วาทะทางการทูตของรัชกาลที่ 4 ในพระราชสาส์นถึงนโปเลียนที่ 3

รัชกาลที่ 4 วิ่งเต้นติดสินบน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นคู่แข่งแลพันธมิตรสำคัญในการแสวงหาอาณานิคมในพื้นที่ต่างๆ ของโลก สำหรับกรณีของไทย เมื่อมีกรรมการลงนามในสนธิสัญญาพระราชไมตรีระหว่างเซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษกับราชสำนักไทย ฝรั่งเศสก็แสดงความกังวลและส่งราชทูตมาเจรจาเพื่อให้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีเช่นกัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อให้ไทยผ่านวิกฤติมาได้ หนึ่งในนั้นคือ การถ่วงดุลอำนาจระหว่าง 2 มหาอำนาจ ดังตัวอย่างที่ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2560) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ)

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า รัชกาล 4 – ไกรฤกษ์ นานา) ทรงเล็งเห็นว่าหากจะส่งราชบรรณาการไปยุโรปก็ต้องส่งเป็น 2 ชุด ให้ทั้งควีนวิกตอเรียและนโปเลียน เพราะทั้ง 2 พระองค์เป็นพวกเดียวกัน มีความ ใกล้ชิดกัน และเกรงใจกัน ดังนั้นจะดําเนินการใดก็ต้องให้เสมอภาคกัน เพื่อถ่วงดุลกันได้ [1]

เราสามารถเห็นความคล้องจองและการสร้างนโยบายถ่วงดุลอํานาจสอ แทรกอยู่ใน “วาทกรรมการเมือง” ของพระองค์อย่างมีนัยยะเสมอเพื่อให้ฝ่ายตรง ข้ามเกรงใจกันเองแล้วหันมาเอื้อเฟื้อต่อสยามอย่างมีเมตตาเพื่อมิให้น้อยหน้ากัน กุศโลบายอันแยบยลนี้เป็นการหาทางลัดที่จะกําราบความมักใหญ่ใฝ่สูงของผู้นํายุโรป ให้ถ่วงดุลกันเองในการปฏิบัติต่อสยาม [2]

หากพิจารณาพระราชสาส์นฉบับแรกที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีไปถึงพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ก็จะพบรหัสอันซ่อนเร้นที่พระองค์ทรงสอดแทรกไว้ตลอดเวลา ให้เห็นว่าการที่พระองค์ทรงติดต่อกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ก็เพราะความมีอํานาจ แก่กล้า ความมีใจกว้าง และความเมตตาที่ทรงมีแบบควีนวิกตอเรีย สมควรที่จะ ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน [3]

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย ฝรั่งเศสอาจถือตัว ไม่ต้อนรับสยามแบบอังกฤษก็ได้ ดังนั้นจึงจําเป็นต้องล้างสมองผู้นําฝรั่งเศส ซึ่งต้องการแข่งบารมีกับควีนของอังกฤษอยู่เสมอให้คล้อยตามความคิดของพระองค์ให้ได้เสียก่อน [1]

“พระราชสาส์น

ใน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชทานไปยังกรุงฝรั่งเศส จ.ศ. 1217 (พ.ศ. 2398)

พระราชสาส์น สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร มหินทรยุธยา เป็นใหญ่ในแผ่นดินสยามเมืองขึ้นใกล้เคียงต่างๆ คือเมืองลาวเฉียง ลาวกาว กําโพชา แลด้วยราชอิสริยยศ ควรนับพระญาติอันสนิทของกรุงสยามนั้นให้ทราบ กรุงสยามขอชี้แจงการซึ่งเป็นมาแล้วแต่หลังให้กรุงฝรั่งเศสทรงพระดําริโดยละเอียดจนทราบพระทัย ในเหตุซึ่งเป็นแล้วแต่ก่อนที่ไกลทางไกลพ้นวิสัยที่จะจัดการให้ทันท่วงทีนั้น ตั้งแต่ต้นปีเถาะสัปตศก ศักราชสยาม 1217 ตรงกันกับคริสตศักราช 1855 นั้นมา

