ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | นนทพร อยู่มั่งมี |
เผยแพร่ |
ถนนหนทางในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการปรับปรุงให้เป็นทางสัญจรเชื่อมโยงทั้งในเขตกำแพงเมือง และภายนอกไปยังชุมชนต่าง ๆ ซึ่งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและลักษณะการใช้ชีวิตที่ก้าวเข้าสู่สังคมบกมากขึ้น การสัญจรยามค่ำคืนเป็นความเสี่ยงไม่น้อย ซึ่งแม้แต่กองตระเวนซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพฯ ก็ยังรายงานว่ายามค่ำคืนตามท้องถนนมักมีคดีฉกชิงวิ่งราวจำนวนมาก สร้างปัญหาเมื่อต้องเดินทางอยู่เสมอโดยเฉพาะตามท้องถนนที่เป็นทางเปลี่ยวและไม่มีแสงสว่างในยามค่ำคืน ทำให้ผู้สัญจรจำเป็นต้องหลบเลี่ยงถนนบางสายเพื่อความปลอดภัย เช่นที่ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) กล่าวถึงเส้นทางกลับบ้านของท่านในยามค่ำคืน ดังนี้
“ยี่เกพระยาเพชร์คนดูมากพอสมควร เวลาเลิก คนดูเดินออกทางประตูช่องกุฏ เห็นรถเจ๊กจอดอยู่เป็นแถวไม่เกิน 10 คัน เดือนหงายสว่าง ไม่ช้าคนดูก็หายหมด ถนนโล่ง ผู้ใหญ่เขาพาเดินทางไปทางประตูผี เลี้ยวถนนบำรุงเมือง ไปถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า ก็เลี้ยวถนนตะนาวกลับบ้าน ทุกครั้งที่ไปดูเดินกลับทางนี้ ไม่เดินทางถนนราชดำเนินไปเลี้ยวถนนตะนาว ทั้งนี้คงเป็นเพราะถนนราชดำเนินกลางมีแต่ต้นไม้ ทางถนนตะนาวก็ไม่ค่อยมีร้าน แต่ไปทางถนนบำรุงเมืองมีร้านเจ๊กเขียนหวยเป็นระยะ ๆ ไปจนเข้าถนนตะนาวก็ยังมีร้านเจ๊กเขียนหวยถึงบ้านก็ยังมีร้านเจ๊กเขียนหวยอีก แปลว่ากลับทางนี้ไม่เปลี่ยว แต่ทางถนนราชดำเนินกลางดูมืดและเปลี่ยวที่สุด” [1]
การเลือกเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้านให้เหมาะสมนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ทางสัญจรยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ ขณะที่อีกตัวอย่างหนึ่งถึงกับเปลี่ยนทางสัญจรจากท้องถนนไปใช้ลำคลองซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมแทน เช่นที่พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) กล่าวไว้ดังนี้
“ถัดจากโรงบ่อนไปแล้ว ลางแห่งก็หาคนเดินไปมาไม่สู้มากนัก ถ้าตอนใดเป็นย่านเปลี่ยว เดินก็ต้องระวังตัว ดีหรือไม่ดี อาจถูก ‘นักเลงดี’ ตีชิงได้ง่าย ๆ ถ้าเป็นเวลากลางคืน แม้ตามถนนเจริญกรุงตอนที่อยู่นอกกำแพงเมืองออกมา ซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่ของเวลานั้นแต่ถนนเดียว ส่วนมากก็มืดตื้อ ไม่ใคร่มีใครเดิน ถ้าจำเป็น ก็มักไปเรือ สะดวกกว่าไปตามแม่น้ำลำคลองที่มีอยู่มาก ทั้งที่เป็นคลองเล็กคลองใหญ่” [2]
ไม่เพียงเท่านั้น การสัญจรยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ มีสภาพเสี่ยงภัยมากขึ้นไปอีกเนื่องจากลักษณะทางกายภาพของถนนในกรุงเทพฯ เป็นตรอกซอยจำนวนมากเชื่อมกับถนนใหญ่และยังผสมผสานกับปัญหาจากแหล่งอบายมุข [3] ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่กำลังขยายตัว ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดคดีอาชญากรรม ที่สำคัญ ได้แก่ คดีวิ่งราวทรัพย์สินตามท้องถนน โดยเฉพาะพวกวิ่งราวหมวก เพราะหมวกนับเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกรสนิยมและฐานะของผู้สวมมีราคาแพง เช่น หมวกมิสกันมีราคา 5 บาท [4] หรือหากเป็นหมวกสักหลาด 1 ใบมี ราคาถึง 7 บาท [5]
