เรื่องจริงของ “วิลเลียม วอลเลซ” ผู้นำสกอตกู้ชาติ หาญกล้าขับไล่อังกฤษ สู่จุดจบน่าสลด

ภาพประกอบเนื้อหา - ผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาสกอตแลนด์ไม่มีสังกัด แต่งกายคล้าย วิลเลียม วอลเลซ ในภาพยนตร์ มาทำกิจกรรมจากบนหลังคา Saltire Court ใน Edinburgh ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 1999 ภาพถ่ายไม่ปรากฏวันที่ ไฟล์จาก PAUL DODDS / AFP

ชื่อของ “วิลเลียม วอลเลซ” (William Wallace) แพร่กระจายไปทั่วโลกด้วยผลจากความนิยมในภาพยนตร์เรื่อง Braveheart ซึ่งได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจากเวทีออสการ์เมื่อปี 1995 ในข้อเท็จจริงแล้ว วอลเลซ คือผู้นำกบฎชาวสกอตแลนด์ซึ่งต่อต้านพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งจักรวรรดิอังกฤษ และมีชื่อเสียงจากวีรกรรมนำกองกำลังฝ่ายต่อต้านมีชัยเหนือกองทัพอังกฤษที่สะพานสเตอร์ลิง (Stirling) อีกทั้งยังถูกจดจำในฐานะผู้มีใจรักชาติและเป็นฮีโร่ของชาวสกอต

แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่เล่าว่า วิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) เกิดในครอบครัวของคนระดับพอมีฐานะเมื่อปี 1270 โดยคาดว่าเกิดที่บริเวณใกล้กับเมือง Paisley ในสกอตแลนด์ เป็นบุตรชายคนที่สองของเซอร์มัลคอล์ม วอลเลซ (Sir Malcolm Wallace) [ชื่อของบิดาที่แน่ชัดก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่]

สมาชิกในครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของที่ดินรายย่อยภายใต้ร่มเงา (แบบระบอบศักดินา) ของ James Stewart ที่ 5 ซึ่งรั้งตำแหน่งที่เรียกกันว่า High Steward แห่งสกอตแลนด์

ในปี 1296 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งจักรวรรดิอังกฤษทรงใช้โอกาสขณะที่สกอตแลนด์ยังมีปัญหาเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์แห่งอาณาจักรสกอตแลนด์ มาใช้ประกาศตนเป็นผู้ปกครอง จนเกิดประท้วงต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษปะทุขึ้นในหลายพื้นที่

เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ปี 1297 วอลเลซ และกองกำลังเข้าโจมตีและเผาเมือง Lanark รวมถึงสังหารนายอำเภอชาวอังกฤษที่ประจำอยู่ที่นั่นด้วย ชาวสกอตเริ่มเข้าร่วมกับกองกำลังของวอลเลซมากขึ้นเรื่อยๆ การต่อต้านค่อยๆ ยกระดับกลายเป็นการก่อกบฏ

ต่อมากองกำลังของ Wallace ได้เข้าร่วมกับ Sir William Douglas (“the Hardy”) และได้เดินทัพไปยังเมือง Scone ที่นั่นพวกเขาได้ขับไล่ผู้พิพากษาชาวอังกฤษและได้โจมตีกองกำลังทหารอังกฤษบริเวณระหว่างแม่น้ำ Forth และแม่น้ำ Tay

แต่การต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษของชาวสกอตแลนด์ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเสียทั้งหมด เมื่อ Steward, Robert the Bruce (ซึ่งต่อมาคือกษัตริย์โรเบิร์ตที่ 1 แห่งสกอตแลนด์) และคนอื่นๆ ได้รวบรวมกองกำลังทหารขึ้น แต่ต่อมาต้องถูกบังคับให้ยอมจำนนที่บริเวณ Irvine ต่อกองทัพอังกฤษในเดือนกรกฎาคม

แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้รวมไปถึงวอลเลซ เพราะเขายังรอดและยังดำเนินภารกิจในการปลดปล่อยสกอตแลนด์ต่อไปกับกองกำลังของเขา และความสำเร็จของกองทัพอังกฤษจากเหตุการณ์นั้น จึงทำให้กองทัพอังกฤษยังคงมุ่งหน้ากำจัดผู้ต่อต้านในสกอตแลนด์ต่อไป