กรุงสยามได้มีความยินดี ด้วยเห็นว่าได้มีโชคชัยใหญ่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ดีกว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามในแผ่นดินที่ล่วงแล้วๆ ไป และเจ้าแผ่นดินใหญ่ๆ ในจีน อินเดีย ประเทศทั้งปวง เพราะได้มีทูตถือรับสั่งมาแต่พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป เป็นหลายเมือง ซึ่งชักชวนนัดแนะกัน แล้วแต่งเข้ามาชวนทําสัญญาทางพระราชไมตรีแลเปิดทางค้าขาย ด้วยลูกค้าหลายบ้านหลายเมืองในลําดับแห่งเวลา

กรุงสยามได้มีพระราชไมตรีรู้จักรักใคร่กับพระเจ้าแผ่นดินต่างๆ ในยุโรป แลผู้ครองยุในติศเทศอเมริกา แลเปิดทางที่ใช้ราชสาส์นไปมาถึงได้ทุกเมืองดังนี้แล้ว จึงได้รําพึงถึงการซึ่งมีมาแล้วแต่หลัง เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้ากรุงลพบุรีศรีอยุธยา ก่อนแผ่นดินปัจจุบันของกรุงสยามนี้ขึ้นไป 10 แผ่นดิน ล่วงกาลไกล 200 ปีมาแล้วนั้น

เมื่อได้มีทางพระราชไมตรี ต่อติดกับสมเด็จพระเจ้าลูอิศที่ 14 พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เพราะมีทูตฝรั่งเศสได้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เปิดทางค้าขายคล้ายกับครั้งนี้แล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชประสงค์จะทรงตกแต่งทูตานุทูตฝ่ายสยามเพื่อออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ให้ถึงที่เฉพาะพระพักตร์

……….

ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส จึงได้มีรับสั่งให้เรือรบ เป็นของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเข้ามารับทูตสยามไปโดยทางอ้อมเขปออพคุดโหปต้องขึ้นค้างอยู่ที่แหลมนั้นเพราะเรือรบฝรั่งเศสลํานั้นแตกหรือรั่วเสียไปไม่ได้ ภายหลังมีเรือรบฝรั่งลําอื่นมารับต่อไป จนถึงกรุงปารีสแล้วได้พาเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแล้ว ได้พาทูตานุทูตกลับมาส่งจนถึงกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา

การเป็นอย่างมา ก็ในกาลบัดนี้ บรรดาเมืองซึ่งได้มาทําไมตรีมีหนังสือสัญญาแล้วนั้น เมืองฝรั่งเศส เมืองหนึ่งเมืองอังกฤษเมืองหนึ่ง สองเมืองนี้เป็นเมืองมีอํานาจ อานุภาพใหญ่เลื่องชื่อลือชาปรากฏไปมากกว่าเมืองอื่น แลมีพลเมืองซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักรสองเมืองนั้น ที่เป็นผู้สอนศาสนาบ้าง ก็ได้เข้ามาตั้งอยู่แลไปๆ มาๆ ในกรุงเทพฯ นี้มากกว่าเมืองอื่น เพราะฉะนั้นกรุงสยามจึงได้มีความคิดปรารถนาจะใคร่ส่งทูตานุทูตฝ่ายสยามไปเจริญทางพระราชไมตรี คํานับให้ถึงที่ เฉพาะพระพักตร์ สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส แลสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนียทั้งสองพระนคร เพื่อจะให้ได้เป็นเกียรติยศแก่กรุงสยามปัจจุบันนี้เหมือนดังครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น

ครั้นเมื่อสุดการสัญญาทางพระราชไมตรีแลเปิดทางการค้าขายทั้งสองฝ่ายคือสยามแลฝรั่งเศส ซึ่งมอง  ติคนีเป็นผู้นับถือรับสั่งเข้าทําแล้วนั้น กรุงสยามได้มีคําหารือ ไปแก่กรุงฝรั่งเศสว่ากรุงสยามจะใคร่ส่งทูตานุทูตออกไปคํานับเจริญทางพระราชไมตรีดังนี้

