มาตรการต่อต้านมะเร็งของ “นาซี” ที่จริงจังที่สุดในโลก แล้วผลลัพธ์คือ?

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และ ผู้นำระดับสูง ของ พรรคนาซี เยอรมนี
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (แถวหน้า, คนที่ 2 จากขวามือ) เข้าร่วมการชุมนุมพรรคนาซี ร่วมกับสมาชิกระดับสูง มีไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (แถวหน้า, คนที่ 5 จากซ้าย) เข้าร่วม เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1938 ภาพจาก HOFFMANN / FRANCE PRESSE VOIR / AFP

ภายใต้การปกครองระบอบฟาสซิสต์ของนาซี วิชาการวิทยาศาสตร์หลายสาขาในเยอรมนีเสื่อมทรามลงจนถึงกับแน่นิ่ง โจเซฟ นิดแฮม นักประวัติศาสตร์และนักชีวเคมีชาวอังกฤษ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ต้นเลวของไม้ปีศาจให้ผลหอมหวานทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่นักวิชาการบางคนกลับเห็นต่างว่า เป็นต้นเลว-ผลงาม

รอเบิร์ต พรอกเตอร์ นักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามว่า นาซีจัดกิจกรรมต้านบุหรี่ทรงพลังที่สุดในโลก? แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่าการต่อต้านมะเร็งของนาซีเฉียบขาด-จริงจังที่สุดในโลก เพราะมีทั้งจำกัดและห้ามการใช้ใยหิน ห้ามใช้ยาเส้น และห้ามสารฆ่าแมลงและสีผสมอาหารที่เป็นตัวการก่อมะเร็ง

หลังจากฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ การรณรงค์แพร่ไปในสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ เช่น เชิญชวนให้ตรวจร่างกายเป็นประจำ, โปสเตอร์แนะนำให้ผู้ชายตรวจหามะเร็งในลำไส้ใหญ่ให้บ่อยเท่ากับการดูแลรักษารถยนต์, รณรงค์ให้เลิกบุหรี่ ฯลฯ โดยการต่อต้านมะเร็งของนาซี เน้นไปที่การป้องกันมากกว่าการบำบัดรักษา เบนออกจากงานวิจัยชีวการแพทย์มายังการรณรงค์สุขอนามัยของประเทศ รวบรวมและวิเคราะห์สถิติหรือแนวคิดระบาดวิทยา เฝ้าสังเกตการณ์ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ

การต่อต้านการใช้ใยหินถือเป็นตัวอย่างน่าทึ่งที่สุด ในการรณรงค์ต่อต้านโรคร้ายจากการงานอาชีพ แม้เพิ่งจะเป็นยุคต้นของระบอบการปกครองนาซี การรณรงค์ต่อต้านฝุ่น พุ่งเป้าไปหาใยหินว่าเป็นตัวการสำคัญ ส่งผลให้มีการออกกฎกระทรวงให้สร้างระบบระบายอากาศและมาตรการอื่น ไม่ให้คนงานได้รับใยหิน

ปี 1938 นักวิจัยเยอรมันและออสเตรียพบหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าใยหินก่อให้เกิดมะเร็งกว่า 12 ประเภท ผลการค้นพบเป็นรากฐานนำไปสู่การวิจัยในวงกว้าง รวมทั้งการทดลอง

ปี 1942 วารสารวิชาการเยอรมันยืนยันผลว่าใยหินเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ขณะนั้นนักวิจัยอเมริกันและอังกฤษยังเชื่อว่าแร่ชนิดนี้ไม่มีพิษภัย ปีถัดมารัฐบาลนาซีลงมติรับหลักการว่าคนงานที่ป่วยจากการได้รับใยหินสมควรจะได้รับเงินชดเชย

แต่โครงการต้านมะเร็งของเยอรมนีในยุคฮิตเลอร์ ก็ยังหนีไม่พ้นการเหยียดผิวและการต่อต้านยิว

การต่อต้านยิวและการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งปรากฏให้เห็นในการเผยแผ่อุดมการณ์นาซี ริชาร์ด ดอลล์ นักระบาดวิทยามะเร็งที่มีชื่อเสียงของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังจำได้ว่า เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ในเยอรมนี เขาได้เห็นการฉายสไลด์เปรียบเทียบคนยิวเหมือนเซลล์มะเร็ง ในขณะที่รังสีเอ็กซ์ที่ฉายปราบเนื้อร้ายเปรียบเสมือนกองทหารนาซีที่กำลังเข้าโจมตีข้าศึก

