ฮิตเลอร์และพรรคนาซีครองอำนาจ การแพทย์ของเยอรมันเป็นอย่างไร

ภาพเขียนของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ภาพจาก AFP PHOTO / INP

หากกล่าวถึงฮิตเลอร์ท่านผู้อ่านคิดถึงอะไร การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิว, การปกครองแบบเผด็จการ, ความรุนแรง ฯลฯ แล้วถ้าผนวกเรื่องการแพทย์เข้าไปในสมัยของฮิตเลอร์ ผลที่ออกมาจะเป็นอะไร

นักเขียนมือรางวัลอย่าง จอห์น คอร์นเวลล์ อดีตผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และมิติมนุษย์ที่วิทยาลัยจีซัส, เคมบริดจ์ และภาคีสมาชิกของคณะประวัติศาสตร์และปรัชญาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มีคำตอบไว้ในผลงานของที่ชื่อว่า “นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์” (มติชน, 2554) ที่นำบางส่วนมาเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

Advertisement

 

นายแพทย์ ในฐานะกลุ่มอาชีพ มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมสังกัดพรรคนาซีมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น สภาแพทย์มหาอาณาจักรไรซ์ที่ 3 มีหมอสมัครเป็นสมาชิกพรรคนาซีสูงสุด 44.8 เปอร์เซ็นต์ ทนายความเป็นกลุ่มใหญ่รองลงมา แต่ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ [1] นายแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ระหว่างปี 1925-1932 มีสัดส่วนสังกัดพรรคนาซีมากที่สุด 53.1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มเล็กที่สุด 39.1 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นกลุ่มแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนระหว่างปี 1878-1918

ไมเคิล คาเทอร์ นักประวัติศาสตร์ เสนอผลสรุปว่า หมอนาซีที่กระตือรือร้นที่สุดจะเป็นกลุ่มตกยาก ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ “จนถึงปี 1933 หมอไปเยือนแคมป์นาชีด้วยความเคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ชิงชังรังเกียจสภาวการณ์ในปัจจุบัน วาดหวังว่าจะได้รับอนาคตใหม่สดใสกว่าเดิมในมือของผู้นำที่ชะตาลิขิตแล้ว” [2] ทิลล์ บาสเตียน นักประวัติศาสตร์การแพทย์ในมหาอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ตั้งข้อสังเกตว่า อาชีพแพทย์ถือได้ว่าเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่สุดและคลั่งชาติที่สุดนับจากการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1

หลังจากฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในปี 1933 หมอเยอรมันส่วนใหญ่แซ่ซ้องต้อนรับระบอบการปกครองใหม่ ฝันหวานถึงการแก้ไขความพิกลพิการ ในระบบสาธารณสุข การบริหาร ค่าจ้าง และสภาพการทำงานที่เคยเกิดขึ้นในสาธารณรัฐไวมาร์ หมอใหม่แค้นเคืองที่ไม่อาจเปิดคลินิกรักษาโรค เพราะรัฐบาลยุคนั้นวางระบบจำกัดไว้ว่าให้มีแพทย์หนึ่งคนต่อประชากรเพียง 600 คน เงินเดือนของหมอในเยอรมนีในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 มากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น รวมทั้งทนายความ

แต่ในช่วงหลายปีก่อนฮิตเลอร์จะเถลิงอำนาจ เงินเดือนแพทย์ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการรัดเข็มขัดของ “อัครมหาเสนาบดีท้องกิ่ว” บรูนนิง ทำให้เกิดภาวะการว่างงานสูง ขับไล่คนไข้ไปจากโต๊ะผ่าตัดของหมอ เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำผ่านพ้นไป จำนวนหมอลดน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการขับไล่หมอยิวในปี 1934 เงินเดือนของหมอเพิ่มสูงจากระดับต่ำสุดในปี 1932 และเมื่อถึงปี 1937 หมอเยอรมันแช่มชื่นได้เงินเดือนสูงสุดในระดับเดียวกับปี 1928