เมื่อกองทัพอังกฤษเคลื่อนพลขึ้นมาทางตอนเหนือบริเวณเมือง Stirling ชาวสกอตแลนด์อย่าง Wallace และกองกำลังของเขาซึ่งชำนาญพื้นที่มากกว่า จึงได้สังเกตการณ์อยู่บนปราสาท Stirling และรอตั้งรับอยู่บริเวณนั้น ซึ่งนั่นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะพวกเขาจะสามารถมองเห็นกองทัพอังกฤษที่จำเป็นต้องเคลื่อนพลข้ามแม่น้ำ Forth มาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพอังกฤษจะได้เปรียบด้านกำลังพลที่มากกว่า แต่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่พวกเขาจำเป็นต้องข้ามสะพาน Stirling ที่คับแคบ โดยกำลังพลของพวกเขาที่ส่วนใหญ่เป็นทหารม้า สามารถข้ามสะพานนี้ไปได้อย่างมากแค่ครั้งละสองคน ความเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์นี้จึงทำให้ฝ่ายกองทัพอังกฤษพยายามเจรจาต่อรองให้กองกำลังของวอลเลซ ยอมจำนนแต่โดยดี แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

อีกทั้งวอลเลซ ยังได้ตอบกลับทางกองทัพอังกฤษไปทำนองว่า “เราไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อสร้างสันติ แต่เพื่อการต่อสู้ปกป้องและปลดปล่อยอาณาจักรของพวกเรา”

จนถึงวันที่ 11 กันยายน ปี 1297 กองทัพอังกฤษตัดสินใจเคลื่อนพลข้ามสะพาน Stirling และเมื่อทหารแนวหน้าของกองทัพอังกฤษข้ามไปอีกฝั่งได้ กองกำลังของ Wallace ก็เข้าปะทะและสังหารทหารอังกฤษโดยทันที

กองทัพอังกฤษเสียเปรียบเนื่องจากพวกเขาเคลื่อนพลข้ามสะพานมาได้อย่างจำกัดถึงแม้จะมีกำลังพลที่มากกว่าก็ตาม จึงเป็นเหตุผลให้ทหารอังกฤษจำนวนมากถูกสังหารและพ่ายแพ้ต่อกองกำลังของ Wallace ในที่สุด

ภายหลังเหตุการณ์นี้ วอลเลซ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวินและเป็นผู้พิทักษ์อาณาจักรสกอตแลนด์ ในนามของ John Balliol กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์

แต่ความพ่ายแพ้และความสูญเสียของกองทัพอังกฤษในครั้งนั้น ทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด กษัตริย์แห่งอังกฤษมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะและกำจัดกองกำลังของวอลเลซ ให้ได้

ขณะเดียวกันกลยุทธ์ของ Wallace คือการหลีกเลี่ยงและเผชิญหน้าให้น้อยที่สุด จนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 1298 กองทัพอังกฤษและสกอตแลนด์ปะทะกันบริเวณแถบเมือง Falkirk และในที่สุดชาวสกอตแลนด์ก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพอังกฤษ

แต่ถึงกระนั้น วอลเลซ ยังหนีรอดไปได้และเขาได้เดินทางไปต่างประเทศในเวลาต่อมา นักประวัติศาสตร์มักเสนอว่า วอลเลซ ไม่ควรรบในศึกที่ Falkirk

เดิมทีแล้วกลยุทธ์ของวอลเลซ ใกล้จะบรรลุผลแล้วด้วยซ้ำ กองทัพอังกฤษที่เดินทัพบีบเข้ามานั้นไม่สามารถค้นหาฝ่ายตรงข้าม และอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ด้วย ในช่วงเดือนกรกฏาคม เชื่อกันว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะตัดสินใจถอนทัพแล้วด้วยซ้ำ แต่มาได้ข่าวจากเอิร์ลสองรายของสกอตว่ากองกำลังของสกอตตั้งที่มั่นอยู่ห่างออกไปไม่เกิน 20 ไมล์ ณ Falkirk

ในสมรภูมิที่ Falkirk เชื่อกันว่า หากวอลเลซ ยังรักษากลยุทธ์หลีกเลี่ยงการปะทะแบบเดิม เขาจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ แต่วอลเลซ เลือกแบ่งกองกำลังเป็น 4 ส่วนและเข้าทำการรบกับกองทัพอังกฤษ ในช่วงแรกดูมีความหวังแต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องแตกไป

จากหลักฐานของฝ่ายอังกฤษถึงกับเล่าว่าในการรบครั้งนั้น “ฝ่ายสกอตเสียชีวิตกันมากมายเหมือนดอกไม้ร่วงในสวน”

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังแล้ว ทั้ง Robert Bruce และ John Comyn ได้ยอมรับเงื่อนไขการสงบศึกกับกองทัพอังกฤษในเวลาต่อมา แต่ข้อตกลงนั้นไม่ได้รวมไปถึงวอลเลซ เพราะสำหรับกองทัพอังกฤษ Wallace ยังคงถือว่าเป็นบุคคลอันตราย