รัฐบาลนาซียอมรับว่ามะเร็งเกิดจากสภาพแวดล้อม การงานอาชีพ และวัฒนธรรม หรือ “อารยธรรม” อาร์เธอร์ ฮินต์เซอ นักรังสีวิทยาระดับแนวหน้าและศัลยแพทย์ในเบอร์ลิน เชื่อว่ามีความเกี่ยวพันระหว่างมะเร็งกับอาหารที่รับประทานเป็นปกติวิสัย วิถีปฏิบัติทางศาสนาอาจมีบทบาทในเรื่องนี้เช่นกัน โอต์มาร์ ฟอน เฟอร์ชูเออร์ นำการศึกษาของ โยเซฟ เมนเงลเลอ มาขยายผล เสนอแนะว่าพันธุกรรมมีส่วนก่อมะเร็งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม คนยิวจากทัศนะของ “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็นพาหะมะเร็ง เพราะคนกลุ่มนี้นำยาเส้นเข้ามาสู่เยอรมนีเป็นรายแรก และค้ายาเส้นทั่วโลก

ในการรณรงค์ต่อต้านมะเร็ง นักโภชนาการนาซีระบุว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ คนเยอรมันได้รับคำเตือนไม่ให้บริโภคเนื้อรมควัน, เนื้อบรรจุกระป๋อง, อาหารที่มีไขมัน และน้ำตาล แต่ควรจะบริโภคธัญพืช, ผลไม้, และผัก เนื้อหาส่วนใหญ่จากคำแนะนำนี้เป็นเพราะฮิตเลอร์เป็นพวกมังสวิรัติ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่

ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับมะเร็งอาจได้จากสถิติของเยอรมันและสวิสในกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งระบุว่าผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด การค่อยๆ ลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจากระดับสูงสุดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผลจากการบริโภคอาหารสดใหม่ ผลจากการขนส่งที่รวดเร็วทำให้อาหารปรุงแต่งลดลง หรือย้อมสีให้ดูสดกว่าสภาพแท้จริง

ความสงสัยถึงความเกี่ยวพันระหว่างแอลกอฮอล์กับมะเร็งในเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1930 เชื่อกันว่าแอลกอฮอล์ทำลายยีนมนุษย์ ทั้งฮิตเลอร์และฮิมม์เลอร์ (ไฮน์ริช ฮิมม์เมอร์) ไม่ดื่มสุรา ดังนั้น การรณรงค์ให้ละเลิกสุราจึงได้รับความสำคัญระดับสูงสุด

ฮิมม์เลอร์เชื่อว่าแอลกอฮอล์เป็นยาพิษชั่วร้าย ฮิตเลอร์อ้างว่าคนเยอรมันล้มตายจากสุรามากกว่าการเสียชีวิตในสนามรบ การรณรงค์ให้เลิกดื่มเข้มข้นยิ่งนัก ในปี 1933 ยังเพิ่มมาตรการ “การตอน” คนติดสุราเรื้อรัง ซึ่งจะถูกจับตัวไปคุมขังในค่ายกักกัน

การสาธิตให้เห็นความเกี่ยวพันระหว่างยาเส้นกับมะเร็ง และประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงภัยอันตรายจากการสูบบุหรี่ในเยอรมนี ถือได้ว่าล้ำยุคกว่าประเทศใดๆ ในโลก พรอกเตอร์ให้ความเห็นว่า “น่าอัศจรรย์ใจยิ่งที่นาซีเยอรมันเปิดโปงพิษชั่วร้ายของการสูบบุหรี่ด้วยหลักฐานแน่ชัด ความรู้เชิงระบาดวิทยาของเยอรมนี้ถึงพิษภัยของบุหรี่ ถือได้ว่าล้ำยุคที่สุดในโลก”

มาตรการต่อต้านบุหรี่เข้มงวดที่ปรากฏในยุคปัจจุบันนี้ รัฐบาลนาซีทำมาก่อนแล้วทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ รวมทั้งสำนักงานและห้องพักแขก การสั่งห้ามโฆษณาบุหรี่ คนขับรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างสูบบุหรี่จะมีโทษจำคุก ฯลฯ

แต่ในความเป็นจริงพบว่า หลังจากฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจช่วง 6-7 ปีแรก การบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มเป็นสองเท่าระหว่างปี 1933-1940 การบริโภคลดลงหนึ่งในสามเมื่อถึงปี 1940 ซึ่งอาจเกิดจากการปันส่วนการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น บ่งบอกถึง “การต่อต้าน” การปกครองของนาซี? หรือว่าเกิดจากความเครียดว่าจะเกิดภัยสงครามในเยอรมนี?

รอเบิร์ต พรอกเตอร์ ตั้งข้อสังเกตต่อการประกาศสงครามต่อต้านมะเร็งของนาซีว่า “วิทยาศาสตร์ที่ดีเกิดขึ้นได้แม้ในดินแดนที่ไม่มีประชาธิปไตย การริเริ่มรณรงค์เพื่อพลานามัยของประชาชน มิได้เกิดขึ้นแม้จะการปกครองระบอบฟาสซิสต์…แต่เป็นผลธรรมดาที่เกิดจากระบอบการปกครองระบอบฟาสซิสต์”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

จอห์น คอร์นเวลล์-เขียน, นภดล เวชสวัสดิ์-แปล, นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์, สำนักพิมพ์มติชน สิงหาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2564