การต่อต้านยิวและความคลั่งเชื้อชาติเข้มข้นแพร่ไปทั่ววงการแพทย์ในตอนต้นทศวรรษ 1930 ยูลิอุส ฟรีดริช เลห์มานน์ เจ้าของสำนักพิมพ์ที่เราอ่านผ่านตามาแล้ว เป็นหัวขบวนในการเผยแพร่อุดมการณ์สายเลือดแท้ของโพลตซ์กับกุนเทอร์ในช่วงทศวรรษ 1920 เลห์มานน์ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในมือและความมั่งคั่งของตนเผยแพร่ข่าวสารนาซีในหมู่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ในโรงพยาบาล ตำราสี่สีสวยงามของเขามียอดขายสูงในวงการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น เขาตีพิมพ์วารสารการแพทย์รายสัปดาห์ในมิวนิก ใช้ความนิยมของวารสารเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่สารนิพนธ์โฟล์คคิชและการเหยียดสายเลือดต่ำทรามของยิว

การทำงานในเชิงรุกจะเป็นการให้ทุนสนับสนุนลุดวิก เซมานน์ บรรณาธิการในการแปลผลงานการเหยียดหยามสายเลือดของอารฺตูรฺกงต์ เดอ โกบิโน จากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นเยอรมัน ในปี 1926 เขาพิมพ์หนังสือขายดี The Physician and his Mission โดย นพ.แอร์วิน ลีค จากดานซิก เมื่อถึงช่วงสิ้นทศวรรษ หนังสือเล่มนี้มียอดจำหน่าย 30,000 เล่ม ในฐานะสื่อทรงเกียรติได้รับความเชื่อถืออย่างสูง ผลงานของเขามอบความน่าเชื่อถือให้อุดมการณ์นาซีในหมู่แพทย์

เลห์มานน์เสียชีวิตเมื่ออายุได้เจ็ดสิบปี หนึ่งปีหลังจากที่ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ แต่ก็ยังเตรียมการตีพิมพ์ผลงานของแนวหน้านาซีไว้ เช่น ริชาร์ด วาลเธอร์ ดาเรอ และอัลเฟรด โรเซน แบร์ก ฮิตเลอร์สรรเสริญเลห์มานน์สำหรับความอุทิศทุ่มเทอย่างไม่ลดละช่วยเหลือลัทธินาซีให้ฝ่ากระแสต่อต้านสืบไป ฮิตเลอร์ประกาศว่า ผู้คนรุ่นถัดไปจะเห็นคุณงามความดีของเลห์มานน์สำหรับผลงานที่เขาทำเพื่อเยอรมนี [3]

การโฆษณาชวนเชื่อในวงการแพทย์ของเลห์มานน์ประณามการศึกษาของแพทย์เฉพาะทาง ส่งเสริมให้มีการบำบัดรักษาทั่วไป ซึ่งก็เป็นแนวโน้มสอดคล้องไปกับนโยบายองค์รวมของพรรคนาซีที่มีต่ออนามัยและสาธารณสุข เคเทอร์เขียนไว้ว่า

โดยหลักการแล้ว แนวคิดองค์รวมจะไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเจาะลึกที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง และในเมื่อเจือด้วยแนวคิดสุดเพี้ยนเชิงชีววิทยา อคติเชิงบวกจะเน้นไปที่กลไก ระบบสืบพันธุ์และอคติเชิงลบเน้นไปที่สมอง หลักคิดเช่นนี้ สอดคล้องกับการเน้นย้ำของพรรคนาซี ให้ความสำคัญต่อวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้ และต่อต้านภูมิปัญญา (ความรู้ที่สั่งสมไว้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต) [4]

ในเวลาเดียวกัน ภายใต้อิทธิพลของวิถีความคิดของนาซีในแวดวงการแพทย์ หมอหันไปสนใจสุขอนามัยของชาติ แทนการดูแลบำบัดรักษาสุขภาพปัจเจก [5] การเรียนการสอนในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย มักจะได้รับคำตำหนิรุนแรงจากหมอนาซีว่ามีลักษณะไปในทางลบ หรือ “ทุลักษณะ” ทั้งนี้สิ่งที่จัดว่าเป็น “ทุลักษณะ” ตามคำจำกัดความของนาซีก็อย่างเช่น “ลัทธิ เสรีนิยม ปัจเจกนิยม การคิดถึงแต่วัตถุและกลไก อุดมการณ์มนุษย์ของผิว คอมมิวนิสต์ การขาดไร้ความนับถือต่อสายเลือดและปิตุภูมิ การละเลยไม่ใส่ใจสายเลือดแท้ และลักษณะพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมายังลูกหลาน การเน้นความสำคัญไปยังอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง และการลดคุณค่าของจิตวิญญาณ และเรือนกาย” [6]

