พลุปืนใหญ่ระเบิดในงานฉลอง จุดเริ่มการ “ผ่าตัดแขนขา” ครั้งแรกในสยามโดยหมอฝรั่ง

วัดประยุรวงศาวาส แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธน
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายบริเวณ วัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี นิวาสสถานของสกุลบุนนาคในสมัยรัชกาลที่ 5

เหตุการณ์การผ่าตัดแขนขาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยหมอบรัดเลย์ ถูกบอกเล่าจากผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ขณะร่วมงาน “สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา” หัวข้อ “หมอบรัดเลย์ : นายแพทย์ – นักหนังสือพิมพ์ ผู้สร้าง ‘มีเดียใหม่’ ในสยาม” โดยมี นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา และปรามินทร์ เครือทอง เป็นวิทยากร และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี

นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา เล่าไว้ว่า การผ่าตัดครั้งดังกล่าวมีที่มาจากเหตุการฉลองวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พบว่ามีการใช้พลุมาเป็นส่วนหนึ่งในการฉลอง แต่ปรากฏว่าเกิดระเบิดขึ้น วันนั้นตรงกับวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1837 เป็นวันศุกร์ 13 เหตุระเบิดครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 8 ราย

“มีคนหนึ่งแขนล่องแล่ง หมอบรัดเลย์เอาไปตัดแขน แต่ตอนตัดแขน ตามบันทึกไม่ได้บอกว่าเป็นภิกษุหรือพระสงฆ์ ตอนหลังอีก 3-4 ปีหมอบรัดเลย์เขียนในบันทึกว่ามีชายคนที่ถูกตัดแขน ตอนหลังกลับมาบวชในวัดแถวในกรุง แต่ไม่เคยมาเยี่ยม ไม่เคยมาเจอ หายไปเลย บ่นน้อยใจนิดๆ”

เรียกได้ว่า เป็นการผ่าตัด ตัดอวัยวะเป็นครั้งแรก (ในสยาม) ที่มีในบันทึก ถ้าไม่ตัด และปล่อยให้เลือดไหลไปเรื่อยคงถึงแก่ชีวิต

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้มีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกของประเทศไทย นักวิชาการรับทราบถึงเหตุการณ์นี้ว่ามีงานฉลองวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มีการทำพลุขึ้นและใช้ปืนใหญ่ในการเป็นฐาน ด้วยแรงขับของดินปืนมันระเบิดจนทำให้ปืนใหญ่แตกจนเกิดบาดเจ็บขึ้น ต้องผ่าตัดดังที่นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา กล่าวข้างต้น

ขณะที่ปืนใหญ่ 3 กระบอกนั้น (ที่วัด) นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา อธิบายเสริมว่า เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ในวันนั้น


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2564