ปีค.ศ. 1303 หลังจากที่ Wallace ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ เขาพยายามดำเนินภารกิจปลดปล่อยชาวสกอตแลนด์อีกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เขาถูกรัฐบาลอังกฤษหมายหัวและกษัตริย์อังกฤษเสนอเงินจำนวนมากให้กับผู้ที่สามารถฆ่าหรือจับเขาได้

ขณะที่ชะตากรรมของวอลเลซ แย่ลงเมื่อเขาถูกประกาศตามกฎหมายสกอตว่าเป็นบุคคลนอกกฎหมายภายหลังจากสกอตยอมจำนนต่ออังกฤษเมื่อกุมภาพันธ์ ปี 1304

จนปี 1305 วอลเลซ ถูกจับกุมบริเวณในแถบเมือง Glasgow หรืออาจในบริเวณใกล้กับเมือง Glasgow

แอนดรูว์ ฟิชเชอร์ ผู้ศึกษาประวัติของวอลเลซ และเจ้าของผลงานหนังสือชีวประวัติวิลเลียม วอลเลซ ระบุว่า วอลเลซ ถูกควบคุมตัวมาโดย John Menteith ผู้ควบคุมดูลปราสาท Dumbarton และยังตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องการจับกุมตัวอาจเป็น Robert Bruce (ซึ่งเคยไปปรากฏตัวในภารกิจพยายามกำจัด/จับกุมวอลเลซ ก่อนหน้านี้แล้ว) หรือ John Comyn หรือ James the Stewart ที่มีส่วนนำตัววอลเลซ ไปเข้าสู่กระบวนการตัดสินของอังกฤษ

หลังจากการจับกุม Wallace ถูกตั้งข้อหากบฏ แต่เขาให้การปฏิเสธโดยกล่าวว่า เขาไม่เคยสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์อังกฤษ ความตั้งใจในชีวิตของวอลเลซ ทั้ง 2 อย่างก็ไม่บรรลุผล ทั้งการสนับสนุนฟื้นฟูสาย Balliol และการขับไล่อังกฤษออกจากประเทศก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดเขาถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปี 1305 เขาถูกแขวนคอ และผ่าชิ้นส่วนแยกไปตามที่ต่างๆ รายงานจากบีบีซีระบุว่า ส่วนศีรษะถูกไปเสียบประจานที่ลอนดอนบริดจ์ (London Bridge) ส่วนอื่นถูกแยกไปตามที่ต่างๆ อาทิ นิวคาสเซิล, เบอร์วิค, สเตอร์ลิง และเพิร์ธ

หลังจากการประหารชีวิตประมาณ 23 ปี สกอตแลนด์ก็ได้รับเอกราช ชื่อวิลเลียม วอลเลซ ถูกบอกเล่าในนามของวีรบุรุษและกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชาวสกอตแลนด์นับแต่นั้นมา ภายหลังการรบที่สเตอร์ลิง การรบที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์สกอตแลนด์อีกครั้งหนึ่งคือการรบที่ Bannockburn ภายใต้การนำของ Robert Bruce มีชัยเหนือกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ

ขณะที่การก่อกบฏต่ออังกฤษของ Robert Bruce ในเวลาต่อมาหลังจากยุควอลเลซนั้น ฟิชเชอร์ ให้ความเห็นไว้ว่าว่า เป็นไปจากความต้องการส่วนตัวของเขาเอง ไม่ใช่ความพยายามสานต่อสิ่งที่วอลเลซ เคยตั้งเป้าไว้แต่อย่างใด

เรื่องราวเกี่ยวกับวอลเลซ ถูกนำมาผลิตซ้ำหลายครั้ง ทั้งยุคก่อนและหลังการรวมสหราชอาณาจักร ช่วงแรกมีผลงาน Scotochronicon (“A History for Scots”) ช่วงทศวรรษ 1440s โดยวอลเตอร์ โบเวอร์ (Walter Bower) ตามมาด้วยชีวประวัติของวอลเลซ ชื่อ Wallace โดยนักกวี-นักเขียนที่เรียกกันว่า บไลนด์ แฮร์รี่ Blind Harry (Henry the Minstrel, c.1440-c. 92) เมื่อปี 1447 ซึ่งภาพยนตร์ Braveheart มีเนื้อหาจำนวนหนึ่งอ้างอิงจากผลงานของแฮร์รี่

 


อ้างอิง :

The Editors of Encyclopaedia Britannica. William Wallace. Britannica. Access 18 June 2021. < https://www.britannica.com/biography/William-Wallace>

Fisher, Andrew. The Hunt for William Wallace. History today. Published in History Today Volume 55 Issue 9 September 2005. Access 18 June 2021. < https://www.historytoday.com/archive/hunt-william-wallace>

William Wallace. BBC. Online. Access 18 June 2021. < http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/wallace_william.shtml>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2564