ในระยะหนึ่งซึ่งมีในพระราชสาส์นเป็นปฐม มอบให้มองติคนี [คือชาร์ลส์ เดอ มงตีญี่ ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เข้ามาเมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์-ไกรฤกษ์ นานา] รับเชิญส่งไปนั้น ฉันใด เมื่อสุดการสัญญาใหม่กับแผ่นดินอังกฤษ ซึ่งเซอยอน โบวริงเข้ามาทําเป็นทีแรก ในปีเถาะสัปตศก ศักราชสยาม 1217 ตรงกันกับคริสตศักราช 1855 นั้น กรุงสยามก็ได้มีคําหารือสําแดงราชประสงค์จะใคร่ส่งทูตานุทูตไปเมืองอังกฤษ ดังนั้นเหมือนกัน ภายหลังก็ได้คําตอบมาแต่กรุงลอนดอนรับ ว่าจะให้เรือรบมารับทูตานุทูตฝ่ายสยามไปยังกรุงลอนดอนตามประสงค์ของกรุงสยาม คล้ายกับความในระยะหนึ่งซึ่งเป็นเบื้องปลายของพระราชสาส์นกรุงฝรั่งเศส ซึ่งลงวันที่ 5 เดือนเดเสมเปอร คริสตศักราช 1857 ตอบเข้ามานั้น

เมื่อกรุงสยามได้ทราบเป็นแน่ แต่ทั้งสองพระนครว่าจะยินดีรับส่งทูตานุทูตฝ่ายสยาม โดยความไมตรีอันสนิท ถึงกรุงสยามไม่มีอํานาจจะส่งทูตไปด้วยเรือเป็นของกรุงสยามได้ก็จะให้เรือรบอันเป็นของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแลเป็นของสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนีย มารับทูตไปส่งต่างเมืองซึ่งเป็นเจ้าของเรือรบนั้น แล้วจะกลับมาส่งถึงกรุงเทพมหานครนี้โดยสะดวก กรุงสยามได้ทราบดังนี้ แล้วก็มีความยินดี จึงได้จัดเครื่องมงคลราชบรรณาการที่สมควรเป็นสองส่วน แลตั้งแต่งทูตานุทูตเตรียมไว้สองสํารับ คอยท่าเรือรบ ซึ่งจะเข้ามารับนั้นอยู่ ตั้งใจว่าเมื่อเรือรบเมืองใดมารับ เมื่อใดก็จะส่งทูตไปเมืองนั้นเมื่อนั้น

ซึ่งว่ามานี้เป็นความกลมเกลียว โดยความตามประสงค์ ซึ่งจะส่งทูตานุทูตไปทั้งสองพระนคร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในยุโรปเหมือนกัน เมื่อจะว่าความตามจริงโดยวิเศษนั้น เมืองอังกฤษได้เข้ามาทําสัญญาก่อนฝรั่งเศสเข้ามาทําสัญญานั้นถึงปีเศษ เมื่อเวลานั้นเป็นแต่ได้หนังสือข่าวของผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศสมานัดไว้ว่าจะให้ผู้รับสั่งฝ่ายฝรั่งเศสเข้ามาทําสัญญา จึงได้หมายเป็นแน่ว่าทางพระราชไมตรีคงจะมีติดต่อ กับอังกฤษแลฝรั่งเศสเหมือนกันทั้งสองพระนคร จึงได้ดําริคิดไว้ว่าจะส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนคร นั้นเป็นความประสงค์แต่เดิมมา

ก็เพราะเมืองอังกฤษมาทําสัญญาก่อน เมื่อเสร็จการสัญญาแล้ว กรุงสยามก็ได้หารือไปด้วยการที่จะใคร่ส่งทูตไปเมืองอังกฤษ ก็ได้คําตอบมาโดยเร็วรับว่าจะให้เรือรบมารับทูตสยามแล้ว ครั้นเมื่อถึงเดือนสาวัน เป็นเดือนที่ 9 นับแต่ต้นฤดู หนาวมา ในปีมะเส็งนพศก ศักราชสยาม 1219 ตรงกันกับเดือนอคุสต์ คริสตศักราช 1857 มีเรือรบกลไฟเป็นของสมเด็จพระนางวิกตอเรีย พระเจ้ากรุงบริตาเนีย เข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา

กัปตันนายเรือนั้นขึ้นมาแจ้งความว่าได้รับบังคับของผู้รับคําสั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนีย ให้เข้ามารับทูตสยามต่อไปจนถึงกรุงลอนดอน กรุงสยามจึงได้มีความยินดีแต่งตั้งให้พระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต จมื่นราชามาตย์แลนายพิจารณสรรพกิจสองนายเป็นผู้กํากับเครื่องราช บรรณาการ หม่อมราโชทัยเป็นล่ามพนักงานสําหรับการเจรจา กับชนชาวสยามอื่นๆ 19 คน