หมอยิว

หนึ่งสัปดาห์หลังจากฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในเดือนมกราคม 1933 นพ. ควร์ต คลาเรอ ผู้ร่วมก่อตั้ง “สันนิบาตแพทย์นาซี” เขียนจดหมายถึงเพื่อนร่วมงานว่า “พวกยิวและกลุ่มหลงรักยิวพึ่งสำเหนียกว่าคนเยอรมันเป็นเจ้านายบ้านของตนเองอีกครั้งแล้ว และจะลิขิตชะตากรรมของตนเอง” [7] การขับไล่หมอยิว ซึ่งมีจำนวน 16 เปอร์เซ็นต์ของแพทย์ทั้งหมดในเยอรมนีออกจากงาน [8] เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม เริ่มต้นจากข้ารัฐการยิวในสมาคมการแพทย์ของชาติและจากกลุ่มแพทย์ท้องถิ่น ตามด้วยการไม่คบค้ากับคนยิว จากฝีมือของโกเอบเบิลส์ในวันที่ 1 เมษายน ไม่ติดต่อค้าขายใช้บริการของยิว รวมทั้งการไปตรวจรักษาในคลินิกหมอยิว

หากไม่ทุบทำลายร้านค้าให้เสียหาย ก็จะกำหนดให้เป็นเขตต้องห้าม ในนูเรมเบิร์ก มีประกาศทางการว่าใบรับรองประกันสังคมที่ออกให้โดยหมอยิวจะไม่ได้รับการพิจารณาดำเนินการ ยิวหลายคนถูกลากตัวออกไปยังสวนสาธารณะใกล้เลร์เทอร์ บาห์นโฮฟอันธพาลเชิ้ตน้ำตาลใช้ปืนยิงขา หมอยิวในมิวนิกถูกจับกุมตัวด้วยข้อหาทำแท้งเถื่อน กักขังในคุกนานหนึ่งสัปดาห์ หมอประกันสังคมในเบอร์ลินคนหนึ่งถูกจับกุมไปขังคุกนานเก้าเดือน

ในระหว่างที่คนยิวในสมาคมการแพทย์ตั้งท่าพร้อมรับรัฐบัญญัติต่อต้านยิว ข้อตกลงอื่นๆ ถูกทำลายไปทีละเรื่องสองเรื่อง ห้ามหมอยิวว่าจ้างผู้ช่วยที่ไม่ใช่ยิว มีการระงับการสั่งจ่ายเงินค่าจ้าง ในแคว้นบาวาเรียห้ามหมอยิวดูแลรักษานักเรียนในโรงเรียนของรัฐ ในแคว้นบาเด็น สัดส่วนของหมอผิวในบัญชีรายชื่อแพทย์ระดับแคว้นถูกจำกัดลงโดยใช้เกณฑ์ของประชากรยิวต่อประชากรทั้งหมด ทำให้สัดส่วนของหมอยิวในบัญชีรายชื่อมีเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ [9]

…………….

เมื่อถึงต้นปี 1939 มีหมอยิวถูกไล่ออกจากงาน 2,600 คน ตำแหน่งที่ว่างลงถูกแทนที่โดยหมออารยัน การกระทำทรมาน การข่มขู่ให้หวาดกลัว หรือการฆาตกรรมหมอยิว เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น มีการยัดเยียดข้อหาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งยาผิด การลวนลามคนไข้สตรี การทำแท้งเถื่อน และการยักยอกทรัพย์ การฆ่าตัวตายของหมอยิวกลายเป็นเรื่องปกติสามัญ [10] แต่หมอยิวบางคนยังคงทำงานรักษาคนไข้ต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในกลุ่มยกเว้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไข้ยังเชื่อถือวางใจกลุ่ม นาซีหัวรุนแรงหันไปเล่นงานคนไข้ของหมอผิวด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ

บันทึกของหมอยิว

บันทึกของ พญ.แฮร์ธา นาโธรฟฟ์ นรีแพทย์ ผู้เกิดและเติบโตในครอบครัวยิว เป็นที่นับหน้าถือตาในเยอรมนี เต็มไปด้วยความน่าสะเทือนใจ บันทึกนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพของหมอยิวจำนวนมากที่ยังปักหลักอยู่ในเยอรมนี ใต้ระบอบการปกครองของฮิตเลอร์ [11] นามสกุลเดิมของหมอแฮร์ธา ก่อนแต่งงานคือไอน์สไตน์ (เธอเป็นญาติห่างๆ ของไอน์สไตน์)

……….

ในเดือนมกราคม 1933 พญ.แฮร์ธา นาโธรฟฟ์อยากจะทำใจให้เชื่อใจและวางใจในตัวฮิตเลอร์ หลังจากท่านผู้นำชนะการเลือกตั้ง แต่หนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง เธอสังเกตพบการต่อต้านยิวจากปากของคนไข้ในคลินิกมากขึ้นทุกขณะ สองสัปดาห์หลังมาตรการไม่คบค้ายิวในเดือนเมษายน 1933 เธอเขียนบันทึกไว้ว่าศัลยแพทย์ยิวถูกไล่ออกจากห้องผ่าตัด มีคำสั่งห้ามไม่ให้หมอยิวเข้ามาในเขตโรงพยาบาล โรงพยาบาลไล่สามีของเธอออกจากงาน เขายังทำงานในคลินิกส่วนตัว หมอยิวถูกจับตัวขึ้นรถบรรทุกขับแห่ไปรอบเมือง คนเดินเท้าส่งเสียงสาปแช่ง สัปดาห์ถัดมา เธอถูกไล่ออกจากงานล่วงเวลาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการตั้งครรภ์ แต่เธอยังทำงานในคลินิกส่วนตัว

ในเดือนพฤษภาคม คนไข้สติแตกร่ำไห้ในห้องตรวจ คนไข้ผู้นั้นเกือบจะเปิดแก๊สรมฆ่าตัวตาย เพราะเชื่อว่าการร่วมเพศกับคนยิวครั้งเดียว อาจทำให้เธอแปดเปื้อนโสมมจนไม่อาจตั้งครรภ์และคลอดลูกอารยันสายเลือดแท้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ถัดมา หมอยิวเพื่อนร่วมงานของหมอแฮร์ธาฆ่าตัวตาย เพราะไม่อาจทนแรงกดดันบีบคั้นได้อีกต่อไป หมอแฮร์ธาไปเยี่ยมหมอยิวสตรีในโรงพยาบาลโรคจิต เธอเสียสติไปเพราะถูกไล่ออกจากงาน และเพื่อนชายสายเลือดอารยันสลัดรัก

………..

การกดขี่ข่มเหงหมอผิวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปีถัดมา เพื่อนร่วมงานสตรีชาวยิวร่ำไห้แทบครองสติไม่อยู่ในบ้านของหมอแฮร์ธาบอกว่าในคืนที่ผ่านมา บ้านของเธอถูกเกสตาโปรื้อค้นเพื่อค้นหาวรรณกรรมต้องห้าม หมอตำแย ผู้ช่วยประสบการณ์นานหลายปี มาขอพบและแจ้งให้ทราบว่าเธอได้รับคำแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมหมอตำแยไรช์ ซึ่งก็จะทำให้เธอไม่อาจทำงานร่วมกับหมอผิวได้อีกต่อไป

คนไข้รายหนึ่งมากล่าวคำอำลา บอกว่าไม่อาจมาพบหมอยิวได้อีกแล้ว เพราะลูกชายขู่ว่าจะขับเธอออกจากความเป็นแม่ คนไข้เก่าหลายต่อหลายคนรวมทั้งเลขานุการเก่าที่เธอเคยช่วยเหลือด้านการเงินมาหลายครั้งทำเป็นเมินมองไม่เห็นเธอบนถนน อีกคราวหนึ่ง คนไข้ร้องห่มร้องไห้มาขอให้เธอสั่งยาพิษ หลังจากทราบว่าเมื่อสืบสาแหรกขึ้นไปแล้ว มีย่าเป็นยิว เธอถูกไล่ออกจากงาน แฟนหนุ่มไล่ออกจากบ้าน

