของทหารรักษาวังที่ขยายใหญ่ขึ้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารรักษาวัง เป็น “ผู้บัญชาการทหารรักษาวัง” ให้มียศเสมอกับผู้บัญชาการทหารบก โดยทรงให้เหตุผลว่าแต่เดิมผู้บังคับการกรมทหารรักษาวังมีอำนาจตั้งศาลทหารรักษาวัง ซึ่งตามธรรมนูญศาลทหารบก พ.ศ. 2465 มาตรา 22 ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้มีอำนาจในการตั้งศาลมณฑลทหารบก [8] และด้วยเหตุที่ศาลทหารรักษาวังมีอำนาจเทียบเท่าศาลมณฑลทหารบก

ดังนั้นตำแหน่งผู้บังคับการทหารรักษาวังจึงมีอำนาจเสมอกับผู้บัญชาการทหารบก ประกอบการจัดตั้งกองพันทหารราบที่ 3 ทำให้ขนาดของกรมทหารรักษาวังขยายใหญ่ขึ้น จึงควรยกตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารรักษาวังให้เสมอกับผู้บัญชาการทหารบก [9] การยกตำแหน่งผู้บัญชาการรักษาวังให้เสมอกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นการสร้างความเท่าเทียมในศักดิ์และสิทธิของกรมทหารรักษาวังให้เสมอกับกองทัพบก แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วขนาดกำลังของกองทัพบกนั้นมีขนาดใหญ่กว่ากรมทหารรักษาวังเป็นอย่างมาก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่กว้างขวางกว่า

………

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งประเทศสยาม ทำให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศ รวมทั้งงบประมาณในส่วนของสำนักพระราชวัง [9] ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการยุบกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารรักษาวัง โดยให้เหตุผลว่าการที่ทรงก่อตั้งกองพันทหารราบทที่ 3 เพื่ออบรมให้ประชาชนมีความรู้ทางการทหารประสบผลสำเร็จแล้ว ยุบกองพันทหารราบที่ 3 ลงเสีย [10]

……….

การยุบกองพันทหารราบที่ 3 มีปัจจัยจาปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะการยุบกองพันทหารราบที่ 3 ลงนั้นสามารถลดงบประมาณรายจ่ายของสำนักพระราชวังได้ถึงปีละ 200,000 บาท [11]


เชิงอรรถ

[1] แจ่มจันทร์ วงศ์วิเศษ, การปรับปรุงกองทัพบกของไทยตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2394-2475 น.260

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] กจช. ร.6 ว.7/3 เรื่องจัดการทหารและเกณฑ์ทหารมณฑลปักษ์ใต้ มีเรื่องจัดการเมืองสตูลด้วย ลงวันที่ 13 มกราคม 2456-2 กันยายน 2459

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] แจ่มจันทร์ วงศ์วิเศษ, การปรับปรุงกองทัพบกของไทยตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2394-2475 น. 264

[7] เรื่องเดียวกัน

[8] อมรดรุณารักษ์, จมื่น, เหตุผลที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศสงคราม และดุสิตธานี, น. 30.

[9] วรชาติ มีชูบท, พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม, น. 109.

[10] “ประกาศ ยุบเลิกกองพันที่ 3 กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดนครศรีธรรมราช,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 42, ตอนที่ 0 ก (9 สิงหาคม 2468) : 98

[11] แจ่มจันทร์ วงศ์วิเศษ, การปรับปรุงกองทัพบกของไทยตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2394-2475 น. 265


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2564