เป็นพวกตามทูตให้จําทูลพระราชสาส์นแลคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการส่งออกไปโดยเรือรบกลไฟของอังกฤษลํานั้น เพื่อจะให้ไปคํานับเจริญทางพระราชไมตรีแด่ สมเด็จพระนางวิกตอเรีย พระเจ้ากรุงบริตาเนียแห่งเดียวเมืองเดียว เมื่อเวลานั้นจะได้แจ้งการว่า จะส่งไปเมืองฝรั่งเศส เพราะการได้หารือไปด้วยความประสงค์ที่จะส่งทูตไปเมืองฝรั่งเศสนั้น ได้มีไปแล้วในราชสาส์นของกรุงสยาม ซึ่งให้มองซิเออมองติคนีเชิญไปนั้นก่อนเวลาส่งทูตไปเมืองอังกฤษถึง 11 เดือนแล้ว กรุงสยามได้หมายเป็นแน่ว่ากรุงฝรั่งเศสคงจัดให้มารับทูตดังเมืองอังกฤษมารับนั้นต่างหากอีกเวลาหนึ่ง

ทูตพวกนั้น ไปจากกรุงเทพมหานครนี้ได้ 9 เดือนแล้วกลับมาโดยเรือรบกลไฟของอังกฤษ พามาส่งถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนวิสาขะเป็นเดือนที่ 6 แต่ต้นฤดูหนาวมาในปีมะเมียสัมฤทธิศก ศักราชสยาม 1220 ตรงกันกับเดือนเมย์ ในคริสตศักราช 1858 ทูตสยามพวกนั้นจึงได้แจ้งความแก่กรุงสยามเล่าถึงทางที่ได้เห็นแล้วแลถิ่นฐานซึ่งได้เห็น แลการต่างๆ ที่ได้บังเกิดเป็นตลอดเวลาไปแลมาของทูตพวกนั้นทุกประการ

ความซึ่งทูตพวกนั้นมาเล่ามากล่าวล้วนเป็นการที่ควรจะฟังด้วยความยินดีทั้งสิ้น มีใจความข้างปลายคําที่ทูตบอกเล่านั้นว่าทูตพวกนั้นเมื่อ ไปเรือรบกลไฟของอังกฤษ พาอ้อมออกไปเดินทางทะเลอัตลันติก แล้วมาเข้าช่องแคบเองคลีศ ขานั้นต้องคลื่นลมใหญ่ลําบากมากนัก เข็ดขยาดไป เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาจะกลับมาจากกรุงลอนดอนได้สืบทราบว่าสมเด็จเจ้ากรุงฝรั่งเศสกับสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนีย มีทางพระราชไมตรีอันต่อติดสนิทชิดชมกัน ผู้สัญจรไปมาจะเดินทางตัดลัด มาโดยทางในพระราชอาณาเขตของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสไม่ต้องอ้อมไปทางทะเลอัตลันติก เหมือนอย่างเมื่อไปนั้นก็ได้

ทูตพวกนั้นจึงได้เกิดความประสงค์จะใคร่ได้เดินบกตัดมา โดยทางในพระราชอาณาเขตของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส จะได้ชมสถานถิ่นที่แลการงานดีๆ ที่มีในพระราชอาณาจักรของสมเด็จกรุงฝรั่งเศสด้วย ไม่ให้เสียครั้งเสียคราวที่ได้ไปถึงแผ่นดินยุโรปเป็นบ้านเมืองควรจะยินดีหาที่จะเปรียบมิได้ ทูตพวกนั้นจึงได้ทําความประสงค์ขึ้นหารือเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศในกรุงลอนดอน เสนาบดีนั้นก็รับว่าจะส่งมาได้

แล้วจึงได้คิดอ่าน ทําให้ผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศสทราบเหตุแล้ว นัดหมายจัดแจงการรับสั่งกันเป็นอันดีแล้ว ผู้ครองฝ่ายอังกฤษได้ส่งทูตพวก นั้นข้ามมาจากแผ่นดินเองเคลนด์ ขึ้นแผ่นดินฝรั่งเศสที่ท่าชื่อกาเลศ แล้วพนักงานของผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศสได้ต้อนรับแลอนุเคราะห์ให้ เป็นสุขโดยสมควร แล้วได้พาทูตพวกนั้นไปถึงกรุงปารีส แลเสนาบดี ในกรุงปารีสได้อนุเคราะห์พาทูตพวกนั้นเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสพร้อมทั้งพระมเหสีเวลาหนึ่ง แลได้พาไปให้ได้เห็นที่ต่างๆ ที่ งามควรชมน่าอัศจรรย์ น่าพิศวงเป็นอันมาก ในกรุงปารีสหลายเวลา แล้วจึงได้พามาส่งให้ลงเรือที่ท่ามารเสลต่อภายหลัง