หมอแฮร์ธายังคงจดบันทึกการกดขี่ข่มเหงซึ่งดำเนินต่อไป ปีแล้วปีเล่า จนถึงปลายทศวรรษ 1930 จนถึงจุดระเบิดใน คริสสตาลนากต์ หรือค่ำคืนกระจกแตก คืนวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 1938 หมอแฮร์ธาเขียนไว้ในบันทึก ว่าสามีของเธอกับเพื่อนร่วมงานคนยิวออกไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและป่วยไข้ในเบอร์ลินตลอดทั้งคืน ร้านค้ายิวถูกเผา คนยิวถูกทุบตีบาดเจ็บ เธออยู่บ้านรอรับโทรศัพท์แจ้งให้สามีทราบว่าจะต้องไปที่ใดบ้าง ตำรวจลับบุกมาที่บ้านของเธอในตอนรุ่งสาง ถามหาสามีของเธอ ข่มขู่ด้วยการควักปืนจ่อหัวเธอกับลูกชาย สามีของเธอกลับถึงบ้าน เหนื่อยล้าจากการทำงานตลอดทั้งคืน เขาถูกจับตัวในทันที

วันที่ 12 พฤศจิกายน เธอไปเข้าแถวที่สถานกงสุลอเมริกันเพื่อขอวีซ่า แต่ได้รับคำบอกให้กลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น สองวันถัดมา เธอทราบว่าสามียังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหา “สายเลือดแปดเปื้อนโสมม” มีชายนอกเครื่องแบบเดินทางมาพบเธอ เรียกร้องเงินเพื่อแลกกับการถอนข้อหา หลังจากที่ชายคนนั้นดึงปืนออกมาขู่ เธอมอบเงินก้อนโตให้ไป และเป็นลมหมดสติ อีกไม่นาน สามีของเธอได้รับการปล่อยตัวออกจากที่กุมขัง

……….

ครอบครัวนาโธรฟฟ์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในนิวยอร์ก เริ่มชีวิตใหม่ ลำบากอยู่นานหลายปี หมอแฮร์ธาทำงานเป็นหญิงทำความสะอาดในระหว่างที่สามีเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพรักษาคนไข้ได้ ฐานะของครอบครัวดีขึ้น สามีของเธอเสียชีวิตในปี 1954 หมอแฮร์ธาพิมพ์บันทึกของเธอเป็นภาษาเยอรมันในปี 1987 แต่ไม่เคยเดินทางกลับเยอรมนี

 


เชิงอรรถ :

[1] Krater, Doctors under Hitler, p.56.

[2] Ibid., p.57.

[3] Klaus-Dieter Thomann, ‘Dienst am Deutschtum: Der medizinische Verlag J. F. Lehmanns und der Nationalsozialismus’, in Bleker and Jechertz, Medizin, p.65.

[4] Kater, Doctors under Hitler, p.65.

[5] Michael Hubentorf, ‘Von der “freien Auswahl” zur Reichsärzteordnung- Ärztliche Standespolitik zwischen Liberalismus und Nationalsozialismus’, in Bleker and Jechertz, Medizin, p.45.

[6] Quoted in Hendrik van den Bussche, Arztliche Ausbildung und medizinische Studienreform im Nationalsozialismus’, in inbid., p.119.

[7] Quoted in Krater, Doctors under Hitler, p.183.

[8] Werner Friedrich Kummel, ‘Antisemitismus und Medizin im 19/20 Jahrhundert’, in Menschenverachtung und Opportunismus: Zur Medizin im Dritten Reich, ed. by Jürgen Peiffer (Tübingen, 1992), p.44.

[9] Krater, Doctors under Hitler, p. 185.

[10]  Ibid., p.188

[11]  “Hertha Nathorff, Das Tagebuch: Berlin-New York, Aufzeichnungen 1933 bis 1945 (Munich, 1987). The following material on Nathorff’s experiences is all taken from this diary.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2564