การวิ่งราวหมวกจึงเป็นทั้งภาพสะท้อนอาชญากรรมที่สัมพันธ์ถึงสภาพเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่เติบโตขึ้นจนผู้คนจำนวนไม่น้อยมีรสนิยมใช้สินค้าราคาแพง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับต้องผันตัวเองเป็นอาชญากรตามท้องถนน เพื่อหารายได้ไว้เลี้ยงชีพตามโรงบ่อนเบี้ยและโรงยาฝิ่น
คดีประเภทนี้เกี่ยวข้องกับลักษณะของถนนที่ “ตรอกเล็กซอยน้อยมีอยู่ทั่วไป” [6] เอื้ออำนวยให้เหล่าคนร้ายก่อคดีได้อย่างสะดวกเพราะ “พอฉวยได้วิ่งเข้าตรอกเข้าซอยก็เป็นอันสำเร็จ” [7] ความชุกชุมของคดีวิ่งราวหมวกปรากฏจากรายงานคดีของกองตระเวนซึ่งพบว่าในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง มีคดีเกิดขึ้นถึง 2 ราย ในท้องที่เดียวกัน เช่น คดีที่เกิดในท้องที่โรงพักสำราญราษฎร์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2444 เวลา 1 ทุ่มตรง ขณะที่นายบุญเดินอยู่ที่ถนนอุณากรรณ ถูกคนร้ายหยิบเอาหมวกไปพร้อมกับ “เอามีดมีคมฟันข้าพเจ้า 1 ที” [8]
อีกรายหนึ่งขณะที่นายตึ๋งเดินมากับภรรยาเมื่อถึงถนนบำรุงเมืองถูกคนร้ายหยิบหมวกไปจากด้านหลังพร้อมกับ “เอามีดเหล็กมีคมฟันศีรษะแผลหนึ่ง” [9] คดีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้สัญจรบนท้องถนน บางรายถึงกับเลิกใส่หมวกเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้อีก ดังกรณีพระยาอนุกูลวิธาน (ชม) อาจารย์โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตามที่ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) กล่าวไว้ดังนี้
“ท่านนั่งรถเจ็กชนิดนั่งคนเดียวและมีเด็กนั่งที่พื้นล่างมาด้วยเสมอทุกวัน ท่านแต่งสวมถุงเท้า รองเท้า เสื้อกระดุมห้าเม็ด นุ่งผ้าสีขาบ (พวกผ้าอ่างหิน) อย่างดี โจงกระเบนเป็นประจำแต่ไม่ใส่หมวกที่ไม่ใส่หมวกนั้นปรากฏว่าถูกวิ่งราวเสียไม่รู้ว่ากี่ใบ ทั้งนี้เพราะตามถนนไม่ค่อยมีคน คนร้ายยืนคอยอยู่ริมถนนซึ่งตามถนนมักจะมีตรอกมีซอยมาก พอรถเจ๊กวิ่งผ่านไป คนร้ายก็ฉวยหมวกปุบ วิ่งเข้าซอยหายไป ไม่รู้ว่าจะไปตามเอาได้อย่างไร ท่านถูกอย่างนี้มาหลายครั้ง จนในที่สุดก็เลิกใส่หมวก ไม่ใช้หมวกอีกต่อไป” [10]
เชิงอรรถ :
[1] ขุนวิจิตรมาตรา. 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์). (กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, 2523), น. 45.
[2] เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : ศยาม, 2547), น. 140-141
[3] หนังสือที่ระลึกสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และทรงเปิดอาคารที่ทำการกองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังใหม่ ณ วังปารุสกวัน, (กรุงเทพฯ : กองบัญชาการตำรวจนครบาล, 2535), น. 43-44
[4] หจช. ร.5 น.8.1/212 สำเนาที่ 320 โรงพักประตูสำราญราษฎร์ ลงวันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 120
[5] หจช. ร.5 น.8.1/212 สำเนาที่ 321 โรงพักประตูสำราญราษฎร์ ลงวันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 120
[6] กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. (กรุงเทพฯ : สารคดี, 2545), น. 171.
[7] เรื่องเดียวกัน
[8] หจช. ร.5 น.8.1/212 สำเนาที่ 320 โรงพักประตูสำราญราษฎร์ ลงวันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 120
[9] หจช. ร.5 น.8.1/212 สำเนาที่ 321 โรงพักประตูสำราญราษฎร์ ลงวันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 120
[10] กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. น. 170-171.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “กรุงเทพฯ ราตรี : ความบันเทิงและการเสี่ยงภัยของชาวเมืองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2564