กรุงสยามได้สดับดังนี้แล้วก็มีความยินดีเป็นที่ยิ่งว่าทูตพวกนั้นกรุงสยามได้ตั้งใจ เพื่อจะให้ได้เฝ้าสมเด็จพระนางวิกตอเรีย พระเจ้ากรุงบริตาเนีย พระองค์เดียวแลได้เห็นได้ชมแต่เมืองอังกฤษฝ่ายเดียวดอก แลเมื่อทูตนั้นจะกลับมาผู้ครองฝ่ายอังกฤษมีไมตรีอันสนิทกับผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศส ได้พร้อมกันคิดอ่านอนุเคราะห์ทูตสยาม พวกนั้นให้ได้เดินทางในดินแดนเป็นของฝรั่งเศสแลอนุเคราะห์ ให้ได้ยศอันวิเศษจนถึงได้เข้าไปในกรุงปารีสแล้ว ได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในยุโรปอีก พระองค์หนึ่งในที่เฉพาะพระพักตร์ด้วยนั้น ก็เป็นบุญลาภของทูตพวกนั้นยิ่งนักหนาและเป็นเกียรติยศใหญ่มหึมาแก่กรุงสยาม เป็นที่จะให้เลื่องชื่อลือนามว่ากรุงสยามมีไมตรีอันสนิทกับกรุงฝรั่งเศสเหมือนกันกับสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนีย

ทูตที่กรุงสยามได้ตั้งใจแต่งไปให้ได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนียแห่งเดียว ก็ได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสด้วย กรุงสยามคิดขอบพระเดชพระคุณ กรุงฝรั่งเศส ในเหตุที่โปรดให้ทูตพวกนั้นได้เฝ้าแลให้ได้รับอนุเคราะห์ แด่ผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศส ได้เป็นสุขตลอดเวลาเมื่อทูตฝั่งหยุดอยู่แลเดินไปในพระราชอาณาจักรกรุงฝรั่งเศสนั้นยิ่งนักหนา

เพราะฉะนั้นครั้งนี้ ขอแสดงความที่กรุงสยามมีจิตคิดขอบพระคุณดังนั้นมาให้กรุงฝรั่งเศสได้ทราบด้วย แต่ว่าในเหตุนี้กรุงสยามยังมีความโทมนัสอยู่ หน่อยหนึ่งด้วยไม่ทราบการแต่เดิมที่ว่าทูตพวกนั้นจะได้เฝ้ากรุงฝรั่งเศสด้วยเลย เมื่อพวกนั้นเข้าไปเฝ้ามือเปล่าไม่มีพระราชสาส์นของกรุงสยามไปแสดงความคํานับเจริญทางพระราชไมตรีด้วยเป็นสําคัญ การอันนั้นไม่สู้งามดูเหมือนกรุงสยามมีความนับถือกรุงฝรั่งเศสนั้นน้อยไป จึงไม่มีพระราชสาส์นไปปราศรัยคํานับเจริญทางพระราชไมตรีให้ สมควรแก่ตัวทูตที่ได้เข้าไปเฝ้า การซึ่งเป็นดังนั้นเพราะไม่ได้ทราบแต่เดิมที่จริงๆ ขอรับประทานโทษเสียเถิดฯ

บัดนี้กรุงสยามจึงได้แต่งพระราชสาส์นฉบับนี้มาแสดงความขอบพระเดชพระคุณแลคํานับเจริญทางพระราชไมตรี อีกฉบับหนึ่งต่างหาก นอกจากพระราชสาส์นที่มีมาสําหรับทูตพวกที่ออกไปในครั้งนี้นั้น ก็เพื่อจะให้เป็นอันใช้แทนการ ซึ่งควรทําควรมี เมื่อครั้งทูตพวกก่อนได้มียศอันได้เข้าเฝ้ากรุงฝรั่งเศสในที่เฉพาะพระพักตร์นั้นแท้จริง ขอกรุงฝรั่งเศสจงได้ทราบดังนี้เทอญฯ

ครั้งนี้กรุงสยามมีความไว้ใจว่ากรุงฝรั่งเศสจะทรงพระอนุเคราะห์แก่ทูตานุทูตพวกที่ส่งไป ณ ครั้งนี้ ให้ได้ยศแลความสุขความเพลิดเพลินคล้ายกันกับสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนีย ทรงพระอนุเคราะห์แก่พวกทูตพวกก่อนทุกประการ…

พระราชสาส์นนี้ได้ส่งไปแด่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชสถานชื่อพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครอมรรัตน โกสินทรมหินทรายุธยาบรมราชธานีอันมีในประเทศ” [2]

แนวทางการปูทางไปให้ถึงฝรั่งเศสเพื่อให้พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ยอมรับและต้อนรับคณะทูตจากสยามเช่นเดียวกับทางอังกฤษ สะท้อนความเชื่อมั่นในรัชกาลที่ 4 ดังนี้

1.สะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติของผู้นําที่ดี เช่น การเป็นผู้มีความรู้ มีการ ศึกษาดี มีประสบการณ์ และอ่านใจคนออก มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้า มีความจริงใจในการทํางาน และการสานนโยบายเปิดประเทศอย่างจริงจัง ทรงมั่นคงในความคิดและอุดมการณ์ ไม่ใช่คนปิดบังซ่อนเร้น การยกเหตุผล ที่ทรงมุ่งหวังที่จะส่งคณะทูตไปทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส โดยแยกเป็น 2 คณะต่างหาก ย่อมแสดงถึงความจริงใจและเปิดเผย เป็นผู้มีความพร้อมที่จะทํางานและติดตามการทํางานอย่างต่อเนื่อง

2.ทรงสามารถนําข้อมูลประกอบวาทะให้น่าเชื่อถือ โดยใช้ถ้อยคําสํานวน ที่แสดงความจริงใจ แสดงตัวอย่างอธิบายและให้รายละเอียดทุกแง่มุม รวมทั้งการ แสดงเหตุผลเพื่อทําให้ข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น ทรงใช้พระอัจฉริยภาพที่แปลกแหวกแนวและไม่ค่อยมีให้เห็นในหมู่ผู้ปกครองทั่วไป เช่น การให้ความเคารพนับถือและยกย่องฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ค่อยถูกกัน ให้เป็นมิตร เป็นพวกเดียวกัน และสามารถคบค้าสมาคมกันได้ กล่าวคือ ในความเป็นจริงแล้ว อังกฤษเป็นคู่แข่งของฝรั่งเศส และทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีนโยบายคุกคามสยามประเทศ [2]

3.ทรงมีวิธีทําให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวด้วยการเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านเป็นระยะๆ ทรงใช้กลวิธีเชื่อมโยงบุคคลที่ 3 ที่ 4 ให้เข้ามาผูกพันกับประเด็น ที่ต้องการสื่อถึง โดยมีพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยได้อย่างแนบเนียน [2]

นอกจากพระราชสาส์นเป็นเบิกทางที่มีอานุภาพสามารถโน้มน้าวจิตใจนโปเลียนที่ 3 ให้เชื่อถือ เครื่องราชบรรณาการก็เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ใช้ผูกมัดใจผู้นำฝรั่งเศส [4]


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1]ไกรฤกษ์ นานา, “ข้อโต้แย้งใหม่! 150 ปีให้หลัง นโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ‘ไม่เคยคิดร้าย ต่อสยามประเทศ’, ” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 3. บริษัท ออฟเซ็ทพลัส จํากัด, 2555

[2]_____ “วาทกรรมการเมือง พระเจ้ากรุงสยามกับนโปเลียน,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 2 เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5. สํานักพิมพ์มติชน, 2553

[3] _____“ครั้งสุดท้ายที่เห็นมงกุฎรัชกาลที่ 4 ในอังกฤษ,” ใน หน้าหนึ่งในสยาม. สํานักพิมพ์มติชน, 2556

[4] _____ “ตามหาบุคคลในภาพ ทูตไทยถวายสาส์นแด่นโปเลียนที่ 3 มีตัวตนจริงหรือ ไม่?,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด. สํานักพิมพ์มติชน, 2552.


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน2564